พระราชสาส์น ร.1 ถึงพระราชินีโปรตุเกส เผยสภาพกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสถาปนา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระราชินีมาเรียที่ 1 แห่งโปรตุเกส
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1, (ขวา) พระราชินีมาเรียที่ 1 แห่งโปรตุเกส

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ชุมชนโปรตุเกสที่อยุธยาก็คงจะต้องถูกทำลายลงไปหมด ชาวโปรตุเกสต่างหลบหนีลงมายังบางกอกในช่วง รัชกาลที่ 1 และตั้งถิ่นฐานบ้านช่องใหม่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลนักจากพระราชวังเดิมและพระราชวังหลวง และสันนิษฐานได้ว่าชาวโปรตุเกส เช่น บาทหลวง พ่อค้า รวมถึงขุนนางที่เคยเข้ารับราชการในสังกัดต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็คงจะลงมาประจำที่ชุมชนโปรตุเกสของตนเช่นเดิมด้วย

เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พยายามเลียนแบบผังเมืองพระนครศรีอยุธยาแต่ครั้งบ้านเมืองดี อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่ปีที่ทรงขึ้นครองราชย์ ก็ต้องทรงเผชิญกับศึกต่างๆ ที่เข้ามาประชิดพระราชอาณาเขต ทั้งทางฝั่งพม่าและฝั่งมลายู ซึ่งต้องทรงบัญชาการการรบและทรงพระกรุณาให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) เป็นแม่ทัพหลักในการสงครามครั้งต่างๆ ขณะเดียวกันก็เป็นที่สังเกตได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงเอาพระธุระในเรื่องการเศรษฐกิจของพระนครอยู่ด้วย เช่น โปรดให้คณะทูตจากชาติต่างๆ เข้าเฝ้า ตลอดจนสร้างโรงสินค้าขึ้นเพื่อความสะดวกในการค้า     

เอกสารภาษาโปรตุเกสฉบับหนึ่ง พิมพ์สำเนาไว้ในหนังสือ Portugal na Tailandia ของ บาทหลวง Manuel Teixeira ที่หน้า 470-471 (Manuel Teixeira. Portugal na Tailandia. (Macao : Imprensa Nacional de Macao, 1983), pp. 470-471.) เป็นพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ทรงมีไปถึงสมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส เป็นพระราชสาส์นส่วนพระองค์ที่ทรงขอบคุณในความเมตตาของประเทศโปรตุเกสในการค้าและการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์

พระราชสาส์นฉบับนี้มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาไทยตามลำดับ และพิมพ์ในหนังสือจดหมายเหตุคัดมาจากรอเยอลกอโลเนียลอินสติติว กรุงลอนดอน หรือ Documents from the Royal Colonial Institute, London โดย พระพิพิธสุนทร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์ตรี พระยาวรวิไชยวุฒิกร (เลื่อม สนธิรัตน) เมื่อ พ.ศ. 2476 (จดหมายเหตุคัดมาจากรอเยอลกอโลเนียลอินสติติว กรุงลอนดอน Documents from the Royal Colonial Institute, London, พระพิพิธสุนทรพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์ตรี พระยาวรวิไชยวุฒิกร (เลื่อม สนธิรัตน) เมื่อ พ.ศ. 2476, น. 8-9.)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 1
“พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ภาพเขียนโดย อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ภาพนี้อยู่ที่อาคารรัฐสภา

