“จิ้มก้อง” การค้าสร้างกำไร และการเมืองเบื้องหลังไทย-จีน

สารสิน วีระผล กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์

ดร. สารสิน วีระผล และ ผศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ ร่วมเวทีเสวนา “จิ้มก้อง” สัมพันธ์การค้าไทย-จีน 

เมื่อจิ้มก้องเป็นตัวแทนระบบการค้าอันทรงพลัง ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์มิติอื่นๆ เข้ามาด้วย จึงเกิดเป็นเวที “BookTalk: จิ้มก้องและกำไร การเมืองเบื้องหลังการค้าไทย-จีน” ในงาน Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน มีผู้สนใจเข้าฟังคับคั่ง

ดร. สารสิน วีระผล ผศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์
(ขวา) ดร. สารสิน วีระผล (ซ้าย) ผศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์

ชวน 2 ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน คือ ดร. สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าของหนังสือระดับตำนาน “จิ้มก้องและกำไร: การค้าไทย-จีน 2195-2396/1652-1853”และ ผศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ มาร่วมพูดคุยถึงความสำคัญของจิ้มก้อง ที่สร้างกำไรมหาศาลให้ไทย และการเมืองที่ทอดตัวอยู่เบื้องหลัง ดำเนินรายการโดย สมคิด พุทธศรี

ดร. สารสิน วีระผล

“จิ้มก้องและกำไร” หนังสือความสัมพันธ์ไทย-จีน ระดับคลาสสิกแห่งวงวิชาการ

อ.สารสิน เล่าถึงที่มาของหนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้ ที่วงวิชาการเรื่องจีนระดับโลกต่างยกนิ้วให้ ว่า มีที่มาจากการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

“ผมเป็นลูกจีน ผูกพันและสนใจเรื่องจีนมาตั้งแต่เด็ก พอไปเรียนปริญญาเอกช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งตอนนั้นมีสงครามเย็น โลกตะวันตกให้ความสำคัญกับจีนมาก ประกอบกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งจีนศึกษา ได้แนะนำให้ผมศึกษาเรื่องจีน และใช้ข้อมูลจากไทยมาร่วม ผมจึงทำเรื่องนี้ โดยศึกษาระหว่าง ค.ศ. 1652-1853” อ.สารสิน เล่า (หากเทียบแล้วจะอยู่ในช่วงพระเจ้าปราสาททอง จนถึงรัชกาลที่ 4)

หลังจบปริญญาเอก วิทยานิพนธ์หัวข้อดังกล่าว ก็กลายมาเป็นหนังสือ “จิ้มก้องและกำไร” เวอร์ชันภาษาอังกฤษ ใน ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520)

ผศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์

ด้าน ผศ. ดร. กรพนัช เสริมว่า “จิ้มก้องและกำไร” มีความสำคัญต่อการศึกษาความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานคลาสสิกที่สุดในโลกวิชาการ

เหตุผลก็เพราะว่า งานชิ้นนี้ใช้เอกสารหลักฐานหลากหลาย ทั้งในภาษาไทย จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ทำให้เห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ไทย-จีน ทั้งการค้า การทูต โดยสามารถรวบรวมและอธิบายหลักฐานที่กระจัดกระจายให้เป็นเรื่องเดียวกันได้

“‘จิ้มก้องและกำไร’ เวอร์ชันภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1977 โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากนั้นปี 2548 ก็มีเวอร์ชันภาษาไทย ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี ไทย-จีน

“นอกจากนี้ จีนก็มีหน่วยงานที่แปลหนังสือของอาจารย์สารสิน เป็นการแปลเก็บความเป็นภาษาจีน ใช้อ้างอิงภายในเพื่อการศึกษา จะมีเล่มแปลจริงที่เผยแพร่ต่อสาธารณะก็เมื่อปี 2021 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี” อ.กรพนัช บอก

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการร่วมของ “จิ้มก้องและกำไร” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2548 ที่มาร่วมฟังการเสวนา

“จิ้มก้อง” ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐบรรณาการ” กับจีน

อ.สารสิน เล่าถึงคำว่า “จิ้มก้อง” ว่า เป็นการแต่งทูตและนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน เพื่อแสดงมิตรไมตรี ซึ่งในอดีตจีนมีรัฐบรรณาการ หรือที่เรียกว่า “ก้งกั๋ว ” (贡国) ราว 19 รัฐ เช่น สยาม, ลาว (ล้านช้าง), เวียดนาม, เกาะซูลู (อินโดนีเซีย), ศรีลังกา, เนปาล เป็นต้น

“ความสัมพันธ์ในระบบจิ้มก้องเป็นเหมือนพาร์ตเนอร์ ยอมรับกันและกัน แต่ในความสัมพันธ์นี้ จีนก็ไม่มีสิทธิมาแทรกแซงเรา” อ.สารสิน เพิ่มเติม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ และ ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ เครือมติชน ร่วมถ่ายภาพกับ ดร. สารสิน ผศ. ดร. กรพนัช และ สมคิด

ยุคที่ อ.สารสิน เห็นว่า จิ้มก้องมีความสำคัญมากสุด หรือรุ่งเรืองมากสุด คือ “ยุคต้นรัตนโกสินทร์” เพราะไทยเป็นแหล่งค้าสำเภาที่ใหญ่สุดในภูมิภาค หรือจะเรียกว่าในระดับโลกก็ว่าได้

สะท้อนจากการที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการขนานนามว่า “พ่อค้าสำเภา” แสดงให้เห็นว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเกิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐเสียก่อน

การค้าในระบบจิ้มก้อง จีนได้ข้าวจากไทย ส่วนไทยก็ได้สินค้าฟุ่มเฟือยที่ปลอดภาษีกลับมาขาย เป็นการค้าที่สร้างกำไรมหาศาลให้ไทยหลายศตวรรษ

อย่างไรก็ตาม อ.กรพนัช เล่าว่า หลังสงครามฝิ่น เศรษฐกิจจีนตกต่ำ ระบบจิ้มก้องอาจไม่ให้ผลประโยชน์กับไทยมากเหมือนเมื่อก่อน

“ประจวบกับโลกมีระบบการค้าสมัยใหม่ ไทยก็ปรับตัวเข้ากับการค้าสมัยใหม่ มีการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยจึงยกเลิกการจิ้มก้อง”

ด้าน อ.สารสิน ก็ให้ความรู้เพิ่มว่า หลังจากไทยยกเลิกส่งบรรณาการแล้ว แต่ ริวกิว, เกาหลี ยังส่งต่อ เพราะฉะนั้นไทยไม่ได้เป็นรัฐสุดท้ายที่ยกเลิก และไม่ได้ทำให้ระบบนี้ล่มสลาย เพราะกว่าจะล่มก็อีก 30-40 ปีให้หลัง

ผู้สนใจเรื่องจิ้มก้อง หรือสนใจเรื่องการค้าไทย-จีน ผลงานเรื่อง “จิ้มก้องและกำไร: การค้าไทย-จีน 2195-2396/1652-1853” กำลังจะกลับมาอีกครั้ง โดยสำนักพิมพ์มติชน ปรับปรุงเนื้อหาและเชิงอรรถให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ติดตามได้ในเดือนมีนาคม 2567 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567