“ไต้หวัน” มาจากไหน? จากเกาะแหล่งประมง-โจรสลัด สู่ดินแดนอุตสาหกรรม-ประชาธิปไตย

ชาว Tsou ชาติพันธ์ุ ชนพื้นเมือง บน เกาะ ไต้หวัน
ชาว Tsou หนึ่งในหลายชาติพันธ์ุชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวัน

‘ไต้หวัน’ เกาะใหญ่ในทะเลจีนใต้ แต่เดิมไม่มีความสำคัญ เป็นเพียงแหล่งหาปลาของชาวประมง และเต็มไปด้วยโจรสลัด ประชากรที่อาศัยบนเกาะ คือ ชาวพื้นเมืองเชื้อสายมาลาโย-โพลีเนเชียน หรือออสโตรเนเชียน มีความคล้ายคลึงกันทางระบบภาษาและวัฒนธรรมกับชาวมาเลย์ในบางส่วนของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ชาวพื้นเมืองไต้หวันสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มชาวพื้นเมืองพื้นราบ ประกอบด้วย อามิส (Amis) คาวาลัน (Kavalan) และซัว (Tsou) และกลุ่มชาวพื้นเมืองภูเขา ประกอบด้วย ไซซิอัต (Saisiat) ทาโรโกะ (Taroko) บุหนุน (Bunun) พุยุมา (Puyuma) ไพหวัน (Paiwan) ยามิ (Yami) หยูไค (Rukai) เทา (Thao) และอตายอล (Atayal)

ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกบริเวณที่ราบชายฝั่ง เมื่อชาวจีนอพยพมาพวกเขาจึงถอยร่นเข้าไปในตอนในมากขึ้น ทั้งนี้ชาวพื้นเมืองพื้นราบมีแนวโน้มที่จะผสมผสานเข้ากับชาวจีนอพยพโดยการแต่งงานได้ง่ายกว่าชาวพื้นเมืองภูเขา

ไต้หวันและชาวตะวันตก

ชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่มาถึงไต้หวัน พวกเขาเดินเรือผ่านมาถึงชายฝั่งทิศตะวันออกของเกาะเมื่อ ค.ศ. 1544 เรียกเกาะนี้ว่า ‘ฟอร์โมซา’ แปลว่าเกาะที่สวยงาม

ส่วนคำว่า ‘ไต้หวัน’ มาจากคำว่า ‘Tyawan’ เป็นภาษาของชาวมาลาโย-โพลีเนเชียน แปลว่าเกาะเล็ก ๆ หรือสันดอนทางฝั่ง

ต่อมาชาวสเปนเข้ามายึดครองไต้หวัน ในบริเวณทางตอนเหนือของเกาะ คือเมืองต้านสุ่ย และเมืองจีหลง ระหว่าง ค.ศ. 1626-1644 ต่อมาบริษัทอินเดียตะวันออก (VOC) ของชาวดัตช์ ขับชาวสเปนออกจากบริเวณดังกล่าวแล้วปกครองแทน เมื่อ ค.ศ. 1644 ซึ่งชาวดัตช์ได้เริ่มทำให้ไต้หวันกลายเป็นดินแดนที่มีความสำคัญ ในฐานะแหล่งส่งออกน้ำตาล เนื้อกวาง เขากวาง รวมถึงพืชที่ใช้ทำเครื่องหวายแก่จีน เพื่อแลกเปลี่ยนกับผ้าไหม เครื่องถ้วยชาม ยารักษาโรค และทองคำ

ชาวดัตช์ยังใช้ไต้หวันเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนทองคำและเงินกับญี่ปุ่น รวมถึงเครื่องเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยในช่วง ค.ศ. 1624-1662 มีชาวจีนอาศัยอยู่ที่ไต้หวันราว 1,000-1,500 คนเท่านั้น

ทว่า ชาวดัตช์ยึดครองไต้หวันเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากช่วงเวลานั้น ราชวงศ์ชิงขยายอำนาจเหนือแผ่นดินจีน ราชวงศ์หมิงล่มสลายลงทำให้ชาวจีนบางส่วนลี้ภัยมาที่ไต้หวัน และได้ร่วมมือกันขับไล่ชาวดัตช์ออกไป ผู้นำคนสำคัญคือ เจิ้ง เฉิงกง หรือที่ชาวตะวันตกรู้จักในชื่อ คอซินก้า (Koxinga)

