เผยแพร่ |
---|
“ศาสตราจารย์ปิแอร์ ปิชาร์ด์” ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและโบราณคดี มีผลงานสำคัญเป็นคุณูปการต่อประเทศไทย ได้แก่ การบูรณะปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ประวัติและผลงาน “ปิแอร์ ปิชาร์ด์”
นายปิแอร์ ปิชาร์ด์ (Pierre Pichard) เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ที่เมืองอนิซี-เลอ-ชาโต (Anizy-le-Château) ประเทศฝรั่งเศส ได้รับประกาศนียบัตรทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ (architecte D.P.L.G.) เมื่อปี พ.ศ. 2509 ณ กรุงปารีส
และในปีเดียวกันนี้ นายปิแอร์ได้เข้าร่วมทีมงานสำรวจและบูรณะปราสาทหินพิมาย ประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการสำรวจศึกษามาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ภายใต้การนำของนายแบร์นาร์ด์ ฟิลิปป์ โกรส์ลิเย่ร์ (Bernard-Philippe Groslier) และได้ริเริ่มจัดทำเป็นโครงการบูรณะอย่างเป็นทางการโดยกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2507 (สมัยนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดี)
โดยในปี พ.ศ. 2509 นายปิแอร์ได้รับการส่งตัวเข้ามาเป็นสถาปนิกผู้ควบคุมงานบูรณะของโครงการ ในครั้งดังกล่าว วิธีการบูรณะแบบอนัสตีโลซิส (anastylosis) หรือการนำเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวปราสาทที่ได้ตกทลายลงมากลับขึ้นไว้ตามตำแหน่งดั้งเดิมให้ได้มากที่สุดและใช้ส่วนเสริมความแข็งแรงใหม่ให้น้อยที่สุดก็ได้ถูกนำเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในงานบูรณะของไทยด้วย
อนึ่ง ความสำเร็จของโครงการบูรณะครั้งดังกล่าวได้ทำให้เกิดการริเริ่มจัดทำโครงการบูรณะปราสาทหินอีกหลายแห่งในประเทศไทยขึ้น โดยนายปิแอร์ ได้รับการเชื้อเชิญจากทางไทยให้เข้ามาดูแลงานบูรณะอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2515 (สมัยนายเชื้อ สาริมาน เป็นอธิบดี) ในโครงการบูรณะโบราณสถานปราสาทหินพนมรุ้ง (2515–2521)
และภายหลังในโครงการสำรวจทางโบราณคดี บูรณะ และจัดทำภูมิสถาปัตยกรรมปราสาทพนมวัน (2532–2540) ซึ่งเป็นช่วงที่นายปิแอร์ได้ทำการถ่ายทอดเทคนิกวิธีและประสบการณ์การบูรณะต่าง ๆ ให้กับนักบูรณะของกรมศิลปากรและของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École Française D’extrême-Orient / EFEO) เองด้วย โดยมีนายคริสตอฟ โปติเย่ร์ (Christophe Pottier) ลูกศิษย์ที่ยังคงปฏิบัติงานร่วมกับกรมศิลปากรอยู่ในปัจจุบัน
นายปิแอร์ ปิชาร์ด์ เคยมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งเมืองน็องต์ส์ (École d’architecture de Nantes) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2512–2515 และในปี พ.ศ. 2522 ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนักวิชาการของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ศูนย์วิจัยเมืองปุฑุเจรี (Pondicherry) อันเป็นจุดเริ่มต้นของงานศึกษาแหล่งโบราณสถานสำคัญต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย
ที่สำคัญคืองานสำรวจและวิเคราะห์สถาปัตยกรรมของศาสนสถาน Gangaikondacholapuram ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523–2528, งานสำรวจและศึกษาศาสนสถานและเมือง Tiruvannamalai ปี พ.ศ. 2528–2531 และงานสำรวจและวิเคราะห์สถาปัตยกรรมของวัด Brihadisvara แห่งเมือง Tanjavur ปี พ.ศ. 2532–2535
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 นายปิแอร์ ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักฝรั่งเศสฯ ศูนย์กรุงเทพฯ ภายใต้ความสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยมีผลงานศึกษาและงานตีพิมพ์สำคัญในโครงการวิจัยศึกษาสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาแบบเปรียบเทียบร่วมกันคือ The Buddhist Monastery: A cross-cultural survey (2546) และ Buddhist Legacies in Mainland Southeast Asia: Mentalities, Interpretations and Practices (2549) โดยนายปิแอร์เป็นบรรณาธิการ
ในปี พ.ศ. 2535 นายปิแอร์ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ (maître de recherche) แห่งสำนักฝรั่งเศสฯ และในปี พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยศิลปากรได้มอบประกาศนียบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ปีการศึกษา 2541) ให้กับนายปิแอร์ ปิชาร์ด์ โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตร
โครงการสำรวจ ศึกษา และงานบูรณะอื่นที่สำคัญและยังเป็นที่อ้างอิงจนถึงปัจจุบันของนายปิแอร์ ปิชาร์ด์ มีอาทิ
– การเป็นที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติในงานสำรวจศึกษาและประเมินความเสียหายกลุ่มโบราณสถานเมืองพุกามภายหลังแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานตีพิมพ์และโครงการบูรณะกลุ่มโบราณสถานสำคัญดังกล่าว
– การเป็นที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติในการบูรณะกลุ่มโบราณสถานเมืองสุโขทัย กำแพงเพชร และศรีสัชนาลัย (2524)
– การเป็นหนึ่งในทีมงานสำนักฝรั่งเศสฯ เพื่อภารกิจการบูรณะกลุ่มโบราณสถานแห่งเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา (ตั้งแต่ปี 2534)
และ – การเป็นที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติในการบูรณะกลุ่มโบราณสถานในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีอาทิ ปราสาทวัดภู (ตั้งแต่ปี 2540) เป็นต้น
การเป็นที่ปรึกษาสำคัญขององค์การสหประชาชาติและของสำนักฝรั่งเศสนั้นเป็นภารกิจสำคัญ แม้ภายหลังจากที่ได้เกษียณอายุแล้ว นายปิแอร์ยังได้เดินทางมาทำงานทุกวันที่สำนักฝรั่งเศสฯ ศูนย์กรุงเทพฯ (ที่ทำการอยู่ที่ชั้น 6 ศูนย์มานุษยวิทยาฯ) จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2559 นายปิแอร์ (ขณะนั้นมีอายุได้ 80 ปี) ได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตยังประเทศฝรั่งเศส โดยทางสยามสมาคมได้จัดงานสัมมนาเพื่อเป็นเกียรติให้กับนายปิแอร์ในปีดังกล่าว (Monument Conservation in Asia: Festschrift Seminar Honouring Pierre Pichard)
ศาสตราจารย์ปิแอร์ ปิชาร์ด์ เสียชีวิตที่เมืองแซ็งต์-แอฟฟริค (Saint-Affrique) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2567 มีสิริอายุรวมได้ 88 ปี
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของศาสตราจารย์ปิแอร์ ปิชาร์ด์ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนลูกศิษย์ของท่าน มา ณ ที่นี้
อ่านเพิ่มเติม :
- พิมาย เมืองพุทธ-มหายาน เก่าแก่สุดในลุ่มน้ำโขง ต้นแบบ “ปราสาทนครวัด”
- การเสื่อมสลายของปราสาทขอมในดินแดนไทย มาจากสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง
- แสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง มหัศจรรย์เมืองไทย กับเรื่องดวงของปราสาท
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2567