ร้านอาหารเก่าแก่-เมนูเด็ดย่านถนนทรงวาด ร้านทำซาลาเปาร่วมร้อยปี ถึงเส้นหมี่น้ำใส่ไข่ดาว

ร้านอาหาร และอาหารต่างๆ ที่สามารถซื้อหาได้จากย่านถนนทรงวาด

รวมร้านอาหารเก่าแก่รสเลิศย่านถนนทรงวาด ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาขายกว่า 80 ปี เส้นหมี่น้ำใส่ไข่ดาวแบบจีนแคะ ขนมจีบเจ้าเก่า ห่านพะโล้ชื่อดัง และร้านทำซาลาเปามาร่วมร้อยปี

ถนนทรงวาดคับคั่งไปด้วยกิจการร้านค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน ท่ามกลางบรรยากาศศูนย์กลางการค้าเก่าแก่ของไทย กิจการชนิดหนึ่งที่หล่อเลี้ยงผู้คนย่อมเป็นร้านอาหารต่างๆ

หากนับตั้งแต่การตัดถนนทรงวาดจนถึงช่วงหลังทศวรรษ 2450 เป็นต้นมา ถึงจะผ่านกาลเวลามายาวนานร่วมร้อยปีแล้ว ร้านอาหารและผู้ขายอาหารในลักษณะ “สตรีทฟู้ด” ซึ่งปรากฏขึ้นตามช่วงเวลาต่างๆ ภายหลังถนนทรงวาดถือกำเนิดขึ้น หลายร้านยังคงเปิดขายอาหารสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ขณะที่ร้านเก่าแก่ยังคงดำเนินกิจการตามวิถีดั้งเดิมของพวกเขาในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายใหม่ก็ปรากฏขึ้นในพื้นที่ถนนทรงวาดตามกาลเวลา เกิดเป็นภาพคู่ขนานระหว่างกิจการดั้งเดิมและร้านอาหารแบบร่วมสมัยผสมผสานอยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างหลากหลายและลงตัวราวกับเป็นกระจกสะท้อนพัฒนาการยุคสมัยไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีลมหายใจพร้อมก้าวต่อไปข้างหน้าเสมอ

มาดูกันว่าย่านถนนทรงวาดมีสตรีทฟู้ด ร้านอาหารเก่าแก่ และร้านที่(เพิ่งเข้ามา)เปิดใหม่ ร้านใดบ้าง พวกเขามีเรื่องราวและแนวคิดเกี่ยวกับการทำอาหารเฉพาะตัวที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง ติดตามจากซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” ตอนที่ 9 ว่าด้วยเรื่องราวของร้านอาหารและเมนูทีเด็ดซึ่งดึงดูดบรรดานักชิมทุกทิศให้มาลิ้มรสอาหารโดยร้านในย่านถนนทรงวาด (คลิกที่ภาพเพื่ออ่านคำบรรยายประกอบ)

ติดตามซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” จากศิลปวัฒนธรรมและช่องทางต่างๆ ในเครือมติชน เผยแพร่เดือนละ 2 ตอน ในวันศุกร์ (ศุกร์เว้นศุกร์) เวลา 19.00 น. (ครั้งถัดไปเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์)

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไม “ถนนทรงวาด” กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกิจการ-นักธุรกิจในยุคบุกเบิก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

ถนนทรงวาดก่อกำเนิดขึ้นราวช่วงปลายทศวรรษ 2440 ถึง 2450 ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในสำเพ็งเมื่อ พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปรับปรุงสำเพ็งด้วยการตัดถนน เป็นการจัดระเบียบพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยใหม่

พระองค์ทรงมีพระราชดำริเรื่องแนวถนน โดยทรงวาดแนวลงบนแผนที่ เป็นแนวถนนเชื่อมกับถนนเส้นอื่น เช่นถนนราชวงศ์ และถนนจักรวรรดิ ทำให้ถนนสายใหม่นี้ภายหลังจึงมีชื่อว่า ถนนทรงวาด (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2546)

เดิมทีแล้วถนนทรงวาด คือพื้นที่หนึ่งของสำเพ็ง ชุมชนและแหล่งค้าขายที่มีชาวจีนมาตั้งหลักแหล่งเป็นจำนวนมากตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีเมื่อพ.ศ. 2325

ดังนั้น พื้นที่นี้จึงมีทั้งชุมชนและร้านค้าตั้งอยู่มาก ด้วยทำเลที่ตั้งของถนนทรงวาดอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา การคมนาคมขนส่งทางเรือทำได้ง่ายและเชื่อมต่อกับย่านการค้าแหล่งอื่นโดยสะดวก ยิ่งทำให้มีกิจการห้างร้านมาตั้งที่ทำการจำนวนมากจนกลายเป็นย่านการค้านำเข้า-ส่งออกที่สำคัญในระยะเวลาหนึ่ง

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง รูปแบบการคมนาคมขนส่งไม่ได้พึ่งพาแค่ขนส่งทางน้ำเป็นหลักเหมือนสมัยก่อน บทบาทของทรงวาดก็เปลี่ยนแปลงไป แต่พื้นที่ทรงวาดยังหลงเหลือร่องรอยของความรุ่งเรืองทางการค้าอยู่ ในปัจจุบัน ทรงวาดเป็นที่ตั้งของกิจการพืชผลทางการเกษตรผสมผสานไปกับกิจการค้าขายอื่นๆ รวมทั้งกิจการร้านอาหารด้วย

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กิจการร้านอาหารหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันไปตามยุคสมัยไม่ต่างกับกิจการประเภทอื่น มีร้านค้าหน้าใหมเข้ามาเปิดจำหน่ายอาหารของตัวเอง ขณะเดียวกัน ร่องรอยของร้านขายอาหารจากอดีตก็ยังคงหลงเหลือให้คนยุคหลังได้สัมผัสกันอยู่ มีทั้งประเภทสตรีทฟู้ด และร้านค้าที่ตั้งในอาคาร