Fort Zeelandia ป้อมปราการ ของ ดัตช์ เกาะ ไถหนาน ไต้หวัน
Fort Zeelandia ป้อมปราการของชาวดัตช์สร้างบนเกาะนอกชายฝั่งไถหนาน ไต้หวัน

ไต้หวันกับราชวงศ์ชิง

เจิ้ง เฉิงกง ลี้ภัยมาจากแผ่นดินใหญ่ เขาร่วมมือกับชาวจีนและชาวพื้นเมืองบนเกาะที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีภายใต้การปกครองของดัตช์ ช่วยกันขับไล่ชาวดัตช์ออกไปสำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1662 จากนั้น ครอบครัวของเจิ้ง เฉิงกง มีบทบาทปกครองไต้หวันเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1683 ราชสำนักชิงได้ผนวกไต้หวันเป็นส่วนหนึ่ง ภายใต้การควบคุมของข้าหลวงประจำมณฑลฝูเจี้ยน

ในระยะแรก ราชสำนักชิงได้ออกกฎให้ชาวจีนที่ไม่มีภรรยาและไม่มีที่อาศัยเป็นหลักแหล่งบนเกาะให้เดินทางกลับแผ่นดินใหญ่ ผู้ที่จะอยู่ต่อต้องลงทะเบียนเพื่อประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษี ต่อมา ใน ค.ศ. 1684 ได้จำกัดชาวจีนที่จะเดินทางมายังไต้หวันเฉพาะผู้ชายที่ยังไม่ได้แต่งงานเท่านั้น และห้ามชายที่แต่งงานแล้วอพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ทั้งนี้เพราะป้องกันการขยายอำนาจของชาวจีนโดยเฉพาะขุนนางที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์หมิง

ประชากรที่อพยพมายังไต้หวันแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นชาวจีนจากมณฑลฝูเจี้ยน จากเมืองกวางโจว เฉวียนโจว กลุ่มสองเป็นชาวจีนจากมณฑลกวางตง ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแคะจากเมืองฮุ่ยโจว และเมืองเฉาโจว

ราว ค.ศ. 1684 นายพลเรือซือ หลาง ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลไต้หวันขณะนั้น ได้เสนอแนวคิดต่อราชสำนักชิงว่า ไต้หวันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันมณฑลชายฝั่งของจีน หากถูกชาติตะวันตกหรือกบฏยึดครอง อาจใช้เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการโจมตีแผ่นดินใหญ่ของจีนได้โดยง่าย แต่ราชสำนักชิงยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกาะแห่งนี้เท่าใดนัก และคงการควบคุมไต้หวันอย่างเข้มงวด ทำให้ระยะต่อมาจึงเกิดกบฏขึ้นบ่อยครั้ง

ชาวจีนในไต้หวันและชาวพื้นเมืองต่อต้านการเก็บภาษีและนโยบายการห้ามอพยพของราชสำนักชิง กบฏที่สำคัญ เช่น กบฏจู อี้กุ้ย ใน ค.ศ. 1721-1722 ราชสำนักชิงปราบกบฏได้สำเร็จ จึงได้เข้มงวดนโยบายมากยิ่งกว่าเดิม แต่ก็นำมาสู่กบฏหมู่บ้านต้าจย่าซี และกบฏอู ฝูเชิง ใน ค.ศ. 1731-1732 หลังปราบกบฏครั้งนี้สำเร็จ ราชสำนักชิงได้เพิ่มทหารประจำการบนเกาะ ทำให้เกิดการรีดไถภาษีและการข่มเหงรังแกผู้หญิงชาวพื้นเมือง

