“หมา” เริ่มเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์เมื่อไหร่? ทำไมถึงเลี้ยง?

หมา สุนัข สัตว์เลี้ยง
หมา หรือ สุนัข สัตว์เลี้ยง ยอดนิยม (Photo by AFP)

หมา หรือ สุนัข สัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับมนุษย์มากที่สุด เจ้าของหลายท่านก็เรียกอย่างรักใคร่เอ็นดูว่า น้องหมา, น้อง…(ชื่อหมา), เค้า ฯลฯ ขณะที่ใช้คำว่า “มัน” ซึ่งคำสรรพนามที่ใช้กับสัตว์ตามหลักภาษาไทย กลับใช้น้อยถึงน้อยมาก ที่ร้ายกว่านั้นคือ เรากลับใช้ “มัน” เรียกเพื่อนฝูงที่สนิท หรือไม่ก็คนที่ชังน้ำหน้าไปเลยแทน

“หมา” เป็นสัตว์เลี้ยงตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วในไทยเริ่มเมื่อไหร่ 

ภาพ : pixabay

พนา กันธา ค้นคว้าและเขียนไว้ในบทความของชื่อ‘หมา’ : ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์” (วารสารประวัติศาสตร์ 2560, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ที่เมื่ออ่านแล้วทำให้เรารู้จักหมา ในมุมที่เปลี่ยนไป

Advertisement

ผู้เขียน (พนา กันธา) เริ่มเล่าตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ว่า มีลักษณะคู่ขนาน เพราะต่างก็เป็นสิ่งแปลกหน้าต่อกัน แต่ก็มีการพึ่งพิงกัน เช่น มนุษย์กินสัตว์เป็นอาหาร ขณะที่สัตว์ร้ายบางชนิดก็กินเนื้อมนุษย์ได้เช่นกัน นั่นคือสภาพความเป็นอยู่ก่อนที่มนุษย์จะก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่

แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 สภาพแวดล้อมถูกเปลี่ยนเป็นเมืองมากขึ้น เมืองที่เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ขณะที่สัตว์ถูกแยกออกไปอยู่ในป่า แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ขยายตัวขึ้นมาตั้งแต่งานเขียนเรื่อง The Origin of Species ของ Charles Darwin ทำให้ชาวตะวันตกพยายามนำสัตว์กลับเข้ามาในเมืองเกิดเป็นวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมข้างต้นยังทำให้มนุษย์โหยหาธรรมชาติ, โหยหาอดีต แล้วแสดงออกโดยการจำลองสภาวะธรรมชาติ เช่น การจัดสวน, การสร้างสวนสัตว์ รวมถึงการเลี้ยงหมา

แต่ความโหยหานั้น ก็ถูกจำกัดด้วยการขยายตัวของสังคมเมือง ครอบครัวส่วนใหญ่มีที่อยู่อาศัยขนาดเล็กลง และถูกตัดขาดจากธรรมชาติ เมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา ก็ต้องเกิดการแบ่งปันพื้นที่ซึ่งมีอยู่น้อยให้น้อยลงไปอีก ทางออกก็คือ ต้องขังสัตว์ไว้ในบ้าน หรือในกรง, ต้องฝึกให้มันเชื่อฟัง, ต้องทำหมันเพื่อคุมจำนวนการแพร่พันธุ์, ต้องกินอาหารสำเร็จรูป ฯลฯ ทั้งหมดนั้นทำให้มันเป็นสัตว์เลี้ยงที่ต้องพึ่งพิงเจ้าของโดยสมบูรณ์

การเลี้ยงหมาในฐานะของสัตว์เลี้ยงเริ่มต้นโดยชนชั้นสูงอังกฤษในศตวรรษที่ 19

หมาในเวลานั้นเป็นสิ่งแสดงถึงสถานะของผู้เลี้ยง ในทศวรรษ 1890 มีการจัดประกวดหมาครั้งใหญ่จัดขึ้นที่ Crystal Palace กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ที่เลี้ยงอีกด้วย โดยหมาพันธุ์แท้ย่อมบ่งบอกถึงสถานะได้ดีกว่าหมาพันธุ์ผสม การเลี้ยงหมาพันธุ์แท้ก็สะท้อนถึงสถานะของผู้เลี้ยงหรือเจ้าของด้วย

ต้นศตวรรษที่ 20 การเลี้ยงหมาพันธุ์แท้ของชนชั้นสูงในอังกฤษก็ขยายไปสู่ชนชั้นอื่น เช่น นายทุน, คนชนชั้นกลาง การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในสังคม ผ่านสมาคมพัฒนาสายพันธุ์ระดับชาติ ในการกำหนดสายพันธุ์ และมีการร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับโลก ทำให้ความรู้ในการเลี้ยงหมาพันธุ์เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังทำให้จำนวนผู้เลี้ยงหมาในยุโรปและอเมริกามีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

แต่จะสรุปว่าหมาพันธุ์ใดเป็นที่นิยมที่สุดคงตอบไม่ได้ชัดเจนนัก

ภาพ : pixabay

ความนิยมมักขึ้นกับความคิดของผู้คนในสังคมที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ และเวลาที่แตกต่างกันไป เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 2 คนอเมริกันนิยมหมาพันธุ์ German Shepherd เพราะภาพลักษณ์ของมันที่สื่อออกไปคือวีรบุรุษในสงคราม, ปลายศตวรรษที่ 20 คนอังกฤษที่เลี้ยง Pitbull มักถูกมองว่าเป็นพวกต่อต้านสังคม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หมาในฐานะสัตว์เลี้ยงถูกเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทำให้เกิดธุรกิจและสินค้าเกี่ยวกับหมา เช่น ชามอาหาร, สายจูง, วัคซีน, สถานพยาบาลสำหรับสัตว์ ฯลฯ และแพร่หลายมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2500 สื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์, นวนิยาย, นิตยสาร, โฆษณา ฯลฯ โดยมีการสมาคมสัตว์เลี้ยงขึ้นใน พ.ศ. 2490 จากนั้นก็มีการตีพิมพ์นิตยสารเกี่ยวกับสัตว์ชื่อ “สัตว์เลี้ยง” ใน พ.ศ. 2498 ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหมา และมีการประกวดหมาที่สวนสัตว์ดุสิต ใน พ.ศ. 2502 มีหมาเข้าร่วมการประกวด 132 ตัว

นี่คือการเดินทางบางส่วนของ “หมา” ในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2563