ฤๅมีรหัสลับในงานของ “ดาวินชี” จากทฤษฎีสัญลักษณ์แฝงในภาพ “โมนาลิซา-กระยาหารมื้อสุดท้าย”

ทฤษฎีสมคบคิดในโลกนี้พอจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องซุบซิบที่บอกเล่าต่อกันมาและถูกตั้งข้อสังเกตกันอย่างมีสีสัน มุมมองแบบนี้ไม่ได้ปรากฏขึ้นเฉพาะเรื่องทางการเมือง แม้แต่ในวงการศิลปะก็มีทฤษฎีสมคบคิดที่น่าสนใจทีเดียว และศิลปินที่เชื่อมโยงกับเรื่องทฤษฎีสมคบคิดมากที่สุดย่อมต้องเป็นเลโอนาร์โด ดาวินชี

ศิลปินเอกแห่งฟลอเรนซ์ถูกเชื่อมโยงกับเรื่องราวลึกลับหลายประการ ปฏิเสธได้ยากว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนิยายหรือสื่อบันเทิงในโลกสมัยใหม่ที่ช่วยโหมกระแสและข้อสังเกตเกี่ยวกับรหัสลับหรือสัญลักษณ์บางอย่างในผลงานของดาวินชี อย่างละเอียดตั้งแต่เรื่องบุคคลในภาพ ฉากหลัง วิเคราะห์องค์ประกอบการจัดวางทั้งหลายแทบจะไปทุกแง่มุม

วงการศิลปะทั่วโลกถือกันว่า ภาพวาด “โมนาลิซา” คือผลงานชิ้นเอกอีกหนึ่งชิ้นของดาวินชี ภาพวาดในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) อายุหลัก 500 ปี แต่แค่ช่วงเวลาที่เขาวาดนั้นก็ไม่มีข้อมูลหลักฐานที่แน่ชัดพอจะเจาะจงได้ว่า เขาเริ่มวาดขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อกันว่า น่าจะเป็นช่วงศตวรรษที่ 16 อาจเป็นระหว่าง 1503-04 ในช่วงที่เขามาใช้ชีวิตในมิลาน หรืออาจมาเริ่มวาดต่อหลัง 1508 กระทั่งวาดสำเร็จในปี 1519

แม้กระทั่งบุคคลในภาพก็ยังไม่อาจชี้ชัดอย่างสมบูรณ์ได้ว่า เป็นภาพของใคร ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ยึดถือว่ามีน้ำหนักคือ เป็นภาพเหมือนของลิซา แดล โจคอนโด ภรรยาของพ่อค้าชาวฟลอเรนซ์ แต่บางรายก็สันนิษฐานไปจนถึงอาจเป็นมารดาของผู้วาดก็เป็นได้ หรือจะเป็นการวาดภาพเหมือนของผู้เขียนเอง เมื่อปี 2010 ยังมีนักวิชาการด้านพยาธิวิทยาให้ความเห็นว่า ลิซา แดล โจคอนโด น่าจะมีปัญหาสุขภาพในตัวเลขคลอเลสเตอรอล โดยวิเคราะห์จากลักษณะสีบนผิวของบุคคลในภาพที่ออกเหลืองๆ แต่มาร์ติน เคมป์ (Martin Kemp) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด วิเคราะห์แล้ววินิจฉัยว่า สิ่งตกค้างจากความพยายามบูรณะภาพนี้ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ซีดจาง” (bleached) มากกว่า

ด้วยหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ข้อมูลทั้งหลายเกี่ยวกับภาพนี้จึงมีสถานะไม่สามารถหาข้อสรุปอย่างแน่ชัดสมบูรณ์ ข้อสันนิษฐาน ปริศนา เรื่องลึกลับ ก็ชวนให้จินตนาการไปต่างๆ นานา

หน่วยงานต่างๆ พยายามศึกษาผลงานของดาวินชี อย่างละเอียดเพื่อคลี่คลายข้อสงสัย มีทั้งด้วยหลักฐานและเหตุผลภายใต้กระบวนการแบบวิทยาศาสตร์ หรือด้วยวิธีตามความคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งมีตั้งแต่วิเคราะห์ด้วยการมองภาพแบบกลับหัว หรือมองด้วยตาข้างเดียว