ในครั้งนั้น หอพระสมุดเขียนคำนำถึงที่มาของเอกสารไว้ว่า “ได้ให้สถานทูตสยามจ้างคนที่ไว้วางใจได้ให้ตรวจค้นเอกสารเก่าๆ ในหอสมุดของต่างประเทศ เลือกคัดแต่ข้อความที่เกี่ยวกับประเทศสยาม มารวบรวมไว้เพื่อประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์ของเรา… ข้อความที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เป็นข้อความที่ผู้คัดได้คัดส่งมาในชั้นหลังๆ พราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี เจ้าหน้าที่หอสมุดนี้ได้พยายามแปลเป็นภาษาไทยด้วยความอุสาหะ…” ข้อความนี้ทำให้ทราบว่าเมื่อทางหอพระสมุดให้เจ้าหน้าที่ค้นคว้าเอกสารมาจากต่างประเทศแล้ว ก็ได้ให้พราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ซึ่งมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีถ่ายแปลออกเป็นภาษาไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนสนใจว่าพระราชหัตถเลขาฉบับนี้จะมีต้นฉบับจริงเก็บรักษาไว้ที่ประเทศโปรตุเกสหรือไม่ แต่เมื่อสืบค้นเอกสารทั้งที่หอสมุดแห่งชาติกรุงลิสบอน และหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็ไม่พบ แต่พระราชสาส์นฉบับนี้เคยพิมพ์ลงในวารสารมาแล้วครั้งหนึ่งคือ Joaquim de Campos A feitoria de Siao in Boletim E. da D. de Macau, Junho de, 1983, pp. 873-874 และต่อมาบาทหลวง Manuel Teixeira ได้นำมาลงพิมพ์ไว้ ซึ่งในครั้งนี้จะได้นำฉบับพิมพ์ภาษาโปรตุเกสมาลงไว้อีกครั้งหนึ่งดังนี้


 

พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม
ถวายพระราชินีโปรตุเกส
ลงวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1786

ข้าพเจ้าได้รับพระราชหัตถเลขาของพระองค์ทางราชทูตของพระองค์ ได้ทราบความตลอดแล้ว เมื่อพระคลังผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของข้าพเจ้านำราชทูตมาหาข้าพเจ้าๆ ก็ได้ต้อนรับแบบเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในอดีต

ข้าพเจ้าขอขอบพระทัยในที่ได้ตรัสว่าจะทรงช่วยต่อสู้พม่าข้าศึกของข้าพเจ้าที่กำลังรบอยู่กับทัพของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ชนะอยู่แล้ว ขอขอบพระทัยอีกครั้งหนึ่งในที่จะทรงช่วยเหลือด้วยน้ำพระทัย ข้าพเจ้าจะรู้สึกขอบพระคุณพระองค์อยู่เสมอสำหรับเครื่องพิสูจน์พระไมตรีอันนี้

ในการรบครั้งใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าได้ต่อสู้ชนะกองทัพที่พม่าส่งเข้ามาในพระราชอาณาเขตของข้าพเจ้าแล้ว 6 กองทัพ ทั้งได้รับเครื่องยุทธภัณฑ์และม้าช้างมากมาย ประชาราษฎรของข้าพเจ้าที่ยังกซิโลน มีโชคได้ชนะแก่พวกพม่า ตามที่พระองค์มีแก่พระทัยจะทรงช่วยเหลือข้าพเจ้าในการทำลายพวกพม่า คิดด้วยเกล้าฯ ว่าข้าพเจ้าจะทำให้พระองค์ได้รับความลำบากมากในการขนส่งทหารและสรรพาวุธที่ต้องการเข้ามา ข้าพเจ้าจึงขอมอบพระคุณในการเผื่อแผ่ของพระองค์อันใหญ่ยิ่ง ข้าพเจ้าขอรับประทานเพียงปืนสั้น 3000 กระบอกมาทางข้าหลวงเมืองโควาในปีนี้ให้จงได้ ข้าพเจ้าจะออกค่าใช้จ่ายตามคำสั่งของพระองค์

ข้าพเจ้ามีความยินดีในคำขอร้องของพระองค์เรื่องสร้างโรงงานในอาณาเขตของข้าพเจ้าสำหรับคริสตศาสนิกชาวโปรตุเกส ขอเชิญพระองค์ส่งคนมาเลือกสรรที่ที่เหมาะเพื่อสร้างโรงงานและโบสถ์ด้วย ทั้งส่งข้าหลวงมาบ้างเพื่ออารักขาดูแลคริสตศาสนิกเหล่านี้ อันไม่ได้ประโยชน์ (จากการอารักขาดูแล) มาหลายปีแล้ว

เจ้าแผ่นดินญวนใต้ได้ขอร้องมาเพื่อให้ข้าพเจ้าช่วยเหลือให้ได้ดำรงราชย์ในอาณาจักรของเขา ข้าพเจ้าก็ได้ช่วยพระเจ้าแผ่นดินญวนใต้และประยุรญาติ ถ้าหากเวลานี้ข้าพเจ้าไม่ต่อสู้กับพม่า ข้าพเจ้าก็จะได้ส่งทัพ 1 กอง ไปรบกับไตสันผู้กบฏ และให้เจ้าแผ่นดินผู้ชอบด้วยกฎหมายขึ้นครองราชสมบัติอย่างเดิม

ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับพระองค์ในเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างพระองค์และพระเจ้าแผ่นดินสเปน ขอพระเป็นเจ้าจงคุ้มครองรักษาพระองค์ ขอพระองค์พร้อมด้วยประชาราษฎรจงมีความผาสุกทุกประการสุดที่จะเป็นไปได้

ข้าพเจ้ามิตรผู้ซื่อสัตย์ต่อพระองค์  


 

พระราชสาส์นฉบับนี้ มีวันที่ลงไว้อย่างแน่นอนว่าตรงกับ ค.ศ. 1786 หรือตรงกับ พ.ศ. 2329 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 4 ปีให้หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระราชสาส์นฉบับนี้ดูจะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ที่ทรงมีถึงพระราชินีโปรตุเกส ซึ่งหมายถึงพระราชินีมาเรียที่ 1 แห่งโปรตุเกส (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1777-1816) และเป็นที่สังเกตได้ว่าในบรรดาชาติตะวันตกที่เข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ชาวโปรตุเกสก็ยังคงเป็นชาติแรกที่ติดต่อกับราชสำนักสยาม เพราะจากความในพระราชสาส์นที่ว่า “ข้าพเจ้าได้รับพระราชหัตถเลขาของพระองค์ทางราชทูตของพระองค์ ได้ทราบความตลอดแล้ว เมื่อพระคลังผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของข้าพเจ้านำราชทูตมาหาข้าพเจ้าๆ ก็ได้ต้อนรับแบบเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในอดีต”

จากเอกสารพระราชสาส์น มีข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้

1. การเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงเป็นหน้าที่ของพระคลังซึ่งดูแลทั้งการค้าและการต่างประเทศ

พระคลังผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี ดังที่ปรากฏในพระราชสาส์นนี้ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่าสน ดังความว่า “ตรัสเอาพระยาพิพัฒนโกษา กรุงธนบุรี ชื่อสน เป็นเจ้าพระยาพระคลัง5 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นพระยาพิพัฒนโกษาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ได้เป็นเจ้าพระยาพระคลังเมื่อก่อนปราบดาภิเษก อยู่มาสติปัญญาฟั่นเฟือนไป ลงไปส่งสำเภาหลวงข้ามสันดอน มีใบบอกเข้ามาขอศีรษะสุกรและบายศรี รับสั่งว่าเลอะเทอะหนักแล้ว โปรดให้ถอดเสีย ภายหลังได้เป็นพระยาศรีอรรคราช ช่วยราชการในกรมท่า” (กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545), น. 109.)

พระคลังเป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดหารายได้เข้าประเทศ ในสมัยอยุธยานั้น เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา เพราะเป็นบุคคลที่ต้องทำความรู้จักและติดต่อเป็นลำดับแรกในการแจ้งความประสงค์ที่จะเข้ามาในสยาม ทั้งการเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักก็จะต้องผ่านพระคลังด้วย แต่ชาวยุโรปรู้จักในชื่อของ Barcalon ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นชื่อที่ตะวันตกถ่ายเสียงไปจากคำว่าพระคลังของไทย และเป็นที่น่าสังเกตว่าคำว่าพระคลังนี้ยังปรากฏมาอีกนานนับศตวรรษ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ลาลูแบร์บันทึกและอธิบายประวัติศาสตร์ของสยามไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับพระคลังว่า “พระคลังหรือตามที่ปอร์ตุเกสเรียกอย่างเพี้ยนๆ ว่าบาร์กะล็องนั้น เป็นเจ้าพนักงานผู้ใหญ่ว่าการกรมการพาณิชย์ทั้งในและภายนอกราชอาณาจักร ท่านเป็นผู้อำนวยการพระคลังมหาสมบัติของพระเจ้ากรุงสยามด้วย หรืออาจจะกล่าวก็ได้ว่านายคลังสินค้าใหญ่ของพระองค์นั่นแล” (สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). ราชอาณาจักรสยาม. (กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, 2510), น. 413.)

