บางระจัน กับประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม สู่บทบาท “นายทองเหม็น” และอีกหลายนาม

โปสเตอร์ ภาพยนตร์ บางระจัน
ภาพประกอบเนื้อหา - โปสเตอร์ภาพยนตร์ บางระจัน (2534) รูปแบบฉายต่างประเทศ

เนื้อหาเรื่อง “บางระจัน กับประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม สู่บทบาท “นายทองเหม็น” และอีกหลายนาม” กองบรรณาธิการคัดบางส่วนและปรับเนื้อหาจากบทความ “บางระจัน : ประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม” โดย บาหยัน อิ่มสำราญ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 มาเผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2562 (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการออนไลน์)


 

“บางระจัน” เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้ของสามัญชนที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยรู้จัก ชาวบ้านบางระจันมีเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีจริงตามที่ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือไม่ คงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ให้แจ่มชัดลงไปได้ แต่ที่เชื่อได้อย่างแน่นอนก็คือ เรื่องบางระจันนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักประพันธ์นำมาแต่งเป็นวรรณกรรมหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง บางเรื่องอาจจำลองเหตุการณ์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างครบถ้วน บางเรื่องอาจอาศัยเพียงโครงเรื่องแล้วสร้างตัวละครใหม่แสดงบทบาท ใช้การสู้รบที่เกิดขึ้นที่บางระจันเป็นฉากเพื่อนำเรื่องไปสู่จุดหมายที่ผู้เขียนต้องการ

บทความเรื่อง “บางระจัน : ประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม” [1] โดย บาหยัน อิ่มสำราญ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เคยรวบรวมวรรณกรรมไทย [2] ที่นำเรื่องบางระจันในประวัติศาสตร์มาเป็นเค้าโครงสำคัญในการแต่งมาวิเคราะห์โดยมีสมมุติฐานอยู่ว่า ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปนานเท่าไร จุดมุ่งหมายหลักของเรื่องบางระจันคือ การเชิดชูจิตใจรักชาติของสามัญชนจะยังคงอยู่ตลอดไป

แต่ความคิดดังกล่าวจะเข้มข้นเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าสังคมในยุคนั้นจะเป็นเช่นใด

“บางระจัน” ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์

เอกสารที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวอ้างถึงบางระจันมีหลายชิ้นอันได้แก่ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี คำให้การขุนหลวงหาวัด พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา นอกจากนี้ยังมีหนังสือเล่มสำคัญของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง ไทยรบพม่า ทั้งหมดกล่าวถึงเรื่องบางระจันว่าเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียกรุงครั้งที่ 2 การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันเพื่อต้านทานกองทัพพม่านั้นได้บันทึกไว้ในลักษณะต่างกันดังต่อไปนี้

1. เอกสารที่บันทึกเรื่องบางระจันเพียงชื่อ ได้แก่ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และคำให้การขุนหลวงหาวัด เอกสารฉบับแรกกล่าวถึง “บางระจัน” ในฐานะที่เป็นชื่อค่ายที่พม่าตั้งประชิดล้อมกรุงศรีอยุธยา และชื่อ “ค่ายบ้านระจัน” ไม่ใช่ “ค่ายบางระจัน” ที่สำคัญก็คือ ไม่มีวีรกรรมของชาวบ้านไทยเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ ส่วนคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวถึง “บางระจัน” ว่าเป็นชื่อค่ายหนึ่งใน 18 ค่ายที่พม่าตั้งอยู่รายล้อมกรุงศรีอยุธยา และชื่อ “ค่ายบ้านระจัน” ไม่ใช่ “ค่ายบางระจัน” เช่นเดียวกับจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

2. เอกสารที่บันทึกเรื่องบางระจันอย่างคร่าวๆ ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ เรื่องบางระจันในพระราชพงศาวดารทั้ง 3 ฉบับ มิใช่เป็นเพียงการเรียกขานชื่อค่ายเหมือนเอกสาร 2 ฉบับที่กล่าวมาข้างต้น แต่กล่าวถึงสถานที่ บุคคล และเหตุการณ์ สถานที่ยังคงใช้ชื่อ “บ้านระจัน” ส่วนชื่อบุคคลที่ปรากฏในตอนนี้ ได้แก่ พระอาจารย์วัดเขานางบวช นายจันเขียว พระยารัตนาธิเบศ ชาวบ้าน และพม่า

เหตุการณ์ก็คือพม่าตีค่ายบางระจันเพราะชาวบ้านไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้ว่าจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ แต่ชาวบ้านกลับฆ่าพม่าล้มตายเป็นอันมาก พม่าพยายามจะตีค่ายบางระจันหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ชาวบ้านพยายามต่อสู้ด้วยการเดินทางเข้ามาขอปืนใหญ่ในเมืองหลวง แต่ไม่ได้ เพราะเมืองหลวงเกรงว่าหากค่ายแตก ปืนใหญ่จะกลายเป็นอาวุธให้พม่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศจึงไปหล่อปืนใหญ่ให้ 2 กระบอก แต่ก็สู้พม่าไม่ได้ ค่ายแตก ชาวบ้านล้มตายเป็นอันมาก

การรบของชาวบ้านบางระจันที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกลุ่มนี้ จะมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นกว่าเอกสารกลุ่มแรกที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม การรบดังกล่าวก็ยังคงเป็นการปะทะครั้งย่อยๆ ระหว่างกองกำลังของพม่ากับชาวบ้าน ตามเส้นทางที่พม่าเคลื่อนทัพผ่านจากทางเหนือเพื่อลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา และดูเหมือนว่าผู้บันทึกจะไม่ให้ความสำคัญที่โดดเด่นเป็นพิเศษนัก เพราะจะกล่าวรวมๆ ไปกับการรบที่ปากน้ำประสบ โดยตัดฉากสลับกันไปมา มิได้เน้นย้ำการรบที่บ้านระจันโดยละเอียดเพียงเหตุการณ์เดียว

3. เอกสารที่เล่าเรื่องบางระจันอย่างละเอียด ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และหนังสือเรื่องไทยรบพม่า

เรื่องบางระจันที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานั้น หากพิจารณาจากโครงเรื่องใหญ่มิได้แตกต่างกับเอกสารกลุ่มที่ 2 กล่าวคือ เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างนักรบชาวบ้านไทยกับกองกำลังของพม่าและจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายไทย ส่วนรายละเอียดในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ พิสดารกว่าเรื่องบางระจันในพระราชพงศาวดารทุกฉบับที่กล่าวมาแล้ว ทั้งในแง่เนื้อเรื่อง ตัวละคร และการใช้ภาษา

เรื่องบางระจันในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ก่อนอันเป็นมูลเหตุให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้กับพม่า กล่าวคือ กองกำลังของพม่าทำตัวเยี่ยงโจรเข้ามาปล้นทรัพย์สินเงินทองและบุตรหญิง รายละเอียดในเรื่องบางระจันที่ทำให้พระราชพงศาวดารฉบับนี้แตกต่างกับพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคล อันได้แก่ชื่อและบทบาทของบุคคลในเรื่อง เหตุการณ์ รวมทั้งการแสดงทรรศนะเกี่ยวกับการศึกสงคราม

บุคคลในพระราชพงศาวดาร

บุคคลที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบางระจัน และฝ่ายพม่า

ฝ่ายบางระจัน ได้แก่ พระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช นายแท่น นายโช นายอิน นายเมือง เป็นชาวบ้านสีบัวทอง แขวงเมืองสิงค์ นายดอกชาวบ้านตรับ นายทองแก้วบ้านโพทะเล พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว ขุนสัน

ฝ่ายพม่า ได้แก่ งาจุนหวุ่น เยกิหวุ่น ติงจาโบ่ สุรินทจอข่อง แยจออากา จิแก อากาปันญี และพระนายกอง

