ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ |
เผยแพร่ |
เรียน บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม และผู้อ่านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดชัยภูมิ อนุสนธิจากจดหมาย “ชาวบ้าน บางระจัน สู้เพื่อใคร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2558) ของผู้อ่านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดชัยภูมิ
ในชั้นต้นขอทำความเข้าใจในด้านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก่อนนะครับ
ทัพอังวะที่ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2309-10 นั้นยกเข้ามา 2 ทาง ทัพใหญ่ที่ยกเข้ามาถึงวงราชธานีก่อนคือทัพทวาย ทั้งนี้ยกผ่านเข้ามาทางมะริดและตะนาวศรี จากการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานแล้วเป็นไปได้อย่างยิ่งว่านอกจากทัพจะมุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังได้แบ่งกำลังลงไปตีหัวเมืองซีกตะวันออกของคาบสมุทรไทย มีเมืองไชยา ชุมพร และสะลิน (Salin มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า ฉบับที่นายต่อแปล เรียกว่า เมืองเลียง)
ทัพพม่าที่ยกมาทางทวายหรือเรียกว่าทัพทวายนี้ หากยึดหลักฐานพม่า เช่น พงศาวดารฉบับหอแก้ว (Hmannan Mahayazawindawgyi) เป็นเกณฑ์ จะเป็นทัพที่ตีกวาดหัวเมืองทางใต้ อาทิ เพชรบุรี ราชบุรี และกลุ่มหัวเมืองซีกตะวันตก มีทองผาภูมิและกาญจนบุรี ก่อนจะเข้ามาตั้งค่ายที่ตอนใต้ของอยุธยาคือสีกุก
แต่หากสอบเทียบเคียงกับหลักฐานข้างฝ่ายไทย เช่น พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และคำให้การขุนหลวงหาวัด จะเห็นว่าทัพทวายซึ่งมีมหานรธาเป็นแม่ทัพ จะเคลื่อนทัพใหญ่ขึ้นมาทางน้ำเมื่อจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ยุทธภูมิสำคัญเกิดที่เมืองธนบุรี นนทบุรี ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ ก่อนจะรุกเข้ามาตั้งค่ายใหญ่ที่ตำบลบางไทรและสีกุก
จะเห็นได้ว่าทัพพม่าทางเส้นทวายสามารถเข้ามาตั้งค่ายใหญ่ห่างลงมาทางใต้ไม่ไกลตัวพระนครนัก โดยไม่ต้องเดินทัพผ่านพื้นที่ในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสุพรรณบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และบ้านระจัน กลุ่มกองกำลังที่บ้านระจันจึงไม่ได้มีบทบาท “ต้านทัพอังวะ (ที่ยกเข้ามาทางใต้) จนทำให้การมุ่งหน้าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาต้องชะลอลงไป”
กระนั้นในสงครามปี พ.ศ. 2309-10 ยังมีทัพอังวะยกเข้ามาทางเส้นเชียงใหม่ เรียกว่าทัพเชียงใหม่ ภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดี ในชั้นต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทัพนี้ไม่ได้เป็นกองโจร แต่เป็นทัพใหญ่ มีกำลังไพร่พลเป็นจำนวนมาก ก่อนที่ทัพนี้จะปรับกระบวนทัพเข้าตีหัวเมืองตอนเหนือของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง อันได้แก่ เมืองลาลิน (Lalin/อาจเป็นลับแล? – หม่องต่อ) พิชัย ธานี พิจิตร นครสวรรค์ และอ่างทอง ทัพพม่า (หากยึดพงศาวดารฉบับหอแก้วเป็นเกณฑ์) จะประชุมพลอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
