เปิดปมภาพวาดปริศนา กลายเป็นภาพของดาวินชี ราคาพุ่งร้อยล้าน แล้วหายลับไร้ร่องรอย

(ซ้าย) ภาพสเก็ตช์ที่เชื่อว่าเป็นลีโอนาร์โด ดาวินชี วาดตัวเอง คาดว่าวาดช่วงราวปีค.ศ. 1510-1515 ไฟล์ public domain (ขวา) ภาพวาด ซัลวาทอร์ มุนดี (Salvator Mundi) ไฟล์ public domain

ศิลปินเอกของโลกอย่างลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) สร้างสรรค์ผลงานระดับตำนานไว้หลายชิ้น แต่ด้วยข้อมูลที่ไม่มากพอ บางครั้งคนยุคปัจจุบันก็ไม่อาจทราบว่าผลงานบางชิ้นสามารถถูกจัดว่าสร้างโดยฝีมือของดาวินชีจริงหรือไม่ กรณีตัวอย่างที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะถกเถียงกันมาหลายปีคือกรณีภาพวาดที่เรียกว่า ซัลวาทอร์ มุนดี (Salvator Mundi)

ภาพวาดซึ่งถูกเรียกว่าซัลวาทอร์ มุนดี (Salvator Mundi) เคยถูกนำมาประมูลในงานที่จัดโดยกลุ่ม Christie’s เมื่อปีค.ศ. 2017 และปิดการประมูลไปด้วยมูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเวลานั้นตัวเลขการประมูลกลายเป็นสถิติสำหรับการประมูลชิ้นงานศิลปะในราคาสูงที่สุดในโลก

ภาพวาดนี้มีลักษณะเป็นภาพวาดของ “พระเยซู” (Jesus) ซึ่งวงการศิลปะบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นภาพวาดฝีมือของดาวินชี แต่ในช่วงปีค.ศ. 2019 มีนักวิชาการอีกฝ่ายซึ่งรวบรวมข้อมูลและตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อเดิมที่มองว่าดาวินชีเป็นผู้สร้างสรรค์ภาพนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 2011 The National Gallery แกลเลอรีศิลปะแถวหน้าของโลกเคยจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับดาวินชี และมีภาพวาด “ซัลวาทอร์ มุนดี” จัดแสดงด้วย ในเวลานั้นภาพชิ้นนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก และยังมีข้อสงสัยหลายด้าน อาทิ ในแง่ความเป็นเจ้าของ หรือการบูรณะตัวผลงานซึ่งยังเป็นปริศนาที่ต้องค้นหาต่อ การจัดแสดงภาพที่ข้อมูลไม่แน่ชัดในนิทรรศการซึ่งจัดโดยสถาบันระดับแถวหน้าของโลกย่อมมีผลต่อมูลค่าของตัวภาพในตลาด

รายงานข่าวจาก The Guardian บรรยายว่า ที่มาที่ไปของภาพซัลวาทอร์ มุนดี ไม่สามารถแกะร่องรอยไปได้ก่อนช่วงทศวรรษ 1900s

ขณะที่ในช่วงปี 1958 ภาพวาดถูกขายในสถานะ “ผลงานของผู้ติดตามดาวินชี” อย่างเบอร์นาร์ดิโน ลุยนี (Bernardino Luini) ด้วยราคาเทียบเท่ากับมูลค่า 60 เหรียญสหรัฐในเวลานั้น (สื่อในอังกฤษระบุมูลค่าว่า 120 ปอนด์)

กระทั่งในปีค.ศ. 2005 อเล็กซานเดอร์ พาร์ริช (Alexander Parrish) และโรเบิร์ต ไซมอน (Robert Simon) นักซื้อ-ขายงานศิลปะเป็นผู้ซื้อภาพนี้ไปด้วยราคา 1,175 เหรียญสหรัฐ

สภาพของภาพวาดในเวลานี้ได้รับความเสียหายมาก เชื่อกันว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยากจะประเมินหรือเสาะหาผู้วาดที่แท้จริงได้ มาจากสภาพของตัวภาพวาดที่เสียหายมากเกินไป จากการบอกเล่าของเบ็น ลูอิส (Ben Lewis) นักเขียนเจ้าของหนังสือ The Last Leonardo และผู้ศึกษางานศิลปะของดาวินชี เขาเล่าว่า ภาพวาดเคยอยู่ในสภาพแตกออกเป็น 5 ชิ้น และมีรอยร้าวตามขอบ

ในกระบวนการบูรณะงานศิลปะชิ้นนี้ เป็นหน้าที่ของไดแอน โมเดสตินี (Dianne Modestini) ที่เริ่มต้นเข้ามาบูรณะชิ้นงาน แต่ด้วยสภาพของมันทำให้ระยะเวลาการบูรณะกินเวลายาวนานตั้งแต่ 2005 ไปจนถึงปี 2017

ในปี 2013 ภาพวาดถูกขายให้กับผู้ซื้อ-ขายงานศิลปะชาวสวิสด้วยมูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเวลาไม่กี่วันก็ขายต่อให้กับมหาเศรษฐีรัสเซียชื่อ ดิมิทรี ไรโบเลฟเลฟ (Dmitry Rybolovlev) ในราคา 127.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2017 ภาพวาดถูกประมูลในงานประมูลของ Christie’s ที่นิวยอร์ก ปิดการประมูลไปด้วยมูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (รายงานข่าวบางแห่งระบุว่ามูลค่ารวมที่ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ) หลังจากการประมูลครั้งนั้น ภาพซัลวาทอร์ มุนดี ก็หายสาบสูญไปจากสายตาของสาธารณชน

