สามพระราชินีผู้เลอโฉมในร.5 ทรงพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่กล่าวถึงในหมู่ชาวต่างชาติ

(จากซ้าย) สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา, สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี

ภายหลังจากที่พระราชินีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระฉายาลักษณ์อันโสภาและมีเสน่ห์อันน่าพิศวงของขัตติยนารีชาวตะวันออกขึ้นหน้าหนึ่งอยู่หลายปี ภาพของพระราชินีผู้เลอโฉมแห่งสยามก็เลือนหายไปภายหลังการสวรรคตของพระราชินีพระองค์นั้นใน .. 2404 (.. 1861) ก่อนหน้าพระราชสวามีจะสวรรคตถึง 7 ปี โดยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาผู้ใดอีกเลยจนสิ้นรัชกาล

สยามผลัดแผ่นดินเป็นรัชกาลที่ 5 ใน .. 2411 (.. 1868) พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลใหม่ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความแตกต่างในเรื่องของเจ้านายเชื้อพระวงศ์กว่าในรัชกาลที่ 4 เพราะสมเด็จพระบรมชนกนาถมีพระราชโอรสพระราชธิดารุ่นราวคราวเดียวกันมากถึง 82 พระองค์ การคัดเลือกพระมเหสีสำหรับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) มากกว่าพระภาคิไนย (ลูกสาวของพี่) ดังเช่นในรัชกาลก่อนเพื่อจะดำรงเชื้อพระวงศ์ไว้

และก็เป็นความจริงดังคาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) 3 พระองค์เป็นบาทบริจาริกาในเวลาไล่เลี่ยกัน และจากพระชนนีองค์เดียวกัน คือต่างก็เป็นพระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ดังมีพระนามตามลำดับต่อไปนี้

1. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สถาปนาเมื่อ .. 2420 พระชนมายุ 16 พรรษา

2. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สถาปนาเมื่อ .. 2421 พระชนมายุ 15 พรรษา (ต่อมาเลื่อนเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)

3. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี สถาปนาเมื่อ .. 2423 พระชนมพรรษา 17 พรรษา (ต่อมาเลื่อนเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ)

แม้นว่าพระมเหสีแต่ละพระองค์จะดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีเหมือนกัน แต่ก็เป็นต่างกรรมต่างวาระกันโดยสิ้นเชิง ทว่า ด้วยเหตุบังเอิญที่ทั้ง 3 พระองค์ล้วนมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่ร่ำลือไปทั่วทั้งแผ่นดินและในต่างประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

รัชกาลที่ 5 ทรงสนิทเสน่หาพระกนิษฐภคินีทั้ง 3 พระองค์ยิ่งนักด้วยพระรูปโฉมนงคราญที่สะดุดตา พระสติปัญญาหลักแหลม และทรงวางพระองค์ไว้ถูกกาละเทศะ โดยในระยะต้นรัชกาลนั้นทั้ง 3 พระองค์ได้มีส่วนค้ำจุนราชบัลลังก์ และเป็นหน้าตาของราชสำนักไทยได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว

ทรงเรียกองค์โตว่าแม่ใหญ่แม่ใหญ่ทรงเฉิดโฉมด้วยพระพักตร์ที่มีเสน่ห์ องค์ที่ 2 เรียกแม่กลางแม่กลางนั้นสวยซึ้งและสง่างาม องค์ที่ 3 เรียกแม่เล็กแม่เล็กนั้นสวยเก๋และเป็นผู้นำแฟชั่นในสายตาคนภายนอก และทรงเป็นภาพลักษณ์คุ้นตาของราชสำนักจนสิ้นรัชกาล

นักประวัติศาสตร์ไทยและต่างชาติผู้สันทัดกรณีอ้างถึงพระสิริโฉมของสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 5 ว่าทรงโสภายิ่งนัก ข้อสังเกตนี้ปรากฏอยู่เนืองๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์ของฝรั่ง และเมื่อมีโอกาสต้องวาดภาพของพระราชินีเพื่อส่งขึ้นแท่นพิมพ์เผยแพร่ก็จะเลือกสรรรูปถ่ายต้นแบบที่งดงามที่สุดของพระราชินีแต่ละพระองค์มาประกอบข่าว ทำให้เชื่อได้ว่าพระพักตร์ที่แท้จริงของแต่ละพระองค์นั้นทรงเฉิดโฉมมิใช่น้อยเลย

คุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม กล่าวถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ไว้ตอนหนึ่งว่า