พระอาจารย์ธรรมโชติ เดิมอยู่วัดเขานางบวช ต่อมามาอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น บางระจัน เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน มีความรู้ทางเครื่องรางของขลัง เป็นผู้เสกวัตถุมงคลเพื่อให้ชาวบ้านใช้คุ้มครองตนเองเมื่อออกรบ เมื่อบางระจันแตก ข่าวบางกระแสก็ว่าพระอาจารย์มรณภาพในค่าย บ้างก็ว่าพระอาจารย์หายสาบสูญไป

นายแท่น เป็นชาวบ้านสีบัวทอง แขวงเมืองสิงค์ เป็นคนกล้าหาญ ครั้งหนึ่งพาชาวบ้านบุกเข้าไล่ตะลุมบอนทหารพม่า ส่งผลให้ถูกปืนพม่าที่เข่า บาดเจ็บเป็นเวลานาน ภายหลังเสียชีวิตในค่าย

นายทองเหม็น ชอบดื่มสุรา เป็นนักรบผู้กล้าหาญและมีฝีมือ เคยได้รับมอบหมายเป็นปีกซ้ายเมื่อคราวที่สุรินทจอข่องยกมาตี วันหนึ่งเมาสุราขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า ปะทะกับพระนายกองและพลรามัญ นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้ากลางทัพแต่เพียงผู้เดียว พลพม่าแทงฟันนายทองเหม็นไม่เข้า สุดท้ายสู้รบจนสิ้นกำลัง พม่าจับตัวได้และถูกทุบตายในที่รบ (บทอ้ายทองเหม็น ในภาพยนตร์ “บางระจัน” (2543) ทำให้บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ได้รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม – กองบรรณาธิการออนไลน์)

พันเรือง เป็นผู้ที่ฝ่ายพม่าต้องการตัว ถึงกับส่งพลร้อยเศษมาตามจับ ทำให้พลพม่าต้องปะทะกับชาวบ้านบางระจันเป็นครั้งแรกที่ฝั่งแม่น้ำ พันเรืองมีความสามารถในการรบ ได้รับมอบหมายให้เป็นปีกซ้าย เมื่อคราวรบกับสุรินทจอข่อง เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่ต่อสู้กับพม่าจนกระทั่งถึงตอนท้ายที่ค่ายบางระจันใกล้แตก และเป็นผู้ร่วมคิดอ่านกับนายทองแสงใหญ่ส่งคนเข้ามาขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำในเมืองหลวง

ส่วนขุนสัน ยิงปืนแม่น มีฝีมือในการรบ

นายจันหนวดเขี้ยว ก็เป็นนักรบคนสำคัญที่ยกพลออกรบพม่าอีกหลายครั้ง แต่ในที่สุดทั้งสองก็ตายในที่รบ

ฝ่ายพม่านั้น นายทัพ ได้แก่ งาจุนหวุ่น เยกิหวุ่น ติงจาโบ่ สุรินทจอข่อง แยจออากา จิแก อากาปันญี พระนายกอง นายทัพเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้คุมกองกำลังมาตีค่ายบางระจัน ส่วนใหญ่จะบอกเพียงคุมทหารมาจำนวนหนึ่งปะทะกับชาวบ้านบางระจัน และในที่สุดก็แตกพ่ายกลับไป ยกเว้นการรบที่มีสุรินทจอข่องและพระนายกองเป็นนายทัพที่จะมีรายละเอียดมากกว่าครั้งอื่นๆ

ด้านเหตุการณ์นั้นพบว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏเฉพาะในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ก็คือ การระบุถึงสาเหตุที่ชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้ว่า พม่าทำตัวประหนึ่งโจร “เร่งเอาทรัพย์เงินทองและบุตรหญิง” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : 269)

ส่วนเหตุการณ์ด้านการรบ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่ามีการรบถึง 8 ครั้ง การรบครั้งสำคัญได้แก่การรบครั้งที่ 4 ฝ่ายไทยมีนายแท่นเป็นนายทัพ นายทองเหม็นเป็นปีกขวา พันเรืองเป็นปีกซ้าย ฝ่ายพม่ามีสุรินทจอข่องเป็นนายทัพ การรบครั้งนี้พระราชพงศาวดารบรรยายไว้อย่างดุเดือด ว่า

“…กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่ฟากคลองข้างโน้น ได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย พม่าเห็นไทยน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย ทัพไทยจึงขนเอาไม้และหญ้ามาถมคลองและยกข้ามคลองรุกไปรบพม่าถึงอาวุธสั้น เข้าไล่ตะลุมบอนฟันฆ่าพม่าล้มตายเป็นอันมาก และสุรินทจอข่องนายทัพนั้น กั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล เร่งให้ตีกลองรบ รบกันตั้งแต่เช้าจนตะวันเที่ยง พลทหารไทยวิ่งเข้าฟันตัดศีรษะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายท่ามกลางสนามรบ…” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : 271)

ส่วนทรรศนะเกี่ยวกับศึกสงครามนั้น จะแฝงอยู่ในการบรรยายการสู้รบ โดยจะไม่แสดงความชื่นชมชัยชนะของชาวบ้านบางระจันโดยตรง แต่จะกล่าวว่า “พม่ากลัวฝีมือไทยค่ายบ้านระจันนัก” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : 272) หรือให้ภาพพม่าที่ขวัญเสียเพราะความพ่ายแพ้จากการสู้รบ หวาดกลัวกองกำลังของชาวบ้านถึงขนาดหุงข้าวสุกบ้างไม่สุกบ้าง ได้กินข้าวบ้างไม่ได้กินข้าวบ้าง เพราะเกรงว่ากองกำลังชาวบ้านจะยกมาโจมตี

เรื่องบางระจันในประวัติศาสตร์นี้ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ จารีตของการบันทึกพระราชพงศาวดารแต่ก่อนนั้น จะให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องกษัตริย์ การที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งเป็นพงศาวดารที่ชำระหลังสุด [3] ให้ความสำคัญกับเรื่องของสามัญชนเป็นพิเศษ โดยให้รายละเอียดในเรื่องบุคคล เหตุการณ์ และแสดงทรรศนะที่เกี่ยวข้องกับการรบที่บ้านบางระจัน แสดงให้เห็นขนบการบันทึกพงศาวดารที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้า

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงระบบคิดในหมู่ชนชั้นนำไทย ที่เริ่มให้ความสำคัญต่อสามัญชนในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐ เรื่องราวเล็กๆ ของชาวบ้านเพียงไม่กี่บรรทัดที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับที่ชำระก่อนหน้าจึงถูกขยายความอย่างมากในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าบางระจันที่เป็นอมตะในสังคมไทย

หนังสือเรื่องไทยรบพม่า ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของเรื่องบางระจัน ที่ตกทอดมาจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เพราะมีเนื้อความคล้ายคลึงกันมาก จะแตกต่างกันบ้างก็คือสำนวนภาษา หนังสือไทยรบพม่า นำเรื่องบางระจันในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาเล่าให้ง่ายและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น เริ่มต้นเรื่องด้วยสำนวนที่ดึงดูดความสนใจว่า

“แต่มีเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้นทางหัวเมืองในตอนนี้เรื่อง 1 คือเมื่อเดือน 3 ปีระกา …” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2520 : 349) และมีข้อความลงท้ายในเชิงยกย่องสรรเสริญชาวบ้านบางระจันโดยไม่ปรากฏในเอกสารฉบับอื่น ได้แก่ “เรื่องราวของพวกนักรบบ้านบางระจันมีมาดังนี้ คนทั้งปวงยกย่องเกียรติยศมาตราบเท่าทุกวันนี้” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2520 : 357) นอกจากนั้น ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ การระบุชื่อผู้ที่อาสานำกองกำลังมารบกับบางระจันว่าชื่อ “สุกี้” ในขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกว่า “พระนายกอง”

เอกสารทั้ง 2 เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบางระจัน เนื่องจากมีรายละเอียดที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการประพันธ์ได้ ในขั้นต้นถือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็นแม่แบบเรื่องบางระจันให้แก่เรื่องไทยรบพม่า และต่อจากนั้นทั้งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและเรื่องไทยรบพม่า ก็เป็นแหล่งอ้างอิงแก่ผู้สนใจสร้างสรรค์งานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบางระจันต่อไป รวมถึงบางระจันในรูปแบบของวรรณกรรมที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ด้วย