ในที่นี้จึงจัดแบ่งร้านอาหารในย่านถนนทรงวาดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สตรีทฟู้ด คือร้านประเภทรถเข็น สามารถเก็บหรือเคลื่อนย้ายร้านได้, ร้านเก่าแก่ คือร้านขายอาหารที่อยู่ในตัวอาคาร และร้านที่(เพิ่งเข้ามา)เปิดใหม่ มีทั้งร้านที่เปิดที่อื่นมาหลายปีแล้วเพิ่งย้ายมาตั้งร้านในพื้นที่ใหม่ในละแวกถนนทรงวาด และร้านที่เพิ่งเข้ามาเปิดกิจการใหม่ในพื้นที่ได้ไม่กี่ปี

สตรีทฟู้ด

ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ลิ้มเหล่าโหงว ขายมานานร่วม 80 ปี

บรรดาสตรีทฟู้ดในย่านถนนทรงวาด ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ลิ้มเหล่าโหงว คือร้านที่ทั้งเก่าแก่และโด่งดังที่สุดปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 2 แล้วซึ่งมาขายก๋วยเตี๋ยว

คุณมานะ บริบูรณ์ชัยศิริ เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 เล่าว่า แรกเริ่มขายมาตั้งแต่คุณพ่อที่เป็นคนครัวเก่าเดินทางมาจากจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ มาตั้งรกรากอยู่ละแวกนี้ โดยมาทำงานก่อน จากนั้นถึงขายของ ขายก๋วยเตี๋ยว

เดิมทีแล้วไม่ได้ขายที่หน้าตึกเจียไต๋ ย้ายจุดที่ตั้งมาหลายที่ก่อนจะมาตั้งขายหน้าตึกเจียไต๋ บริเวณถนนทรงสวัสดิ์ ใกล้กับถนนทรงวาด รวมเวลาทั้งหมดแล้วขายมาร่วม 80 ปี ลูกค้าที่เป็นคนทำงานกับเจียไต๋ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 เล่าว่า สูตรที่ขายก๋วยเตี๋ยวเป็นสูตรจากซัวเถา ลูกชิ้นปลาของร้านใช้ปลาล้วน ไม่มีผสม ทั้งนี้ สูตรทำลูกชิ้นปลาค่อนข้างหลากหลาย บางคนใส่ไข่ขาว บางคนใส่แป้ง ใส่ปลาชนิดต่างๆ แล้วแต่สูตรใครสูตรมัน ขณะที่ร้านคัดสรรปลาเป็นพิเศษ

สำหรับร้านนี้เปิดขายตั้งแต่ 17.30 น. เป็นต้นไป โดยเจ้าของร้านรุ่นที่ 2 เล่าว่า ร้านเลือกขายช่วงเย็นมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ อาจเป็นเพราะเมื่อก่อนมาปักหลักตรงนี้ ทำงานค้าขาย ร้านค้าเปิดกลางวัน กลางคืนสะดวกจึงมาเปิดขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่ช่วงเย็นเป็นต้นไป กระทั่งมาถึงรุ่นที่ 2 เริ่มไปเปิดสาขาอื่นซึ่งสาขาอื่นขายในเวลาเช้าแล้วก็มี

“ลิ้มเหล่าโหงว ตอนนี้รุ่นหลังๆ รุ่น 2-3 ขยายเยอะ พี่น้องเยอะ ต่างคนต่างทำ ผมก็มีโลโก้ของผม ผมดูแล สาขาวัดเกาะ (หน้าเจียไต๋) ตลาดน้อย (เจริญกรุง 29) ลาดหญ้า (วงเวียนใหญ่) แล้วก็นนทรี” มานะ บริบูรณ์ชัยศิริ เจ้าของรุ่นปัจจุบันกล่าว

เจ้าของร้านทิ้งท้ายโดยแนะนำว่า หากทานก๋วยเตี๋ยวของร้าน ให้กินบะหมี่แห้ง และเส้นใหญ่น้ำ โดยใส่จิ๊กโฉ่วในบะหมี่แห้งเล็กน้อย เป็นซอสเปรี้ยวสูตรพิเศษ ใส่แล้วกลมกล่อมขึ้น

พิกัด : https://goo.gl/maps/fdoPpyqKue6NJQvq6

ขนมจีบอาเหลียง สตรีทฟู้ดเก่าแก่กว่า 70 ปี

อีกหนึ่งร้านแนว “สตรีทฟู้ด” ที่อยู่คู่ย่านนี้มายาวนานแทบเป็นภาพคุ้นตาสำหรับผู้สัญจรผ่านถนนทรงวาดหรือสำเพ็งในอดีตก็ว่าได้ ร้านนี้คือ “ขนมจีบอาเหลียง”

คุณพร ลูกสะใภ้ของทายาทที่ขายสืบต่อมา ให้สัมภาษณ์ว่า รุ่นที่ขายในปัจจุบันถือเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว จากจุดแรกเริ่มจากอาเหล่ากงที่มาจากเมืองจีน รุ่นที่คนเรียกกันติดปากว่า “หอบเสื่อผืนหมอนใบ” เริ่มต้นมาค้าขายในละแวกนี้ และขายขนมจีบ เพราะเป็นอาชีพที่เคยทำมา เมื่อทำไปเรื่อยๆ เริ่มขายดี จึงขายสืบทอดต่อกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 รวมแล้วน่าจะขายมาเกิน 70 ปี ใกล้เข้าปีที่ 80

“แรกๆ อาเหล่ากงหาบขายในสำเพ็ง จนวันหนึ่งหาบไม่ไหว เมื่อลูกสืบต่อมาจนหาบไม่ไหวก็เลยกลายเป็นรถเข็น เมื่อก่อนตั้งอยู่ในสำเพ็ง ช่วงที่สำเพ็งทำถนนไม่มีที่ขายเลยเข็นไปท่าน้ำ(ราชวงศ์)และขายดีเลยได้จุดขายที่ท่าน้ำราชวงศ์เป็นจุดเริ่มต้นจนตั้งอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบันและสืบทอดต่อกันมาถึงทุกวันนี้”

คุณพร อธิบายด้วยว่า สูตรของร้านจะแตกต่างจากที่อื่น เริ่มต้นจากเปลือกขนมจีบ ไม่ได้เหลืองเหมือนที่อื่น เป็นเปลือกบางขาวนุ่ม ก่อนหน้านี้เคยทำแป้งเอง แต่ตอนนี้ให้โรงงานทำ ไม่ได้ใช้มือทำเพราะว่าค่อนข้างใช้คนเยอะ และทำไม่ไหว ส่วนไส้จะผสมมันแกว หมู ส่วนผสมค่อนข้างหลากหลายโดยมีไข่เจียวเป็นตัวชูโรง

