ที่มา | เพจ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.7 |
---|---|
ผู้เขียน | ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล |
เผยแพร่ |
26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 วันอภิเษกสมรส เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี
เมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชากับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เริ่มเวลา 14.00 นาฬิกา
ในการนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำแบบอย่างของพิธีการสมรสของคริสตศาสนิกชนชาวตะวันตกมาปรับใช้เป็นบางขั้นตอนของพระราชพิธี ที่สำคัญมีการตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสถึงความสมัครใจ โดยมหาเสวกโท พระจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ ไกรฤกษ์ เจ้าพระยามหิธรในภายหลัง) สมุหพระนิติศาสตร์ เป็นผู้ตั้งกระทู้กราบทูลและทูลถาม แทนที่บาทหลวง
กระทู้ถามเป็นข้อความตามแบบอย่างของตะวันตกในเวลานั้น ซึ่งน่าสังเกตว่า ฝ่ายหญิงเท่านั้น ที่สัญญาว่า “จะปฏิบัติอยู่ในโอวาท” ของสามี แต่ในตะวันตกสมัยนี้มักตัดส่วนนี้ออกไป
ต่อจากนั้น เป็นการรดน้ำสังข์ตามประเพณีไทย โดยพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฎ และทรงเจิมพระราชทานเข็มพระนามาภิไธยประดับเพชรแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ และสร้อยพระศอมีวัชรและอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อภายใต้พระมหามงกุฎประดับเพชรล้อม กับหีบหมากทองคำแก่หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี และพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เป็นทุนด้วย 160,000.- บาท ซึ่งเท่ากับ 20,000.- บาท ซึ่งในสกุลเงินโบราณที่เป็นน้ำหนักเหรียญ (1 ชั่ง = 80 บาท)
เกี่ยวกับหีบหมากทองคำที่ทรงได้รับพระราชทานในครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยไว้ เมื่อ พ.ศ. 2516 ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้ว รัฐบาลได้ “เอาไปเก็บไว้ จนบัดนี้ยังไม่ได้คืน” แสดงว่าทรงถือว่าทรงได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำนั้น อันน่าจะมีฐานะเป็นเครื่องยศ ทันทีที่ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และในวาระนั้น น่าจะปลื้มพระหฤทัยอีกโสตหนึ่ง ด้วยเมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงทำหน้าที่เชิญหีบหมากเสวยของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถตามเสด็จฯ ไปในงานพระราชพิธี
อนึ่ง เครื่องยศเช่นนี้ เมื่อผู้ที่ได้รับพรราชทานหาไม่แล้ว ย่อมต้องส่งคืนหลวง เฉกเช่นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ส่วนมาก
จากนั้น องค์คู่อภิเษกสมรสได้ทรงลงพระนามใน “ทะเบียนแต่งงาน” เฉพาะพระพักตร์ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น “ผู้สู่ขอตกแต่ง” และ “ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน” และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ทรงลงพระนามเป็นพยาน ในการนี้ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงลงพระนามว่า “รำไภพรรณี” (ภ. สำเภา) แต่ในกาลต่อ ๆ มาส่วนมากทรงลงว่า “รำไพพรรณี” (พ. พาน)
สำหรับลายพระราชหัตถ์และลายพระหัตถ์ที่เจ้านายผู้ทรงเป็นพยานทรงลงพระนามไว้อ่านได้ ดังนี้ “สว่างวัฒนา สุขุมาลมารศรี ภาณุรังษี สุทธาทิพย์ บริพัตร จักรพงษ์ วไลย อัษฎางค์ จุฑาธุช นริศ นเรศวรฤทธิ์ สรรพสิทธิ์”
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยามที่มีการจดทะเบียนแต่งงาน แต่สมุด “ทะเบียนแต่งงาน” นั้น เป็นของหลวง ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทย
ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ อีกทั้งพระราชทานแหวนทองลงยาประดับเพชรลูกองค์เล็ก ๆ แด่ผู้ร่วมงานองค์/คนละ 1 วง เมื่อจวนเสร็จ มีพระราชดำรัสพระราชทานพระพรและทรงชักชวนผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทดื่มถวายพระพรแด่องค์คู่อภิเษกสมรส.
แหวนทองลงยาประดับเพชรหนึ่งเม็ดดังกล่าวนั้น ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดแสดงวงจำลองขนาดใหญ่กว่าของจริงไว้ให้ชมในนิทรรศการสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ที่ชั้นล่างอาคารอนุรักษ์ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ.
แหวนทองนั้นสลักข้อความว่า “อภิเษก” บนด้านที่ลงยาสีเขียว (วันพุธ วันประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ) และ “สมรส” บนที่ด้านที่ลงยาสีชมพู (วันอังคาร วันประสูติหม่อมเจ้าหญิงฯ) และ “2461” ที่ท้องแหวนด้านใน เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นของชำร่วยวันแต่งงานของผู้ใด อีกทั้งบางคนสันนิษฐานว่าอาจเป็นของชำร่วยวันแต่งงานชิ้นแรกของประเทศ
แหวนดังกล่าวจึงเป็นศิลปวัตถุที่อำนวยให้เราได้รำลึกถึงทั้งสองพระองค์ผู้ทรงมีความมั่นคงในองค์คู่อภิเษกสมรสตลอดพระชนมชีพ.
[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.7]
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 6 ทรงถูกเกณฑ์ให้ “เลือกคู่” กับเจ้าฟ้าหญิงที่ได้รับเลือก
- พระราชินีองค์แรกแห่งรัตนโกสินทร์ ที่ฝรั่งเรียกว่า QUEEN เป็นใคร?
- หลังม่านความรักครั้งเยาว์วัยของรัชกาลที่ 7
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2561