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดสมเด็จพระนางเจ้าพระองค์นี้มากยิ่งนัก ด้วยทรงประกอบไปด้วยพระรูปสมบัติ พระคุณสมบัติ ตลอดจนพระอัธยาศัยสุภาพเรียบร้อย สงบเสงี่ยมเป็นที่นิยมนับถือในบรรดาพระราชวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเป็นอันมาก แต่กล่าวกันว่าบางครั้งสมเด็จพระนางก็ทรงเด็ดขาดสามารถในการปกครองข้าราชบริพารเป็นอย่างยิ่ง

มีข้อสังเกตที่น่าจดจำคือ ดังที่กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่าพระราชโอรสพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยมากเป็นรุ่นเดียวกัน และเคยโปรดให้ แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ชาวอังกฤษ เป็นครูพิเศษเข้ามาสอนสรรพวิชาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษให้พระราชโอรสพระราชธิดาตั้งแต่ .. 2405 ส่งเสริมให้พระมเหสีเทวีทั้ง 3 พระองค์นี้ มีความรู้สามารถตรัสภาษาอังกฤษได้ดีและคล่องแคล่ว

อดีตประธานาธิบดีกรานต์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่เคยเข้ามาเมืองไทยใน .. 1879 (.. 2422) และได้เข้าเฝ้าฯ ถึงในพระบรมมหาราชวัง ยังได้บันทึกไว้ว่าสมเด็จพระราชินีได้เสด็จออกต้อนรับท่านและภรรยาพร้อมด้วยพระเจ้าอยู่หัว ได้สนทนาวิสาสะและชมความงามของพระราชินีแห่งสยามด้วยความนิยมยินดี

แต่ด้วยคราวเคราะห์ที่ไม่มีใครคาดคิด ใน .. 2423 ขณะที่ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ มีพระชนมายุเพียง 21 พรรษา ก็สวรรคตในอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่มที่นนทบุรีพร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ผู้ตามเสด็จ เป็นเหตุผลให้คนไทยในสมัยต่อมาขานพระนามว่าพระนางเรือล่มตราบถึงทุกวันนี้

สมเด็จพระน้องนางเธอสว่างวัฒนาจึงได้เสด็จขึ้นดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีแทนใน .. 2423 สถานะใหม่ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีสูงส่งขึ้นอีกเนื่องจากประสูติพระราชโอรสซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

นักประวัติศาสตร์ไทยกล่าวถึงสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาว่า นอกจากจะทรงมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมแล้ว ทางด้านพระโฉมนั้น ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก สำหรับเรื่องพระสิริโฉมแห่งพระนาง ได้ปรากฏเล่าลือไปถึงต่างแดน เนื่องจากว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงรับพระกรุณาสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าแล้ว ก็ทรงทำหน้าที่พระอัครมเหสีอย่างเต็มที่ด้วยการถวายงานและเสด็จอยู่เคียงข้างพระราชสวามีไม่ได้ขาด และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางแถบยุโรปนั้นเป็นพระราชภารกิจที่สำคัญ จะเห็นได้ว่ามีทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ พระองค์อยู่บ่อยครั้ง

พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4, แถวกลางซ้ายสุดคือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และแถวกลางขวาสุดคือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

ชาวต่างชาติที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ยลพระโฉมในสมัยนั้นถึงกับออกปากว่าทรงงามนักหนา ท่านผู้นั้นคือปริ๊นซ์ออสคาร์ ดยุคออฟก๊อตแลนด์ จากประเทศสวีเดน ได้เสด็จเข้ามาเยือนสยามประเทศใน .. 2427 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เข้าเฝ้าฯ พระบรมมหาราชวัง เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ตามที่ปริ๊นซ์ออสคาร์เขียนบันทึกในจดหมายเหตุว่า

“…เราเดินผ่านท้องพระโรงใหญ่ๆ หลายห้องและห้องสวยๆ อีกไม่น้อยจนผ่านสวนในร่มซึ่งน้ำตกตกเป็นสายจากถ้ำจำลอง แล้วจึงเข้าไปถึงห้องรับแขกของพระราชินีไทย ฉันแปลกใจเมื่อเข้ามาเผชิญหน้ากับผู้ที่มีรูปร่างอ้อนแอ้นแบบบาง อายุราวๆ 22 ปี แต่งคล้ายมหาดเล็ก แต่มีความคิดดีในการแต่งกาย ทำให้ดูหยดย้อย แสนจะหรูหรา