รูปหล่อพระอาจารย์ธรรมโชติ ปั้นหล่อโดยกรมศิลปากร ภายในวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

“บางระจัน” ในวรรณกรรม

การนำวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมเรื่องสำคัญที่กล่าวถึงในบทความต้นฉบับมี 4 เรื่อง ได้แก่ ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน ของ มหาอำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร บางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม เลือดเนื้อพลีเพื่อไทย ของ สว่าง ขวัญบุญ และอตีตา ของ ทมยันตี

วรรณกรรมทั้ง 4 เรื่องนี้ แต่งเป็นร้อยกรอง 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน และเลือดเนื้อพลีเพื่อไทย และแต่งเป็นนวนิยาย 2 เรื่อง ได้แก่ บางระจัน และอตีตา แต่ละเรื่องนั้นมีประวัติความเป็นมาและเนื้อเรื่องที่มีรายละเอียดน่าสนใจหลากหลายแง่มุม (ในฉบับออนไลน์นี้ คัดเนื้อหาในบทความต้นฉบับมาเฉพาะส่วนที่เอ่ยถึงบุคคลอย่าง นายทองเหม็น และบุคคลอื่นๆ ในฝ่ายบางระจัน)

ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน

ในลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน ของ มหาอำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร วรรณกรรมเรื่องนี้แต่งเสร็จเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์รวมเล่มรวมกับบทประพันธ์เรื่องอื่นๆ ในหนังสือ “คำประพันธ์บางเรื่อง” เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพบิดา (นายหว่าง กาญจนชีวะ) ภรรยา (คุณหญิงอุปกิตศิลปสาร) และน้องชาย (พระภิกษุสุ่น กาญจนชีวะ) เมื่อ พ.ศ. 2472

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ได้นำหนังสือเล่มนี้มาเป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยกเลิกไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร (สว่างวรรณ กาญจนชีวะ 2524 : คำนำ) ผู้ประพันธ์กล่าวไว้ในตอนท้ายเรื่องนี้ว่า นำเค้าเรื่องวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันมาจากเรื่องไทยรบพม่า ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทลิลิต ประกอบด้วย ร่ายดั้น 12 บท โคลงดั้นวิวิธมาลี 36 บท และโคลง 3 ดั้น 15 บท มีองค์ประกอบทางวรรณกรรม 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนนำเรื่อง เนื้อเรื่อง และสรุป

ส่วนนำเรื่อง เรียกว่าประณามพจน์ คือคำไหว้ครู ในลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันนั้น คือ ร่ายบทแรก และโคลงดั้น 4 บท ร่ายบทแรก กล่าวชมรัฐสยามว่ามีความยิ่งใหญ่ สุขสบายเจริญรุ่งเรืองและสวยงามราวกับเมืองของเทวดา เปรียบเทียบเมืองหลวงว่าสูงส่งและยิ่งใหญ่ประดุจเขาไกลาส ประชาชนมีความเจริญรุ่งเรือง มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มีทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า ทรัพย์ในดินสินในน้ำ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งพืชสวนพืชไร่ มีการติดต่อกับต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ทรงอุปถัมภ์ศาสนาอันนำมาซึ่งสันติ เป็นผลให้ประชาชนชีวิตมีความสุข

ส่วนโคลงดั้น 4 บทนั้น มีเนื้อหายอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นกษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม เปรียบประดุจฉัตรของพระพรหมซึ่งปกป้องบ้านเมือง มีพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ ผู้ประพันธ์ขอเทิดทูนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไว้ประดุจดั่งชีวิต ขอสดุดีพระเกียรติคุณเพื่อเป็นสิริมงคล และผลงานเขียนเรื่องนี้ขอถวายเป็นเครื่องสักการะแด่พระองค์

จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อเรื่อง ซึ่งแต่งด้วยร่ายดั้น โคลง 2 ดั้น โคลง 3 ดั้น และโคลง 4 ดั้น สลับกันไป ดำเนินเรื่องไปตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหนังสือไทยรบพม่า ตั้งแต่พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เข้าปล้นทรัพย์สินและฉุดคร่าบุตรสาวของชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอันมาก มีคนกล้ากลุ่มหนึ่งรวมกำลังกันต่อต้านฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก แล้วหนีไปพึ่งพระอาจารย์ธัมมโชต ที่วัดเขานางบวช สุพรรณบุรี ซ่องสุมกำลังคน แล้วจึงอพยพไปตั้งค่ายที่บางระจันต่อสู้ต้านทานพม่า พม่าเข้าตีค่ายบางระจัน 7 ครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง

ผู้แต่งให้ความสำคัญต่อการศึกครั้งที่ 4 และครั้งที่ 7 ซึ่งฝ่ายบางระจันได้ชัยชนะอย่างงดงามในการต่อสู้ แต่ศึกครั้งที่ 8 ซึ่งฝ่ายพม่าแต่งตั้งให้สุกี้เป็นแม่ทัพนั้น บางระจันไม่อาจต้านทานได้ เพราะสุกี้ใช้กลยุทธ์ให้ชาวบ้านบางระจันออกรบนอกค่าย ทำให้ชาวบ้านต้องล้มตายเป็นอันมาก ครั้นไปขอปืนใหญ่จากเมืองหลวงก็ไม่ได้ หล่อปืนใหญ่ใช้เองก็ร้าวใช้การไม่ได้ ในที่สุดค่ายบางระจันก็ถูกตีแตก

ส่วนสรุป แต่งด้วยโคลง 2 ดั้น โคลง 4 ดั้น และร่ายดั้น เนื้อหาเป็นการสรรเสริญเกียรติคุณของชาวบ้านบางระจัน โดยเริ่มต้นสดุดีชาวบ้านบางระจันในฐานะที่เป็นกลุ่มชาวบ้านจำนวนน้อยนิดร่วมกันต่อสู้กับพม่า การตายของชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นการตายที่สมศักดิ์ศรีของการที่ได้เกิดมา และถึงแม้จะเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาแต่มีจิตใจกล้าหาญ ต่อสู้พม่าจนได้ชัยชนะถึง 7 ครั้ง การกระทำเช่นนี้ไม่ว่าไปที่ใดก็มีคนนับถือ และแม้ว่าชาวบ้านบางระจันจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ความดีงามทั้งหลายจะเลื่องลือไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่รุ่นลูกหลานได้รับฟังเรื่องราวของท่านก็ยังปลาบปลื้ม อิ่มอกอิ่มใจ

จากนั้นก็พรรณนาถึงเกียรติคุณของวีรชนบ้านบางระจันทีละคน เริ่มตั้งแต่พระอาจารย์ธัมมโชต นายแท่น นายทองเหม็น พันเรือง ขุนสรรค์ นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ แสดงความคารวะชาวบ้านบางระจันอีกครั้ง ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมชาติ และว่าผู้เขียนยังรู้สึกปลาบปลื้มจนน้ำตาไหลถึงเพียงนี้ หากผู้ที่เป็นลูกหลานวีรชนเหล่านี้จะยิ่งปลาบปลื้มในวีรกรรมเพียงใด

ลงท้ายเรื่องด้วยการแสดงความอิ่มใจที่ได้แต่งเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันจนเสร็จสิ้น และอวยพรให้ชาติสยามจงเจริญรุ่งเรือง และขอให้ผลงานเรื่องนี้จงอยู่คู่ชาติสยามตลอดไป

บทประณามพจน์ตอนต้นเรื่องนั้น มีข้อน่าสังเกตก็คือ กวีมิได้แต่งโดยใช้จารีตของบทประณามพจน์แบบวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งมักเริ่มต้นเรื่องด้วยสูตรสำเร็จที่คล้ายคลึงกันคือ กวีจะกล่าวการชมปราสาทราชวัง ชมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และชมบุญญาบารมีของพระมหากษัตริย์ เช่น บทประณามพจน์ในยวนพ่ายโคลงดั้น กำสรวลโคลงดั้น นิราศนรินทร์ ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น แต่ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน จะเริ่มต้นเรื่องด้วยการระบุถึงสยามในฐานะรัฐที่มีความเจริญรุ่งเรือง “ศรีศรีสยามรัฐ ทัดทัดถิ่นสุรฐาน สราญราวสุรราษฎร์ โอภาสเพียงสุรภพ ลาภหลั่งลบสุรโลก…” (น. 26)

