“รถถัง” ยุคแรกจากแนวคิดดาวินชี สู่รถรบไอน้ำหุ้มเกราะ ไฉนชื่อแรกยังไม่เรียกรถถัง

นายทหารและนายตำรวจฝรั่งเศยืนท่ามกลางรถถังของกองกำลัง Spanish Republican ที่ถูกยึดเมื่อปี 1939 (ภาพจาก STF / AFP)

วิวัฒนาการของมนุษย์มาพร้อมกับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ เสมอ ในบรรดาการประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์นั้น มนุษย์สร้าง “อาวุธ” มาใช้งานในรูปแบบต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ชิ้นเล็กเท่าฝ่ามือไปยันระเบิดที่ทำลายทั้งเมืองได้ การพัฒนาอาวุธที่สำคัญของมนุษย์นั้น ส่วนหนึ่งต้องยกให้กับเรื่องยานพาหนะจากรถศึกมาสู่รถหุ้มเกราะในยุคปัจจุบัน หากย้อนกลับไปในยุคโบราณนั้น มีนักคิด ศิลปินที่ออกแบบอาวุธสมัยโบราณที่คิดค้นพาหนะจำพวก “รถถัง” อย่างดาวินชี รวมอยู่ด้วย

พัฒนาการของพาหนะที่ใช้ในการรบนั้น แน่นอนว่าแรกเริ่มก็เริ่มต้นมาจากการขี่สัตว์ จากนั้นจึงเริ่มปรากฏลักษณะรถลากโดยใช้สัตว์ลาก จากนั้นถึงพัฒนามาเป็นยุคยานรบที่มีล้อ และเครื่องยนต์ การพัฒนาพาหนะในการรบ มนุษย์ไม่เพียงต้องการความเร็ว ยังต้องการศักยภาพพลังทำลายล้างสูง แข็งแกร่งพร้อมรับแรงปะทะ อีกทั้งส่งผลทางจิตวิทยาเมื่อฝ่ายตรงข้ามเห็นรูปโฉมของมัน สรศักดิ์ สุบงกช คอลัมนิสต์ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับพัฒนาการยุทโธปกรณ์ในมติชนสุดสัปดาห์เล่าว่า ยานรบที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ในยุคหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดมีประสิทธิภาพมากกว่ารถถัง

ย้อนกลับไปในยุคโบราณก่อนที่จะมีรถถังหุ้มเกราะ สรศักดิ์ สุบงกช อธิบายว่า แนวคิดการใช้ “รถถัง” เริ่มปรากฏในพิมพ์เขียวของลีโอนาร์โด ดาวินชี เมื่อหลายร้อยปีก่อน หลักฐานคือภาพร่างลักษณะเสมือนชามคว่ำสองใบคว่ำหงายประกบกัน มีลูกล้อด้านล่าง ติดปืนใหญ่ที่ลำตัวส่วนบน

เมื่อมาถึงยุคเครื่องจักรไอน้ำถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับรถถังเกิดขึ้นในชื่อ “รถรบเครื่องจักรไอน้ำหุ้มเกราะ” แต่ยุคแรกเริ่มมันไม่สามารถทำความเร็วมากพอ กำลังขับเคลื่อนต่ำ ทางการทหารจึงไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่เมื่อเครื่องจักรไอน้ำถูกพัฒนาให้แล่นได้เร็วและใส่ลงในสนามรบได้ จึงเริ่มปรากฏความคิดปกป้องเครื่องยนต์โดยใช้เกราะ

ปี 1911 กึนเธอร์ บูร์สตีน ทหารช่างชาวออสเตรียน และลานเซ่อะล็อต เดอ โมล วิศวกรเพื่อนร่วมชาติ ร่างแบบยานรบที่พอจะกล่าวได้ว่าเป็น “รถถัง” ขึ้นมา แต่รัฐบาลออสเตรียปฏิเสธ สรศักดิ์ สุบงกช อธิบายต่อไปว่า แบบของบูร์สตีนที่แยกจาก เดอ โมล ไปสร้างนั้นคล้ายคลึงกับรถถังปัจจุบัน แต่ปัญหาคือน้ำหนักมากและเขายังไม่รู้วิธีกระจายน้ำหนักด้วยสายพานหากต้องนำมันแล่นในเส้นทางวิบาก อีกทั้งเครื่องยนต์ไอน้ำยังทำความเร็วได้ต่ำ

บูร์สตีนนำแบบยานยนต์ที่ใช้ชื่อ “เรือทอร์ปิโดบก” (land torpedo boat) เสนอคณะกรรมการวิศวกรรมทหารแห่งกรุงเวียนนาแต่ถูกปฏิเสธ เขายังไปจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ของตนไว้ก่อนเพื่อกันใครๆ สร้างเลียนแบบ

ส่วนเดอ โมล ก็ออกแบบ “รถหุ้มเกราะสายพาน” สำเร็จ แก้ปัญหาเรื่องการเคลื่อนที่ในทางวิบากได้ และส่งให้ทบวงสงครามของอังกฤษ แต่ผลออกมาไม่ต่างจากเพื่อนที่เป็นทหารช่าง มันยังไม่ถูกสร้างอีก

สรศักดิ์ สุบงกช เล่าว่า “รถถังที่ถูกพัฒนาจนแล่นได้ยิงปืนได้จริงๆ กลับถูกพัฒนาโดยกองทัพเรืออังกฤษ จึงไม่แปลกที่มันถูกเรียกในยุคเริ่มแรกว่า ‘เรือบก’ (Landship) แล้วเรียกลำตัวว่า ‘ลำเรือ’ (hull) เจ้าของโครงการคือ วินสตัน เชอร์ชิล ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงทัพเรือเป็นคนแรก (First Lord of Admiralty)

รถถังต้นแบบกลุ่มแรกถูกตั้งชื่อว่า ‘วิลลี่น้อย’ (Little Willie) ตามแบบที่สร้างขึ้นโดย วิลเลียม แอชบี ทริตตัน และ วอลเทอร์ กอร์ดอน วิลสัน เป็นรถถังใช้สายพานคันแรกของโลกและเป็นต้นแบบรถถังที่อังกฤษเริ่มใช้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชื่อ ‘มาเธอร์’ (Mother)

รถถังกำเนิดขึ้นด้วยชื่อ ‘เรือบก’ แต่ชื่อที่เรียกว่า ‘รถถัง’ (Tank) จริงๆ มีเรื่องเล่าที่ไม่สามารถยืนยันที่มาได้ ว่าถูกกำหนดขึ้นโดยบริษัทผลิตหัวรถจักรคือ นอร์ธ บริติช โลโคโมทีฟ ในเมืองกลาสโกว์ เพราะตั้งใจให้เป็นยุทธภัณฑ์การทำงานจึงเป็นความลับ คำสั่งสร้างรถรบแบบแรกจึงถูกกำหนดไปยังโรงงานว่าให้สร้าง “ถังพิเศษ” (special tanks) ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ที่บังเอิญเหลือเกินคืองานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงงานสร้างแทงค์ต้มนำหัวรถจักรจริงๆ ของ บริติช โลโคโมทีฟ

นับแต่นั้นมาชื่อของรถถังในภาษาอังกฤษว่า ‘Tank’ ก็กลายเป็นชื่อสามัญสำหรับยานรบหุ้มเกราะติดอาวุธหนักใช้สายพานกระจายน้ำหนัก”


อ้างอิง :

สรศักดิ์ สุบงกช. “รถถัง แต่ก่อนเรียกเรือบก”. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1511, น.28.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2563