ภาพวาดชาวพื้นเมืองไต้หวัน โดย Olfert Dapper เมื่อ ค.ศ. 1670

ต่อมา ราชสำนักชิงได้ปรับนโยบายเสียใหม่ ได้ยกเลิกข้อห้ามการอพยพไปยังไต้หวัน อนุญาตให้ชาวจีนบนเกาะพาครอบครัวจากแผ่นดินใหญ่ไปไต้หวันได้ ระหว่าง ค.ศ. 1732-1740 นับเป็นครั้งแรกที่ครอบครัวชาวจีนสามารถอพยพไปยังไต้หวันได้อย่างถูกกฎหมาย จึงทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีใหม่ จากแต่เดิมจัดเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อให้ได้ตามกำหนด เปลี่ยนเป็นจัดเก็บภาษีอัตราต่ำ แต่ครอบคลุมประชาชนทั่วทั้งเกาะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราชสำนักชิงบริหารจัดการไต้หวันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การจัดเก็บภาษียังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวจีนและชาวพื้นเมืองไต้หวันลุกฮืกก่อกบฏอยู่เนือง ๆ เช่น กบฏหลิน ชวนเหวิน ระหว่าง ค.ศ. 1786-1788 และกบฏไต้ เฉาชุน ระหว่าง ค.ศ. 1862-1864 เกิดกบฏขึ้นบ่อยครั้งจนได้รับสมญาว่า ‘เกาะแห่งการกบฏ’

ราชสำนักชิงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อไต้หวันมากนัก ทว่าภายหลังจากจีนแพ้สงครามฝิ่น เมื่อ ค.ศ. 1841-1842 ประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และฝรั่งเศส มุ่งความสนใจไปยังไต้หวันมากขึ้น

เหตุผลเพราะมีทำเลดีตั้งดี สามารถใช้เป็นสถานีการค้าหรือท่าเรือได้เช่นเดียวกับเมืองท่าบนแผ่นดินใหญ่ของจีน และชาติตะวันตกยังต้องการใช้ไต้หวันเป็นสถานีการทำเหมืองถ่านหิน แหล่งส่งออกข้าวและน้ำตาลขนาดใหญ่ที่ค้าขายกับจีนและญี่ปุ่น

ใน ค.ศ. 1884-1885 เกิดสงครามระหว่างจีนกับฝรั่งเศส พิพาทเหนือดินแดนเวียดนาม ฝรั่งเศสยึดเมืองจีหลงบนที่ไต้หวัน ยึดเกาะเปรสคาดอเรส และปิดกั้นเส้นทางเข้าเกาะ เมื่อสงครามยุติ ราชสำนักชิงหันมาตระหนักถึงความสำคัญของไต้หวัน ใน ค.ศ. 1895 จึงยกไต้หวันขึ้นเป็นมณฑลที่ 22 มี หลิว หมิงฉวน เป็นข้าหลวงประจำมณฑลคนแรก ได้รับมอบหมายหน้าที่จากราชสำนักชิง ให้ปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของชาติตะวันตก

หลิว หมิงฉวน ริเริ่มย้ายเมืองหลวงจากไถหนานมายังไถจง เนื่องจากขัดแย้งกับผู้นำท้องถิ่นในไถหนาน ระหว่างการสร้างเมืองหลวงที่ไถจง ได้ใช้ไทเปเป็นเมืองหลวงชั่วคราว ทว่าเมื่อมีการเปลี่ยนตัวข้าหลวงประจำมณฑลเป็น เส้า โหย่วเหลียน จึงได้ยกเลิกย้ายเมืองหลวงไปที่ไถจง แล้วใช้ไทเปเป็นเมืองหลวงแทน

หลิว หมิงฉวน ได้วางรากฐานและพัฒนาไต้หวันสู่ความทันสมัย เขาดำเนินการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี จัดการศึกษาแบบตะวันตก สร้างรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองจีหลงและเมืองซินจู วางระบบไปรษณีย์ และโทรเลข นับเป็นความทันสมัยที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมไต้หวันอย่างรวดเร็ว

ชาว Tsou หนึ่งในหลายชาติพันธ์ุชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวัน

ไต้หวัน : จักรวรรดิญี่ปุ่น

ชาติตะวันตกไม่ใช่ผู้คุกคามไต้หวันตัวจริง แต่เป็นญี่ปุ่นที่กำลังผงาดเหนือเอเชียตะวันออก

จีนกับญี่ปุ่นพิพาทในกรณีไต้หวันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1871 (ช่วงปฏิรูปสมัยเมจิ) เมื่อเรือประมงของชาวริวกิวอัปปาง ลูกเรือพลัดขึ้นมายังไต้หวัน แต่ถูกชาวพื้นเมืองไต้หวันสังหารไป 45 คน ญี่ปุ่นเรียกร้องให้จีนชดใช้ค่าเสียหาย แต่จีนปฏิเสธ โดยอ้างว่าริวกิวก็อยู่ภายใต้การปกครองของจีน เพราะกษัตริย์ริวกิวยังคงถวายบรรณาการมายังราชสำนักชิงมาโดยตลอด ริวกิวจึงเป็นดินแดนในความคุ้มครองของจีน

