“ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน” เปลี่ยนขนบวรรณกรรม จากสดุดีกษัตริย์ มาสดุดีสามัญชน

อนุสาวรีย์ บางระจัน สิงห์บุรี
อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ภายในอุทยานวีรชนค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

เรื่องราวของ “บางระจัน” มีปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับ แต่ฉบับที่เป็นพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และหนังสือเรื่องไทยรบพม่า ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูจะเอกเอกสารสองชิ้นที่มีส่วนสำคัญต่อการนำ “บางระจัน” ไปดัดแปลงเป็นวรรณกรรม หรือสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยรับชมผ่านตากันมาแล้ว

วรรณกรรมเรื่องแรก ๆ ที่นำเรื่องราวของ “บางระจัน” มาแต่งเป็นวรรณกรรม คือผลงาน “ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน” ของมหาอำมาตย์ พระยาอุปกิตศิลปสาร แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 วรรณกรรมชิ้นนี้นับเป็นวรรณกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศสยามเปลี่ยนผ่านสู่การเมืองการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ ซึ่งนั่นได้ส่งผลต่อแนวคิดของการเขียนวรรณกรรมชิ้นนี้ด้วย

ในบทความเรื่อง “บางระจัน : ประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม” เขียนโดย บาหยัน อิ่มสำราญ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2558) ชี้ให้เห็นความสำคัญของ “ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน” ว่าเป็นวรรณกรรมสดุดีชนชั้นไพร่เป็นเรื่องแรก แต่เป็นการสดุดีที่อยู่ภายใต้กรอบของรัฐชาติแบบใหม่ที่มุ่งปลูกฝังอุดมการณ์ภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รายละเอียดที่ บาหยัน อิ่มสำราญ อธิบายมีดังต่อไปนี้


 

ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน ของมหาอำมาตย์ พระยาอุปกิตศิลปสาร วรรณกรรมเรื่องนี้แต่งเสร็จเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์รวมเล่มรวมกับบทประพันธ์เรื่องอื่นๆ ในหนังสือ “คำประพันธ์บางเรื่อง” เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพบิดา (นายหว่าง กาญจนาชีวะ) ภรรยา (คุณหญิงอุปกิตศิลปสาร) และน้องชาย (พระภิกษุสุ่น กาญจนาชีวะ) เมื่อ พ.ศ. 2472 ต่อมากระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ได้นำหนังสือเล่มนี้มาเป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยกเลิกไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร (สว่างวรรณ กาญจนาชีวะ 2524 : คำนำ) ผู้ประพันธ์กล่าวไว้ในตอนท้ายเรื่องนี้ว่า นำเค้าเรื่องวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันมาจากเรื่องไทยรบพม่า ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทลิลิต ประกอบด้วย ร่ายดั้น 12 บท โคลงดั้นวิวิธมาลี 36 บท และโคลง 3 ชั้น 15 บท มีองค์ประกอบทางวรรณกรรม 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนนำเรื่อง เนื้อเรื่อง และสรุป

ส่วนนำเรื่อง เรียกว่าประณามพจน์ คือคำไหว้ครู ในลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันนั้น คือ ร่ายบทแรก และโคลงดั้น 4 บท ร่ายบทแรก กล่าวชมรัฐสยามว่ามีความยิ่งใหญ่ สุขสบายเจริญรุ่งเรืองและสวยงามราวกับเมืองของเทวดา เปรียบเทียบเมืองหลวงว่าสูงส่งและยิ่งใหญ่ ประดุจเขาไกลาส ประชาชนมีความเจริญรุ่งเรือง มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มีทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า ทรัพย์ในดินสินในน้ำ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งพืชสวนพืชไร่ มีการติดต่อกับต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ทรงอุปถัมภ์ศาสนาอันนำมาซึ่งสันติ เป็นผลให้ประชาชนชีวิตมีความสุข

ส่วนโคลงดั้น 4 บทนั้น มีเนื้อหายอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นกษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม เปรียบประดุจฉัตรของพระพรหมซึ่งปกป้องบ้านเมือง มีพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ ผู้ประพันธ์ขอเทิดทูนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไว้ประดุจดั่งชีวิต ขอสดุดีพระเกียรติคุณเพื่อเป็นสิริมงคล และผลงานเขียนเรื่องนี้ขอถวายเป็นเครื่องสักการะแด่พระองค์

จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อเรื่อง ซึ่งแต่งด้วยร่ายดั้น โคลง 2 ดั้น โคลง 3 ดั้น และโคลง 4 ดั้น สลับกันไป ดำเนินเรื่องไปตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหนังสือไทยรบพม่า ตั้งแต่พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เข้าปล้นทรัพย์สินและฉุดคร่าบุตรสาวของชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอันมาก มีคนกล้ากลุ่มหนึ่งรวมกำลังกันต่อต้านฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก แล้วหนีไปพึ่งพระอาจารย์ธัมมโชต ที่วัดเขานางบวช สุพรรณบุรี ซ่องสุมกำลังคน แล้วจึงอพยพไปตั้งค่ายที่บางระจันต่อสู้ต้านทานพม่า พม่าเข้าตีค่ายบางระจัน 7 ครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง ผู้แต่งให้ความสำคัญต่อการศึกครั้งที่ 4 และครั้งที่ 7 ซึ่งฝ่ายบางระจันได้ชัยชนะอย่างงดงามในการต่อสู้ แต่ศึกกครั้งที่ 8 ซึ่งฝ่ายพม่าแต่งตั้งให้สุกี้เป็นแม่ทัพนั้น บางระจันไม่อาจต้านทานได้ เพราะสุกี้ใช้กลยุทธ์ให้ชาวบ้านบางระจันออกรบนอกค่าย ทำให้ชาวบ้านต้องล้มตายเป็นอันมาก ครั้นไปขอปืนใหญ่จากเมืองหลวงก็ไม่ได้ หล่อปืนใหญ่ใช้เองก็ร้าวใช้การไม่ได้ ในที่สุดค่ายบางระจันก็ถูกตีแตก

ส่วนสรุป แต่งด้วยโคลง 2 ดั้น โคลง 4 คน และร่ายดั้น เนื้อหาเป็นการสรรเสริญเกียรติคุณของชาวบ้านบางระจัน โดยเริ่มต้นสดุดีชาวบ้านบางระจันในฐานะที่เป็นกลุ่มชาวบ้านจำนวนน้อยนิดร่วมกันต่อสู้กับพม่า การตายของชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นการตายที่สมศักดิ์ศรีของการที่ได้เกิดมา และถึงแม้จะเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาแต่มีจิตใจกล้าหาญ ต่อสู้พม่าจนได้ชัยชนะถึง 7 ครั้ง การกระทำเช่นนี้ไม่ว่าไปที่ใดก็มีคนนับถือ และแม้ว่าชาวบ้านบางระจันจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ความดีงามทั้งหลาย จะเลื่องลือไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่รุ่นลูกหลานได้รับฟังเรื่องราวของท่านก็ยังปลาบปลื้ม อิ่มอกอิ่มใจ

จากนั้นก็พรรณนาถึงเกียรติคุณของวีรชนบ้านบางระจันทีละคน เริ่มตั้งแต่พระอาจารย์ธัมมโชต นายแท่น นายทองเหม็น พันเรือง ขุนสรรค์ นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ แสดงความคารวะชาวบ้านบางระจันอีกครั้ง ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมชาติ และว่าผู้เขียนยังรู้สึกปลาบปลื้มจนน้ำตาไหลถึงเพียงนี้ หากผู้ที่เป็นลูกหลานวีรชนเหล่านี้ จะยิ่งปลาบปลื้มในวีรกรรมเพียงใด ลงท้ายเรื่องด้วยการแสดงความอิ่มใจที่ได้แต่งเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันจนเสร็จสิ้น และอวยพรให้ชาติสยามจงเจริญรุ่งเรือง และขอให้ผลงานเรื่องนี้จงอยู่คู่ชาติสยามตลอดไป