เมื่อปี 2010 กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการเพื่อประชาสัมพันธ์มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จากอิตาลีแถลงผลการศึกษาภาพโมนาลิซ่า ที่พบ “อักษร” และ “ตัวเลข” ซ่อนอยู่ในดวงตาของหญิงสาวภายในภาพ ที่ชวนดึงดูดอย่างรุนแรง ซิลวิโอ วินเซติ ประธานคณะกรรมการแถลงว่า สัญลักษณ์ที่ว่าไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า แต่ต้องมองผ่านอุปกรณ์ขยายจึงสามารถเห็นได้

ภาพวาด “โมนาลิซา” โดยเลโอนาร์โด ดาวินชี

สิ่งที่ “ปรากฏ” บนตาข้างขวาของหญิงสาวในภาพแสดงให้เห็นอักษร “LV” ซึ่งอาจเป็นตัวย่อของนาม เลโอนาร์โด ดาวินชี ขณะที่ในตาด้านซ้ายก็พบสัญลักษณ์บางอย่างเช่นกัน แต่ไม่สามารตีความได้

“มันเป็นเรื่องยากมากที่จะสกัดใจความออกมาแต่ในเบื้องต้น มันดูเหมือนเป็นอักษร CE หรือไม่ก็อาจเป็น B คุณต้องพึงรำลึกไว้เสมอว่านี่เป็นภาพวาดอายุหลัก 500 ปี มันจึงเห็นไม่ค่อยชัดเหมือนกับที่เพิ่งวาดเสร็จใหม่ๆ” ซิลวิโอ กล่าว

นอกเหนือจากสัญลักษณ์ที่พบในตาของหญิงสาวในภาพ ผู้ศึกษาภาพยังแถลงว่า สะพานโค้งที่เป็นฉากหลังก็พบเลข 72 หรือไม่ก็อาจเป็นอักษร L ตามด้วยเลข 2

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสื่อต่างประเทศที่เปิดเผยเสียงจากฝ่ายพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ระบุว่า พิพิธภัณฑ์ตรวจสอบภาพนี้ด้วยกรรมวิธีทางแล็บทุกอย่างที่สามารถทำได้ แต่ก็ไม่พบอักษรที่ถูกกล่าวอ้าง (MILT ESTEROW, 2019)

แม้แต่รายละเอียดในฉากหลังของภาพก็ยังถูกวิเคราะห์ว่าเป็นสถานที่ใด มีตั้งแต่ทะเลสาบด้านซ้ายของภาพคือ Lake Chiana, สะพานในภาพอยู่ในหมู่บ้าน Bobbio ทางตอนใต้ของ Piacenza ไปจนถึง Montefeltro ทางตอนเหนือของอิตาลี

ภาพโมนาลิซานี้กลับมาเป็นหัวข้อถกเถียงที่คนทั่วไปสนใจหลังจาก “The Da Vinci Code” ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่สร้างจากนิยายชื่อดังของแดน บราวน์ (Dan Brown) ได้รับความนิยมอย่างมาก ตัวละครนำในเรื่องแกะรอย “รหัสลับ” ในภาพโมนาลิซา และภาพวาดชื่อดังอีกชิ้นอย่าง “กระยาหารมื้อสุดท้าย” (The Last Supper)

ในความจริงแล้ว บรรยากาศเกี่ยวกับปริศนาลึกลับจากภาพวาดของดาวินชี ก็มีเค้าลางในโลกความเป็นจริงอยู่บ้าง ซิลวิโอ เล่าว่า หนึ่งในคณะกรรมการนามว่า ลุยจิ บอร์เจีย (Luigi Borgia) เคยค้นพบหนังสือในร้านของเก่าแห่งหนึ่ง หนังสือที่คาดว่ามีอายุราว 50 ปีบรรยายว่า สายตาของสตรีในภาพ “โมนาลิซา” เต็มไปด้วยสัญลักษณ์จนทำให้พวกเขาสนใจศึกษาเกี่ยวกับปริศนาในภาพขึ้นมา เรื่องเล่านี้เรียกได้ว่า เหมือนมาจากเนื้อเรื่องในหนังสือนิยายสืบสวนสอบสวนเลยก็ว่าได้

วินเซติ ยังเป็นอีกหนึ่งรายที่เรียกร้องให้ทางการฝรั่งเศสขุดค้นร่างของดาวินชีที่เชื่อว่าอาจอยู่ในหุบเขาลัวร์ ละแวกที่พักแห่งสุดท้ายของดาวินชีในฝรั่งเศส เพื่อตรวจสอบว่า ยังเหลือกะโหลกของดาวินชี อยู่หรือไม่ ซึ่งหากพวกเขาโชคดี ซากกะโหลกของศิลปินเอกของโลกจะสามารถนำมาสร้างโครงสร้างจำลองใบหน้าของดาวินชี ซึ่งจะช่วยพิสูจน์ว่า บุคคลในภาพ “ดาวินชี” คือภาพเหมือนของดาวินชีเองตามที่หลายกลุ่มสันนิษฐานหรือไม่

