“พระอาจารย์ธรรมโชติ” หายไปไหนหลังบางระจันแตก กางตำนานบอกเล่าหลายมุม

รูปหล่อ พระอาจารย์ธรรมโชติ พระสงฆ์ บางระจัน
รูปหล่อพระอาจารย์ธรรมโชติ ปั้นหล่อโดยกรมศิลปากร ภายในวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

“พระอาจารย์ธรรมโชติ” หายไปไหน? หลัง “บางระจัน” แตก กางตำนานบอกเล่าหลายมุม

ชื่อ “พระอาจารย์ธรรมโชติ” ผู้เป็นขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน บางระจัน ถูกบันทึกในหนังสือเล่มที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยหลายสมัยอย่าง “ไทยรบพม่า” โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า หลังค่ายบางระจันแตก พระอาจารย์ธรรมโชติก็หายไป ปมที่ทิ้งไว้แบบคาใจนี้กลายเป็นอีกหนึ่งคำถามชวนค้นหาต่อว่าพระอาจารย์ธรรมโชติหายไปไหนกันแน่

Advertisement

หากพิจารณาจากฐานข้อมูลในพงศาวดารที่มีเขียนถึงค่ายบางระจันและตัวตนของพระอาจารย์ธรรมโชติอยู่บ้าง นักประวัติศาสตร์และคนเก่าแก่ในท้องถิ่นต่างมีตำนานเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไปหลายทฤษฎี

ไม่ว่าจะเป็นกลับมาอยู่ที่วัดนางบวช หรือแม้แต่คำบอกเล่าเรื่องไปอยู่ในถ้ำแถบนครราชสีมา

สำหรับกรณีวัดนางบวช มนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสุพรรณ เป็นหนึ่งในผู้ที่ค้นหาหลักฐานและข้อมูลสนับสนุนสันนิษฐานนี้ บทความ “พระอาจารย์ธรรมโชติหายไปไหน?” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2526 มนัส เล่าว่า ระหว่างร่วมงานในชุดคณะกรรมการอนุรักษ์และปรับปรุงโบราณสถานในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2519 คณะได้ลงสำรวจโบราณสถานบนภูเขาวัดเขานางบวช

พื้นที่ซึ่งคณะลงสำรวจคือวิหารที่เล่ากันว่า เป็นวิหารของพระอาจารย์ธรรมโชติใช้นั่งวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเอ่ยถามขึ้นตามข้อมูลในพงศาวดารว่า “หลังค่ายบางระจันแตก ไม่ทราบว่าพระอาจารย์ธรรมโชติหายไปไหน” ผู้ที่ตอบคำถามนี้คือ ลุงยันต์ อิงควระ ทายกวัดเขานางบวช ผู้นำคณะกรรมการสำรวจในวัย 75 ปี (ณ ขณะนั้น)

“พระอาจารย์ธรรมโชติ ท่านไม่ได้หายไปไหน ท่านกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขานางบวชตามเดิม” มนัส เล่าคำตอบของลุงยันต์ ซึ่งเป็นชาวบ้านอำเภอเดิมบางนางบวช

ลุงยันต์ อ้างว่า ปู่ย่าตาทวดเล่าให้ฟังต่อๆ กันมาว่า หลังค่ายบางระจันแตก พระอาจารย์ธรรมโชติหลบหนีมาอยู่ที่วัดเขานางบวช ทหารพม่าไล่ติดตามมาด้วย เมื่อถึงวัดก็หาตัวไม่พบ ทั้งที่พระอาจารย์ธรรมโชติอยู่ที่วัดเขานางบวช

“ท่านจะหายไปไหนได้อย่างไร ท่านก็หายตัวลงไปอยู่ภายใต้อุโมงค์ของวิหารนี้ที่ท่านเคยนั่งวิปัสสนากรรมฐาน…” ลุงยันต์ตอบพร้อมยืนยันว่าไม่ได้พูดเท็จ และกล่าวตามที่ปู่ย่าตาทวดเล่ามา

วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช อำเภอเดิมบางนวช จังหวัดสุรรณบุรี (ภาพจาก หนังสือประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณโดย มนัส โอภากุล สำนักพิมพ์มติชน)

เมื่อได้ยินเรื่องอุโมงค์เช่นนี้ มนัส ระบุว่า เขานึกถึงอุโมงค์ในพื้นที่ซึ่งเคยขึ้นมาเที่ยวเล่นทันที นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลจากชาวบ้านที่เล่ากันว่า มีอุโมงค์ใต้วิหาร ทางลงอุโมงค์อยู่ด้านหลังพระประธาน ผู้เขียนบทความเองก็เคยเดินเข้าไปดูพื้นที่ และเห็นปากทางอุโมงค์ด้วย