บทประณามพจน์ตอนต้นเรื่องนั้น มีข้อน่าสังเกตก็คือ กวีมิได้แต่งโดยใช้จารีตของบทประณามพจน์แบบวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งมักเริ่มต้นเรื่องด้วยสูตรสำเร็จที่คล้ายคลึงกันคือ กวีจะกล่าวการชมปราสาทราชวัง ชมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และชมบุญญาบารมีของพระมหากษัตริย์ เช่น บทประณามพจน์ในยวนพ่ายโคลงดั้น กำสรวลโคลงดั้น นิราศนรินทร์ ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น แต่ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน จะเริ่มต้นเรื่องด้วยการระบุถึงสยามในฐานะรัฐที่มีความเจริญรุ่งเรือง “ศรีศรีสยามรัฐ ทัดทัดถิ่นสุรฐาน สราญราวสุรราษฎร์ โอภาสเพียงสุรภพ ลาภหลั่งลบสุรโลก…” (น. 26) ผู้แต่งแสดงความภูมิใจในชาติของตนอย่างมาก ที่มีความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหลวงหรือหัวเมือง มีทรัพยากรธรรมชาติและพืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดม ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของรัฐ “เป็นปิ่นสยามสากล ก่องหล้า” (น. 26) ผู้แต่งแสดงจุดยืนทางความคิดที่แน่วแน่ชัดเจนว่า จะรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ประดุจชีวิต “รักชาติ ศาสน์เจ้าหล้า เล่ห์ชนม์” (น. 27)

การนำเสนอบทประณามพจน์ในลักษณะนี้ ในแง่วรรณกรรมนั้นถือว่าเป็นความพยายามเกริ่นน่าเรื่องเพื่อให้สอดรับกับเนื้อหา ซึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านที่ร่วมกันปกป้องบ้านเมืองให้พ้นจากเงื้อมมือของผู้รุกราน แต่ในแง่ประวัติศาสตร์ บทประณามพจน์ดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐจารีตแบบดั้งเดิมดังที่ปรากฏในบทประณามพจน์แบบเก่านั้น เป็นอดีตไปเสียแล้ว รัฐแบบใหม่นั้นประกอบไปด้วยเขตแดนที่ชัดเจน มีประชาชน พืชพันธุ์ธัญญาหาร สัตว์บกสัตว์น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ มีศาสนา มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นรัฐที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ความรู้สึกรักและภูมิใจ รัฐแบบใหม่ ที่มีชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นเป้าหมายนี้ ผู้แต่งได้ใช้เป็นบรรทัดฐานทางความคิด และนำมาใช้เป็นเหตุผลของการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

แม้ว่าความสนใจของกวีที่จะนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยมาแต่งเป็นวรรณกรรมจะไม่ใช่ของใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ได้นำสงครามคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพม่า มานิพนธ์เป็นวรรณกรรมเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย สุนทรภู่แต่งเสภาพระราชพงศาวดาร ซึ่งรวมไปถึงโคลงประกอบภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น โคลงภาพพระราชพงศาวดาร วรรณกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางโลกทรรศน์และภูมิปัญญาของกวีไทยในช่วงหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ที่ให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของตนเอง จนเกิดแรงบันดาลใจไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามที่จะสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเพื่อจำลองอดีต ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารมาเป็นวรรณกรรม

ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน ก็เป็นวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในกระแสดังกล่าว แต่มีความแตกต่างกันในแง่ที่ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้มิได้เป็นการจำลองอดีตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่พระมหากษัตริย์และความยิ่งใหญ่ของราชสำนัก แต่เป็นเรื่องของชาวบ้านธรรมดา ซึ่งปรากฏเป็นเรื่องสั้น ๆ แทรกอยู่ในพระราชพงศาวดาร แต่กวีชั้นนำของยุคสมัยให้ความสำคัญถึงขั้นนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมเช่นนี้ ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับเป็นครั้งแรกที่เรื่องของไพร่ฟ้าประชาชนได้รับการกล่าวขวัญถึง นอกจากนั้น ยังพบว่ามีความพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนให้เข้ากับบริบทของรัฐแบบใหม่ ทั้งที่การอธิบายเช่นนั้นไม่ปรากฏในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารลักษณะใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบางระจัน แม้แต่ในหนังสือเรื่องไทยรบพม่า ซึ่งผู้แต่งกล่าวว่าได้ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นต้นเค้าในการแต่ง นั่นก็คือความพยายามที่จะอธิบายการต่อสู้ของชาวบ้าน ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผู้แต่งแทรกความคิดลักษณะนี้เข้าไปในเรื่องหลายตอน ในขณะที่หนังสือเรื่องไทยรบพม่า กล่าวเพียงแต่ว่าเหตุที่ชาวบ้านลุกขึ้นสู้เพราะ “พวกราษฎรพากันโกรธ จึงคิดจะแก้แค้นพม่า” (น. 367) แต่ในลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันกล่าวว่า

