กำเนิดพิพิธภัณฑ์ กับ “ผู้เป็นอื่น” ในนิยามผู้เขียน “The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น”

กำเนิด “พิพิธภัณฑ์” จากการสะสมสิ่งของโดยชาวยุโรปยุคล่าอาณานิคม กับ พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น อะไรคือ “ผู้เป็นอื่น” ในนิยามของ อดัม คูเปอร์ ผู้เขียน “The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น”

ในงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักพิมพ์มติชน จัดกิจกรรมเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น เขียนโดย อดัม คูเปอร์ (Adam Kuper) แปลโดย วรรณพร เรียนแจ้ง

มีวิทยากรร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ สมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ผศ.ดร. วรรณพร เรียนแจ้ง อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ และ คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักประวัติศาสตร์-อารยธรรมโบราณ อาจารย์พิเศษ และอดีตภัณฑารักษ์

The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น คือหนังสือที่บอกตีแผ่ว่า “พิพิธภัณฑ์” คืออะไรกันแน่? เป็นประจักษ์พยานแห่งอัจฉริยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและความเป็นเลิศในศิลปวิทยา หรือเป็น “โกดังเก็บของโจร” ประจักษ์พยานต่อความโหดเหี้ยมของจักรวรรดินิยมตะวันตก?

พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่นแต่ใครกันคือ “ผู้เป็นอื่น” ?

จากการเสวนา Museum Talk: พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 วิทยากรทั้งสามท่านได้พาไปทำความเข้าใจทั้งที่มาหรือจุดกำเนิดของ “พิพิธภัณฑ์” และไขความหมายของคำว่า Other People หรือ “ผู้เป็นอื่น” ในนิยามของ อดัม คูเปอร์ ผู้เขียน 

คุณสมชาย เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้ฟัง ด้วยการอ้างอิงคำพูดของ อ.วรรณพร (ผู้แปล) ที่เคยกล่าวกับตนว่า คูเปอร์น่าจะสร้างศัตรูเยอะจากงานเขียนเล่มนี้ เพราะเขา “ฟาด” กับแทบทุกพิพิธภัณฑ์ แม้หนังสือจะนำเสนอเรื่องมิวเซียม (พิพิธภัณฑ์) แต่ถือว่าเข้าไป “แตะ” ทุกวงการของปัญญาชน

“หนังสือเล่มนี้ นอกจากเนื้อหาแล้ว ตัวคูเปอร์เองเป็นคนที่น่าสนใจ” คุณสมชายกล่าว เพราะคูเปอร์เป็นนักมนุษยวิทยาที่เกิดที่แอฟริกาใต้ในตอนที่ยังเป็นอาณานิคมอยู่ คือเกิดปี 1941 ป้าเขาก็เป็นนักมานุษยวิทยา พอเกิดในยุคอาณานิคม เขาจึงเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้…

คนมักจะมองว่านักมานุษยวิทยายุคนั้นรับใช้อาณานิคม แต่นักมานุษยวิทยาที่เขารู้จักเป็น ‘ซ้าย’ ด้วยซ้ำ แม้กระทั่งป้าเขาก็เป็นคอมมิวนิสต์”

คุณคุณากร ให้มุมมองเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ว่า ปกติเราคุ้นเคยกับการแบ่งประเภทของพิพิธภัณฑ์เป็น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ฯลฯ แต่พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่นของคูเปอร์ ทำให้งานเขียนเล่มนี้โดดเด่นและน่าสนใจ

“ผมมองว่าพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่หลายอย่าง แต่มุมที่สำคัญมาก ๆ คือมันสร้างความหมายอะไรบางอย่าง ซึ่งสำคัญกับมนุษย์มากคือ ‘เราเป็นใคร?’ แต่กระบวนการที่จะบอกว่าเราเป็นใครเป็นเหรียญสองด้าน คือ ‘เราเป็นอะไร’ และ ‘เราไม่ใช่อะไร’” คุณคุณากรกล่าว

“กระบวนการที่จะสร้างอัตลักษณ์ตัวตนมีสองด้านนี้เสมอ แต่เรามักพูดถึงในเชิงบวก (เราเป็นใคร) เราลืมไปว่าจริง ๆ แล้ว อีกด้านหนึ่งของการบอกว่าเราเป็นใคร คือ ‘อะไรที่เราไม่ใช่’ พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่นสำหรับผมมันคือกระบวนการนี้แหละ”

คุณคุณากรให้ความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นบริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ต่างแสดงความดีงาม จะบอกว่าเราเป็นพลเมือง ประชาชาติ หรือรัฐ มีอารยธรรมสูงส่ง เป็นตัวแทนของพัฒนาการขั้นสูงสุดของมนุษยชาติ เอารูปประติมากรรมกรีก-โรมันมาแสดงเพื่อบอกว่า “ฉันเติบโตมาจากตรงนั้นแหละ” นั่นคือการแสดงอัตลักษณ์เชิงบวก แต่กระบวนการอีกด้านที่ อดัม คูเปอร์ เสนอในหนังสือเล่มนี้คือกระบวนการอีกข้างหนึ่งซึ่งที่เราไม่ค่อยจะคิดถึงมันนัก