ผู้แต่งแสดงความภูมิใจในชาติของตนอย่างมากที่มีความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหลวงหรือหัวเมือง มีทรัพยากรธรรมชาติและพืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดม ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของรัฐ “เป็นปิ่นสยามสากล ก่องหล้า” (น. 26) ผู้แต่งแสดงจุดยืนทางความคิดที่แน่วแน่ชัดเจนว่า จะรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ประดุจชีวิต “รักชาติศาสน์เจ้าหล้า เล่ห์ชนม์” (น. 27)

การนำเสนอบทประณามพจน์ในลักษณะนี้ ในแง่วรรณกรรมนั้นถือว่าเป็นความพยายามเกริ่นนำเรื่องเพื่อให้สอดรับกับเนื้อหา ซึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านที่ร่วมกันปกป้องบ้านเมืองให้พ้นจากเงื้อมมือของผู้รุกราน แต่ในแง่ประวัติศาสตร์ บทประณามพจน์ดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐจารีตแบบดั้งเดิมดังที่ปรากฏในบทประณามพจน์แบบเก่านั้น เป็นอดีตไปเสียแล้ว

รัฐแบบใหม่นั้นประกอบไปด้วยเขตแดนที่ชัดเจน มีประชาชน พืชพันธุ์ธัญญาหาร สัตว์บกสัตว์น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ มีศาสนา มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นรัฐที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ ความรู้สึกรักและภูมิใจรัฐแบบใหม่ ที่มีชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นเป้าหมายนี้ ผู้แต่งได้ใช้เป็นบรรทัดฐานทางความคิด และนำมาใช้เป็นเหตุผลของการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

แม้ว่าความสนใจของกวีที่จะนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยมาแต่งเป็นวรรณกรรม จะไม่ใช่ของใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ได้นำสงครามคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพม่า มานิพนธ์เป็นวรรณกรรมเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย สุนทรภู่แต่งเสภาพระราชพงศาวดาร ซึ่งรวมไปถึงโคลงประกอบภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น โคลงภาพพระราชพงศาวดาร

วรรณกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางโลกทรรศน์และภูมิปัญญาของกวีไทยในช่วงหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ที่ให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของตนเอง จนเกิดแรงบันดาลใจไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามที่จะสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเพื่อจำลองอดีตที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารมาเป็นวรรณกรรม

ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน ก็เป็นวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในกระแสดังกล่าว แต่มีความแตกต่างกันในแง่ที่ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้มิได้เป็นการจำลองอดีตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่พระมหากษัตริย์และความยิ่งใหญ่ของราชสำนัก แต่เป็นเรื่องของชาวบ้านธรรมดา ซึ่งปรากฏเป็นเรื่องสั้นๆ แทรกอยู่ในพระราชพงศาวดาร แต่กวีชั้นนำของยุคสมัยให้ความสำคัญถึงขั้นนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมเช่นนี้ ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับเป็นครั้งแรกที่เรื่องของไพร่ฟ้าประชาชนได้รับการกล่าวขวัญถึง

นอกจากนั้นยังพบว่ามีความพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนให้เข้ากับบริบทของรัฐแบบใหม่ ทั้งที่การอธิบายเช่นนั้นไม่ปรากฏในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารลักษณะใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบางระจัน แม้แต่ในหนังสือเรื่องไทยรบพม่า ซึ่งผู้แต่งกล่าวว่าได้ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นต้นเค้าในการแต่ง นั่นก็คือความพยายามที่จะอธิบายการต่อสู้ของชาวบ้าน ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ผู้แต่งแทรกความคิดลักษณะนี้เข้าไปในเรื่องหลายตอน ในขณะที่หนังสือเรื่องไทยรบพม่ากล่าวเพียงแต่ว่าเหตุที่ชาวบ้านลุกขึ้นสู้เพราะ “พวกราษฎรพากันโกรธ จึงคิดจะแก้แค้นพม่า” (น. 367) แต่ในลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันกล่าวว่า

“จักจองพจนประพันธ์ สรรอุทาหรณ์หาญ ขานคุณชาวบ้านบางระจัน ผู้เพ็ญฉันท์ภักดิ์ชาติ ศาสน์กษัตริย์สุจริต กอบกิจช่วยชาติตน” (น. 27)

“ยังมีชายชาวสยาม นามนายแท่นกับสหาย นายโชตินายเมืองนายอิน อยู่แดนดินสิงห์บุรี ณ บ้านศรีบัวทอง อีกสองชายชาวเขต เมืองวิเศษชัยชาญ นามขนานนายดอก บอกตำบลบ้านกรับกับนายทองแก้ว, อยู่หมู่บ้านโพธิ์ทะเล หกนายเหหากัน พลันปรึกษาปรองดอง ปองแก้แค้นแทนชาติ” (น. 28)

“ความเป็นไทยเคยถนอม ใครจักยอมยื่นให้
ส่ำศัตรูล้างได้ ดุจปอง” (น. 29)

การแปรความหมายการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจัน จากการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวให้พ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง มาเป็นการต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์นั้น ถือว่าเป็นการตีความในกรอบแนวคิดชาตินิยม ซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากผู้แต่งต้องการนำเรื่องราวการต่อสู้อันน่าสะเทือนใจของชาวบ้านบางระจันมาอธิบายใหม่ภายใต้กรอบของรัฐชาติแบบใหม่ จากการตายเพราะการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและการล้างแค้น กลับกลายมาเป็นการตายเพื่ออุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ทั้งนี้เพราะเมื่อระบบมูลนายสลายลงไป ไพร่ฟ้าประชาชนกลายเป็นพสกนิกรของรัฐ การสร้างวรรณกรรมเพื่อสดุดีวีรกรรมของกษัตริย์ให้ประชาชนรับรู้และประทับใจเพียงช่องทางเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงให้กับรัฐ แต่จำเป็นต้องปลุกเร้าให้ประชาชนเห็นแบบอย่างของประชาชนที่ผู้ปกครองอยากให้เป็น อันเป็นการแสวงหาวิธีการที่จะช่วยสถาปนาความมั่นคงให้รัฐแบบใหม่อีกช่องทางหนึ่ง

ก่อนหน้าที่ มหาอำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสารจะประพันธ์ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันนั้น ก็ได้มีกวีตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต รจนาผลงานวรรณกรรมเพื่อจุดมุ่งหมายคือการยกย่องสดุดีมาแล้ว ทั้งในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมเหล่านั้นแต่งขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไว้อย่างยิ่งใหญ่ว่า เป็นเทวราชาบ้าง ธรรมราชาบ้าง นอกจากนั้นทรงไว้ซึ่งบุญญาภินิหารและทรงพระปรีชาสามารถอย่างหาที่สุดมิได้

แต่ ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันนั้น เป็นวรรณกรรมที่เปลี่ยนมุมมองจากการสดุดีพระมหากษัตริย์ มาเป็นการสดุดีสามัญชนเป็นครั้งแรกของประวัติวรรณกรรมไทย นอกจากนั้นยังนำเสนอเรื่องราวโดยใช้จารีตการเขียนวรรณกรรมสดุดีกษัตริย์

กล่าวคือ มีบทประณามพจน์ เนื้อเรื่อง และสรุปหรือนิคมคาถา รวมทั้งการใช้คำประพันธ์ประเภทลิลิต ซึ่งในอดีตเคยใช้ในการเขียนเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลิลิตพระลอ ยวนพ่ายโคลงดั้น ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น จึงนับเป็นความกล้าหาญของผู้แต่งที่เปลี่ยนแปลงจารีตของวรรณกรรมสดุดีที่เคยใช้กับชนชั้นสูงมาเป็นเรื่องของชาวบ้าน