นอกจากนี้แล้ว จีนและญี่ปุ่นยังพิพาทในกรณีเกาหลี ความขัดแย้งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ของสองมหาอำนาจ สงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นจึงปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1894 ความปราชัยนำมาสู่จีนอย่างไม่ต้องสงสัย การลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ค.ศ. 1895 ไต้หวันจึงได้ตกเป็นของญี่ปุ่นอย่างชอบธรรม

ขุนนาง ปัญญาชน เจ้าของที่ดิน เช่น ถัง จิ่งซง, หลิว หย่งฝู และชิว เฝิงจย่า ได้รวมตัวกันต่อต้านญี่ปุ่น และประกาศเอกราชพร้อมสถาปนาสาธารณรัฐไต้หวันขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1895 พวกเขาเป็นชาวไต้หวันที่ได้ผลประโยชน์จากระบอบสังคมดั้งเดิม และต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งวิเคราะห์กันว่าราชสำนักชิงอาจอยู่เบื้องหลัง เพราะแม้จะประกาศตั้งสาธารณรัฐไต้หวัน แต่กลุ่มไม่ต้องการประกาศเอกราชจากจีนแผ่นดินใหญ่ และแน่นอนว่าญี่ปุ่นได้ปราบกบฏนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ต่อมาก็ได้เกิดกบฏและจลาจลบ่อยครั้ง แต่ญี่ปุ่นก็ควบคุมไต้หวันได้อย่างมีเสถียรภาพต่อไป

ญี่ปุ่นเข้าปกครองไต้หวันอย่างเป็นจริงเป็นจัง แบ่งออกเป็นสามด้าน ดังนี้

ด้านการปกครอง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ภายใต้กฎหมายชื่อว่า ‘กฎหมาย 63’ ให้สัญชาติญี่ปุ่นแก่ชาวไต้หวัน, บังคับให้ชาวไต้หวันแสดงความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการผลักดันให้ชาวจีนเข้าสู่ระบบของการเป็นสมาชิกโดยตรงของรัฐ แทนที่การยึดโยงระบบครอบครัว สมาคม ตระกูลแซ่ แม้จะมีการต่อต้าน แต่ภายหลังได้ส่งผลต่อการสร้างสำนึกร่วมกันของไต้หวันให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ญี่ปุ่นวางระบบการปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นใหม่ แบ่งออกเป็น 5 จังหวัดกับ 3 อำเภอ แต่ละจังหวัดมีสภาจังหวัด สมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำกัดเฉพาะเพศชายอายุเกิน 25 ปี และจ่ายภาษีอย่างน้อย 5 เยนต่อปี สมาชิกอีกครึ่งมาจากการแต่งตั้งของญี่ปุ่น แต่สภาจังหวัดก็ไม่มีอำนาจเท่าใดนัก อำนาจยังคงอยู่ที่ข้าหลวงประจำมณฑล ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เสมือนปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร เพราะข้าหลวงประจำมณฑลชาวญี่ปุ่น ส่วนใหญ่รับราชการทหาร

ด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญต่อญี่ปุ่น ทั้งน้ำตาล ข้าว ชา และน้ำมันการบูร และยังเป็นตลาดขายสินค้าจากญี่ปุ่น เช่น ปุ๋ยและสิ่งทอ ญี่ปุ่นได้พัฒนา จัดสรร และปฏิรูปที่ดินเสียใหม่ รวมถึงจัดเก็บภาษีที่ดินให้เป็นระบบ เพื่อเร่งสร้างพื้นที่เกษตรกรรม โดยภายหลังจากการสร้างเขื่อนจยาหนานแล้วเสร็จ ใน ค.ศ. 1930 ได้เพิ่มพื้นที่ชลประทานครอบคลุมร้อยละ 64 ของพื้นที่การเกษตร เพิ่มการปลูกข้าวขึ้นกว่าร้อยละ 74 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังพัฒนาเกษตรกรรมแนวใหม่ ปรับปรุงสายพันธ์ุอ้อยจนทำให้ในช่วง ค.ศ. 1905-1935 พื้นที่การปลูกอ้อยเพิ่มถึงร้อยละ 500 การส่งออกน้ำตาลก็เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ค.ศ. 1937 ไต้หวันกลายเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ลำดับที่ 7 ของโลก