ตลอดระยะเวลาร่วมทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะต่างถกเถียงว่าใครคือผู้สร้างสรรค์ภาพนี้กันแน่ เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา เสียงของผู้เชี่ยวชาญฝั่งที่ไม่เชื่อว่าดาวินชี เป็นผู้ลงมือสร้างงานเริ่มปรากฏในหน้าสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ

ดร. คาร์เมน แบมบาช (Dr Carmen Bambach) เคยแสดงความคิดเห็นเมื่อปี 2019 ขณะที่เธอยังทำงานกับพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์กว่า งานส่วนใหญ่ในภาพน่าจะเป็นฝีมือของโจวานนี อันโตนิโอ (Giovanni Antonio Boltraffio) ผู้ช่วยของลีโอนาร์โดมากกว่า หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของดาวินชี ก็มีเพียงแค่ส่วน “ตกแต่งเพียงเล็กน้อย”

เมื่อปี 2019 ยังมีหนังสือของเบ็น ลูอิส (Ben Lewis) ชื่อ The Last Leonardo ซึ่งตั้งคำถามถึงเจ้าของผลงานตัวจริงอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพนี้ เท่าที่พอจะประเมินได้ เชื่อกันว่า ภาพนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1500s และหายไปจากสาธารณชนมากกว่าร้อยปี แต่แล้วก็มาปรากฏในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรอยต่อก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 20

เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2021 หัวข้อการถกเถียงถึงต้นตอของภาพนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด และมีผู้หยิบยกเรื่องราวอันยาวนานนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดี The Lost Leonardo ซึ่งนอกจากจะเล่าความเป็นมาและนำเสนอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในสารคดียังสัมภาษณ์โรเบิร์ต คิง วิตต์แมน (Robert King Wittman) ผู้ก่อตั้งฝ่ายอาชญากรรมทางศิลปะของเอฟบีไอ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมใครๆ ต่างสนใจซื้องานศิลปะซึ่งเป็นชิ้นงานที่ยังรายล้อมด้วยคำถามมากมายในมูลค่ามหาศาล ภาพวาดนี้ในความเป็นจริงอีกด้านแล้วอาจไม่ได้มีมูลค่ามากถึงตัวเลขที่ผู้ซื้อควักจ่ายกันไป

ขณะที่ Doug Patteson อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ แสดงความคิดเห็นกับผู้ผลิตภาพยนตร์ว่า เส้นทางของภาพวาดนี้แสดงให้เห็นว่าเงินจำนวนมหาศาลสามารถเคลื่อนย้ายไปด้วยวิธีต่างๆ ตามระบบเครือข่ายที่ปลอดภาษีอย่างเสรี ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายที่เหล่ามหาเศรษฐีมักใช้เก็บซ่อนสิ่งของมีมูลค่าจากสายตาหน่วยงานจัดเก็บภาษี

นับตั้งแต่การประมูลเมื่อปี 2017 ไม่ปรากฏข้อมูลสถานที่จัดเก็บภาพนี้อย่างชัดเจน แต่รายงานข่าวจาก The Guardian สันนิษฐานว่าอาจอยู่ในการครอบครองของโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) เจ้าชายแห่งซาอุดิอาระเบีย

คลิกอ่านเพ่ิ่มเติม : ฤๅมีรหัสลับในงานของ “ดาวินชี” จากทฤษฎีสัญลักษณ์แฝงในภาพ “โมนาลิซา-กระยาหารมื้อสุดท้าย”

คลิกอ่านเพ่ิ่มเติม : ดาวินชี VS มิเคลันเจโล การปะทะฝีมือทางศิลปะที่ถูกลืม ค้นสัมพันธ์คู่อริศิลปินเอกของโลก

คลิกอ่านเพ่ิ่มเติม : “รถถัง” ยุคแรกจากแนวคิดดาวินชี สู่รถรบไอน้ำหุ้มเกราะ ไฉนชื่อแรกยังไม่เรียกรถถัง


หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงโดย ธนพงศ์ พุทธิวนิช

อ้างอิง :

Alberge, Dalya. “How did a £120 painting become a £320m Leonardo … then vanish?”. The Guardian. Online. Published 13 JUN 2021. Access 15 JUN 2021. <https://www.theguardian.com/artanddesign/2021/jun/13/how-did-a-120-painting-become-a-320m-leonardo-then-vanish>

___________. “Leonardo da Vinci expert declines to back Salvator Mundi as his painting”. The Guardian. Online. Published 2 JUN 2019. Access 15 JUN 2021. <https://www.theguardian.com/artanddesign/2019/jun/02/leonardo-da-vinci-expert-carmen-bambach-says-she-wont-back-salvator-mundi-as-his-painting>

“Is ‘Salvator Mundi’ a real Leonardo da Vinci painting?”. CBS This Morning. Online Video. Published 22 JUN 2019. Access 15 JUN 2021. <https://www.youtube.com/watch?v=e4go8056VTQ>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2564