สำหรับไข่ในไส้ คุณพร เล่าว่าต้องไปทำสุกเป็นไข่เจียว แล้วมาสับเหมือนลูกเต๋า ไข่เจียวปรุงรสด้วยน้ำตาลกับเกลือทำให้รสชาติไข่กลมกล่อม เวลาผสมก็ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงเยอะ เพราะมีรสชาติเฉพาะตัวเอง

รายละเอียดอีกอย่างที่น่าสนใจคือน้ำจิ้ม เป็นสูตรของอากง ซอสจิ๊กโฉ่วที่ก็ร้านทำเอง ผสมเอง ผสมด้วยน้ำต้มสุก ซีอิ๊วดำ น้ำส้มหมัก และมีพริกน้ำส้ม 3 รส มีพริกชี้ฟ้าหมัก ผสมน้ำตาล น้ำส้มหมัก ไม่ได้ใช้น้ำส้มสายชู และราดด้วยกระเทียมเจียว ที่พิเศษคือถ้าเป็นคนรุ่นเก่าจะมีมัสตาร์ดมาให้ทานคู่ด้วย

พิกัด : https://goo.gl/maps/AFK1VmBrXLXyKqNX8

นายย้ง ทรงวาด ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาเก่าแก่กว่า 65 ปี

ย่านทรงวาดมีร้านก๋วยเตี๋ยวหลายร้าน บางร้านขายเมนูเดียวกันแต่มีรายละเอียดแตกต่างกัน นายย้ง ทรงวาด คืออีกหนึ่งร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่เก่าแก่และโด่งดัง สูตรของที่นี่ไม่ใส่ถั่วงอกในก๋วยเตี๋ยวแบบแห้ง

ร้านนายย้ง ทรงวาด ขายมาถึงรุ่นที่ 2 คือคุณพรพรรณ เกตุวรรณโสภณ เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 เล่าว่า นายย้ง ทรงวาด เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่ขายมากว่า 65 ปีแล้ว

ร้านปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนทรงวาด บริเวณหน้าซอยที่อยู่ติดกับถนนมังกร แรกเริ่มเดิมทีคุณพ่อเป็นชาวจีนแต้จิ๋วมาเปิดร้านก่อน ขายแบบรถเข็น

คุณพรพรรณ เล่าว่า พ่อเคยพักอาศัยอยู่ที่อื่นก่อนย้ายมาอาศัยในถนนทรงวาดเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ก่อนจะมาตั้งขายอยู่หน้าซอยในปัจจุบันซึ่งขายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ปี สูตรก๋วยเตี๋ยวก็เป็นของคุณพ่อ น้ำซุปได้จากน้ำลูกชิ้นปลามาเคี่ยว ช้อนฟองไขปลาออก และใส่กระดูกหมูอีกเล็กน้อยเพื่อให้น้ำแกงน่าทาน มีความมันนิดๆ

ลูกชิ้นปลาของร้านนายย้ง ทรงวาด ทำจากปลาดาบลาว และปลาหางเหลือง เป็นปลาทะเลน้ำลึก ไม่ใส่สารใดๆ เป็นเนื้อปลาล้วนๆ

ส่วนเส้นของร้านก็สั่งทำพิเศษ บะหมี่เป็นบะหมี่ไข่ คัดสรรจากเส้นที่เหนียวนุ่ม ที่สำคัญคือคือ ร้านไม่ใส่ถั่วงอกในบางชนิด

ร้านนายย้ง ทรงวาด มีลักษณะเฉพาะอีกแบบคือใส่ถั่วงอกเฉพาะเส้นหมี่แห้ง เส้นเล็กแห้ง และเส้นใหญ่แห้ง ก๋วยเตี๋ยวน้ำจะไม่ใส่ถั่วงอกโดยให้เหตุผลว่า ถั่วงอกทำให้น้ำเสียรสชาติ ถั่วงอกถ้าอยู่ในน้ำซุปทำให้รสชาติด้อยลงไป แต่ถ้าลูกค้าต้องการใส่ในแบบน้ำก็สามารถแจ้งทางร้านให้ใส่เพิ่มได้

พิกัด : https://goo.gl/maps/zDzWb9bk9rCHkmfUA

หมูสะเต๊ะ วัดเกาะ สตรีทฟู้ดดังแห่งทรงวาด

แม้จะเป็นย่านชุมชนจีน ย่านถนนทรงวาดถือว่ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีทั้งวัด ศาลเจ้า และมัสยิด รวมอยู่ในถนนเส้นเดียวได้ ในมิตินี้ เมนูอาหารก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่มีความหลากหลายเช่นกัน สะท้อนผ่านสตรีทฟู้ดเจ้าดังอีกแห่งในย่านนี้อย่างร้านที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “หมูสะเต๊ะวัดเกาะ” (ตั้งอยู่ถนนทรงสวัสดิ์ ตรงข้ามวัดเกาะ)

ร้านนี้อาจไม่ได้เป็นสตรีทฟู้ดเก่าแก่เหมือนร้านอื่น แต่ก็ถือว่าขายมายาวนาน จากปากคำของคุณดวงใจ ตันติวิรยวงศ์ ลูกสาวของเจ้าของร้าน เล่าไว้ว่า รวมแล้วขายมาประมาณ 30 ปี ขายมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ และสืบทอดมาที่รุ่นลูก เฉพาะรุ่นลูกน่าจะขายมาร่วม 20 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ลูกสาวที่สืบทอดกิจการมาเล่าว่า คุณพ่อเป็นคนจีนและได้สูตรจากเพื่อนที่รู้จักกัน และปรับปรุงสูตรเรื่อยมาจนได้สูตรเฉพาะของตัวเอง

“หมูเราออกฉ่ำหน่อยๆ กลมกล่อม น้ำจิ้มก็รสชาติกลมกล่อม คนเลยน่าจะชอบ” คุณดวงใจ เล่าเกี่ยวกับสูตรให้ฟัง