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น นอกจากเจ้าพระยาพระคลัง (สน) แล้ว ยังมีเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เป็นที่หลวงสรวิชิต ได้เป็นพระยาพระคลังเมื่อปราบดาภิเษกแล้ว ต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลังจนถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากนั้นทรงพระกรุณาตั้งพระยาพระคลัง (กุน) ซึ่งเคยเป็นพระราชประสิทธิ์แต่ครั้งกรุงธนบุรี และเป็นพระยาศรีพิพัฒน์เมื่อปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระยาพระคลังแทน ต่อมาเป็นสมุหนายกในรัชกาลที่ 2

จิตรกรรม กรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมือง กรุงเทพ ริม แม่น้ำเจ้าพระยา
ภาพจิตรกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ ในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (ภาพจากเว็บไซต์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

2. การสงครามในตอนต้นรัชกาล

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงปราบปรามกบฏหัวเมืองต่างๆ โดยในจดหมายที่ทรงมีไปถึงพระราชินีแห่งโปรตุเกสว่า “ในการรบครั้งใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าได้ต่อสู้ชนะกองทัพที่พม่าส่งเข้ามาในพระราชอาณาเขตของข้าพเจ้าแล้ว 6 กองทัพ ทั้งได้รับเครื่องยุทธภัณฑ์และม้าช้างมากมาย ประชาราษฎรของข้าพเจ้าที่ยังกซิโลน มีโชคได้ชนะแก่พวกพม่า” ควรหมายถึงการรบในสงคราม 9 ทัพ ที่พม่ายกมาถึง 9 เส้นทางในราว พ.ศ. 2328 โดยพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าได้ยกทัพแบ่งการเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็น 5 เส้นทาง คือ

ทัพที่ 1 ได้ยกมาตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองระนองจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช
ทัพที่ 2 ยกเข้ามาทางเมืองราชบุรีเพื่อที่จะรวบรวมกำลังพลกับกองทัพที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้แล้วค่อยเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์
ทัพที่ 3 และ 4 เข้ามาทางด่านแม่ละเมาแม่สอด
ทัพที่ 5-7 เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตีตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาสมทบกับทัพที่ 3 และ 4 ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เพื่อตีเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์
ทัพที่ 8-9 เป็นทัพหลวงพระเจ้าปดุงเป็นผู้คุมทัพ โดยมีกำลังพลมากที่สุดถึง 50,000 นาย ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือและใต้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ารบกับกรุงเทพฯ

ทางบางกอก ได้จัดเตรียมการต้านทานกองกำลังพม่าออกเป็นหลายทาง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ทรงเป็นผู้อำนวยการรบทั้ง 2 พระองค์ ได้ทรงจัดกองทัพออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

ทัพที่ 1 ให้ยกไปรับทัพพม่าทางเหนือที่เมืองนครสวรรค์
ทัพที่ 2 ยกไปรับพม่าทางด้านพระเจดีย์สามองค์ ทัพนี้เป็นทัพใหญ่ มีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ คอยไปรับทัพหลวงของพระเจ้าปดุงที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ 3 ยกไปรับทัพพม่าที่จะมาจากทางใต้ที่เมืองราชบุรี
ทัพที่ 4 เป็นทัพหลวงโดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงควบคุมบัญชาการทัพคอยเป็นกำลังหนุน

สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงยกกองทัพไปถึงเมืองกาญจนบุรี ตั้งรับอยู่บริเวณทุ่งลาดหญ้า สกัดกั้นไม่ให้ทัพพม่าได้เข้ามารวบรวมกำลังพลกันได้ และทรงสามารถโจมตีทัพพม่าได้หลายครั้ง จนพม่าร่นถอยออกไป

ข้อมูลในเอกสารพระราชสาส์นที่ว่า ประชาราษฎรของข้าพเจ้าที่ยังกซิโลน มีโชคได้ชนะแก่พวกพม่า นั้นหมายถึงชัยชนะของกองทัพสยามที่เมืองภูเก็ตหรือจังซีลอนตามที่ชาวต่างประเทศรู้จักกัน กองทัพพม่าที่เข้ามารบทางใต้มีผู้นำทัพคือ แกงวุ่นแมงยี คุมกำลังทัพทั้งทางบกและทางทะเลลงไปตีเมืองถลาง เมื่อเข้าถึงเมืองชุมพร เจ้าเมืองเห็นว่าไม่สามารถทานกองกำลังพม่าได้ จึงหลบหนีเข้าป่า จากนั้นจึงรุกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุที่กองทัพเมืองหลวงยังไม่ได้ลงไปช่วยเหลือเพราะติดศึกที่เมืองกาญจนบุรี จึงเป็นเหตุให้ผู้คนคิดว่าเมืองบางกอกเสียแล้วแก่พม่า และทำให้เจ้าเมืองนครคิดหลบหนีเข้าไปในป่า กงทัพพม่าจึงเข้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ง่าย จากเมืองนี้พม่าจึงคิดโจมตีพัทลุงและสงขลาต่อไป