พระเจ้าแผ่นดินทรงแนะนำว่าเป็นพระมเหสีของพระองค์ เครื่องทรงของพระราชินีซึ่งเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วยฉลองพระองค์โบรเคตสีทองๆ เงินๆ พอดีพระองค์ แขนเป็นจีบๆ ทำด้วยไหมทองมีจุดขาวมีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวมๆ ทรงสนับเพลาหรือผ้าทรงแบบเดียวกับที่พวกผู้ชายนุ่ง เป็นสีน้ำเงินแก่กับทองทำให้ดูเครื่องแต่งพระองค์เป็นที่ประหลาดแต่สวยงามนี้ครบชุด โดยมีดุมเพ็ชรเม็ดใหญ่และเข็มกลัดเพ็ชรกลัดตรึงไว้รอบพระศอ ทรงสังวาลย์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับเพ็ชรวูบวาบติดทับอยู่บนฉลองพระองค์ ท่านงามสะดุดตาที่สุดอยู่แล้ว ซ้ำยังเคลื่อนไหวพระอิริยาบถด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นในพระองค์เอง กับมีพระรูปโฉมสมเป็นนางเอกในภาพที่งามวิจิตร บริวารของฉัน ซึ่งได้รับอนุญาตให้ตามฉันเข้าไปในที่นี้ด้วย ก็เช่นเดียวกับตัวฉัน คืองงงันซาบซึ้งและปิติยินดีในสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะพระราชินีที่งามเลิศ…”

สถานะของพระราชินีพระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 5 สิ้นสุดลงเมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2437 และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ถือว่าพระราชโอรสที่ถือประสูติจากพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี มีพระศักดิ์เสมอกัน

ดังนั้น การที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นมกุฎราชกุมารองค์ต่อไป ทำให้ สมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี พระชนนี ก็ทรงเลื่อนพระฐานันดรศักดิ์ในตำแหน่งพระอัครมเหสีโดยปริยาย

ภาพประกอบเนื้อหา – พระรูปหมู่เจ้านายฝ่ายใน (แถวหน้าจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐสารี สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี (แถวหลังจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในภาพมีสุนัขทรงเลี้ยงหมอบอยู่ชิดติดกับกรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี มีความเป็นไปได้สูงว่าคือ “อีเบส”

นักประวัติศาสตร์ไทยเขียนถึงความโสภาของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ว่าทรงพร้อมด้วยพระรูปโฉมงดงามยิ่ง พระฉวีขาวผุดผ่องสมพระนาม ดวงพระพักตร์เฉิดฉาย ประกอบด้วยพระจริยาวัตรอันงดงามอ่อนโยนทั้งทรงว่องไว มีชีวิตชีวา และทรงมีแววแห่งความเฉลียวฉลาด

สื่อต่างประเทศเผยแพร่พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีไม่ใช่เฉพาะพระรูปโฉมอันผุดผาดของสาวตะวันออกเท่านั้น แต่ที่ถูกเน้นและกล่าวขวัญถึงอย่างมาก คือ การเป็นผู้นำแฟชั่นใหม่ๆ ของหญิงชาวเอเชียที่ไม่เปลี่ยนเลยมาเป็นร้อยๆ ปี

เนื่องจากสนพระราชหฤทัยในฉลองพระองค์แบบทันสมัย ส่งผลให้นางสนมกำนัลและภาพลักษณ์ของชาวราชสำนักฝ่ายในเปลี่ยนตามไปด้วยตามพระราชนิยมใหม่ๆ มีการใช้เครื่องสำอาง น้ำหอม และเครื่องประทินผิวแบบหญิงชาวตะวันตก จนเหมือนว่าสยามล้ำหน้าไปไกลกว่าที่อื่นๆ ในเรื่องของแฟชั่นและความงามอันทันสมัย

และเนื่องจากตามเสด็จพระราชสวามีอยู่เนืองๆ ไปต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์และชวา ทำให้ทรงคิดประดิษฐ์เครื่องแต่งกายแนวใหม่เป็นกึ่งไทยกึ่งฝรั่งได้อย่างแนบเนียนลงตัว เช่น ฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ฝรั่งแขนพองเหมือนขาหมูแฮม แต่ทรงนุ่งโจง (โจงกระเบน) จนดูเหมือนกางเกงแนวใหม่สำหรับผู้หญิง เป็นที่ร่ำลืออย่างเกรียวกราวถึงในเมืองแฟชั่นของยุโรปและก้าวหน้าไปมากกว่าพระราชินีองค์ใดจนสิ้นรัชกาลที่ 5

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายเมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระมหานคร ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกไปรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ประทับคอยอยู่ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ที่หน้าเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2445

หมายเหตุ : คัดบางส่วนจากบทความ พระราชินีไทยผู้ทรงโสภาในประวัติศาสตร์ โดยไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2563