ตำนานโจรข้ามชาติ หนุ่มอิตาเลียนบุกฉก “ภาพเขียนโมนาลิซา” ถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

โมนาลิซา ภาพวาด ลีโอนาร์โด ดาวินชี พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ วินเซนโซ เปรูจา

เมื่อกว่าร้อยปีก่อนเกิดเหตุโจรกรรมช็อกโลกที่ “พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์” เพราะภาพที่ถูกขโมยไปคือ “ภาพเขียนโมนาลิซา” ผลงานชิ้นเอกของศิลปินคนดัง ลีโอนาร์โด ดาวินชี

ข่าว โมนาลิซ่า ถูกขโมย พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
หน้าหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 1911

‘LA GIOCONDA’ IS STOLEN IN PARIS คือพาดหัวที่ปรากฏในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ ในสหรัฐ​ฯ แสดงให้เห็นว่า ข่าวนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้คนจากต่างแดนไม่เพียงแต่ชาวบ้านในฝรั่งเศส (La Giocondaเป็นอีกชื่อหนึ่งของภาพโมนาลิซา แปลว่า ผู้มีใจเบิกบาน ซึ่งคำว่า Gioconda ยังไปพ้องกับชื่อสกุลของนางแบบ Lisa del Giocondo ด้วย)

Advertisement
โมนาลิซา ภาพเขียนโมนาลิซา
โมนาลิซา โดย ลีโอนาร์โด ดาวินชี

ภาพเขียนโมนาลิซาที่ถูกขโมย

วันเกิดเหตุดังกล่าวตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ซึ่งเป็นวันจันทร์ วันหยุดตามปกติของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ มีผู้พบเห็นภาพโมนาลิซาครั้งสุดท้ายเมื่อเวลา 7 นาฬิกาของวันดังกล่าว ขณะผู้ดูแลเข้ามาทำความสะอาดเหมือนเช่นเคย

แต่เช้าวันถัดมาพวกเขาก็พบว่า ภาพวาดตัวชูโรงประจำพิพิธภัณฑ์ได้หายสาบสูญไป เหลือเพียงแต่กรอบรูปที่ถูกทิ้งไว้ข้างบันไดเท่านั้น

“เมื่อวานนี้เป็นวันทำความสะอาด ทางพิพิธภัณฑ์ปิดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า และก็ไม่มีใครสังเกตว่าภาพได้หายไป จนเมื่อเช้าผู้ดูแล Salon Carré (ห้องจัดแสดงภาพโมนาลิซา) เห็นว่ามันหายไป แต่คิดว่าน่าจะเป็นเพราะทางช่างภาพประจำพิพิธภัณฑ์เผลอลืมไป ด้วยเขาชอบเอาภาพไปไว้ที่สตูดิโอ ก่อนจะเอามาติดไว้ตามเดิมในเช้าวันถัดมาก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชม แต่จนกระทั่งเที่ยงไปแล้วภาพก็ยังไม่โผล่ให้เห็น เขา (ผู้ดูแล) เลยแจ้งกับทางผอ.ที่ดูแล ผอ.ก็รีบมาสำนักงานของเราบอกว่าตอนนี้ไม่มีใครรู้ถึงชะตากรรมของภาพเขียนชิ้นนี้” M. Bénédite ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์กล่าว

ตอนแรกๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่า พวกโมเดิร์นนิสต์ที่ต่อต้านขนบศิลปะแบบเก่าอาจจะเป็นผู้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัว กีโยม อะพอล์ลิแนร์ (Guillaume Apollinaire) ศิลปิน นักประพันธ์ และนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ในเดือนกันยายนปีเดียวกันเพื่อทำการสอบสวน ก่อนที่จะปล่อยตัวเขาออกมา

ภาพถ่ายปาโบล ปีกัสโซ ในปี 1908

และ ปาโบล ปีกัสโซ ศิลปินที่เรียกได้ว่าทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 20 ก็เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้กับเขาด้วยเหมือนกัน (ด้วยการซัดทอดของอะพอล์ลิแนร์) แต่เจ้าหน้าที่ขาดหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับเขาได้

คดีนี้ ค่อยๆ เงียบหายไป จนกระทั่งสองปีถัดมาโจรตัวจริงก็เผยตัว เมื่อเขาอดใจไม่ไหวออกมาติดต่อเจ้าของแกลเลอรีในฟลอเรนซ์ ด้วยหวังจะปล่อยภาพที่ประเมินค่ามิได้ชิ้นนี้ แต่เจ้าของแกลเลอรีตลบหลังพาตำรวจมาจับโจรรายนี้แทน

ภาพถ่ายประกอบสำนวนคดีของ วินเซนโซ เปรูจา

จับโจรขโมยภาพเขียน

โจรผู้ก่อเหตุอุกอาจครั้งนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาเคยทำงานกับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์มาก่อน เป็นหนุ่มอิตาเลียนที่ย้ายมาทำงานในกรุงปารีสเมื่อปี 1908 นามว่า วินเซนโซ เปรูจา (Vincenzo Perugia)