การอุตสาหกรรมก็ได้รับการส่งเสริมเช่นกัน โดยมีกลุ่มไซบัตสุเป็นผู้ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตข้าวและอ้อย การค้าข้าวและน้ำตาล และการทำเหมืองแร่ โดยใช้ไต้หวันเป็นฐานอุตสาหกรรมเพื่อขยายอำนาจของญี่ปุ่นไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงทศวรรษที่ 1920

ญี่ปุ่นยังพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคหลายอย่าง เช่น ถนน ท่าเรือ โทรเลข รถไฟ โดยเฉพาะขยายเส้นทางรถไฟจากเมืองจีหลงมายังไทเป ซึ่งอยู่บริเวณตอนเหนือ และใน ค.ศ. 1908 ขยายเส้นทางรถไฟไปจนถึงเมืองเกาสุง ซึ่งอยู่บริเวณตอนใต้

ด้านการศึกษา จัดการศึกษาสมัยใหม่ ตั้งโรงเรียนสามัญ แทนที่การศึกษาแบบขงจื้อ และการศึกษาแบบเอกชนจีนหรือ โชโบ, ใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนการสอน พูด อ่าน ฟัง เขียน เปิดโรงเรียนประถมศึกษาสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ, พัฒนาการศึกษาสายอาชีพ เช่น แพทย์ เกษตรกร การค้า แต่ละสายอาชีพมีระยะเวลาการศึกษาต่างกันไปและตรงตามความต้องการของญี่ปุ่น โดยรวมแล้วมีจุดประสงค์หลักคือ ใช้ภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมหลักของไต้หวัน

ทหารญี่ปุ่นเข้าสู่เมืองไทเป หลังการลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ค.ศ. 1895 ที่ไต้หวันตกเป็นของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

การพัฒนาไต้หวันเหล่านี้ ทำให้ระบบสังคมดั้งเดิมของชาวจีนหรือชาวไต้หวันค่อย ๆ ถูกลดบทบาทลง จากสังคมจารีต ที่มีคติไม่ทันสมัย ใช้ระบบตระกูล มีความเป็นกลุ่ม เป็นพรรคพวกสูง นำไปสู่สังคมทันสมัย ทะลายความคิดเก่า ทะลายความไม่ลงรอยระหว่างชาวไต้หวันกลุ่มต่าง ๆ สร้างความรู้ ความก้าวหน้า และวิทยาการแก่ชาวจีนรุ่นใหม่ จึงทำให้เกิดสำนึกแบบใหม่ขึ้น และจะทำให้เกิดแนวคิดชาตินิยมในการต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงเวลาต่อมา

กระแสการต่อต้านญี่ปุ่นมีมาอย่างต่อเนื่อง จากความไม่พอใจการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชาวไต้หวันและชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ชาวไต้หวันหลายกลุ่มและนักศึกษาปัญญาชนต่อต้านญี่ปุ่นในหลายวิถีทาง แต่ก็ถูกจำและปราบปรามลง

ผลสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นคือ การคิดค้นประดิษฐ์ระบบการเขียนแบบไต้หวัน (ไท-ออน-อัว Tâi-oân-oē) หรือ ไต้หวันฮวา (Taiwanhua) โดยปัญญาชนชาวไต้หวันดัดแปลงตัวเขียนและระบบการเขียนในภาษาจีนแมนดารินประยุกต์กับการออกเสียงในภาษาฮอกโล (Honklo) ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาจีนฮกเกี้ยน รวมทั้งการฟื้นฟู เซียงถู หรือ วรรณกรรมพื้นบ้านของไต้หวัน ในต้นทศวรรษ 1930 เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ให้ชาวไต้หวันกลายเป็นคนต่างชาติในความรู้สึกของชาวจีนตามนโยบายที่ญี่ปุ่นพยายามาสร้างขึ้น