กล่าวได้ว่า ความสำคัญของลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันก็คือ เป็นวรรณกรรมสดุดีชนชั้นไพร่เป็นเรื่องแรก และชนชั้นไพร่ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงเด่นก็คือชาวบ้านบางระจัน แต่การสดุดีดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของรัฐชาติแบบใหม่ที่มุ่งปลูกฝังอุดมการณ์ภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันต้องกลายเป็นการต่อสู้ของสามัญชนเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไปด้วย ทั้งที่ชาวบ้านบางระจันตัวจริงไม่เคยรู้จักอุดมการณ์เหล่านี้เลย

(ซ้าย) โปสเตอร์หนัง “บางระจัน” ในรูปแบบฉายต่างประเทศ และ (ขวา) โปสเตอร์หนัง “สุริโยไท” ในรูปแบบฉายต่างประเทศ

บางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม

บางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม เป็นวรรณกรรมที่นำเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันมาแต่งในรูปแบบนวนิยายเป็นเรื่องแรก เรื่องนี้แต่งราว พ.ศ. 2480-85 อันเป็นยุคที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้นโยบายสร้างชาติ สร้างสิ่งเร้าต่างๆ เพื่อรวมพลังประชาชน เช่น กำหนดรัฐนิยม จัดประกวดเพลงชาติ บทเพลง ละคร เพื่อเน้นให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย (พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม 2520 : 60)

บางระจัน เป็นเรื่องของนายทหารกองทหารม้าหนุ่มชื่อทัพ หลังจากแพ้สงครามพม่าที่ยุทธการอ่าวหว้าขาว และไม่ยอมไปรายงานตัวต่อนายทัพ เพราะการแตกทัพนั้นหมายถึงโทษประหาร แต่กลับรวบรวมกำลังเป็นกองโจรทหารม้าบ้านคำหยาดคอยปล้นกองทัพพม่า และช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกทหารพม่ารังแก ทัพมีศัตรูคู่อาฆาตชื่อสังข์ซึ่งเป็นทหารหลวง ต่อมากลายเป็นมิตรกัน และชักชวนกันไปบางระจันเพื่อทำศึกกับพม่า ทำสงครามกับพม่า 7 ครั้ง แต่ครั้งที่ 8 ไม่สามารถต้านทานกำลังของพม่าได้ ทุกคนในค่ายบางระจันถูกฆ่าตายทั้งหมด ในระหว่างที่เรื่องดำเนินไป ก็มีเรื่องราวความรักเกิดขึ้นในระหว่างการสู้รบดังกล่าวด้วย

ถ้าพิจารณาจากโครงเรื่องและเนื้อเรื่องความขัดแย้งที่เกิดในนวนิยายเรื่องนี้นั้น มีทั้งที่เป็นความขัดแย้งหลักและความขัดแย้งรอง ความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งระหว่างตัวละครเอกกับผู้รุกรานคือพม่า ส่วนความขัดแย้งรองเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ระหว่างตัวละครเอกคือทัพกับศัตรูคู่อาฆาตคือสังข์ โดยมีปัญหามาจากเรื่องการผูกพยาบาทกันมาตั้งแต่หนหลังและเรื่องผู้หญิงเป็นสำคัญ ความขัดแย้งรองคือความขัดแย้งส่วนตัวเกิดขึ้นก่อน และดำเนินต่อไป

แต่เมื่อความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งกับผู้รุกรานเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ความขัดแย้งรองก็ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งไม่มีความขัดแย้งรองใดๆ เหลืออยู่เลย เพราะตัวละครที่ขัดแย้งกันด้วยปัญหาส่วนตัวทั้งหลายต่างปรับความเข้าใจกัน และร่วมมือร่วมใจกันรักษาแผ่นดินเกิดของตนเองให้รอดพ้นจากศัตรูผู้รุกราน

ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ ทัพและสังข์ เป็นตัวละครที่ ไม้ เมืองเดิม สมมุติขึ้น ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นระหว่างรบนั้นก็ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน ตัวละครที่มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ ได้แก่ นายแท่น นายดอก นายโชติ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น ฯลฯ ไม้ เมืองเดิม ไม่ค่อยให้ปรากฏบทบาท นอกจากนายแท่นถูกปืนพม่า และนายทองเหม็นที่ขี่ควายออกตะลุยรบด้วยความโกรธแค้น ทั้งนี้คงเป็นด้วยเหตุผลที่ว่าเกรงจะมีข้อผิดพลาดในเรื่องถ้อยสนทนาหรือพฤติกรรมที่มิได้บ่งอย่างชัดเจนในพระราชพงศาวดาร (สุจิตต์ วงษ์เทศ 2538 : 21)

นอกจากนั้นการกำหนดตัวละครขึ้นมาใหม่ยังเปิดโอกาสให้ผู้แต่งใช้จินตนาการได้อย่างอิสระกว่าการใช้ตัวละครที่มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ ผู้นำชาวบ้านบางระจัน อย่างเช่น นายแท่น นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว ฯลฯ จึงเป็นเพียงตัวประกอบ เรื่องราวส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของทัพและพวกพ้องกับทหารพม่า ภายใต้บริบทการสู้รบระหว่างชาวบ้านบางระจันกับพม่าตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์
ตัวละครอีกฝ่ายหนึ่งคือตัวละครฝ่ายพม่า ซึ่งเป็นฝ่ายปรปักษ์ ไม้ เมืองเดิม สร้างตัวละครกลุ่มนี้มีพฤติกรรมในลักษณะที่เป็นผู้ร้ายสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ มีจิตใจชั่วร้ายเหี้ยมโหดทารุณ กดขี่ข่มเหงปล้นชิงทรัพย์สินเงินทอง ฉุดคร่าอนาจารผู้หญิง ฆ่าได้แม้กระทั่งคนชราที่หมดทางสู้

แม้กระทั่งคนเหล่านั้นจะวิงวอนร้องขอชีวิต ทหารพม่าก็หาได้สนใจไยดี เมื่อปล้นเสร็จก็เผาบ้านเรือนโรงนาของชาวบ้านวอดวาย บทบาทของตัวละครกลุ่มนี้ ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์มิได้ให้รายละเอียดในเรื่องความชั่วร้ายอย่างละเอียดลออ เหมือนที่ ไม้ เมืองเดิม บรรยายไว้ในนวนิยาย ในพระราชพงศาวดารระบุไว้เพียงสั้นๆ ว่า “พม่าเร่งเอาทรัพย์สินเงินทองและบุตรหญิง” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : 269) พฤติกรรมของทหารพม่าในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ เมื่อ ไม้ เมืองเดิม นำมาแปรเป็นวรรณกรรมแล้ว ได้ระบายสีความให้เลวร้ายไปยิ่งกว่าข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อย่างเช่น

แล้วความเดือดร้อนก็กลับกระพือให้ร้อนยิ่งขึ้น ตลอดแคว้นวิเศษชัยชาญและเมืองสิงห์ทั้งแดนอื่นที่ใกล้เคียง ถูกกองโจรพม่าเข้าห้อมล้อมปล้นริบทรัพย์ แสงเพลิงจับท้องฟ้าทั้งกลางวันกลางคืนไม่ขาด ผู้หญิงถูกอุ้มตัวไป เด็กและคนเฒ่าผู้แก่เสียชีวิต เพราะตรากตรำลำบาก พ่อแม่หาย เลยถูกกวาดต้อนดังควายฝูง ส่งไปยังกองคุ้มครัว แล้วเชลยนั้นก็ต้องละสถานบ้านเกิดเมืองนอนจากบุตรและธิดาไปแล้ว แม้ภรรยาหรือบุตรไม่หย่านมก็หารู้ว่าอยู่หนไหน นอกจากจะก้มหน้าให้คิดถึงกรรมก่อนตัวเอง แล้วก็เดินทางเข้าสู่ทิศกรรมจากกรุงศรีอยุธยาไปตายแดนพม่าโน้น (น. 89)