ทัพทั้งนั้นประกอบด้วยทัพของตุยิน ยามะจอ (Tuyin Yamagyaw) พล 10,000 ทัพของสิริราชาเตงจาน (Thiriyazathing yan) ช้าง 100 ม้า 300 ไพร่ราบ 8,000 ทัพของตะโดเมงดิน (Thado Mindin) ช้าง 200 ม้า 700 และไพร่ราบ 12,000 และทัพหลวงของเนเมียวสีหบดี เรือ 300 ช้าง 400 ม้า 1,200 และไพร่ราบ 43,000 ประมาณพลทั้งหมดแล้วคงยากที่ชาวบ้านระจันหรือบางระจันจะสามารถ “ชะลอทัพพม่าอยู่ได้ระยะหนึ่ง”
ที่สำคัญคือ ในการทำศึกด้วยกำลังพลจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้าง พม่าจะไม่เดินทัพเส้นเดียว แต่จะแยกกันตีเป็นหลายเส้น เป้าหมายสำคัญจะไม่มุ่งเข้าตีชุมนุมใหญ่เล็กที่กระจายกันอยู่ แต่จะเข้าตีเมืองหรือนคร เพื่อยึดเป็นฐานทัพ ริบทรัพย์ จับเชลย และรวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหาร หลักฐานพม่าจึงระบุการเข้าตีหัวเมืองสำคัญบนเส้นทางเดินทัพ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเดินทัพของทัพเชียงใหม่หรือทัพทวาย
ในการเข้าตีกลุ่มเมืองทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา อาทิ พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พม่า แบ่งกำลังออกเป็น 2 ทัพใหญ่ ภายใต้การนำของสิรินานดาเตงจาน (Thiri Nanda Thingyan) และจอกองจอตู (Kyawgaung Kyawthu) ซึ่งยกลงมาจากเมืองประชุมพลที่พิษณุโลก เข้าใจว่าบางส่วนของกองกำลังส่วนนี้น่าจะปะทะกับกำลังของชาวบางระจัน และหากเป็นเช่นนั้นศึกบางระจันก็เป็นการรบในพื้นที่สมรภูมิหนึ่งในหลายสมรภูมิศึก ซึ่งไม่ใช่เป็นการปะทะกับกองทัพใหญ่ของพม่า ซึ่งมีไพร่ราบรวมแล้วไม่น้อยกว่า 70,000 ทั้งนี้ยังไม่นับทัพช้าง ทัพม้า และกองเรืออีกเป็นจำนวนมาก
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อจะนำเสนอข้อมูลหลักฐานตามมีปรากฏเพื่อนำมาแสดงว่ากำลังรบของชาวบางระจันนั้นยากจะชะลอการเคลื่อนทัพใหญ่ของอังวะที่มุ่งเข้าตีอยุธยา เพราะทัพอังวะแยกยกกันเข้ามาเป็นหลายทาง และสรรพกำลังที่ยกมาก็มีเป็นจำนวนมาก อาวุธและพาหนะที่มีก็ได้เปรียบกว่าทั้งในด้านอานุภาพการรบและปริมาณ
กระนั้นก็ดี ข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธก็คือชุมนุมบ้านบางระจันนั้นน่าจะเป็นชุมนุมสำคัญ เพราะมีกล่าวถึงในหลักฐานสำคัญข้างฝ่ายไทยเกือบทั้งหมด ทั้งพระราชพงศาวดาร คำให้การ ทั้งนี้รวมถึงคำให้การกรมหลวงนรินทรเทวี และปูมโหร จากหลักฐานเท่าที่มีปรากฏอาจพออนุมานได้ว่าบ้านบางระจันเป็นค่ายใหญ่ แต่ไม่น่าจะมีสถานะถึงระดับเมืองบนเส้นทางเดินทัพสำคัญ
ค่ายนี้ในระยะต้นเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสุพรรณบุรี เมืองสิงห์บุรี และเมืองสรรคบุรี เขตพื้นที่นี้เป็นแหล่งกำลังคน หากเกิดศึก ปกติผู้คนในแขวงนี้จะถูกเกณฑ์หรือไม่ก็อพยพมาเป็นกำลังรับศึกร่วมอยู่ในกรุง และพื้นที่เดียวกันนี้ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงชาวพระนคร เพราะเป็นแหล่งผลิตข้าวเปลือกสำคัญ และด้วยความสำคัญดังกล่าว ทัพอังวะจึงมุ่งกวาดต้อนผู้คนและเสบียงอาหารจากพื้นที่ส่วนนี้เพื่อนำไปบำรุงทัพ หลักฐานในพงศาวดารจึงระบุว่า “ฝ่ายพม่าไปเกลี้ยกล่อม”