ในวันก่อเหตุเขาสวมเสื้อคลุมหลวมสีขาวเหมือนเสื้อพนักงานพิพิธภัณฑ์ ก่อนซ่อนตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทั้งวันทั้งคืน และใช้เวลาในช่วงที่พิพิธภัณฑ์ปิดงัดแงะเอาภาพออกจากกรอบออกมาได้ เสร็จแล้วก็ซ่อนไว้ในเสื้อเดินออกจากประตูตามปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เรื่องมาแดงเอาตอนเดือนพฤศจิกายน ปี 1913 (พ.ศ. 2456) เมื่อเขาใช้ชื่อปลอมเรียกตัวเองว่า ลีโอนาร์โด วินเซนโซ (Leonardo Vincenzo) เขียนจดหมายไปหา อัลเฟรโด เจรี (Alfredo Geri) นายหน้าค้างานศิลปะในนครฟลอเรนซ์ บอกด้วยสำนึกแบบชาตินิยมว่า เขาสามารถนำภาพเขียนโมนาลิซากลับมายังถิ่นกำเนิดในอิตาลีได้ (เพราะเข้าใจไปว่าภาพชื่อดังของดาวินชี ถูกนโปเลียนปล้นไป) พร้อมขอสินน้ำใจเล็กน้อยสัก 5 แสนลีร์ สำหรับการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติด้วย

(แต่จริงๆ แล้ว ภาพโมนาลิซาไม่ได้ถูกนโปเลียนขโมยไป กลับกันดาวินชีเป็นคนเอาภาพนี้ไปฝรั่งเศสเอง เมื่อครั้งที่เข้าไปรับใช้ราชสำนักในรัชสมัยของพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 ซึ่งพระองค์ทรงซื้อภาพดังกล่าวมาจากดาวินชี มันจึงเป็นสมบัติของฝรั่งเศสโดยชอบ)

เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย เปรูจาก็นั่งรถไฟมายังนครฟลอเรนซ์ในเดือนธันวาคม เมื่อเขาเอาภาพมาให้เจรี ดู เจ้าของห้องภาพรายนี้ก็เลยขอกับเปรูจาว่าให้ทิ้งภาพไว้ที่แกลเลอรี เพื่อรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ให้แน่ชัด แต่คล้อยหลังไม่ทันไรเปรูจาก็ถูกจับในวันเดียวกันนี่เอง

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหลักฐานก็ไปพบสมุดจดบันทึกของเปรูจาเข้า ปรากฏว่าเขาจดชื่อของบรรดานักสะสมที่มีศักยภาพพอจะซื้อภาพของเขาได้หลายคน มีทั้งชาวอเมริกัน ชาวเยอรมัน และชาวอิตาลี ที่ดังๆ ก็มี จอห์น ดี. ร็อคกีเฟลเลอร์, เจ.พี. มอร์แกน, แอนดรูว์ คาร์เนกี และก่อนหน้าที่เขาจะติดต่อกับ เจรี เขาก็เคยติดต่อนายหน้าหลายคนทั้งในลอนดอน ปารีส และเนเปิล ทำให้ข้ออ้างที่ว่า เขาทำไปด้วยความรักชาติ (แบบเข้าใจผิด) มีน้ำหนักน้อยลงไปถนัดตา

ขณะเดียวกันก็น่าสงสัยว่า บรรดานายหน้าที่ได้รับการติดต่อจากผู้มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าอาจครอบครอง “ของโจร” ทำไมถึงยอมแจ้งเบาะแสกับตำรวจ

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วเปรูจาก็ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง แต่เขาก็รับโทษอยู่แค่ไม่กี่เดือน แถมชาวอิตาเลียนอีกหลายรายยังพากันเชิดชูเขาราวกับเป็นวีรบุรุษ

เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ในการก่ออาชญากรรม (นอกจากการอ้างว่าป่วยแล้ว) หากอ้างว่าทำไปด้วยความรักชาติ ผู้คนอาจจะไม่ถือโทษ แถมบางทียังอาจได้รับการยกย่องในความกล้าหาญที่ยอมเสี่ยงสร้างวีรกรรมเพื่อชาติอีกด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“Mona Lisa Is Stolen from the Louvre”. History Today. <http://www.historytoday.com/richard-cavendish/mona-lisa-stolen-louvre>

“‘La Gioconda’ Is Stolen in Paris”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=9902E3DE1539E333A25750C2A96E9C946096D6CF&legacy=true>

“Perugia’s Eye to Business”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9E05EED9103FE633A25756C1A9649D946296D6CF>

“Tried to Sell ‘Mona Lisa’”. The New York Times. <https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1913/12/27/100293565.html?pageNumber=4>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2560