หลักฐานที่จะมายืนยันข้อมูลนี้ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอ้างอิงคำบอกเล่าของ อาจารย์พิณ โสขุมา ผู้อำนวยการโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ลูกบ้านนางบวช หนึ่งในคณะกรรมการชุดเดียวกับที่มนัสทำงานด้วยว่า เคยขึ้นมายิงแย้บนภูเขาลูกนี้สมัยวัยเด็ก และเคยลงไปเล่นในอุโมงค์นั้น จำได้ว่ามีพื้นที่พอให้คนอยู่ได้ 5-6 คน

หลักฐานที่ยกมาอ้างอิงอีกประเภทคือจากโบราณสถานในพื้นที่ โดยวัดเขานางบวชมีโบราณสถานหลายแห่งอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเมืองสุพรรณ เสด็จขึ้นเขาวัดนางบวช ทรงพระราชหัตถเลขาเปรียบเทียบลักษณะวัดเขานางบวชที่บางส่วนสอดคล้องกับลักษณะวัดสมัยพระนครศรีอยุธยา

“เขานางบวชนี้เป็นที่ราษฎรนับถือมาก มีกำหนดไหว้กันกลางเดือน 4 มาแต่หัวเมืองอื่นก็มาก ใช้เดินทางบกทั้งนั้น…”

มนัสยังมองว่า ข้อความจากพระราชหัตถเลขาข้างต้นสนับสนุนว่า พระอาจารย์ธรรมโชติมีแนวโน้มกลับมารุ่งเรืองในสมัยกรุงธนบุรีอีก เนื่องจากชื่อเสียงที่มีผู้เดินทางมาไหว้กัน สืบเนื่องจากเรื่องเล่าที่ว่ากันว่า เมื่อท่านกลับมาอยู่ที่วัดเขานางบวช ก็ได้รับความนับถือจากความสามารถในการรักษาคนป่วยด้วยแพทย์แผนโบราณ ซึ่งพอจะเป็นเหตุเป็นผลกันว่าทำให้วัดเขานางบวชมีชื่อเสียง ทั้งที่สภาพพื้นที่บนเขาโดยรวมไม่ได้มีสิ่งจูงใจอื่นแบบเฉพาะเจาะจง

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งมาในช่วงหลัง เมื่อมีผู้อัปโหลดไฟล์เสียงที่อ้างว่าเป็นเสียง หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม แห่งวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรีในเว็บไซต์ยูทูบ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 (คลิกชมคลิปที่นี่ เนื้อหาอยู่ช่วง 5:50)

เนื้อหาในคลิปส่วนหนึ่งพูดถึงประสบการณ์จากการธุดงค์ในป่า ซึ่งเรียกกันว่า “ดงพญาไฟ” จังหวัดนครราชสีมา ท่านพบบันทึกจารึกในถ้ำเกี่ยวกับคาถาของพระอาจารย์ธรรมโชติด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในคลิปที่กล่าวอ้างนี้ไม่มีหลักฐานอื่นที่สนับสนุน อีกทั้งแถบดงพญาไฟเป็นพื้นที่ซึ่งมักเป็นตำนานเรื่องเล่าลึกลับเหนือธรรมชาติต่างๆ เนื่องมาจากสภาพพื้นที่เป็นดงป่าอยู่แล้ว

แม้จะมีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับพระอาจารย์ธรรมโชติ และเรื่องราวทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาข้อมูลเรื่องบางระจันตั้งข้อสังเกตมานานว่า ฝั่งพม่าไม่มีหลักฐานกล่าวถึงเรื่องค่ายบางระจันเลย

ส่วนประวัติศาสตร์ฝั่งไทยมีปรากฏในพงศาวดาร “ไทยรบพม่า” โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุชื่อ พระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณ เป็นพระซึ่งได้รับนิมนต์มาปลุกขวัญชาวบ้านเพื่อปกป้องคุ้มครอง และต่อต้าน “พม่า” โดยการแจกตะกรุด ทำพิธีไสยศาสตร์ สร้างขวัญกำลังใจและสนับสนุนชาวบ้านบางระจันไปทำสงครามในช่วงที่ทัพพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา

ขณะที่พงศาวดารและบันทึกฉบับอื่นมีกล่าวถึง อาทิ พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับบริติช มิวเซียม หรือฉบับหมอบรัดเลย์ ซึ่ง ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กล่าวระหว่างร่วมงานเสวนา “ศึกบางระจัน พงศาวดาร-เรื่องจริง และที่อิงนิยาย” จัดโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในปี 2559 ว่ามีบันทึกอยู่ไม่กี่บรรทัด

แต่แน่นอนว่า ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ย่อมนำเสนอจากข้อมูล มุมมอง แนวคิด และภูมิหลังบางอย่างของตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดถือฐานอ้างอิงจากแหล่งไหน หรือเป็นแง่มุมคำถามให้นำไปศึกษา พิสูจน์ และวินิจฉัยกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2561