ทว่า ชาวไต้หวันบางกลุ่มก็พอใจต่อการปกครองของญี่ปุ่น เช่น แพทย์ ครู พวกเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และผู้ที่ได้รับการศึกษาแบบญี่ปุ่น คนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นเศรษฐีใหม่ เป็นชนชั้นนำในสังคม แทนที่ชาวไต้หวันในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นพวกขุนนาง พ่อค้า เจ้าของที่ดิน หรือผู้คงจารีตแบบจีน ชาวไต้หวันกลุ่มนี้มีแนวคิดต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ และมีความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชในเวลาต่อมา

ปัญญาชนคนสำคัญคือ เผิง หมิงหมิ่น เขาได้รับการศึกษาแบบญี่ปุ่น มีแนวคิดต่อต้านการรวมประเทศกับจีน สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน รับแนวคิดของโจเซฟ เออร์เนสต์ เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชาติในรูปแบบไต้หวัน ภายใต้ข้อสรุปที่ว่า “ความเป็นชาติสมัยใหม่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานอยู่ภาษาร่วมกัน วัฒนธรรมร่วมกัน หรือความเป็นชาวพื้นเมืองที่มีกำเนิดร่วมกัน แต่อยู่บนการเผชิญชะตากรรมร่วมกันของคนในชาติ” แนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นรากฐานของแนวคิดชาตินิยมไต้หวันจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ ไต้หวันเข้าสู่กาารปกครองของรัฐบาลจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในช่วงรอยต่อของการเกิดแนวคิดความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ในภูมิภาคเอเชีย และยังได้รับการวางรากฐานความเป็นรัฐสมัยใหม่จากญี่ปุ่นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้ไต้หวันมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่แยกออกจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจน

ไต้หวัน : ไต้หวัน

หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไต้หวันกลับสู่การปกครองของจีนภายใต้รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีน (พรรคก๊กมินตั๋ง) ตามคำประกาศที่กรุงไคโร ค.ศ. 1943 ที่มีเจียง ไคเช็ก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนเป็นผู้นำ ประชุมร่วมกับประธานาธิบดีรูสเวลท์ของสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลของสหราชอาณาจักร

มีการประกาศร่วมกันว่า “ดินแดนที่ญี่ปุ่นได้ยึดครองจากจีนทั้งหมด เช่น แมนจูเรีย ฟอร์โมซา (เกาะไต้หวัน) และหมู่เกาะเปรสคาดอเรส ควรถูกส่งมอบให้กับสาธารณรัฐจีน” และในข้อตกลงพอทสดัม ค.ศ. 1945 ก็เน้นย้ำถึงเรื่องนี้เช่นกัน

หลังสงครามยุติ รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนส่งทหารราว 300,000 นายเข้ามาประจำการที่กรุงไทเป ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ยึดทรัพย์สินของรัฐบาลญี่ปุ่นไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ และให้ นายเฉินอี๋ เป็นผู้ว่าการมณฑล มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งทางทหารและพลเรือน ดำเนินนโยบายหลายเรื่องที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวไต้หวัน เช่น ยกเลิกสภาท้องถิ่นและการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น ใช้การแต่งตั้งผู้ว่าการจังหวัดและผู้ว่าการเขตปกครองจากผู้ว่าการมณฑลแทน ปลดข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชาวไต้หวันดั้งเดิมกว่า 36,000 คน ใน ค.ศ. 1946 การเข้าผูกขาดอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยพรรคชาตินิยมจีน กว่า 22 โรงงาน

เจียง ไคเช็ก กับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐอเมริกา โบกมือให้ฝูงชนระหว่างเยือนไทเปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1960

เฉินอี๋ ยังได้กำหนดเวลาการนำภาษาจีนมาใช้แทนภาษาญี่ปุ่นภายใน 1 ปี คือก่อนสิ้นสุด ค.ศ. 1946 ต้องเลิกใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งกระทบต่อการสื่อสาร สื่อสิ่งพิพม์ การเรียนการสอน ชาวไต้หวันที่เติบโตมาภายใต้ยุคที่ญี่ปุ่นปกครองจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก จนเกิดปัญหาหลายครั้งในสังคมจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน เช่น กรณีแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งชาติไต้หวันกล่าวกับทหารของรัฐบาลในภาษาจีนสำเนียงไต้หวันว่า ไม่ต้องเป็นห่วงกับอาการบาดเจ็บ แต่ทหารกลับได้ยินว่า แพทย์กล่าวหาว่าตนเป็นกบฏ

รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนยังไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน การขนย้ายทรัพยากรจากไต้หวันไปจีนแผ่นดินใหญ่ การบังคับใช้ภาษาจีนแมนดาริน และความล้มเหลวการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง ชาวไต้หวันดั้งเดิมจึงไม่พอใจและต่อต้านรัฐบาลพรรคชาตินิยมจีน จากความกดดันจากสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมระหว่างชาวไต้หวันดั้งเดิมกับชาวจีนอพยพ และความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนอพยพกับชาวไต้หวันดั้งเดิม นำไปสู่เหตุการณ์จลาจลใน ค.ศ. 1947

หลังเหตุการณ์จลาจลจึงได้ลดอำนาจของผู้ว่าการมณฑลลง ให้มีอำนาจควบคุมเฉพาะฝ่ายพลเรือนเท่านั้น อำนาจควบคุมกองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมจากรัฐบาลกลาง ชาวไต้หวันดั้งเดิมได้รับเลือกเข้าสู่ระบบราชการมากขึ้น จึงลดความรุนแรงของการต่อต้านลงไปได้บ้าง ภายหลังจากเจียง ไคเช็ก อพยพรัฐบาลสาธารณรัฐจีนมายังไต้หวัน พร้อมประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่ ค.ศ. 1949 การต่อต้านจากชาวไต้หวันดั้งเดิมจึงไม่รุนแรงมากนัก

รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนได้ดำเนินนโยบายและพัฒนาไต้หวันในหลายมิติ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างครอบคลุม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างระหว่างชาวจีนอพยพกับชาวไต้หวันดั้งเดิม ซึ่งได้ลดกระแสต่อต้านลงได้บ้าง แต่ยังคงควบคุมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มงวด ปรากฏว่าชาวไต้หวันอพยพที่กรุงโตเกียว ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านรัฐบาลพรรคชาตินิยมจีน และในยุคต่อมาก็ปรากฏขบวนการต่อต้านรัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนอยู่เนือง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน

ทศวรรษ 1970 ไต้หวันเริ่มเผชิญปัญหาหลายประการ จากภาวะชะลอตัวการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตร การถูกถอนออกจากสมาชิกองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เนื่องจากการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้สั่นคลอนบทบาทของสาธารณรัฐจีนอย่างมาก และการสูญเสียประธานาธิบดี เจียง ไคเช็ก

ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 1980 ปัญหายังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภายนอกและภายใน ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน การประท้วงของเกษตรกรจากปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากปัญหาโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการอพยพเข้าเมืองของคนชนบท และท่าทีที่รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนต้องการรวมเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนต้องปรับวิธีการบริหารประเทศใหม่ ผ่อนคลายความเข้มงวดทางการเมืองลง

เจียง ไคเช็ก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน เป็นประธานในวันชาติสาธารณรัฐจีน “วันชาติไต้หวัน” เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1966 (ภาพจาก https://th.wikipedia.org)

วันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1986 ‘กลุ่มตั่งไว่’ กลุ่มการเมืองที่มีเป้าหมายพัฒนาประชาธิปไตยในไต้หวัน เรียกร้องการปกครองตนเองของชาวไต้หวันดั้งเดิม ได้ประกาศก่อตั้ง ‘พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า’ แต่เป็นพรรคการเมืองนอกกฎหมาย กระทั่ง ต่อมา ค.ศ. 1987 รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีสถานภาพเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ สมาชิกมีทั้งชาวไต้หวันดั้งเดิม และชาวจีนอพยพ คงยึดหลักการคือ พัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองของไต้หวัน เรียกร้องการปกครองตนเองของชาวไต้หวันดั้งเดิม

เข้าสู่ทศวรรษ 1990 ไต้หวันกลายเป็นดินแดนอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ นับเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนในช่วง ค.ศ. 1971-1995 ทำให้ชาวไต้หวันมีมาตรฐานการศึกษาและฝีมือแรงงานสูงขึ้น รายได้ต่อประชากรสูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กลายเป็น ‘เสือ’ ใน “สี่เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ไต้หวันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี 

พัฒนาการการเมืองที่สำคัญของไต้หวันคือการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 ที่มีความไม่ชัดเจนในเรื่องอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ที่มาของตำแหน่งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาแห่งชาติ และตำแหน่งสำคัญ ๆ ในการบริหารระดับท้องถิ่น การปฏิรูปเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1991

