ผู้เขียน | ภภพพล จันทร์วัฒนกุล |
---|---|
เผยแพร่ |
พิพิธภัณฑ์กู้กง National Palace Museum ไต้หวัน ตามประวัติพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1925 ณ พระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง (อันเป็นที่มาของชื่อกู้กง หรือ National Palace Museum) โดยนำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุล้ำค่า ที่เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์ในราชวงศ์ชิง (ในช่วงที่ก่อตั้งเป็นรัชกาลของพระเจ้าปูยี กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของจีน ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) มาจัดแสดง
ต่อมาใน ค.ศ. 1933 จีนถูกกองทัพของญี่ปุ่นบุกทางภาคเหนือที่แคว้นแมนจูเรียและกรุงปักกิ่ง ทางประเทศจีนจึงได้เก็บรวบรวมโบราณและศิลปวัตถุเหล่านี้ไปซ่อนไว้ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต่อมาใน ค.ศ. 1945 จีนสามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกไปได้ ยังไม่ทันได้นำสิ่งของเหล่านี้กลับมาจัดแสดงในที่เดิม ใน ค.ศ. 1948 ก็มาเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและคอมมูนิสต์ โบราณวัตถุเหล่านี้จึงถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่เมืองนานจิง ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งใช้เป็นเมืองหลวง เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งเพลี่ยงพล้ำเสียพื้นที่ส่วนใหญ่ของแผ่นดินใหญ่จีนให้พรรคคอมมูนิสต์ สิ่งของเหล่านี้จึงได้ถูกลำเลียงข้ามมาที่เกาะไต้หวันตามพรรคก๊กมินตั๋ง ใน ค.ศ. 1965 จึงได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดการแสดงขึ้น ณ ตำบลไว่ชวงซี เขตซื่อหลิน กรุงไทเป ไต้หวัน จนถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์กู้กง ปัจจุบันมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจัดแสดง มากกว่า 696,000 ชิ้น เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตลอดทั้งปี ตั้งแต่เวลา 08.30-18.30 น. ยกเว้นวันศุกร์และเสาร์ เปิด 08.30-21.00 น. พิพิธภัณฑ์เป็นอาคารมี 4 ชั้น แบ่งเป็นพื้นที่จัดแสดง 3 ชั้น (ชั้น 1-3) ชั้นล่าง (ชั้น B) เป็นที่จำหน่ายตั๋ว ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ ที่เก็บของ ล็อคเกอร์ ห้องน้ำ มิวเซียมช็อป บุ๊คช็อป ห้องอาหาร ห้องให้ยืมออดิโอไกด์ ฯลฯ. ค่าเข้าชม คนละ 250 NT (1NT = ประมาณ 1.1 บาท) ภายในให้ถ่ายรูปได้แต่ห้ามใช้แฟลช

การจัดการแสดงในอาคารทั้ง 3 ชั้นของพิพิธภัณฑ์กู้กง มีการแบ่งหมวดหมู่ของวัตถุชัดเจน เป็นห้องหยก ห้องภาพเขียนและอักษรสาร ห้องสำริด ห้องพระพุทธรูป ห้องเครื่องปั้นดินเผา ห้องเครื่องเคลือบแล็คเกอร์แวร์ ห้องเครื่องทอง ห้องเครื่องประดับลงยา ฯลฯ และยังแบ่งงานชิ้นเยี่ยมมาจัดแสดงต่างหากในห้องพิเศษตรงกลางข้างบันไดขึ้นลง ให้ชื่อว่า “ห้องจัดแสดงสิ่งมหัศจรรย์” เช่น 1. หยกรูปผักกาดที่เลือกชิ้นหยกที่ มีสีขาวและเขียวมาสลัก และมีแมลงเกาะกินใบแสดงนัยยะทางการเมือง 2. ลูกบอลงาช้าง สลักจากงาชิ้นเดียว ซ้อนกันสิบกว่าชั้น 3. หินเม็ดมะกอก? ขนาดเท่า (ใช้ศัพท์ว่า Olive stone ) สลักเป็นเรือมีประทุนมีคนแจว มีตัวอักษรจีน 4. ที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นคือ หินที่มีลักษณะเหมือนหมูสามชั้น
ก่อนเข้าชมในชั้นที่ 1 มีตารางเปรียบเทียบอายุสมัยของอารยธรรมของจีนกับแหล่งอารยธรรมอื่นของโลกซึ่งดีมากทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้น การเข้าชมเป็นหมู่คณะใหญ่ต้องใช้เครื่องพูดและหูฟัง เพื่อลดระดับเสียงในการพูดอธิบาย และมีเจ้าหน้าที่คอยเตือนห้ามใช้เสียงดังถ้าผู้เข้าชมละเมิดใช้เสียงดังเกินไป ท่านใดสนใจอยากหาข้อมูลพิพิธภัณฑ์กู้กง เพิ่มเติมได้ที่ http://www.npm.gov.tw หรือ http://www.npm.edu.tw. หรือ http://www.facebook.com/npmgov
เชิญชมภาพ “ศิลปวัตถุล้ำค่า” ณ พิพิธภัณฑ์กู้กง ถ่ายโดยผู้เขียน คุณภภพพล จันทร์วัฒนกุล
อ่านเพิ่มเติม :
- “ไต้หวัน” มาจากไหน? จากเกาะแหล่งประมง-โจรสลัด สู่ดินแดนอุตสาหกรรม-ประชาธิปไตย
- คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน? คนจีนในไทย-จีนแผ่นดินใหญ่-จีนไต้หวัน ล้วนไม่รู้จักคำนี้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2560