อีกหนึ่งข้อมูลที่นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อกันก็คือ ดาวินชี เป็นผู้ขึ้นชื่อเรื่องไม่สามารถสร้างงานให้สำเร็จสมบูรณ์ได้บ่อยครั้ง (จนกลายเป็นปมที่คนอื่นใช้โจมตีเขา อ่านเพิ่มเติม : ดาวินชี VS มิเคลันเจโล การปะทะฝีมือทางศิลปะที่ถูกลืม ค้นสัมพันธ์คู่อริศิลปินเอกของโลก) มักพกพาผลงาน “โมนาลิซา” ติดตัวไว้ตลอดในช่วงบั้นปลายของชีวิต เขานำภาพวาดใส่เคสเอาไว้และพกไปไหนมาไหนด้วย

ภาพวาดโมนาลิซา ไม่เพียงเต็มไปด้วยปริศนา ผลงานชิ้นนี้ยังผ่านเส้นทางโลดโผนมาตลอด เคยถูกฉกไปเมื่อปี 1911 โดยลูกจ้างชาวอิตาลีที่เชื่อว่าผลงานชิ้นนี้ควรกลับสู่บ้านเกิดของมันในอิตาลี หลังจากได้ภาพคืนมาแล้ว ในปี 1956 ภาพโมนาลิซา ยังถูกบุคคลไม่ประสงค์ดีหวังเข้ามาทำลาย หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีกระจกป้องกันภัยมากำบังตลอดเวลา และช่วยให้ภาพนี้เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน รอดจากสตรีรัสเซียผู้เกรี้ยวกราด เขวี้ยงถ้วยชาไปที่ภาพเนื่องจากถูกปฏิเสธให้สัญชาติฝรั่งเศสเมื่อปี 2009 สิ่งของกระทบกับกระจกแทนที่จะสร้างความเสียหายถึงภาพวาดที่เป็นมรดกของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้

ไม่เพียงแค่ภาพโมนาลิซา อีกหนึ่งผลงานที่โด่งดังของดาวินชี อย่าง “กระยาหารมื้อสุดท้าย” ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่รายล้อมด้วยข้อสังเกตเกี่ยวกับความลับที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน เชื่อกันว่า ดาวินชี อาจเริ่มเขียนภาพนี้ขึ้นเมื่อ 1495 ร่องรอยการเตรียมพร้อมสำหรับวาดภาพปรากฏในภาพศึกษาองค์ประกอบระยะแรกๆ ที่เขียนขึ้นด้วยปากกาและหมึก ซึ่งชาร์ลส นิโคลล์ นักเขียนและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่า ล้วนมีรากเหง้าของสัญลักษณ์ในภาพ “กระยาหารมื้อสุดท้าย”

ภาพ “กระยาหารมื้อสุดท้าย”

ในภาพวาดบนกระดาษสเกตช์ประกอบระยะแรกที่วินด์เซอร์จะมองเห็นจูดาส นั่งในท่าทางปลีกตัวจากโต๊ะใกล้กับคนดู มองเห็นจากด้านหลัง และเห็นนักบุญจอห์นหลับข้างพระคริสต์ เชื่อว่าเป็นการพาดพิงถึง “การเอนซบอุระพระเยซู” เมื่อพระองค์ประกาศเรื่องคนทรยศ แต่ภาพทั้งสองคนนี้จะถูกตัดทิ้งในภาพเขียนสุดท้าย

หรือเรื่องใบหน้าของจูดาส ผู้ร้ายประจำเรื่อง ซึ่งการซ่อมภาพทำให้เห็นใบหน้าที่วาดอย่างละเอียดและลบเลียนไปก่อนหน้านี้ซึ่งมันแตกต่างจากการแต่งแต้มในภายหลัง วาซารี ผู้เขียนชีวประวัติของดาวินชี เล่มโด่งดังเล่าว่า รองเจ้าอาวาสดราซี มักมาเร่งดาวินชี (ที่มีชื่อเรื่องทำงานช้าและทำงานไม่เสร็จอยู่บ่อยๆ) พร้อมทูลดยุคเรื่องความช้าของศิลปิน เลโอนาร์โด ทูลตอบว่า เขายังหาใบหน้าที่ชั่วร้ายของจูดาส ไม่ได้ แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ “คงใช้หัวรองเจ้าอาวาสที่ไม่รู้จักกาลเทศะและใจร้อน” เป็นแบบ ดยุคทรงพระสรวลใหญ่กับคำตอบของดาวินชี