เสียงตะโกนนั้นดังก้องไปอีก บางเสียงของผู้เป็นหัวหน้านั้นสั่น บางเสียงเมื่อตะโกนไปแล้วก็เป็นเสียงร้องไห้ ฟันขบฟันน้ำตานอง…มือตบมืออยู่ฉาดฉาน…ปู่กู…ทั้งย่าและแม่มันผลักคะมำไป มันเอาตีนเหยียบ กูเคยกราบตีนแม่-แต่ตีนพม่านั้นเขี่ยข้ามแม่ที่กูกราบ ลูกเอ๋ย เจ้ายังมิทันหย่านม เพิ่งจะสอนเรียกแม่ และขานชื่อพ่อได้เพียงคำแม่เขาก็จากไป พม่ามันฉุดแม่เอ็งไปเสียแล้ว มึงต้องหย่านมเพราะแม่หาย ถึงจะเรียกอีกสักร้อยคำแม่เจ้าเขาก็หาหวนมาได้ยินไม่ เมีย…เมียเอ๋ย เมื่อค่ำครั้งก่อนเราเคยสาบานร่วมเหย้า เมื่อยากไร้ ไม่มีหมอน แขนซ้ายและอกพี่เคยเป็นหมอนหนุนก็ยังเกิดสุขเหลือหลาย แต่เดี๋ยวนี้พม่าจักบังคับให้เจ้าแอบอก เจ้าต้องพลัดอกไปบำเรอมันแล้วด้วยฝืนใจ…ใคร…ไทยคนไหนมั่งที่จะนิ่งดูมันมาหยามหน้าเยี่ยงนี้ ลูกสาวและพี่น้องมันริบไปเป็นเมีย ว่ายังไงผู้ชาย จะใช้ผู้หญิงและลูกเมียเข้าแลกพอชีวิตมึงรอดไปงั้นหรือ (น. 104)

แนวคิดสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้คือ ต้องการปลุกใจให้เกิดความรักชาติ ร่วมกันต่อสู้เพื่อบ้านเกิดเมืองนอนอย่างองอาจกล้าหาญและเสียสละ และชี้ให้เห็นว่าความรักชาติและการเทิดทูนพระมหากษัตริย์นั้นยิ่งใหญ่จนกระทั่งความขัดแย้งส่วนตัวไม่มีความหมาย ศัตรูกลับกลายเป็นมิตร ความเข้าใจผิดต่างๆ มลายไปสิ้น ทุกคนต่างสมัครสมานสามัคคีร่วมกันต่อสู้กับผู้รุกรานเพื่อรักษาชาติ แผ่นดินเกิด และพระมหากษัตริย์อันเป็นสิ่งเคารพสูงสุด ผู้แต่งได้ยืนยันแนวคิดดังกล่าวโดยกำหนดเป็นชื่อตอนแต่ละตอน รวมทั้งหมด 4 ตอน อันได้แก่

ตอนที่ 1 มโนมอบพระผู้เสวยสวรรค์
ตอนที่ 2 แขนมอบถวายทรงธรรม์เทอดหล้า
ตอนที่ 3 ดวงใจมอบเมียขวัญแลแม่
ตอนที่ 4 เกียรติศักดิ์รักของข้ามอบไว้แก่ตัว

ชื่อตอนเหล่านี้ผู้แต่งได้นำมาจากบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่องภาษิตนักรบโบราณ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงแปลมาจากคำคมในบทละครเรื่อง All’s Well that End Well ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (ทิพย์สุเนตร อนัมบุตร ม.ป.ป. : 59)

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของเนื้อเรื่องแล้ว การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านเพื่อต่อต้านผู้รุกรานด้วยความรักมาตุภูมินั้นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้หากตีความในบริบทของรัฐชาติแบบใหม่ แต่การพยายามโยงเรื่องการต่อสู้ให้เกี่ยวข้องกับความรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์นั้น ดูจะไม่เข้ากันกับเนื้อเรื่อง เพราะกษัตริย์ในเรื่องบางระจันนี้คือพระเจ้าเอกทัศน์ มิได้กระทำสิ่งใดให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นหลักชัยอันมีค่าที่สมควรจะต้องสู้ตายถวายชีวิตให้ นับตั้งแต่การพร้อมที่จะหยิบยื่นโทษประหารให้แก่ทหารผู้ภักดีอย่าง “ทัพ” เพราะพ่ายแพ้สงครามกลับมา หรือการส่งทหารหลวงมาริบครอบครัวของทัพเข้าหลวงเหตุเพราะ “ทัพ” หนีทัพ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ สามารถปลุกเร้าจิตใจให้เกิดความรู้สึกรักชาติ ซึ่งนอกจากจะมาจากเนื้อเรื่องที่แสดงวีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละต่อแผ่นดินเกิดแล้ว ยังประสานกับวรรณศิลป์จากกระบวนการใช้ภาษาของผู้แต่งที่ผ่านการคัดกรองเลือกสรรให้มีความสะเทือนใจสูงสุด ทั้งในแง่การบรรยายของผู้แต่งและบทสนทนาของตัวละครในเรื่อง เพื่อแสดงความรักชาติและเทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งยวด จนกระทั่งสามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เกิดอารมณ์ร่วมได้อย่างแนบแน่น การใช้ภาษาเหล่านี้ปลุกใจให้เกิดอารมณ์ ทั้งที่เป็นอารมณ์โกรธแค้นชิงชัง อารมณ์คึกคักเคียดแค้น อารมณ์สลดสังเวช ดังจะยกตัวอย่างให้เห็นดังนี้

อารมณ์โกรธแค้นชิงชัง ผู้เขียนจะบรรยายด้วยการสร้างภาพกองทัพพม่าให้เป็นเหมือนกองโจรกระทำการอย่างโหดเหี้ยม เข้าปล้นสะดมชีวิตและทรัพย์สิน กวาดต้อนชาวบ้านไปเป็นเชลย ทำร้ายผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ ฉุดคร่าผู้หญิงไปข่มขืน เผาวัดวาอารามและบ้านเรือนมอดไหม้เป็นจุณ การบรรยายภาพและเหตุการณ์จะเต็มไปด้วยความรุนแรง หยาบคายและป่าเถื่อนที่สุดอย่างที่มนุษย์พึงกระทำต่อกัน เช่น

แล้วความเดือดร้อนก็กลับกระพือให้ร้อนยิ่งขึ้น ตลอดแคว้นวิเศษชัยชาญและเมืองสิงห์ทั้งแดนอื่นที่ใกล้เคียง ถูกกองโจรพม่าเข้าห้อมล้อมปล้นริบทรัพย์ แสงเพลิงจับท้องฟ้าทั้งกลางวันกลางคืนไม่ขาด ผู้หญิงถูกอุ้มตัวไป เด็กและคนเฒ่าผู้แก่เสียชีวิต เพราะตรากตรำลำบาก พ่อแม่หาย เลยถูกกวาดต้อนดังควายฝูง ส่งไปยังกองคุ้มครัว แล้วเชลยนั้นก็ต้องละสถานบ้านเกิดเมืองนอนจากบุตรและธิดาไปแล้ว แม้ภรรยาหรือบุตรไม่หย่านมก็หารู้ว่าอยู่หนไหน นอกจากจะก้มหน้าให้คิดถึงกรรมก่อนตัวเอง แล้วก็เดินทางเข้าสู่ทิศกรรมจากกรุงศรีอยุธยาไปตายแดนพม่าโน้น (น. 89)