เนื่องจากตั้งร้านขายใกล้กับร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ลิ้มเหล่าโหงว ลูกค้าส่วนหนึ่งจึงเป็นลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวด้วย ช่วงหลังถึงเริ่มมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มของตัวเอง

ร้านหมูสะเต๊ะ เป็นอีกหนึ่งสตรีทฟู้ดเจ้าดังในละแวกนี้ที่เปิดขายช่วงเย็นราว 16.30 น. เป็นต้นไป เหตุผลที่เลือกเปิดร้านเวลานี้ ลูกสาวของเจ้าของร้านไม่อาจฟันธงได้ชัดเจน แต่คาดว่าเนื่องด้วยการเตรียมวัตถุดิบที่ใช้เวลานาน เนื่องจากทางร้านทำเองหมดทุกอย่าง ที่เลือกเปิดช่วงเย็น เหตุผลหนึ่งคิดว่าน่าจะเหมาะกับกระบวนการผลิตก็เป็นได้

พิกัด : https://goo.gl/maps/WQmaXPyPtmBtzyLZ8

ร้านเก่าแก่

อุไร ห่านพะโล้ ห่านพะโล้ที่ขายมากว่า 60 ปี

หากพูดถึงร้านอาหารเก่าแก่และขึ้นชื่อในย่านถนนทรงวาด “อุไร ห่านพะโล้” จะต้องติดอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ด้วยความพิเศษของรสชาติ วัตถุดิบ และกรรมวิธี ทำให้ร้านนี้ผลิตได้จำกัดจนขึ้นชื่อว่า ช้าหมดอดทาน

ความเป็นมาของร้านจากปากคำของคุณวัลลภ ผู้สืบทอดกิจการ เล่าว่าร้านเป็นของแม่ชื่ออุไร คุณแม่ก่อตั้งร้านขึ้นมา แต่ก่อนหน้านั้นมีต้นตำรับอีกคือเพื่อนของพ่อ ภายหลังแม่เป็นคนสืบทอดต่อ และย้ายมาตั้งร้านตามที่ตั้งในปัจจุบันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 สำหรับสูตรที่ทำห่านพะโล้ร้านนี้ก็เป็นสูตรจากเพื่อนของพ่อ ที่คุณแม่รับช่วงต่อมา

หากนับช่วงเวลารวมทั้งหมดทั้ง 3 รุ่น ตั้งแต่รุ่นต้นตำรับ มาถึงคุณแม่อุไร สู่ยุคของคุณวัลลภ รวมแล้วน่าจะเปิดมาไม่ต่ำกว่า 60 ปี

สูตรห่านพะโล้ของร้าน คุณวัลลภ เล่าว่าเป็นสูตรของจีนซัวเถา ขณะที่คุณแม่อุไร ปรับปรุงวัตถุดิบโดยเพิ่มเครื่องเทศให้เหมาะสม ให้หอมขึ้น และรักษาคุณภาพเอาไว้

ในทุกวันนี้ วัตถุดิบที่เป็นห่านมีจำกัด คุณวัลลภเล่าว่า ทุกวันนี้ถ้าไม่ใช่ขาประจำกันที่ส่งให้ก็หาห่านยาก ต้นทุนสูง เมื่อก่อนขาย 6-7 ตัว จากนั้นจึงเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เป็น 10-12 ตัว คุณวัลลภ เล่าถึงกรรมวิธีไว้ว่า

“เราคัดห่าน ต้มเองหมด ไม่ได้ให้ลูกน้องต้ม ตั้งแต่ลงห่าน ควักไส้ ทำเครื่องใน เครื่องพะโล้ ของต่างๆ เราดูแลเองหมด ต้มใช้เวลา ของเราต้องพลิกหลายรอบจนกว่าจะนุ่ม เอาขึ้นมาก็ยังสับไม่ได้ ต้องผึ่งลม เพราะมันร้อน เวลาสับแล้วเนื้อมันเละ มีวิธีของมัน ไม่ง่ายที่จะทำ…

เครื่องเทศนี่สำคัญ ความหอมของน้ำพะโล้ ไปราดข้าว เนื้อห่านนุ่ม ชุ่มคอ กลมกล่อม ราดข้าวก็อร่อย เค็มไปลูกค้าก็ไม่ชอบ ต้องรักษาให้พอดี ต้มเสร็จก็ชิม ราดข้าวแล้วเป็นยังไง เราต้องรักษาคุณภาพ”

คุณวัลลภ เล่าบรรยากาศในอดีตว่า ย่านทรงวาดสมัยก่อนเป็นร้านค้าพืชผลทางการเกษตร มีรถบรรทุกขนส่งวิ่งคึกคัก ลูกค้าของร้านมีทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและต่างถิ่น บางคนมาจากหลังกระทรวงมหาดไทย สมุทรปราการก็มี โดยมาจากการแนะนำแบบปากต่อปาก ช่วงน้ำท่วมก็ยังมีลูกค้าลุยน้ำมานั่งทาน ช่วงเศรษฐกิจดี หรือเทศกาล เคยทำวันละ 20-30 ตัว แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ถึงกับดี ร้านห่านอุไรยังทำขายตามกำลังและรักษาระดับคุณภาพเอาไว้

สำหรับวันเวลาที่เปิดทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เปิด 10.00-13.00 น. เสาร์-อาทิตย์เปิด 10.00-12.00 น. แต่ต้องกำชับว่า ร้านนี้เปิดขายหมดเมื่อไหร่ก็ปิดร้าน บางวันไม่ถึงเที่ยงก็ขายหมดแล้ว ขายวันละ 10 กว่าตัวเท่านั้น ถ้ามีคนจ้างทำถึงทำเพิ่มตามจำนวนที่สั่ง

ฉะนั้น นักชิมที่มีแผนไปใช้บริการที่ร้านอุไร ห่านพะโล้ ควรโทรศัพท์ไปสั่งล่วงหน้า จะได้ไม่ผิดหวังกลับไป โทร. 022214413 และ 026229056

