ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
สำรวจความเป็นมาของ “ภาพม้า 8 ตัว” ถึง “ม้าเหงื่อโลหิต” ม้าพันธุ์ดีที่มักปรากฏอยู่ในภาพวาดจิตรกร และวรรณคดี สามก๊ก
สมัยโบราณ ม้าถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีค่าสูงสุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงทั้งหกของจีน ได้แก่ ม้า, วัว, แพะ, หมู, สุนัข และไก่ เหตุผลเพราะเวลาปกติเราใช้ม้าเพื่อการเดินทาง บรรทุกข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป บรรทุกสินค้า เป็นแรงงานในการเกษตร ฯลฯ เวลาสงคราม ม้าก็เป็นยุทธปัจจัยในการรบ ม้าจึงมีราคาซื้อขายสูงกว่าสัตว์อื่น นอกจากนี้ ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ม้าถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้คำว่า “แรงม้า” ในการระบุพลังของเครื่องยนต์ในเวลาต่อมา
ด้วยบุคลิกลักษณะของม้าที่มีร่างกายสมส่วน, ดูสง่างาม, คล่องแคล่ว, ว่องไว, ปราดเปรียว ม้าจึงเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่จิตรกรจีนนิยมวาด
ภาพเกี่ยวกับม้าที่จิตรกรจีนนิยมกันภาพหนึ่งก็คือ “ภาพม้า 8 ตัว” โดยม้าทั้ง 8 ตัว เป็นม้าประจำรถม้าของพระเจ้าโจวมู่ กษัตริย์ผู้ทรงธรรมแห่งราชวงศ์โจว (1064-256 ปีก่อนคริสตกาล) ที่ใช้เสด็จออกไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีเรื่องเล่าว่า ม้าแต่ละตัวมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกันไป
แต่ “ภาพม้า 8 ตัว” ก็ยังเป็นรองภาพ “จิ่วฟังเกาวินิจฉัยม้า”
ภาพ “จิ่วฟังเกาวินิจฉัยม้า” กล่าวถึง จิ่วฟังเกา ผู้มีความสามารถในการดูม้า ที่แม้แต่ป๋อเล่อ ปรมาจารย์ด้านม้า ยังยกย่องยอมรับในความสามารถของเขา จิ่วฟังเการับมอบหมายจากฉินมู่กง เจ้าผู้ครองแคว้นฉิน ให้ตามหาม้าซึ่งสามารถวิ่งได้ถึงพันลี้ต่อวันมาตัวหนึ่ง ซึ่งเขาก็หาม้าดังกล่าวจนได้
บางครั้งจิตรกรก็เขียนสำนวนหรือคำกลอนที่เกี่ยวกับม้าลงในภาพด้วย หรือภาพลายสือศิลป์ที่เขียนจากสำนวนมีความหมายดีๆ แทนภาพวาดก็มี สำนวนหนึ่งที่นิยมกันมากก็คือคำว่า “马到成功-หม่าเต้าเฉิงกง” ที่มีความหมายว่า “พอลงมือก็ประสบความสำเร็จ”
ส่วนจิตรกรวาดรูปม้าที่มีชื่อเสียงในสมัยโบราณ ได้แก่ หันกัน และ เฉาป้า ในสมัยราชวงศ์ถัง สำหรับจิตรกรวาดรูปม้าที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบันต้องยกให้ สวีเปยหง (ค.ศ. 1895-1953) ที่ไม่เพียงศึกษากายวิภาคของม้า เขายังสังเกตอารมณ์ของม้า โดยมักร่างภาพหยาบๆ จากม้าจริงไว้เป็นประจำ
ม้าในภาพวาดที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพ “จิ่วฟังเกาวินิจฉัยม้า” คือ ม้าเหงื่อโลหิต ม้าสายพันธุ์ดี เป็นม้าตัวสูงใหญ่ แข็งแรง ปราดเปรียว วันหนึ่งวิ่งไปได้เป็นพันลี้และวิ่งได้เร็วมาก เป็นม้าที่ทรหดอดทน แม้จะดื่มน้ำเพียงวันละครั้งก็สามารถเดินทางในทะเลทรายได้นานหลายเดือน มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกกลาง แถบประเทศอุซเบกิสถาน เข้ามาในจีนสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ โดยแต่แรกเป็นการนำทองคำไปแลก แต่ไม่สำเร็จ จึงเกิดการสู้รบ จีนเป็นฝ่ายชนะ และได้ม้าเหงื่อโลหิตมาเป็นเครื่องบรรณาการ
สมัยราชวงศ์หยวน กองทัพของเจงกิสข่านที่พิชิตไปเกือบครึ่งโลก ก็เพราะใช้ม้าเหงื่อโลหิตที่สืบเผ่าพันธุ์ในจีนมาเป็นเวลากว่าพันปี แต่หลังราชวงศ์หยวน ม้าเหงื่อโลหิตลดจำนวนลงจนแทบจะเหลือเพียงแค่ในตำนาน แต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2002 ประธานาธิบดีแห่งเติร์กเมนิสถาน ได้มอบม้าเหงื่อโลหิตให้แก่ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินของจีน เป็นของขวัญสำหรับมิตรภาพของทั้งสองประเทศ
ในวรรณคดีเรื่องสำคัญอย่าง สามก๊ก ก็มีการกล่าวถึง “ม้าเหงื่อโลหิต” ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “เซ็กเธาว์” แรกเริ่มเป็นของตั๋งโต๊ะมอบให้กับลิโป้ เพื่อให้สังหารพ่อบุญธรรมตนเอง ต่อมาลิโป้ถูกโจโฉประหาร ม้าเซ็กเธาว์ตกไปเป็นของโจโฉ โจโฉต้องการซื้อใจกวนอูจึงยกม้าเซ็กเธาว์ให้
เมื่อกวนอูถูกฝ่ายซุนกวนจับกุม ม้าเซ็กเธาว์ก็ตกเป็นของซุนกวน เมื่อกวนอูถูกประหาร มันก็ไม่ยอมกินอะไรและอดตายในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- ลิบอง ขุนศึกแห่งสามก๊กผู้ชนะศึกโดยไม่ต้องรบ
- “กาเซี่ยง” กุนซืออัจฉริยะไม่กี่คนในสามก๊ก ที่มีบั้นปลายชีวิตสงบสุข
- “กาเซี่ยง” ชี้ทาง “โจโฉ” ตั้งทายาทคนโตสืบทอด เลี่ยงวุยก๊กล่มสลาย
ข้อมูลจาก :
โจวเซี่ยวเทียน-เขียน, รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร-แปล. เปิดตำนาน 12 นักษัตรจีน, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2556
ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. 108 สัญลักษณ์จีน, บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน), พ.ศ. 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564