เรื่องเล่านี้ของวาซารี อาจมีเค้าความจริงอยู่บ้างเล็กน้อยหากอ้างอิงตามพยานรู้เห็นด้วย จัมบัสติสตา จิรัลดี ชินติโอ เจ้าของ Discorsi ที่พิมพ์ใน 1554 จิรัลดี ได้ข้อมูลมาจากคริสโตโฟโร พ่อของเขาอีกทอด คริสโตโฟโร เป็นนักการทูตที่รู้จักเลโอนาร์โด ในมิลาน และในบันทึกก็บอกเล่าเนื้อหาแบบเดียวกับเรื่องที่วาซารี เล่ามา

มีผู้พยายามค้นหา “รหัส” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาพนี้หลายราย ตั้งแต่นักดนตรีอิตาเลียนที่อ้างว่า พบโน้ตเพลงซ่อนอยู่ใต้ชิ้นงานนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ Smithsonian Channel พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างภาพ “กระยาหารมื้อสุดท้าย” ฉบับของดาวินชี กับผลงานอื่น ซึ่งมีอยู่จุดเดียวที่แตกต่างกันคือ รัศมีรอบศีรษะของบุคคลในภาพทั้งสาวกและพระคริสต์

ผลงานภาพ “กระยาหารมื้อสุดท้าย” ในศตวรรษที่ 15 ก่อนหน้าฉบับของดาวินชี พระคริสต์และสาวกล้วนมีวงรัศมีของศีรษะ เป็นการนำเสนอสาวกในสถานะนักบุญ แต่ฉบับของดาวินชี แม้แต่พระคริสต์ก็ไม่มีวงรัศมี Mario Taddei ผู้ศึกษาผลงานของดาวินชี เป็นเวลา 15 ปีมองว่า เหตุผลที่ดาวินชีเลือกทำแบบนี้เป็นการบอกเล่าสัญญาณอย่างหนึ่ง

“ผมเชื่อว่าดาวินชี ไม่เคยใส่รัศมีก็เพราะเขาคิดว่าบุคคลในภาพเป็นบุคคลทั่วไป และนั่นคือความลับที่แท้จริงของเลโอนาร์โด” Mario Taddei กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกัน

นี่ย่อมเป็นเพียงการวิเคราะห์จากข้อสังเกตส่วนตัวของบุคคลหนึ่งเท่านั้น ผู้อ่านบางรายอาจไม่พอใจในข้อสันนิษฐานนี้เช่นเดียวกับที่รู้สึกกับเนื้อเรื่องในนิยายของแดน บราวน์ และที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อสังเกต หรืออาจเรียกได้ว่า “ทฤษฎี” รหัสลับที่อาจแฝงในผลงานของดาวินชี

…แต่จนกว่าจะพบหลักฐานอื่นที่พอจะบ่งชี้เบื้องหลังเกี่ยวกับรายละเอียดของภาพวาดของดาวินชี อย่างชัดเจน คงเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปแบบสมบูรณ์แบบ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิโคลล์, ชาร์ลส. เลโอนาร์โด ดา วินชี วิถีอัจฉริยะ. นพมาส แววหงส์ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551

ESTEROW, MILT. “The Many, Many Theories About Leonardo da Vinci”. The Atlantic. Online. Published 12 MAY 2019. Access 16 SEP 2019. <https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2019/05/leonardo-da-vinci-500-years-later-theories-still-abound/588757/>

MACDONALD, CHEYENNE. “The REAL hidden message in Leonardo da Vinci’s Last Supper: Claims artist left out halos to show Jesus was a ‘common mortal'”. Daily Mail. Published 28 July 2016. Access 16 SEP 2019. <https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-3713591/The-REAL-hidden-message-Leonardo-Da-Vinci-s-Supper-Expert-claims-artist-left-halos-Jesus-common-mortal.html>

Pisa, Nick. Mona Lisa painting ‘contains hidden code’. Telegraph. Published 12 DEC 2010. Access 16 SEP 2019. <https://www.telegraph.co.uk/culture/art/art-news/8197896/Mona-Lisa-painting-contains-hidden-code.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2562