พิกัด : https://goo.gl/maps/kmczMF3R1WS8E3BfA

ซาลาเปา “เตียท่งเซ้ง*” สู่ “กู่ หลง เปา” (เครือข่าย)ร้านทำซาลาเปาร่วมร้อยปี

ลักษณะประการหนึ่งของย่านสำเพ็งคือตรอกซอกซอยที่เชื่อมต่อถึงกันได้ คนในชุมชนใช้อาคารเป็นทั้งที่พักอาศัยและหน้าร้านสำหรับค้าขาย ร่องรอยเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน มีกิจการเกี่ยวกับอาหารซึ่งเปิดมายาวนานมีอายุเก่าแก่ร่วมร้อยปีและยังคงดำเนินต่อไปในตรอกซอกซอยหนึ่งของถนนทรงวาด ร้านนี้ชื่อว่า “เตียท่งเซ้ง” เข้าถึงได้จากซอยเล็กๆ ข้างโรงเรียนเผยอิง หากเรียกด้วยศัพท์ยุคปัจจุบัน บางคนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ร้านลับ” ก็ว่าได้

คุณวิเชียร สุขกมลสันติพร เจ้าของร้านรุ่นปัจจุบันเล่าว่า “เตียท่งเซ้ง” ทำซาลาเปาขายมาตั้งแต่รุ่นทวด ตนเองเกิดมาก็เป็นรุ่นปู่ อากงอาม่าก็ทำแล้ว โดยปู่ทำมาตั้งแต่อายุ 14 ปี จึงคาดว่าอายุของร้านรวมแล้วน่าจะร่วมร้อยปี

ร้านเตียท่งเซ้งแรกเริ่มเดิมทีก็ตั้งอยู่ในซอยที่ตั้งตามปัจจุบันมายาวนาน คุณวิเชียร เล่าว่า ในอดีตย่านนี้ยังเป็นห้องว่าง รับสำหรับคนอพยพมา ใครมาก่อนก็ได้เลือกห้องแถวก่อน บ้านหนึ่งอยู่กันหลายครอบครัว

ซาลาเปาที่ร้านนี้ทำเป็นแบบของคนแต้จิ๋ว ในอดีต ร้านทำซาลาเปาทุกแบบตั้งแต่ซาลาเปาไหว้เจ้า แต่งงาน วันเกิด งานศพ สูตรทำซาลาเปาก็สืบทอดกันมา มีปรับเปลี่ยนแค่บางชนิดเท่านั้น เนื่องจากเรื่องวัตถุดิบบางชนิด แรงงาน และเวลา ซาลาเปาบางชนิดในสมัยนี้มักใช้ยีสต์ที่หมักเองทำ ซึ่งออกมาแตกต่างจากซาลาเปาในอดีตที่เนื้อแน่นและกลิ่นหอม

ในอดีตหมักเชื้อเป็นเดือน ในอดีต ร้านทำซาลาเปาทั้งวันทั้งคืน กลางคืนทำซาลาเปา กลางวันทำบ๊ะจ่าง มีคนมารับ มีคนมาหาบไปขาย

กิจการทำซาลาเปาเตียท่งเซ้งไม่มีหน้าร้านที่จำหน่ายซาลาเปาพร้อมทานตั้งแต่แรก ภายหลังมีหลานที่เป็นญาติทางแม่ มาทำแบรนด์ชื่อ “กู่ หลง เปา” นำซาลาเปาของกิจการไปวางขายแบบพร้อมทาน

คุณวิเชียร เล่าว่า สมัยนี้กิจการมีคนงานน้อย เพราะคนไม่ค่อยอยากทำ เชื่อว่าหมดจากรุ่นของตัวเองแล้วน่าจะหาคนมาทำต่อยาก คนที่รู้จักขนมที่ทำในปัจจุบันก็น้อยลง พยายามจะสอนให้กับคนที่ตั้งใจจะมาจริงๆ ได้เท่าไหร่ก็จะทำไปเท่านั้น เพราะต้องใช้ประสบการณ์ ทำบ่อยๆ ไม่เหมือนสูตรของฝรั่ง และต้องฝึกด้วย

สำหรับหน้าร้านในยุค “กู่ หลง เปา” หน้าร้านของ “กู่ หลง เปา” ตั้งอยู่ตรงแยกหมอมี ถนนเจริญกรุง สามารถมาซื้อซาลาเปาพร้อมทานกันได้ที่นี่ ซาลาเปาที่นึ่งขายหน้าร้านเป็นซาลาเปาไส้หมูสับไข่เค็ม ไส้ถั่ว(ผสมงา) ไส้เผือก และหมั่นโถว(ไม่มีไส้) สูตรแต้จิ๋วโบราณที่ว่ามีลักษณะเบื้องต้นคือใช้แป้งผสมมันเทศ เนื้อแป้งที่ได้จึงนุ่มและเหนียวกว่าปกติ

*หมายเหตุ : “เตียท่งเซ้ง” ไม่ได้วางขายซาลาเปาแบบพร้อมทาน เป็นแหล่งผลิตซาลาเปาเท่านั้น หากต้องการซื้อแบบพร้อมทาน ต้องซื้อที่ร้าน “กู่ หลง เปา”

พิกัดหน้าร้านของ “กู่ หลง เปา” : https://g.page/gulongbao?share

ก๋วยจั๊บถังไม้ ขายนานกว่า 50 ปี สืบทอดถึงรุ่นที่ 3

ร้านก๋วยจั๊บทั่วไปอาจถูกจดจำจากรสชาติหรือที่ตั้งของร้าน สำหรับร้านเก่าแก่ในทรงวาดร้านนี้ พวกเขาถูกจดจำจาก “ถังไม้” จนถูกเรียกกันว่า “ร้านก๋วยจั๊บถังไม้”

ก๋วยจั๊บถังไม้ตั้งอยู่ในซอยอาเนี้ยเก็ง ถนนทรงวาด ที่เรียกว่าก๋วยจั๊บถังไม้ ส่วนหนึ่งก็มาจากในอดีตที่อาม่าตั้งถังไม้ซึ่งใช้ใส่เส้นไว้ที่หน้าร้านจนลูกค้าจดจำได้แล้วใช้เป็นชื่อเรียกร้านไปโดยปริยาย

