พระราชินีองค์แรกแห่งรัตนโกสินทร์ ที่ฝรั่งเรียกว่า QUEEN เป็นใคร?

รัชกาลที่ 4 กับ พระราชินี สมเด็จพระนางเจ้ารำเพย
รัชกาลที่ 4 กับสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยฯ วาดจากภาพจริงที่ส่งไปพระราชทานประมุขประเทศต่างๆ (ภาพจาก LE TOUR MONDE ค.ศ. 1861/ ภาพสะสมของ ไกรฤกษ์ นานา)

พระมเหสีเทวีตั้งแต่ในรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ไม่เคยมีพระองค์ใดดำรงตำแหน่งนี้ “พระราชินี” ที่ฝรั่งเรียกว่า “QUEEN” แม้จะมีการใช้คำเรียกพระอิสริยยศ “พระบรมราชินี” ต่อท้ายพระนามพระอัครมเหสีบ้างพระองค์ เช่น สมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1, สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2 ก็เป็นเฉลิมพระยศหลังรัชกาลที่ 4 แล้วทั้งสิ้น

เช่นนี้แล้ว พระราชินี องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือ QUEEN คือใคร?

Advertisement

คำตอบเรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ “สยามกู้อิสรภาพตนเองฯ” (สนพ. มติชน, กันยายน 2550) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

พระราชินี องค์แรก ของกรุงรัตนโกสินทร์คือใคร? มีความเกี่ยวข้องกับคำว่าควีนหรือไม่? เป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ง่ายนัก จึงต้องอาศัยหลักฐานจากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งมาพิจารณาดังนี้ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยามขึ้นในปี พ.ศ. 2421 ใจความตอนหนึ่งชี้แจงเรื่องยศศักดิ์ของพระมเหสีไว้ว่า

“ตามลัทธิข้างฝ่ายเรา พวกมีเมียมากที่ถือลูกเมียหลวงเมีย ถือว่าเจ้านายองค์ใดมีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าฟ้า ก็ถือว่าเจ้าฟ้านั้นเป็นลูกเมียหลวง พระองค์เจ้าเป็นลูกเมียน้อย แม่ของลูกเมียหลวงก็เป็นเมียหลวงอยู่เอง จะมีกี่คน ๆ ก็ได้ไม่มีกำหนด

แต่ตำแหน่งศักดินา สมเด็จพระบรมราชชนนี พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี พระอัครชายา ฤาอะไร ๆ บรรดาที่เรียกเป็นเมียหลวงใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินนี้ ไม่มีในกฎหมายเหมือนเจ้านายข้างหน้าข้างใน และพระสนมทั้งปวง เวลาสิ้นพระชนม์แล้ว ทำพระเมรุกลางเมืองเท่ายศเจ้าแผ่นดินบ้าง เจ้าฟ้าบ้างทั้งนั้น เรื่องพระมเหสีอธิบายได้แต่อย่างนี้ ซึ่งจะว่าให้ชัดเจนให้ตรงกับควีนต่างประเทศนั้น อธิบายไม่ได้ ด้วยธรรมเนียมผิดกันเหมือนกับวังหน้าในประเทศตะวันตกไม่มี” [1]

………….

เมื่อขึ้นรัชกาลที่ 4 ขนบธรรมเนียมและพระราชนิยมในราชสำนักไทย ถูกปรับเปลี่ยนไปตามพระราโชบายใหม่ ๆ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2394 มีพระราชดำริว่าลักษณะพิธีตั้งกรมเจ้านายที่ทำมาแต่ก่อน ยังคลาดเคลื่อนอยู่หลายอย่าง จึงโปรดให้แก้ไขระเบียบการ “ตั้งกรม” เป็นแบบใหม่ เรียกการเฉลิมพระยศเจ้านาย ให้มีการอภิเษกอย่างหนึ่ง และการจารึกพระสุพรรณบัฏอีกอย่างหนึ่ง ในครั้งนี้จึงมีประกาศเฉลิมพระยศสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ขึ้นเป็นปฐมฤกษ์ด้วย และจะกลายเป็นประเพณีที่ทำสืบกันต่อ ๆ มา ในรัชกาลอื่น ๆ