ส่วนยี่วุ่นแม่ทัพเรือพม่า หลังจากยกทัพเรือไปตีตะกั่วทุ่งตะกั่วป่าแล้วก็เข้าโจมตีถลาง พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ระบุเหตุการณ์การต้านทานศึกพม่าของชาวเมืองถลางไว้ว่า “เมื่อกองทัพพม่าไปถึงเมืองถลางนั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่ จันท์ภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุก คิดอ่านกับกรมการทั้งปวงเกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และตัวภรรญาพระยาถลางกับน้องผู้หญิงนั้น องอาจกล้าหาญมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก เกณฑ์กรมการกับพลทหารทั้งชายหญิงออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้ แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษ พม่าขัดเสบียงอาหารลง จะหักเอาเมืองมิได้ ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป” (กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. น. 41.)

ข้อมูลสำคัญที่เราได้จากพระราชสาส์นก็คือการสู้รบกับพม่านี้ สยามได้รับอาวุธจากประเทศโปรตุเกสด้วย แสดงให้เห็นว่าการค้าปืนไฟและอาวุธอื่นๆ ซึ่งเคยเป็นข้อเสนอของโปรตุเกสมาแต่ครั้งอยุธยานั้นก็ยังเป็นความจำเป็นของฝ่ายสยามอยู่เช่นเดิม

3. การสร้างโรงสินค้าและโบสถ์

“ข้าพเจ้ามีความยินดีในคำขอร้องของพระองค์เรื่องสร้างโรงงานในอาณาเขตของข้าพเจ้าสำหรับคริสตศาสนิกชาวโปรตุเกส ขอเชิญพระองค์ส่งคนมาเลือกสรรที่ที่เหมาะเพื่อสร้างโรงงานและโบสถ์ด้วย” จากส่วนหนึ่งในพระราชสาส์นนี้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้พระราชทานที่ดินและพระราชานุญาตให้สร้างโรงสินค้า

สถานที่สร้างโรงสินค้าของโปรตุเกสนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าอยู่บริเวณใด หากเชื่อว่าน่าจะอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ที่ต่อมาได้รับพระราชทานให้ก่อสร้างสถานกงสุลโปรตุเกสขึ้น ส่วนการสร้างโบสถ์คริสต์สำหรับชาวโปรตุเกสนั้น แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ชาวคริสต์ได้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรีด้วย อย่างไรก็ตามสันนิษฐานว่าโบสถ์ที่พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดสร้างนี้อาจจะไม่ได้ก่อสร้างขึ้น เพราะการที่บาทหลวงโปรตุเกสกลับเข้ามามีบทบาทในสยามนั้น ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นกับบาทหลวงฝรั่งเศส

ประเด็นดังกล่าวนี้ เสรี พงศ์พิศ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่าบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งได้อพยพไปตั้งมั่นอยู่ที่อินเดียหลังจากที่อยุธยาเสียแก่พม่านั้น เริ่มทยอยกลับเข้ามาในสยามเพื่อเผยแผ่พระศาสนาอีกครั้งหนึ่ง และเห็นว่าราชสำนักสยามติดต่อสัมพันธ์กับโปรตุเกสเพื่อขอบาทหลวงเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกับที่ชุมชนชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังที่ประทับนัก ทำให้ทรงคุ้นเคยมากกว่าชาวฝรั่งเศส ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งระหว่างคณะมิซซังต่างประเทศกรุงปารีสกับบาทหลวงโปรตุเกสซึ่งขึ้นตรงต่อสังฆราชโปรตุเกสที่เมืองกัว (Goa) ดังที่บาทหลวงกูเดเองได้บรรยายได้ว่า