อารมณ์คึกคักเคียดแค้น เป็นอารมณ์ฮึกเหิมอยากจะต่อสู้กับผู้รุกราน และทำลายล้างแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อให้สาสมกับความแค้นเคืองที่มีอยู่ บทบรรยายเช่นนี้มักจะปรากฏในฉากที่ชาวบ้านบางระจันตะลุยไล่ฆ่าฟันทหารผู้รุกราน และรู้สึกสาสมใจที่เห็นความตายและเลือดของผู้รุกรานนองแผ่นดิน เป็นการล้างแค้นให้กับคนไทยที่ต้องตายเพราะน้ำมือข้าศึก การได้ตอบโต้ศัตรูเช่นนี้ถือเป็นการกระทำที่แสดงความกล้าหาญ เป็นการรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตนเองและแผ่นดินเอาไว้มิให้ใครมาหยาม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ฟัง-ทุกคนเถอะลูกเอ๋ย พวกเจ้าผิดมามากแล้ว เกิดเป็นคนต้องแก้ตัวในผิดนั้น พวกเจ้ากำลังได้ช่องแก้ตัวให้พ้นผิด จงก้มหน้าสนองพระเดชพระคุณแผ่นดินที่เจ้าละเมิดมาแล้วเถอะ-บางระจันเหนือโน่นเกิดศึกแล้ว” ท่านชี้มือขึ้นทิศเหนือแล้วพูดเสียงดังขึ้นอีก เป็นเสียงของนายหมู่อาทมาตที่ฟังแล้วแสยงขน

“บางระจันกำลังเกิดศึก พวกบ้านระจันเป็นแต่ชาวบ้าน แต่พวกบ้านระจันมันไม่ยอมให้ฝ่าตีนเข้าเหยียบบ้านระจัน หญ้าบ้านระจันไม่ใช่สำหรับช้างศึกหรือม้าพม่าจะมากิน แล้วพวกมึงเป็นอะไร?” อ้ายทัพตะโกนก้องโบสถ์

“ตะหาร” แล้วเสียงทหารก็คำรามไปทั่วโบสถ์ร้าง (น. 84-85)

พอตะวันชิงพลบ พม่าชิงลาโลกสิ้นชีวิตพร้อมกับตะวันเย็นหมดทั้งยี่สิบกว่า ไม่มีเหลือศพก่ายศพ ดินแดงเฉอะแฉะไปด้วยเลือด มื้อนี้เองที่ชาวบ้านไทยมันคายความขมออกมาจากหัวใจเป็นมื้อแรกที่มันร้องไห้มาแล้วจะค่อน 3 เดือนเต็ม ได้หัวร่อร่า ผีปู่ ลูกเล็กเด็กแดงทั้งหลายที่กลายเป็นเถ้าถมดินไปมากในเพลิง เจตภูตของแม่ พ่อและลูกสาววิเศษชัยชาญเมืองสิงห์ทั้งหลายจงมาเถิด มาเย้ยเยาะและคุยอวดเขาเถอะว่า ศรีอยุธยามันยังไม่หมดคนสู้ ชายชาตรีจะไร้หรือเมื่อสยามยังไม่สิ้นชาย (น. 98)

อารมณ์สลดสังเวช เป็นอารมณ์อันเศร้าสลด วังเวง และหดหู่ใจ อันเกิดจากการพ่ายแพ้อย่างยับเยิน แต่เป็นความพ่ายแพ้อย่างมีเกียรติ ไม่ได้เกิดจากการยอมจำนน ไม้ เมืองเดิม บรรยายฉากอันก่อให้เกิดอารมณ์สลดหดหู่เช่นนี้ในตอนท้ายของเรื่อง อันเป็นฉากที่ชาวบ้านบางระจันกลุ่มสุดท้ายได้สละชีวิตเพื่อมาตุภูมิของตนเอง

มิทันดวงตะวันจะชิงพลบ ชาวระจันก็ชิงหนีโลกไปก่อนแล้ว ศพเกลื่อนสมรภูมิบ้านไทยเอง เขาตายชอบแล้วทุกศพ นายจันทร์ผู้กล้ายอดชายของชาวบ้านระจันนอนเคียงสิ้นชีพอยู่เบื้องซ้าย เบื้องขวาเล่าขุนสรรค์ กรมการสรรค์บุรีนั้นทอดกายสิ้นชีวิต ศีรษะบ่ายสู่ทิศหนค่ายระจันที่จะจากมา เขาตายกันหมด ตายอย่างชาติลูกผู้ชายที่ตั้งใจว่าจะตาย เขาเอาศพออกรับเพื่อศึกซึ่งเป็นแขกเมืองมาเยี่ยมกรุงไทย พลพม่าอันมีเกียรติมีน้อยก็ปลาบปลื้มที่ได้ชำนะบ้านระจันทุกชีวิต แต่สุกี้กับนายทัพนายกองทั้งปวงซึ่งมีสติปัญญาเป็นทหารแท้ต้องสลดใจ ศพเจ้าบ้านตายอนาถอยู่กลางดิน เชลยศึกเชลยไทยผู้อยู่หว่างล้อม ไม่มีชีวิตให้จับเลยแต่สักคน น้ำใจเขาเป็นกระนี้ ศึก 7 ครั้งที่ยกมา จึงพ่ายแพ้หัวใจกล้าบ้านระจันหมด (น. 264)

ดาบตก มือนั้นก็ผลอยลงกอดแฟง ทหารกล้าดับชีวิตลับโลกไปแล้วเป็นคนที่สุด หากสิ่งทิพยศักดิ์สิทธิ์อย่างใดๆ จักสำแดงให้ประจักษ์เล่า คนอยู่หลังชีวิตในบ้านระจันก็คงจักเห็นในขณะนั้นว่าชายหนุ่มคำหยาดผู้กล้ากำลังเดินจูงมือแฟงเมียรักย่างเหยียบไปภพหน้า และภพนั้นมีกองทหารตั้งเรียงราย กองม้าคำหยาดเก่าประจำหลังเพียบชักดาบจากฝักควงโห่รับ ท่านพันเรืองขุนสรรค์นายแท่นชาวศรีบัวทองทั้งนายทองเหม็นนายจันทร์นายทองแสงใหญ่กับผู้ร่วมคิดอื่น 10 คน จักอ้าแขนยิ้มแย้มรับวิญญาณทหารกล้าศึกเข้าสู่เมืองใหม่ แล้วต่างเปล่งวาจาพร้อมกันว่า ขอฝากค่ายระจันที่เสียไปแล้วให้คนเกิดมาหลังช่วยกันจำไว้ ขอลูกหลานและผู้ร่วมชาติร่วมเมืองจงหวงบางระจันตลอดชีพ ค่ายระจันเสียเพราะไร้อาวุธจะสู้ (น. 289)

กระบวนการใช้ภาษาเพื่อเร่งเร้าให้เกิดอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์และเรื่องราวที่ ไม้ เมืองเดิม นำมาใช้ จึงเป็นกลวิธีสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องบางระจัน มีลักษณะปลุกเร้าอารมณ์อย่างสูง ทั้งอารมณ์เกลียดชัง อารมณ์แค้นเคือง อารมณ์ฮึกเหิม และอารมณ์เศร้าสลดหดหู่ใจ และเกิดขึ้นซ้ำๆ กันตลอดทั้งเรื่อง ด้วยวิธีการนี้เองทำให้ บางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม มีลักษณะเป็นวรรณกรรมปลุกเร้าจิตใจที่สะเทือนอารมณ์เป็นอย่างสูง จนละทิ้งความสมเหตุสมผลในเนื้อเรื่อง

บางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม จึงเป็นนวนิยายปลุกใจให้รักชาติ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ชาติและพระมหากษัตริย์ คล้ายกับเรื่องบางระจันในลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน ของ มหาอำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งแต่งขึ้นก่อนหน้าราว 14 ปี แสดงให้เห็นว่าความหมายของเรื่องบางระจันในประวัติศาสตร์นั้นยังคงเหมือนเดิม คือเป็นเรื่องการต่อสู้ของชนชั้นล่างเพื่อพิทักษ์รักษาบ้านเกิดเมืองนอนและพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุด

แม้กระทั่งเหตุการณ์บ้านเมืองแปรเปลี่ยนไปสู่สมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งใช้นโยบายสร้างชาติที่ไม่ได้คงศูนย์กลางไว้ที่พระมหากษัตริย์ อีกทั้งมีความพยายามที่จะตัดทอนและลดพระราชอำนาจและสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ (ราม วัชรประดิษฐ์ 2539 : 231) ไม้ เมืองเดิม ก็ยังนำเรื่องบางระจันในประวัติศาสตร์มาแต่งเป็นนวนิยาย โดยคงรูปรอยเดิม คือให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้เพื่อชาติและพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่ในแง่วรรณกรรม ไม้ เมืองเดิม สามารถตัดทอนเรื่องของการต่อสู้เพื่อพระมหากษัตริย์ออกไปได้ เพราะไม่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง

ที่สำคัญก็คือไม่มีเรื่องนี้ในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ ไม้ เมืองเดิม นำมาใช้เพื่อสนองตอบนโยบายสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเป็นเรื่องการปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกรักชาติอย่างแรงกล้า โดยใช้ภาษาที่สะเทือนอารมณ์สูงสุด และการสร้างภาพพม่าซึ่งเป็นตัวละครฝ่ายปรปักษ์ให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว

ดูเหมือนว่า ไม้ เมืองเดิม จะทำสำเร็จ เพราะบางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม ไม่เพียงถูกตีพิมพ์เผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนหลายครั้ง แต่ยังถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์จนเป็นที่รู้จักของคนไทยทุกระดับชั้น (สุเนตร ชุตินธรานนท์ 2537 : 45) แม้กระทั่งละครโทรทัศน์เรื่องบางระจัน ชุดใหม่ล่าสุด (2558) ก็ยังคงดำเนินตามเค้าโครงเรื่องบางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม นี้

บทสรุป

การนำเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมนั้น เริ่มต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 6 คือ เรื่องลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน ของ มหาอำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร โดยดำเนินเรื่องตามหนังสือเรื่องไทยรบพม่า ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายสดุดีวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน เพื่อโน้มนำให้เกิดความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

บางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม นวนิยายเรื่องนี้แต่งขึ้นในยุคชาตินิยมเฟื่องฟูสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยอาศัยเพียงเค้าโครงเรื่องจากประวัติศาสตร์อย่างคร่าวๆ พอให้ตัวละครที่สร้างขึ้นมาใหม่แสดงบทบาทอยู่ในกรอบของโครงเรื่องนั้น แนวคิดสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้คือ การเชิดชูวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันที่ต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองไว้ด้วยชีวิต และที่น่าสนใจก็คือนวนิยายเรื่องนี้ได้สร้างภาพของพม่าในฐานะศัตรูของชาติไว้อย่างชัดเจนที่สุด ด้วยกระบวนการใช้ภาษาที่สร้างความสะเทือนอารมณ์อย่างสูง

เลือดเนื้อพลีเพื่อไทย ของ สว่าง ขวัญบุญ เป็นงานเขียนเฉพาะกิจ ด้วยแรงบันดาลใจจากการประกาศเชิญชวนให้ส่งเรื่องเข้าประกวดขององค์กรทางธุรกิจ ผู้แต่งพยายามใช้ฝีมือในการแต่งอย่างเต็มที่ วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนความคิดรักชาติ เทิดทูนเอกราชและอธิปไตยผ่านวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันในยุคสมัยที่การแบ่งขั้วทางความคิดในสังคมไทยยังดำรงอยู่

อตีตา ของ ทมยันตี ที่นำเหตุการณ์บางระจันในประวัติศาสตร์มาแต่งเป็นนวนิยาย ทมยันตีนำเรื่องบางระจันมาเล่าใหม่โดยดำเนินเรื่องเรื่องสลับไปสลับมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน จุดมุ่งหมายก็คือ ต้องการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ให้เกิดความรู้สึกรักชาติ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำสังคมไทย

เรื่องบางระจันที่อยู่ในวรรณกรรมทั้ง 4 เรื่องนี้ จึงเป็นการนำประวัติศาสตร์มาปรุงแต่งทั้งจากความคิดของยุคสมัยและจากการใช้ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ แต่ข้อสรุปหนึ่งได้ชัดก็คือ ยามใดที่บ้านเมืองประสบวิกฤตต้องการความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชาติ เรื่องบางระจันในประวัติศาสตร์จะถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรม โดยมีหัวใจหลักคือความรักชาติ กระตุ้นให้เห็นจิตใจที่เสียสละกล้าหาญของบรรพบุรุษ สุดแต่ว่าผู้แต่งจะโยงให้เข้ากับเรื่องใด เรื่องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เรื่องเอกราชอธิปไตย หรือเรื่องการต่อต้านโลกาภิวัตน์

กรอบความคิดเช่นนี้จะยังดำรงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่รัฐไทยยังมีฐานะเป็นรัฐชาติ และความคิดชาตินิยมยังคงมีอยู่ในสังคมไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] บทความเสนอในที่ประชุมวิชาการ “เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 1” วันที่ 27 สิงหาคม 2547 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม มกราคม 2558)

[2] ขอบเขตของข้อมูลที่ใช้ศึกษาในบทความนี้ ใช้เฉพาะข้อมูลวรรณกรรมเพื่อการอ่าน ไม่รวมถึงบทเพลงที่ใช้ขับร้อง เนื่องจากบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบางระจันมีหลายเพลง และมีประเด็นและวิธีการศึกษาที่แตกต่างออกไป สมควรเขียนเป็นบทความอีกเรื่องหนึ่งโดยศึกษาร่วมกับบทเพลงปลุกใจที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เพลงอื่น

[3] เอกสารที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ฉบับนี้ชำระหลังสุดคือสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทชำระขึ้นใหม่ โดยได้เลือกสรรเหตุการณ์บางอย่างที่เชื่อถือได้มาจากหนังสือโบราณว่าด้วยกฎหมาย และพงศาวดารเขมรหลายฉบับ กับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเชื่อถือได้

[4] นอกจากเป็นครูสอนสังคมศึกษาแล้ว สว่าง ขวัญบุญ ยังเป็นเลขาธิการของวรรณศิลป์สโมสร ฝ่ายกิจกรรมพิเศษของมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เลขาธิการค่ายวัดสุทัศน์ กรรมการพิเศษของวัดสุทัศน์ และลูกเสือชาวบ้านวัดสุทัศน์อีกด้วย (สุรีรัตน์ ทองคงอ่วม 2542 : 301)

[5] ความหวาดกลัวการปฏิวัติสังคมนิยมส่วนหนึ่งมาจากการปฏิวัติในลาว เขมร และเวียดนาม เมื่อปี 2518 อีกส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยที่โน้มนำโดยขบวนการนักศึกษาและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

บรรณานุกรม

คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร : คลังวิทยา, 2515.

จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ. 2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2526.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ไทยรบพม่า. พระนคร : บรรณาคาร, 2515.
ทมยันตี [นามแฝง]. อตีตา (เล่ม 1-2). กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2544.

ทิพย์สุเนตร อนัมบุตร. วรรณกรรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ม.ป.ป.

พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม. พระนคร : ก้าวหน้า, 2507.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์. นครหลวงฯ : บรรณาคาร, 2515.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ม.ป.ป.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พระนคร : คลังวิทยา, 2507.

พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม. บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย (พ.ศ. 2475-2488). กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2520.

ไม้ เมืองเดิม [นามแฝง]. บางระจัน. กรุงเทพฯ : บางหลวง, 2538.

ยุค ศรีอาริยะ [นามแฝง]. จุดจบรัฐชาติสู่…ชุมชนาธิปไตย. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2540.

ราม วัชรประดิษฐ์. พัฒนาการของประวัติศาสตร์ชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2411-2487. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

สว่าง ขวัญบุญ. เลือดเนื้อพลีเพื่อไทย. กรุงเทพฯ : ธนาคารกรุงเทพ, 2323.

สว่างวรรณ กาญจนชีวะ. “คำนำ,” ใน คำประพันธ์บางเรื่อง. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2524.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “คำนำเสนอบางระจันของไม้ เมืองเดิม,” ใน บางระจัน. กรุงเทพฯ : บางหลวง, 2538.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2537.

สุรีรัตน์ ทองคงอ่วม. การวิเคราะห์วรรณคดีประวัติศาสตร์ประเภทสดุดีวีรกรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542.

เสาวณิต วิงวอน. การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมยอพระเกียรติ. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.

อุปกิตศิลปสาร, พระยา. คำประพันธ์บางเรื่อง. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2524.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 18 กันยายน 2562