คุณสิทธิรัตน์ โรจน์เชาวนนท์ เจ้าของร้านที่ดูแลกิจการร่วมกับทายาทของรุ่นที่ 2 เล่าว่า จำไม่ได้ว่าเปิดมาตั้งแต่ปีใดเพราะยังเด็กมาก ร้านนี้เดิมทีมีพ่อแม่ของตัวเองเป็นคนขาย หลังจากพ่อแม่เสียชีวิต พี่สาวของตัวเองก็รับช่วงดูแลเป็นรุ่นต่อมา เมื่อพี่สาวของตัวเองเสียชีวิตลง จึงมีลูกชายของพี่สาวและตนเองเป็นผู้ดูแลร้านร่วมกันถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ 3 คาดว่าโดยรวมแล้วร้านน่าจะเปิดมาไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี

คุณสิทธิรัตน์ เล่าเพิ่มเติมว่า จุดที่ตั้งแรกเริ่มของร้านสมัยที่คุณพ่อขายจะอยู่ที่สำเพ็ง เมื่อแม่มาขายแทนถึงขยับมาตั้งขายอยู่ปากซอยอาเนี้ยเก็ง อาหารที่ขายแรกเริ่มก็ขายก๋วยเตี๋ยว เมื่อน้ำท่วมทรงวาด คนที่ขายก๋วยจั๊บแต่เดิมไม่ได้มาขาย คนท้องถิ่นจึงแนะนำให้แม่ทำขาย เมื่อทำแล้วขายดีเลยขายเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงวันนี้

“ขายดี” ที่ว่านี้ คุณสิทธิรัตน์ ขยายความว่า ขายได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะสมัยก่อนคนเยอะมาก มีรถสิบล้อมาลงตลอด เวลากลางวันเป็นช่วงที่คนเยอะมาก มีคนทำงานออฟฟิศหรือธนาคารนั่งตั้งแต่ปากซอยมาจนถึงในซอย ช่วงหลังออฟฟิศเริ่มย้ายออก ตลาดเริ่มเงียบ ขนส่งก็ย้ายออกไปบ้าง ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีลูกค้าประจำแวะเวียนมาเรื่อยๆ

ลักษณะของก๋วยจั๊บถังไม้มีกรรมวิธีแบบโบราณ ต้มแป้งในน้ำข้น คนชอบกินเพราะรสชาติไม่เหมือนใคร น้ำซุปกลมกล่อมไม่ได้เผ็ดร้อนเหมือนที่อื่น และมีหนังหมูทอดแบบที่สมัยนี้ไม่มีคนทำแล้ว ลูกค้าจึงมักบอกว่า รสชาติไม่เหมือนที่อื่น กินที่ไหนก็ไม่เหมือนที่นี่

“หมูกรอบร้านเราลูกค้าบอกว่าอร่อยมาก กรอบ ไม่เหมือนที่อื่น เครื่องในเราก็ล้างเอง ไม่ได้ซื้อสำเร็จที่เขาทำเสร็จแล้วมาต้ม ซื้อสดๆ แล้วก็ล้างเอง มันก็จะสะอาด ถ้าล้างไม่สะอาด น้ำแกงก็จะไม่ดีด้วย”

ยังมีเกร็ดเกี่ยวกับ “ถังไม้” ที่กลายเป็นชื่อร้านอีกเล็กน้อยว่า ร้านเปลี่ยนถังมาหลายใบแล้วเพราะถังชำรุด เลยสั่งทำสแตนเลสมาใส่ไว้ข้างใน สำหรับสาเหตุที่สมัยก่อนใช้ถังไม้มาตั้งหน้าร้าน ผู้ดูแลร้านต่างตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในอดีตอาจยังไม่ได้ใช้หม้อสเตนเลสมาใส่เส้น จึงต้องใช้ถังไม้ก็เป็นได้

พิกัด : https://goo.gl/maps/rb2RCQoYYTrqzx2QA

ร้าน(เพิ่งเข้ามา)เปิดใหม่

ยกฮั้ว อาหารจีนแคะ และเส้นหมี่น้ำใส่ไข่ดาว

ในยุคสำเพ็งเฟื่องฟู ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ มักเข้ามาตั้งหลักแหล่งในสำเพ็งกันจนส่งผลกระทบหลากหลายด้าน ภาพเช่นนี้อาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นมากนักในปัจจุบัน เมื่อมาถึงในยุคนี้ยังมีการเคลื่อนย้ายที่ตั้งกิจการเข้ามาในย่านสำเพ็งอยู่บ้าง และมีถึงกิจการที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในทรงวาดอยู่เป็นระลอก สำหรับกิจการร้านอาหาร ไม่นานมานี้ มีร้าน “ยกฮั้ว” ร้านอาหารจีนแคะร้านเก่าแก่เพิ่งเคลื่อนย้ายเข้ามาเปิดร้านในที่ตั้งใหม่ในถนนทรงวาด

ที่ตั้งใหม่ของร้าน “ยกฮั้ว” หากเป็นคนรุ่นใหม่อาจพอจัดอยู่ในกลุ่ม “ร้านลับ” ก็ว่าได้ เพราะอยู่ในตรอกซอกซอย ถึงจะไม่ได้มีหน้าร้านที่ผู้คนสัญจรไปมา ลูกค้าของร้านนี้ยังแวะเวียนมาไม่ขาดสาย นั่นก็เพราะร้านนี้ทำอาหารจีนแคะที่ลงตัว

คุณเผือก ศุทธิพาณิชกุล น้องชายเจ้าของร้านยกฮั้ว เล่าความเป็นมาของร้านว่า ร้านก่อตั้งมาก่อนพ.ศ. 2529 เคยใช้ชื่อว่า “เหมยเจียง” และเคยเปิดที่สวนมะลิ ก่อนมาใช้ชื่อว่า “ยกฮั้ว” ซึ่งเป็นชื่อของคุณพ่อ

คุณเผือก อธิบายเพิ่มว่า อาหารแคะมาจากการทำอาหารกันในครัวเรือนของชาวบ้านในเทศกาลต่างๆ แต่ทุกวันนี้อาหารเหล่านี้จางหายไป เนื่องจากคนยุคก่อนไม่อยู่แล้ว ลูกหลานได้กินเฉพาะของกินแบบใหม่ ของกินต้นตำรับเดิมไม่ค่อยมีใครรู้จัก และหากินยาก

ปัจจุบันนี้แม้จะมีอยู่ แต่เป็นสูตรของใครของมัน สำหรับสูตรของที่ร้านยกฮั้วผ่านการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานของร้านเอง โดยหลงเหลือความดั้งเดิมเอาไว้อยู่

