11 ต.ค. 2476 เกิด “กบฏบวรเดช” กลุ่มทหารยึดดอนเมือง ปะทะรัฐบาลจนเกิดสูญเสีย

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้นำ กบฏบวรเดช
ภาพประกอบเนื้อหา - นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้นำกบฏบวรเดช

วันที่ 11 ตุลาคม 2476 เกิด “กบฏบวรเดช” นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พร้อมกลุ่มทหารเข้ายึดบริเวณดอนเมือง บีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เมื่อเจรจาไม่เป็นผลก็ปะทะกันต่อเนื่องจนทำให้เกิดความสูญเสีย ระหว่างการปะทะยังมีหลักฐานว่าพลเมืองมอบแหวนวิวาห์ของตัวเองเพื่อสมทบทุนช่วยรัฐพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์กบฏโดยกลุ่มบุคคลที่นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กลุ่มผู้ก่อการนี้เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง จับกุมคนฝ่ายรัฐเป็นตัวประกันเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกหรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมืองโดยรวม 6 ข้อ

การเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่เป็นผล จากนั้นจึงเกิดปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 16 ต.ค. ผลสุดท้ายคณะกู้บ้านเมืองพ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียทหารและตำรวจรวม 17 นาย

หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อย รัฐบาลนำศพผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และจัดพิธีฌาปนกิจบนท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจัดงานศพของสามัญชนบนท้องสนามหลวง

จากนั้นได้บรรจุอัฐิไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหาร และตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเวลา 3 ปี เมื่อราชการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงนำอัฐิของวีรชนมาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์

ท่ามกลางเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีเกร็ดข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวเพชรบุรีนามว่า นางปุ่น สุภาพันธ์ เขียนจดหมายลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2476 แสดงเจตนาบริจาค “แหวนวิวาห์” เพื่อสมทบทุนให้รัฐบาลไปต้านกบฏ

เนื้อหาในจดหมายปรากฏในบทความ “เมื่อสามัญชนหาญปราบกบฏ : บทบาทพลเมืองสยามในการปราบกบฏบวรเดช 2476” โดยผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2559 ข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายระบุว่า

“ดิฉัน เป็นราษฎรสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งไม่มั่งมีศรีสุขอย่างใด แต่ทั้งกายและใจของดิฉันเคารพมั่นคงในรัฐธรรมนูญซึ่งใต้เท้าได้เป็นประมุขนำมาหยิบยื่นให้ด้วยพลีชีวิต ดิฉันพร้อมแล้วที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อประเทศต้องการเพื่อรักษารัฐธรรมนูญของชาติให้สถิตสถาพรอยู่ ดังนั้น ดิฉันได้ส่งแหวนมาพร้อมจดหมายนี้ ๑ วงแม้จะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ ไม่มีราคาเท่าใดนัก แต่เป็นของมีค่าที่สุดของดิฉันสิ่งหนึ่ง เพราะเป็นแหวนวิวาห์ของดิฉัน…”

จดหมายของนางปุ่น เป็นตัวอย่างหนึ่งของบทบาทพลเมืองในการปราบกบฏ ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพลเมืองในเหตุการณ์ครั้งนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475”. ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ตุลาคม 2556

“เมื่อสามัญชนหาญปราบกบฏ : บทบาทพลเมืองสยามในการปราบกบฏบวรเดช 2476”. ณัฐพล ใจ  จริง, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ตุลาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2561