ที่มา | ประวัติศาสตร์จีน ฉบับย่อ |
---|---|
ผู้เขียน | หลี่เฉวียน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล |
เผยแพร่ |
29 ธันวาคม 1911 “ซุนยัตเซ็น” ได้รับเลือกให้เป็น ประธานาธิบดี ชั่วคราวแห่ง สาธารณรัฐจีน
การปฏิวัติซินไฮ่
ต้นศตวรรษที่ 20 ภัยพิบัติของชนชาวจีนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขัดแย้งในสังคมก็รุนแรงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นกัน คนในราชวงศ์ชิงตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่างที่อยู่ในสถานการณ์ง่อนแง่นได้ทำการ “ปฏิรูประบบการเมืองใหม่” และในเวลาเดียวกันนั้น พลังแห่งการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนแห่งชาติที่มี ดร.ซุนยัตเซ็นเป็นตัวแทนได้ขึ้นมาอยู่บนเวทีแห่งประวัติศาสตร์อย่างรวดเร็ว รับผิดชอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างกล้าหาญ
คริสต์ศักราช 1894 ดร.ซุนยัตเซ็นก็เริ่มก่อตั้งคณะปฏิวัติซิ่งจงฮุย และพยายามริเริ่มก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐชนชั้นนายทุน ในเดือนสิงหาคม คริสต์ศักราช 1905 ดร.ซุนยัตเซ็นก่อตั้งสมาคมสัมพันธทิตรแห่งประเทศจีนขึ้นที่เมืองโตเกียว เป็นคณะการปฏิวัติชนชั้นนายทุนที่มีความเป็นประชาชาติแห่งแรก สมาคมสัมพันธมิตรได้เสนอโครงร่างการปฏิวัติไว้ว่า “กำจัดชนกลุ่มน้อยทางเหนือ ฟื้นฟูประเทศจีน ก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐ แบ่งเฉลี่ยกรรมสิทธิ์ที่ดิน”
ดร.ซุนยัตเซ็นได้รวบยอดเหลือเพียงข้อใหญ่ๆ 3 ข้อ คือ “ประชาชน” “สิทธิของประชาชน” และ “ปากท้องของประชาชน” ซึ่งก็คือ “หลัก 3 ข้อของประชาชน” หลังจากนั้นคนของพรรคปฏิวัติที่อยู่ภายใต้การนำของสมาคมสัมพันธมิตรได้เปิดฉากก่อการปฏิวัติติอาวุธอยู่หลายครั้ง ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวเรียกร้องห้เกิดระบอบรัฐธรรมนูญของฝ่ายปฏิรูปชนชั้นนายทุนนับวันก็ยิ่งดุเดือดรุนแรง การต่อสู้ต่อต้านราชวงศ์ชิงของมวลชนที่เกิดขึ้นเองก็ขยายวงกว้างไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ การก่อการปฏิวัติและการต่อสู้เหล่านี้ได้ทำให้การปกครองของราชวงศ์ชิงสั่นสะเทือน
ผู้ปกครองของราชวงศ์ชิงรู้สึกว่าการจะรักษาระบบการเมืองให้คงสภาพอยู่ต่อไปได้นั้นเป็นไปได้ยาก จึงประกาศ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” ในปีคริสต์ศักราช 1908 แล้วในเดือนพฤษภาคมคริสต์ศักราช 1911 รัฐบาลชิงก็ขยายสิทธิอำนาจการเดินรถให้กับเหล่าประเทศมหาอำนาจ 4 มณฑลอย่าง มณฑลหูหนาน หูเป่ย เสฉวน และกวางตุ้ง เริ่มทำการเคลื่อนไหวรักษาอำนาจนั้นไว้ รัฐบาลชิงรีบส่งกองทัพไปปราบปรามทันที
คณะปฏิรูป 2 คณะได้แก่คณะเหวินเสวเซ่อและคณะก้งจิ้นฮุ่ยที่มีสมาชิกของสมาคมสัมพันธมิตรเป็นผู้นำซึ่งอยู่ในอู่ฮั่นตัดสินใจฉวยโอกาสเปิดฉากก่อการปฏิวัติและในที่สุดการปฏิวัติอู่ชางก็เปิดฉากขึ้นในวันที่ 10 เดือนตุลาคม หลังกรปฏิวัติได้รับชัยชนะ คนในพรรคปฏิวัติก็ก่อตั้งรัฐบาลทหารขึ้น หลายท้องที่ทั่วประเทศก็ทยอยกันออกมาขานรับ ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนก็มี 14 มณฑลออกมาประกาศตัวเป็นอิสระ แล้วการปกครองของราชวงศ์ชิงก็ล่มสลายลง
วันที่ 29 ธันวาคม 1911 ดร.ซุนยัตเซ็น ได้รับเลือกเป็น ประธานาธิบดี ชั่วคราว ในวันที่ 1 เดือนมกราคมของปีถัดมา ดร.ซุนยัตเซ็นก็กล่าวคำปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งที่เมืองหนานจิง และประกาศสถาปนารัฐบาลจีนชั่วคราวขึ้น เนื่องจากปีคริสต์ศักราชที่ 1911 ตรงกับปีซินไฮ่ในปฏิทินจันทรคติ จึงเรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า “การปฏิวัติซินไฮ่”
การปฏิวัติซินไฮ่ได้โค่นล้มราชวงศ์ชิงลง ทำให้ระบอบการเมืองในรูปแบบศักดินาเผด็จการที่อยู่คู่กับประเทศจีนมาเป็นเวลายาวนานถึงกว่า 2,000 ปีสิ้นสุดลง สร้างประเทศสาธารณรัฐที่ปกครองโดยชนชั้นนายทุนขึ้นเป็นแห่งแรกของดินแดนตะวันออก
อ่านเพิ่มเติม :
- โรงเรียนทหารเพื่อการปฏิวัติ ของซุนยัตเซ็น หวังพลิกวิกฤตของประเทศจีน
- “ซุนยัตเซ็น” กับประสบการณ์ถูก “ลักพาตัว” ที่อังกฤษ ดังกระฉ่อนโลก
- 10 ตุลาคม วันชาติ “ไต้หวัน” อดีตวันชาติของ “สาธารณรัฐจีน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีน ฉบับย่อ” โดย หลี่เฉวียน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล, สำนักพิมพ์มติชน 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2560