เมนูที่น่าสนใจของร้านนี้คือ ก๋วยเตี๋ยวแบบแคะ ที่เรียกว่า “เส้นหมี่น้ำ” ซึ่งใส่ “ไข่ดาว” ในชามด้วย คุณเผือก เล่าถึงเมนูนี้ว่า ธรรมชาติของก๋วยเตี๋ยวแคะคือใส่ข้าวหมาก มีไข่ดาว เต้าหู้ และลูกชิ้น

เต้าหู้แบบ(จีน)แคะก็มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนตลาดทั่วไป และทานคู่กับน้ำจิ้มที่ทำจากพริกแบบแคะและปรุงพิเศษ เมื่อทานคู่กับลูกชิ้นและเต้าหู้ก็ให้รสชาติกลมกล่อมอีกแบบ

หากใครสั่งเส้นหมี่แห้งแบบแคะมาทาน เส้นหมี่แห้งแบบแคะของร้านยกฮั้วก็จะเป็นอีกสูตรด้วย

“ข้าวหมากของเราใช้ข้าวแดงนำเข้าจากจีน ทำให้เป็นสีสัน จะมีความหอมในตัวข้าวหมาก กรรมวิธีทั้งหมดคือเป็นการเพิ่มสีสันให้ตัวอาหาร”

นอกจากเส้นหมี่น้ำแล้ว ทุกเมนูของอาหารแคะโดดเด่นในตัวเอง คุณเผือก ให้ความเห็นว่า หนึ่งในอาหาร(จีน)แคะที่มีชื่อเสียงคือ ปลิงทะเลน้ำแดง แต่วัตถุดิบค่อนข้างหายาก อาหารนี้ไม่ค่อยมีคนทำได้แล้ว ส่วนมากมักนำไปผัดกะเพรากันหมด ทำให้เมนูนี้พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก

พิกัด : https://goo.gl/maps/WNjt8LE6stcRNPUr7

Woodbrook Bangkok ร้านกาแฟ(ลับ) วิวมุมสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ธุรกิจร้านกาแฟได้รับความนิยมมากมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ย่านถนนทรงวาดที่เป็นศูนย์กลางการค้าเก่าแก่จากยุคบุกเบิกกรุงเทพฯ ก็มีร้านกาแฟยุคใหม่ปรากฏขึ้นด้วย ไม่เพียงร้านกาแฟยังมีเครื่องดื่มที่คนรุ่นใหม่นิยมอีกหลายร้าน Woodbrook Bangkok คืออีกหนึ่งร้านที่ให้ประสบการณ์การดื่มร่วมกับสัมผัสบรรยากาศของโซนทรงวาดที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาแบบจับคู่กันเป็นแพ็คเกจ

หากมองภายนอก Woodbrook Bangkok เสมือนกิจการสมัยใหม่ที่ให้บริการที่พัก และคาเฟ่ แต่หากได้ขึ้นไปถึงหน้าร้านและเปิดประตูออกไปจะพบว่า ร้านนี้ให้ประสบการณ์พิเศษประการหนึ่งแก่ลูกค้า สามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศวิวมุมสูงติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมเครื่องดื่มและอาหารแบบเฉพาะตัว

หากคิดเชิงเปรียบเทียบว่า องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทรงวาดมีบทบาทสำคัญในโลกการค้ายุคบุกเบิกได้ก็คือลักษณะทางกายภาพที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการขนส่งที่สะดวก ธุรกิจสมัยใหม่ที่จะใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิศาสตร์ลักษณะเดียวกันนี้ การใช้งานในยุคสมัยใหม่ใช้เอกลักษณ์นี้ในการให้บริการมอบประสบการณ์และเก็บเกี่ยวบรรยากาศตามวิถีชีวิตของคนยุคใหม่พร้อมกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ตอบสนองการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กัน

เครื่องดื่มที่ทางร้านออกแบบมามีแก้วที่ชื่อว่า Kao-Lud Affogato เป็นเครื่องดื่มที่ผสมไซรัปเกาลัดเข้ากับเอสเปรสโซ่ ให้กลิ่นอายของความเป็นจีนตามลักษณะดั้งเดิมของย่านนี้

หรือเมนูขนมมี Croffle Stick เป็นครอฟเฟิลรูปทรงแท่ง (ใช้แป้งครัวซองต์มาอบแบบวาฟเฟิล เลยเรียกกันว่าครอฟเฟิล) เคลือบซินนามอน ทานคู่กับครีมซึ่งร้านออกแบบมาให้ 3 รส คือวานิลลา ชาไทย และเกาลัด

ยังมีอาหารว่างและของหวานอีกหลายเมนูที่น่าสนใจ และทำออกมาได้น่าลิ้มลอง สำหรับผู้ชื่นชอบดื่มด่ำบรรยากาศพร้อมกับอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มอรรถรสได้ Woodbrook Bangkok คืออีกหนึ่งร้าน(ลับ) ที่ควรไปอยู่ในตัวเลือกของใครก็ตามที่มีตารางแวะมาย่านทรงวาดและสนใจสัมผัสบรรยากาศวิวมุมสูงไปด้วย

พิกัด : https://goo.gl/maps/XqwSa3XXpXa23svC6

อี-กา (e-ga Bangkok) อาหารไทย(ท้องถิ่น)ร่วมสมัย

ใครที่แวะเวียนเข้ามาในถนนทรงวาดราวช่วงไม่กี่เดือนมานี้น่าจะได้เห็นหน้าร้านใหม่พร้อมป้ายชื่อว่า “อี-กา” ปรากฏอยู่ด้านหน้า หากเป็นคนที่นิยมชมชอบลองของใหม่ ต้องบอกเลยว่า ร้านนี้ไม่ทำให้ผิดหวัง ทั้งจากบรรยากาศและอาหารในร้าน

อีกา เป็นร้านอาหารโดยคุณแจะ ศิริวรรณ ธรณนิธิกุล ซึ่งทำธุรกิจแฟชั่น อาหาร และเครื่องดื่ม กระทั่งมาสู่ร้านอาหารอีกา อาหารไทยที่นำเมนูท้องถิ่น และเมนูจากความทรงจำที่คุณแจะ ชื่นชอบส่วนตัวมาประยุกต์และสร้างเป็นอาหารไทยในแบบฉบับของ “อีกา”