“‘ผู้เป็นอื่น’ ในที่นี้คือ อะไรก็แล้วแต่ที่มันไม่ใช่เรา แต่บอกเพื่อพยายามจะให้เป็นกระจกสะท้อนกลับมาว่า ‘เราเป็นใคร’”

อ.วรรณพร เห็นด้วยกับการขยายความข้างต้น “ในทางมานุษยวิทยา เราศึกษามนุษย์ด้วยกัน แต่เรามองตัวเองประหนึ่งว่าเป็นผู้ศึกษา ‘the Other’ คือศึกษาผู้อื่น เพื่อทำความเข้าใจ เรามองเขาเป็น the Other เนื่องมาจากหลาย ๆ ปัจจัย พยายามเข้าใจเขาเพื่อที่จะเข้าใจเรา”

แล้วเล่าว่า “พิพิธภัณฑ์” และ The Museum of Other People หรือพิพิธภัณฑ์แห่งผู้ของคูเปอร์ เกิดจากบริบทที่คนเริ่มรู้จักสะสมสิ่งของ บางส่วนคือคนที่สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัวแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ อยากรู้ อยากเห็น อยากเก็บสะสม เพื่อตอบสนองความใคร่รู้ สิ่งเหล่านี้เริ่มจากพวกนักวิทยาศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา

แต่อีกพวกหรืออีกกลุ่มต้องการเก็บเพื่อโชว์ว่ามีรสนิยมดี และมีความสามารถพอที่เราจะได้ของที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้นมาเก็บเอาไว้

พวกที่เริ่มสะสมด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวอยู่ในยุโรป เริ่มประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ช่วงที่ชาติยุโรปเช่น สเปน โปรตุเกส เดินเรือไปสำรวจเส้นทางต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อตามหาเส้นทางการค้า เป้าหมายคือเพื่อที่จะไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ยิ่งมีการค้นพบเส้นทางต่าง ๆ ชาวยุโรปยิ่งทางออกไปมากขึ้น ๆ เกิดเป็นยุคที่เรียกว่า “The Age of Discovery” หรือยุคแห่งการค้นพบ เพิ่มโอกาสในการได้มาซึ่งสิ่งของต่าง ๆ

“ช่วงแรก ๆ อาจเป็นการเก็บสิ่งของที่รู้สึกแปลกตา คนที่ไปเก็บคือพวกทหารเรือ นายพล ที่ชนชั้นปกครองของประเทศในยุโรปส่งไป พอเก็บเอามาให้พระราชาของประเทศตนเอง คริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ยังไม่มีการล่าอาณานิคมเป็นล่ำเป็นสัน ช่วงแรก ๆ มันเป็นการไปสำรวจประเทศต่าง ๆ และดินแดนห่างไกล ไปสานสัมพันธ์ ทำตลาด หาคู่ค้า”

พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมยุคแรก ๆ เกิดขึ้นจากบริษัทการค้าของชาติยุโรป เช่น VOC ของเนเธอร์แลนด์ และบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ จัดเก็บคลังของสะสมของเป็น “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นมา โดยมีอยู่ทั้งที่ประเทศแม่และในดินแดนอาณานิคม ของเหล่านี้มาจากเจ้าหน้าที่ในบริษัทไปรวบรวมมา และบางส่วนถูกส่งไปอยู่ในวังของพระราชาเจ้าอาณานิคม

ยิ่งเกิดการยึดครองชาติต่าง ๆ เป็นอาณานิคม ของยิ่งไหลเวียนเข้ามามากขึ้นทั้งผ่านบริษัทการค้าและรัฐบาลอาณานิคมโดยตรง ทำให้คลังสะสมของพวกใหญ่ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ

ในฝรั่งเศส เมื่อเกิดการปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์ แนวคิดการหาที่เก็บและจัดแสดงของในคลังสะสมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์ อย่างเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น เพราะของสะสมได้กลายเป็นสาธารณสมบัติ (ในนามรัฐบาล)

“ของพวกนั้นมีทั้งในอารยธรรมกรีก-โรมัน และของแปลกต่าง ๆ ซึ่งเป็นคือสิ่งที่ อดัม คูเปอร์ นิยามว่าเป็น ‘ของแห่งผู้เป็นอื่น’ ได้แก่ 1. ชนที่ไม่ใช่ยุโรป 2. พวก ‘แปลก’ ที่อยู่แดนไกล 3. พวกที่ยังมีชีวิตที่ยังไม่เข้าถึงความเป็นอารยธรรม ที่ยังอยู่ในสังคมดั้งเดิม” อ.วรรณพรกล่าว

นี่จึงเป็นต้นกำเนิด “พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น” ซึ่งตีคู่ขนานมากับพิพิธภัณฑ์แห่งผู้มีอารยธรรมของชนชาวยุโรป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2567