“พวกปอร์ตุเกสได้ทำการขัดขวางมิให้การศาสนาแผ่ออกไปได้ โดยที่ต้องการให้พวกที่เข้ารีตใหม่เป็นคนบังคับของพระเจ้ากรุงปอร์ตุเกสทั้งหมด โรงเรียนเก่าที่ได้ช่วยในการที่จะให้คณะบาทหลวงให้ล้มเลิกไป และได้พยายามในการนี้ทุกอย่าง จนถึงกับแก้ไขขนบธรรมเนียม แก้ไขวิธีการแต่งกาย แก้ไขอีกหลายอย่าง” (เสรี พงศ์พิศ. คาทอลิคกับสังคมไทย สี่ศตวรรษแห่งคุณค่าและบทเรียน. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2527), น. 127.)

แต่ต่อมาปัญหาต่างๆ ก็สงบลงได้ด้วยดี แต่จำนวนบาทหลวงโปรตุเกสก็ลดน้อยลงมาก ชุมชนชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่อยู่แถบวัดซางตาครู้สหรือกุฎีจีน

4. สงครามในเมืองญวน

เจ้าแผ่นดินญวนใต้ได้ขอร้องมาเพื่อให้ข้าพเจ้าช่วยเหลือให้ได้ดำรงราชย์ในอาณาจักรของเขา ข้าพเจ้าก็ได้ช่วยพระเจ้าแผ่นดินญวนใต้และประยุรญาติ ถ้าหากเวลานี้ข้าพเจ้าไม่ต่อสู้กับพม่า ข้าพเจ้าก็จะได้ส่งทัพ 1 กอง ไปรบกับไตสันผู้กบฏ และให้เจ้าแผ่นดินผู้ชอบด้วยกฎหมายขึ้นครองราชสมบัติอย่างเดิม” ข้อความตอนนี้หมายถึงเรื่องขององเชียงสือ ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2325 ดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า

“ในปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 นั้น ฝ่ายข้างเมืองญวนองไกเซิง เจ้าเมืองกุ้ยเยิน ยกกองทัพมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือเจ้าเมืองยกพลทหารออกต่อรบ ต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีทิ้งเมืองเสีย พามารดาและบุตรภรรยาและขุนนางสมัครพรรคพวก ลงเรือแล่นหนีมาทางทะเลขึ้นอาศัยอยู่ ณ เกาะกระบือ พระยาชลบุรี พระระยองออกไปตระเวนสลัดถึงเกาะกระบือ พบองเชียงสือๆ เล่าความให้พระยาชลบุรี พระระยองฟังว่า องเชียงสือเป็นบุตรองคางเวือง เป็นหลานพระเจ้าแผ่นดินญวน บ้านเมืองเสียแก่ข้าศึกหนีมา…” (กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. น. 13.)

ภาพวาด องเชียงสือ เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 1
องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

เมื่อฝ่ายสยามเห็นทีท่าขององเชียงสือแล้วก็บอกให้เข้าไปสวามิภักดิ์กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยองเชียงสือเข้ามาถึงพระนครเมื่อเดือนสี่ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 โปรดให้ทั้งหมดพักอยู่แถบใต้บ้านต้นสำโรง ซึ่งภายหลังพระราชทานให้กงสุลโปรตุเกสพำนักอยู่ ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 5 ชั่ง มีเครื่องยศถาดหมาก คนโททอง กระบี่บั้งทอง กลดคันสั้น และโปรดให้เข้าเฝ้าที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นนิจ

ในปีรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครสวรรค์ยกกองทัพออกไปตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้กับองเชียงสือ ตามที่ทรงให้สัญญาไว้กับองเชียงสือแต่ครั้งก่อน พระยานครสวรรค์ได้ยกทัพออกไปทางกัมพูชา รวบรวมกองทัพเขมรเป็นกองทัพใหญ่แล้วเข้าตีเมืองสะแดก ซึ่งเป็นเมืองขึ้น กองทัพไทยสามารถโจมตีเมืองได้ ได้เรือรบและศัสตราวุธเป็นจำนวนมาก แต่แล้วพระยานครสวรรค์กลับส่งอาวุธต่างๆ คืนกลับแก่เมืองไซ่ง่อน พระยาวิชิตรณรงค์กับข้าหลวงเห็นว่าพระยานครสวรรค์กระทำความผิด จึงมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระพิโรธมาก ดำรัสสั่งให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปให้หากองทัพพระยานครสวรรค์กลับคืนกรุงเทพมหานคร และทรงไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ความจริงตามหนังสือกล่าวโทษ จึงทรงสั่งให้ประหารชีวิตพระยานครสวรรค์กับขุนนางอีก 12 คน ที่ป่าช้าวัดโพธาราม นอกพระนครข้างทิศตะวันออก