คุณแจะ เล่าที่มาที่ไปว่า เดิมทีแล้วทำธุรกิจเสื้อผ้าคือ It’s Happened to be A Closet มาก่อน และในพื้นที่ของร้านเสื้อผ้าก็มีทำอาหารอิตาเลียน จากนั้นเริ่มขยายมาที่อาหารไทย และมาได้พื้นที่ที่ทรงวาดจึงเริ่มต้นเปิดร้านอาหารไทย ภายใต้แนวคิดอาหารท้องถิ่นจากความทรงจำและการเดินทาง

ด้วยความที่คุณแจะ เป็นคนชอบท่องเที่ยว อาหารของอีกาจึงเป็นอาหารจากความทรงจำของการเดินทาง เป็นอาหารชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น เช่น ชุมชนในอำเภอลำปลายมาศ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่ได้คุ้นเคย ผัดหมี่ที่ขายที่นี่ใช้เส้นสด นุ่ม ซอสผัดหมี่ใส่เต้าเจี้ยว น้ำตาลปี๊ป พริกป่น เป็นอาหารท้องถิ่นที่ทานง่าย และน่าสนใจ นำมาสู่เมนูผัดหมี่ลำปลายมาศ

หรือเมนูที่ได้จากมาจากร้านกิมเล้ง ตรงสี่แยกคอกวัวอันเป็นร้านโปรดของคุณแจะ เมนูที่สั่งทุกครั้งคือ ผัดสะตอ ที่ร้านนี้ไม่ขม ไม่เผ็ด และพริกแกงเยอะ เมนูที่ชอบที่สุดคือหมี่กรอบ หรือเมนูอร่อยอย่างต้มส้มปลากระบอก คุณแจะ จึงขอให้ร้านกิมเล้งถ่ายสูตร สอน 3 จานอาหารที่คุณแจะชอบให้

อีกหนึ่งเมนูที่คุณแจะชอบก็คือมะเขือเผา ที่ร้านจะมีเมนูทั้งผัดมะเขือยาว และยำมะเขือยาวเผา ซึ่งไม่ได้ออกแนวหวาน และมีความหอม ใส่พริก โดยนำพริกหลายชนิดมาเผาจนหอม แนมกุ้งสด หอมเจียว และผักชี ให้รสชาติที่ชวนลิ้มลอง

แต่ละเมนูของร้านอีกา หากอ่านชื่อแล้ว อาจรู้สึกว่าบางเมนูเป็นอาหารไทยที่หาทานได้ไม่ยาก แต่แท้จริง ทุกเมนูล้วนมีความทรงจำ มีเรื่องราวจากการเดินทางและนำมาออกแบบประยุกต์เป็นเมนูอาหารไทยท้องถิ่นที่เฉพาะตัวในแบบของอีกา

สำหรับลูกค้าที่แวะมาทานที่นี่จะได้ชิมอาหารธรรมดาที่อาจคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคยในรสชาติที่น่าจะถูกใจสำหรับใครหลายคน ยิ่งหากเป็นคนที่เคยไปทานอาหารท้องถิ่นตามที่นั้น ตรงจุดนี้มา เมื่อทานแล้วเหมือนได้ทบทวนความทรงจำเสมือนมีโอกาสกลับมาพูดคุยกับเพื่อนเก่าอีกครั้งก็ว่าได้

พิกัด : https://goo.gl/maps/p1PbMpzNWD8kZ7VeA

แผนที่ ร้านอาหาร ในย่านถนนทรงวาด

รวมพิกัดร้านในย่านถนนทรงวาด

พิกัดร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ลิ้มเหล่าโหงว
https://goo.gl/maps/fdoPpyqKue6NJQvq6

พิกัดร้านขนมจีบอาเหลียง
https://goo.gl/maps/AFK1VmBrXLXyKqNX8

พิกัดร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา นายย้ง ทรงวาด
https://goo.gl/maps/zDzWb9bk9rCHkmfUA

พิกัดร้านหมูสะเต๊ะ วัดเกาะ
https://goo.gl/maps/WQmaXPyPtmBtzyLZ8

พิกัดร้านอุไร ห่านพะโล้
https://goo.gl/maps/kmczMF3R1WS8E3BfA

พิกัดร้านกู่ หลง เปา (ร้านเตียท่งเซ้ง* เป็นแหล่งผลิตซาลาเปาเท่านั้น แต่ไม่มีขายซาลาเปาพร้อมทานที่หน้าร้าน ซาลาเปาพร้อมทานต้องไปซื้อที่หน้าร้าน กู่ หลง เปา)
https://g.page/gulongbao?share

พิกัดร้านก๋วยจั๊บถังไม้
https://goo.gl/maps/rb2RCQoYYTrqzx2QA

พิกัดร้านยกฮั้ว
https://goo.gl/maps/WNjt8LE6stcRNPUr7

พิกัดร้าน Woodbrook Bangkok ทรงวาด
https://goo.gl/maps/XqwSa3XXpXa23svC6

พิกัดร้านอี-กา (e-ga Bangkok)
https://goo.gl/maps/p1PbMpzNWD8kZ7VeA

ร้านอื่นในละแวกเดียวกัน

พิกัดร้านซิงเตี่ยซัว ร้านอาหารแต้จิ๋ว
https://goo.gl/maps/g2wNyBm5jWH6JgmGA

พิกัดร้านไอศกรีมเกาลัดหนูรี่ ไอซ์
https://goo.gl/maps/mZZmT87anSHucb6DA

อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดตำนานธุรกิจเก่าแก่ในไทย จากกิจการย่านถนนทรงวาด สู่บริษัทเติบใหญ่ระดับสากล

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ที่มาที่ไปของตึกเก่าแก่ร่วมร้อยปีแถบ “ถนนทรงวาด” อาคารทรงคุณค่าย่านการค้ายุคบุกเบิก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : คนสมัยก่อนเที่ยวเล่น-พักผ่อนแบบไหน? ย้อนดูแหล่งบันเทิง-สถานเริงรมย์ย่าน “ถนนทรงวาด”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2565