การรวมตัวของชาวบางระจันในชั้นต้นน่าจะเป็นการซ่องสุมกำลังของชาวบ้าน จัดเป็นกองกำลังหรือชุมนุม ซึ่งหากบ้านเมืองเป็นปกติไม่เกิดศึกสงครามก็ยากจะกระทำได้ เพราะเป็นการผิดพระอัยการ และคงต้องถูกกรุงปราบปราม การรวมตัวของชาวบางระจันไม่อาจนับเป็น “กรณีเฉพาะ” ชุมนุมเช่นนี้เกิดได้ทั่วไปดังที่ ดร. นิธิได้เคยนำเสนอไว้ ทั้งนี้ยังสามารถเทียบเคียงได้กับชุมนุมต่างๆ ที่มีปรากฏบนเส้นทางเดินทัพของพระยาตาก ตามมีปรากฏในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 25 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี เป็นไปได้ว่าการรวมตัวกันของชาวบางระจันนั้นเป็นการรวมตัวกันเพื่อมุ่งป้องกันชุมชนของตนเองเป็นปฐม คือป้องกันการปล้นสะดมจากกองทัพอังวะ และเป็นไปได้ด้วยว่าเป็นการป้องกันตัวจากการถูกปล้นสะดมจากคนไทยด้วยกันเองภายใต้ภาวะข้าวยากหมากแพง
กระนั้นเมื่อตรวจสอบกับหลักฐานในพระราชพงศาวดารและคำให้การโดยละเอียด ก็จะเห็นว่าถึงแม้ในระยะแรกค่ายบางระจันจะเกิดจากการรวมตัวของเหล่า “ผู้นำ” ชาวบ้าน แต่เมื่อวันเวลาผ่านเลย รัฐอยุธยาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการ “สอดส่อง” และจัดตั้ง จะเห็นได้ว่าถึงแม้ผู้นำอยุธยาจะปฏิเสธไม่ให้ชาวบ้านบางระจันยืมปืนใหญ่ ซึ่งเป็นอาวุธหลักในการสงครามยุคนั้น [เพราะสงครามจะทำในลักษณะสงคราม “ป้อมค่ายประชิด” คือต่างฝ่ายต่างปลูกหอรบและนำปืนใหญ่ขึ้นระดมยิงใส่กัน ซึ่งรูปแบบการรบในลักษณะนี้เป็นการรบแบบ “ชิงค่าย ชิงเมือง” หรือ sieged warfare ซึ่งบ้านบางระจันจะเสียเปรียบด้านกำลังรบอย่างยิ่ง เพราะทัพอังวะสมบูรณ์ด้วยปืนใหญ่จำนวนมากซึ่งยึดได้จากเมืองที่เข้ายึดครองบนเส้นทางเดินทัพ (ดู Hmanman Mahayazawin)]
แต่อยุธยาก็ส่งพระยารัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ “ออกไปเรี่ยไรทอง หล่อปืนใหญ่ขึ้น ณ บ้านระจัน 2 กระบอก” ซึ่งแสดงว่าอยุธยาก็ไม่ได้ขัดขวางการประกอบอาวุธของบ้านบางระจัน
เมื่อตรวจสอบกับคำให้การชาวกรุงเก่าก็เป็นไปได้ว่า ค่ายบ้านระจันนี้อยู่ในเครือข่ายการวางแนวป้องกันของกรุงศรีอยุธยา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อำนาจรัฐอยุธยาได้เข้ามามีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับค่ายบ้านระจันหรือบางระจัน ทำให้ค่ายนี้ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงชุมนุมที่ชาวบ้านรวมตัวกันป้องกันตนเองอีกต่อไป แต่แปรสภาพเป็นที่มั่นที่ถูกทางการร่วมจัดตั้งให้เป็นแนวป้องกันพระนคร และเป็นไปได้ว่าการปรับเปลี่ยนสถานะตามกล่างส่งผลให้ค่ายนี้ในภายหลังตกเป็นเป้าโจมตีของทัพอังวะ ซึ่งเมื่อยึดค่ายได้ก็ไม่ได้เผาค่ายทิ้ง แต่แปรสภาพให้เป็นฐานทัพของอังวะในการตีกรุงศรีอยุธยาอีกฐานทัพหนึ่ง
หลักฐานในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) ตอนหนึ่งจึงระบุว่าหนึ่งในค่ายสำคัญที่ทัพอังวะตั้งล้อมกรุงอยู่ 18 ค่ายนั้นมี “ค่ายบ้านระจัน” รวมอยู่ด้วย
ขอแสดงความนับถือ ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์
อ่านเพิ่มเติม :
- บางระจัน กับประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม สู่บทบาท “นายทองเหม็น” และอีกหลายนาม
- “ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน” เปลี่ยนขนบวรรณกรรม จากสดุดีกษัตริย์ มาสดุดีสามัญชน
- “พระอาจารย์ธรรมโชติ” หายไปไหนหลังบางระจันแตก กางตำนานบอกเล่าหลายมุม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563