จากประเพณีใหม่ในแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ นี่เองที่ส่งผลให้มีคำนำพระนาม “อย่างใหม่” เกิดขึ้นสำหรับพระราชเทวีของพระมหากษัตริย์ เรียกอย่างใหม่ว่า “พระนางเธอ” หรือ “สมเด็จพระนางเธอ” และ “สมเด็จพระนางเจ้า” ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นมูลเหตุของตำแหน่งพระราชินี หรือควีนดังที่จะอธิบายต่อไป

ในปี พ.ศ. 2394 เช่นกัน ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงราชาภิเษกสมรสกับพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นที่ 3 พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงนับเป็นพระบรมราชเทวีพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระนางโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี แต่มีอันสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหัน ภายหลังการให้ประสูติพระราชโอรส ในปี พ.ศ. 2395 หลังจากนั้นไม่กี่เดือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรําเพย ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ขึ้นเป็นพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ หรือพระอัครมเหสี “องค์ที่ 2” แทนที่

เพื่อให้เรื่องกระชับขึ้น ขอประมวลเหตุการณ์คร่าว ๆ ว่า ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงตั้งพระอิสริยยศให้พระมเหสีเทวีของพระองค์ขึ้นใหม่เรียก “พระนางเธอ” โดยในรัชกาลนี้ทรงมีพระนางเธอรวม 2 พระองค์ คือ พระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี และพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ คำว่าพระนางเธอนี้แหละที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ออกไปทั้งในและนอกประเทศ และเมื่อแปลตำแหน่งใหม่ เป็นคำอังกฤษ ก็จะได้คำว่า QUEEN” หรือพระราชินี จึงเป็นที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชินี 2 องค์ ต่างเวลาต่างวาระกันตามที่อธิบายข้างต้น

แต่ความกำกวมของเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อพระนางโสมนัสฯ สิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 9 เดือน ทำให้พระนางกลายเป็นพระราชินีที่ถูกลืมอย่างรวดเร็ว แม้แต่ในหนังสือพงศาวดารไทยบางเล่ม เช่น หนังสือชื่อเจ้าชีวิต ผู้ประพันธ์คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ยังเผลออธิบายให้เกิดความเข้าใจผิดว่า

“ในรัชกาลที่ 4 นั้นทรงได้หม่อมเจ้าหญิงรำเพยฯ พระธิดาของกรมหมื่นมาตยาฯ (พระโอรสในรัชกาลที่ 3) เป็นพระอัครมเหสี และพระราชทานพระอิสริยยศให้ทรงเป็นสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ ฉะนั้น พระองค์เจ้ารำเพยจึงทรงเป็นราชนารีไทยพระองค์แรก ที่ได้รับยศเป็นสมเด็จพระนางดังที่เราแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Queen” [2]

กระแสที่ทำให้พระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์ ทรงได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น Queen อย่างท่วมท้น เป็นด้วยในระยะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงเริ่มโครงการนำร่องเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยออกสู่สายตาชาวโลก โดยการฉายพระรูปของพระองค์พร้อมด้วยพระอัครมเหสี ส่งไปพระราชทานผู้นำต่างประเทศหลายคน มีอาทิ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีบูคาแนนแห่งอเมริกา เป็นต้น ทำให้มีการเผยแพร่พระรูปของพระนางรำเพยฯ ออกไปอย่างกว้างขวาง ขณะที่สมัยของพระนางโสมนัสฯ เป็นระยะเวลาที่สั้น และทรงตั้งพระครรภ์ทันทีที่อภิเษกสมรส จึงทรงเก็บเนื้อเก็บตัวเสียเป็นส่วนใหญ่

พระรูปของพระนางรำเพยฯ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้พระราชทานออกไปแก่ผู้นำโลก ถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ และวารสารต่างประเทศหลายฉบับในยุคนั้น จนไม่มีใครสนใจพระราชินีองค์เก่าของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ อีกเลย เป็นเหตุให้พระนามของพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดีค่อย ๆ ลบเลือนไปจากสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย…

ทว่าจากการชำระข้อมูลเชิงลึกอีกครั้งหนึ่ง หลักฐานบางอย่างสามารถเผยโฉมพระราชินีองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงรำลึกถึงอยู่เสมอ และในไม่ช้าพระองค์ก็จะทรงใช้สื่อของเซอร์จอห์น เบาริ่ง (Sir John Bowring) เป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้