เรื่องสำคัญคือ ที่มาของประธานาธิบดี ผลสรุปจากสภาแห่งชาติที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของชาวไต้หวัน (เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยชาวไต้หวันอย่างสมบูรณ์) คือให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ มีทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้าน บางส่วนมองว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะยิ่งผลักดันการแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งขัดกับอุดมการณ์จีนเดียวของพรรคชาตินิยมจีน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันมีขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1996 นายหลี่ เติงฮุย จากพรรคชาตินิยมจีน ได้เป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนแรก ที่ได้รับการเลือกตั้งจากชาวไต้หวันโดยตรง

เขาพยายามสร้าง “ความเป็นชาวไต้หวันใหม่” ขึ้นมาเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในสังคม โดยหลี่ เติงฮุยเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีความสำคัญว่าพวกเขามาจากไต้หวันหรือกลุ่มใดก็ตาม ประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในไต้หวันและทำงานเพื่อชาวไต้หวัน คือ ชาวไต้หวัน”

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ดำเนินนโยบายและกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของชาวไต้หวัน บวกกับความตกต่ำของรัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนจากปัญหาการคอร์รัปชันและความแตกแยกภายในพรรค ทำให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าค่อย ๆ ได้รับการเลือกตั้งทั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น และสมาชิกสภานิติบัญญัติมากขึ้นเรื่อยมา

การเลือกตั้งประธานาธิบดี ใน ค.ศ. 2000 เฉิน สุยเปี่ยน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ชนะการเลือกตั้ง ถือเป็นการตอกย้ำและปฏิเสธนโยบายรวมประเทศของจีนแผ่นดินใหญ่ ยังถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของกลุ่มชาวไต้หวันดั้งเดิมในการเมืองระดับชาติอีกวาระหนึ่ง

การเลือกตั้งต่อมา หม่า อิงจิ่ว จากพรรคชาตินิยมจีน ได้เป็นประธานาธิบดีไต้หวัน ระหว่าง ค.ศ. 2008-2016 และการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน

(มกราคม ค.ศ. 2023 ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปรากฏว่า วิลเลียม ไล ชิง-เต๋อ ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เตรียมก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง – กอง บก.)

กรุงไทเป ตึก ไต้หวัน 101
ภาพถ่ายกรุงไทเป เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 (Photo by Daniel SHIH / AFP)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหาเรื่องเชื้อชาติในอดีต ทั้งความแตกต่างระหว่างชาวจีนจากมณฑลต่าง ๆ ที่อพยพมาไต้หวันในสมัยราชวงศ์ชิง ปัญหากับชาวพื้นเมืองไต้หวัน หรือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความแตกแยกระหว่างชาวไต้หวันดั้งเดิมกับชาวจีนอพยพ แต่ปัญหาเหล่านั้นดูจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ก็เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น และรัฐบาลพรรคชาตินิยมจีน ที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนกันอย่างช้า ๆ

ในปัจจุบัน ปัญหาสำคัญของไต้หวันคือ ข้อพิพาทจากความแตกต่างระหว่างชาวไต้หวันกับชาวจีนทั้งในระดับชาติและประชาชนซึ่งยังพบเห็นอยู่ได้ทั่วไป ในระดับประชาชน จะเห็นได้จากการที่ชาวไต้หวันเรียกตนเองว่า ‘ไต้หวัน’ ไม่เรียกตนเองว่าจีน ไม่ชอบให้ใครเรียกตนเองว่า ‘จีน’ ขณะที่เรื่องของภาษา สำเนียง การพูด และการเขียน ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนนั้น ก็เป็นประเด็นสำคัญไม่น้อย ขณะที่ข้อพิพาทระดับชาติ คือ ความอิหลักอิเหลื่อเรื่องฐานะของไต้หวัน ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เมฆพัด อิสสระสงคราม. (2548). พัฒนาการชาตินิยมไต้หวัน ค.ศ. 1895-2004. สารนิพนธ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จอห์น เค แฟร์แบงค์ และคณะ. (2550). เอเชียตะวันออกยุคใหม่ : จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เล่ม 2. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร และคณะ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2563