“จักจองพจนประพันธ์ สรรอุทาหรณ์หาญ ขานคุณ ชาวบ้านบางระจัน ผู้เพ็ญจันท์ภักดิ์ชาติ ศาสน์กษัตริย์ สุจริต กอบกิจช่วยชาติตน” (น. 27)

“ยังมีชายชาวสยาม นามนายแท่นกับสหาย นายโชติ นายเมืองนายอิน อยู่แดนดินสิงห์บุรี ณ บ้านศรีบัวทอง อีกสองชายชาวเขต เมืองวิเศษชัยชาญ นามขนานนายดอก บอกตำบลบ้านกรับกับนายทองแก้ว, อยู่หมู่บ้านโพธิ์ทะเลหกนายเหหากัน พลันปรึกษาปรองดอง ปองแก้แค้นแทนชาติ” (น. 28)

“ความเป็นไทยเคยถนอม   ใครจักยอมยื่นให้

ส่ำศัตรูล้างได้   ดุจปอง” (น. 29)

การแปรความหมายการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจัน จากการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวให้พ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง มาเป็นการต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์นั้น ถือว่าเป็นการตีความในกรอบแนวคิดชาตินิยม ซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากผู้แต่งต้องการนำเรื่องราวการต่อสู้ อันน่าสะเทือนใจของชาวบ้านบางระจันมาอธิบายใหม่ภายใต้กรอบของรัฐชาติแบบใหม่ จากการตายเพราะการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและการล้างแค้น กลับกลายมาเป็นการตายเพื่ออุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพราะเมื่อระบบมูลนายสลายลงไป ไพร่ฟ้าประชาชนกลายเป็นพสกนิกรของรัฐ การสร้างวรรณกรรมเพื่อสดุดีวีรกรรมของกษัตริย์ให้ประชาชนรับรู้และประทับใจเพียงช่องทางเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงให้กับรัฐ แต่จำเป็นต้องปลุกเร้าให้ประชาชนเห็นแบบอย่างของประชาชนที่ผู้ปกครองอยากให้เป็น อันเป็นการแสวงหาวิธีการที่จะช่วยสถาปนาความมั่นคงให้รัฐแบบใหม่อีกช่องทางหนึ่ง

ก่อนหน้าที่ มหาอำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร จะประพันธ์ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันนั้น ก็ได้มีกวีตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต รจนาผลงานวรรณกรรมเพื่อจุดมุ่งหมายคือ การยกย่องสดุดีมาแล้ว ทั้งในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมเหล่านั้นแต่งขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไว้อย่างยิ่งใหญ่ว่า เป็นเทวราชาบ้าง ธรรมราชาบ้าง นอกจากนั้นทรงไว้ซึ่งบุญญาภินิหาร และทรงพระปรีชาสามารถอย่างหาที่สุดมิได้ แต่ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันนั้น เป็นวรรณกรรมที่เปลี่ยนมุมมองจากการสดุดีพระมหากษัตริย์ มาเป็นการสดุดีสามัญชนเป็นครั้งแรกของประวัติวรรณกรรมไทย นอกจากนั้นยังนำเสนอเรื่องราวโดยใช้จารีตการเขียนวรรณกรรมสดุดีกษัตริย์ กล่าวคือ มีบทประณามพจน์ เนื้อเรื่อง และสรุป หรือนิคมคาถา รวมทั้งการใช้คำประพันธ์ประเภทลิลิต ซึ่งในอดีตเคยใช้ในการเขียนเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลิลิตพระลอ ยวนพ่ายโคลงดั้น ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น จึงนับเป็นความกล้าหาญของผู้แต่ง ที่เปลี่ยนแปลงจารีตของวรรณกรรมสดุดีที่เคยใช้กับชนชั้นสูงมาเป็นเรื่องของชาวบ้าน

กล่าวได้ว่า ความสำคัญของลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจันก็คือ เป็นวรรณกรรมสดุดีชนชั้นไพร่เป็นเรื่องแรก และชนชั้นไพร่ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงเด่นก็คือ ชาวบ้านบางระจัน แต่การสดุดีดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของรัฐชาติแบบใหม่ที่มุ่งปลูกฝังอุดมการณ์ภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันต้องกลายเป็นการต่อสู้ของสามัญชนเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไปด้วย ทั้งที่ชาวบ้านบางระจันตัวจริงไม่เคยรู้จักอุดมการณ์เหล่านี้เลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565