เรื่องมีอยู่ว่า ภายหลังการเดินทางเข้ามากรุงสยามของเซอร์จอห์น ในปี พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) นั้น เซอร์จอห์นเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ THE KINGDOM AND PEOPLE OF SIAM และเพื่อสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับครอบครัวของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้พระราชทานประวัติและพระอาการประชวรถึงสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (Narrative of the illness and death of Queen Somanass Wathanawaddy) เพื่อเผยแพร่ในหนังสือของเซอร์จอห์น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2395

บทความดังกล่าวเปิดเผยเรื่องของพระราชินีองค์นี้ว่าเคยมีตัวตนจริง เพื่อรักษาการนำเสนอของเซอร์จอห์นไว้ ขอนำรายละเอียดทั้งภาษาอังกฤษและคำแปลไทยบางตอนมาแสดงด้วย ณ ที่นี้ว่า

THE INFORMATION

Of the most lamentable illness and death of Her Young Amiable Majesty the Queen Somanass Waddhanawaddy the Lawful Royal consort of His Most Excellent gracious Majesty Somdech Phra Paramendr Maha Mongkut, the King of Siam and reigning upon the present times. [3]

คำแปล : แจ้งข่าวพระอาการประชวรและสวรรคตอันน่าเศร้าสลดของสมเด็จพระนางเจ้า โสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชินี อัครมเหสีผู้เป็นที่รักคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระเจ้ากรุงสยามผู้ครองราชสมบัติอยู่ในปัจจุบันกาล

รายละเอียดอีกตอนหนึ่งมีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงยกย่องให้เกียรติพระราชินีองค์นี้มาก เพราะจะทรงยกให้เป็นขัตติยนารี ซึ่งจะได้มีพระโอรสสืบสันตติวงศ์ของพระองค์ต่อไป ดังใจความว่า

His present Majesty also being just returned from priesthood where he devoted and lived as long as 27 years ago, has no lawful royal consort (for me service as legally and suitably as the lawful heir of future Royal Authority may be expected) did a single opinion to unite His newly enthroned Majesty with Her Royal Highness by marriage and coronation of her highness to be his Majesty’s consort [3]

คำแปล : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเพิ่งลาสิกขา หลังจากบรรพชามานานถึง 27 พรรษา ยังหามีพระอัครมเหสีสมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณีไม่ (ให้เป็นไปตามครรลองครองธรรม สำหรับการมีพระราชโอรสเป็นรัชทายาท เพื่อการสืบสันตติวงศ์อย่างถูกต้อง) จึงเห็นเป็นความเหมาะสมทุกสถาน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งราชาภิเษกใหม่ จะได้เข้าพิธีราชาภิเษกสมรสเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระนางเธอพระองค์นี้ ขึ้นเป็นพระบรมราชินีอัครมเหสี

สมเด็จพระนางโสมนัสฯ ทรงอุ้มพระครรภ์อยู่ได้ 7 เดือน ก็ประสูติพระราชกุมาร แต่เพราะมีประสูติกาลก่อนกำหนด จึงมีพระชนมชีพอยู่ได้เพียง 3 ชั่วโมง เจ้าฟ้าพระกุมารน้อยก็สิ้นพระชนม์ลงอย่างน่าสงสาร นับแต่นั้นมาสมเด็จพระนางก็ประชวรกระเสาะกระแสะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนให้รักษาแผนฝรั่ง ภายใต้การดูแลใกล้ชิดของหมอบรัดเลย์ แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น และสวรรคตในที่สุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395 ท่ามกลางความโศกาอาดูรของพระบรมราชสวามี

งานพระบรมศพของสมเด็จพระนางโสมนัสฯ ได้รับการกล่าวขวัญว่า จัดยิ่งใหญ่กว่าพระราชชายานารีองค์ใดในรัชกาลก่อน ๆ เซอร์จอห์นเล่าว่า

Her remains was bathed and adorned with ornaments, according to the Royal custom in full style of regal queen’s dignity, and arrayed with many pieces of white clothes, and put in the golden Urn or vessel called Phra Koti crowned at her head with the queen crown, and covered with the cover of the Urn then removed from queen’s residence upon that night to the Tusita Mahaprasad [3]