ครั้งปี พ.ศ. 2327 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพนำพลทหาร 5,000 ยกไปตีเมืองไซ่ง่อนคืนอีกครั้ง โดยคราวนี้องเชียงสือได้ร่วมไปในกองทัพด้วย ทัพบกโปรดให้พระยาวิชิตรณรงค์ยกไปทางด้านกัมพูชาเพื่อเกณฑ์ชาวเขมรไปร่วมในกองทัพ และสามารถตีเมืองต่างๆ ไล่ไปเรื่อย ส่วนทัพเรือของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอฯ นั้นยกออกไปตั้งที่ปากคลองวามะนาว และตั้งมั่นเพื่อจะตีทัพบกของญวนให้แตกเสียก่อน แต่มิได้ระวังข้างหลัง กองทัพญวนจึงยกทัพมาปิดล้อมที่ปากคลอง กระหนาบให้กองทัพของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอฯ อยู่ระหว่างกลาง เป็นเหตุให้ทัพไทยแตกหนีญวนเข้าแดนกัมพูชา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบเรื่องนั้นก็ทรงงพระพิโรธเป็นอันมาก ดำรัสสั่งให้ยกพลกลับพระนครและทรงลงพระราชอาญาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอฯ แต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้ง 2 พระองค์กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษไว้เสียก่อน

องเชียงสือนี้ต่อมาได้หลบหนีกลับไปที่เมืองญวน โดยตั้งใจจะกลับไปตีเอาบ้านเมืองคืนมาเอง แม้สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะกราบบังคมทูลขอตามไปจับตัวมาลงพระราชอาญาก็ตาม แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระบรมราชโองการว่า “อย่ายกทัพไปคิดตามเขาเลย เขาเห็นว่าเราช่วยธุระเขาไม่ได้ด้วยมีศึกติดพันกันอยู่ เขาจึงหนีไปคิดจะตีเอาบ้านเมืองคืน เรามีคุณแก่เขา เขียนด้วยมือและจะลบด้วยเท้ามิบังควร” (กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. น. 45.)

กระนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชก็ขอพระราชทานสร้างป้อมขึ้นที่ใต้ลัดโพธิ์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างพระนครให้แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น    

สำหรับประเด็นสุดท้ายคือ การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแสดงความยินดีกับราชสำนักโปรตุเกสกับราชสำนักสเปนนั้น เป็นเพราะว่าในปี ค.ศ. 1785/ พ.ศ. 2328 นั้น เจ้าชายโจอาว (Joao) พระโอรสพระองค์ที่ 2 ของพระราชินีมาเรียที่ 1 แห่งโปรตุเกสทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงคาร์โลต้า โจอาคิม (Carlota-Joaquim) นั่นเอง สันนิษฐานว่าในพระราชหัตถเลขาของพระราชินีมาเรียที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นได้ทรงเล่าความสัมพันธ์และพิธีแต่งงานไว้ จึงเป็นเหตุให้ทรงแสดงความยินดีในครั้งนี้

พระราชสาส์นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ทรงมีไปถึงพระราชินีแห่งโปรตุเกสจึงเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและเป็นเครื่องยืนยันความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศที่เริ่มถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

จดหมายเหตุคัดมาจากรอเยอลกอโลเนียลอินสติติว กรุงลอนดอน Documents from the Royal Colonial Institute, London, พระพิพิธสุนทรพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์ตรี พระยาวรวิไชยวุฒิกร (เลื่อม สนธิรัตน) เมื่อ พ.ศ. 2476.

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสรรพกิจปรีชา (ชื่น โชติกเสถียร) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). ราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, 2510.

เสรี พงศ์พิศ. คาทอลิคกับสังคมไทย สี่ศตวรรษแห่งคุณค่าและบทเรียน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2527.

Manuel Teixeira. Portugal na Tailandia. Macao : Imprensa Nacional de Macao, 1983.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2562