คำแปล : ได้มีพระราชพิธีสรงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้า และทรงเครื่องขัตติยมราภรณ์ศุภลัม ตามโบราณราชประเพณีของพระบรมราชินี อัครมเหสีอันสูงศักดิ์ สมพระเกียรติยศ กษัตรีย์ห่อด้วยกัปบาสิกะ เศวตพัสตร์หลายชั้นแล้วเชิญลงพระลองทอง และสวมพระชฎา กษัตริย์เหนือพระศิโรเพศประกอบ พระโกศทอง แห่จากพระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าในราตรีนั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

คำให้การของเซอร์จอห์น ถือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับพระราชินีพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 ที่ได้รับการยืนยันจากชาวตะวันตกเป็นครั้งแรก ก่อนหน้าสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ แม้ในรัชกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ยังทรงรับรองอีกครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ เป็น QUEEN CONSORT หรือพระบรมราชินีที่ได้รับการสถาปนาแบบใหม่จริง ถึงแม้ว่าไม่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระราชินี เหมือนธรรมเนียมตะวันตกก็ตาม พระราชปรารภำคัญอีกตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มีว่า

“แต่ท่านทั้งสองพระองค์นี้ (หมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ และสมเด็จพระนางรำเภยฯ-ผู้เขียน] เมื่อเวลาท่านยังมีพระชนม์อยู่ก็ดี ฤๅบัดนี้ก็ดี ฝรั่งเคยเรียกเฮอมาจิศตี ที่ควีน คอนสอด (Her Majesty Queen Consort) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงไว้ว่า เป็นควีนคอนสอด [แปลว่าพระบรมราชินี-ผู้เขียน] ในที่หลายแห่งมีที่ชัดอยู่ เหมือนหนึ่งในหนังสือเวอร์ยอน เบาว์ริ่ง แลพระราชหัตถ์ซึ่งมีไปมา

แลคำประกาศเวลาสิ้นพระชนม์เป็นต้น ก็เรียกควีนคอนสอดทั้งนั้น ถ้าจะหาควีนเมืองไทยนี้ ที่ได้คราวคอรอเนชั่น [ราชาภิเษกเป็นพระบรมราชินี-ผู้เขียน] แล้วเห็นจะหาไม่ได้เลย เพราะธรรมเนียมแต่งงานเจ้านายเมืองนี้ไม่มี เมื่อว่ากันตามเห็นตรง ๆ อย่าว่าเจ้าแผ่นดินเลย ถึงเจ้าฟ้าพระองค์เจ้า ก็ไม่ได้แต่งงานสักครั้งหนึ่งเลย” [1]

จากพระบรมราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ 5 นี้ ทำให้พอจะอนุมานได้ว่า พระมเหสีเทวีทั้ง 2 พระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้เป็นพระบรมราชินีด้วยกันทั้ง 2 พระองค์

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เอง ก็ยังทรงเคยมีพระทัยเอนเอียงยอมรับสถานภาพของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ มากกว่าอีกพระองค์หนึ่ง เห็นได้จากงานพระบรมศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (หรือพระนางเรือล่ม) ซึ่งก็ทรงเป็น สมเด็จพระนางเธอ อัครมเหสีองค์แรกของพระองค์เช่นเดียวกัน ภายหลังที่เสด็จสวรรคตจากอุบัติเหตุเรือล่มโดยกะทันหัน และเมื่อเริ่มการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ยังโปรดให้รื้อตำราพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ นำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจัดให้สมพระเกียรติยศของ QUEEN CONSORT หรือพระบรมราชินีจริง ๆ…

……….

พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นับได้ว่าเป็นความเชื่อในทัศนะของคนไทยคนหนึ่ง ที่มีต่อสถานภาพของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ ส่วนหลักฐานจากหนังสือของเซอร์จอห์น ถือเป็นพยานปากเอกของชาวตะวันตก ที่สนับสนุนว่า Queen Somanass เป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 และตำแหน่งนั้น ทำให้พระนางทรงเป็น พระราชินี องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากทรงได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก่อนหน้าพระมเหสีเทวีองค์อื่น ๆ ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] ประยุทธ สิทธิพันธ์, เจ้าฟ้า, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รวมการพิมพ์, ไม่แจ้งปีที่พิมพ์

[2] จุลจักรพงษ์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต. กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์, 2505

[3] John Bowring, Sir. THE KINGDOM AND PEOPLE OF SIAM, Oxford University Press, Singapore, 1977


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2564