พระเมสสิยาห์ (Messiah) หรือ “พระผู้ช่วยให้รอด” ไม่ได้มีเพียงพระเยซู?

กำเนิด พระกุมารเยซู พระเยซู หรือ พระเมสสิยาห์
กำเนิดพระกุมารเยซู หรือ พระเมสสิยาห์ (ภาพจาก Pixabay)

พระเมสสิยาห์ (Messiah) หรือเมสไซอาห์ ที่แปลว่า พระผู้ช่วยให้รอด หมายถึง พระเยซู ในศาสนาคริสต์ ที่จริงแล้วเป็นความเชื่อร่วมกันในกลุ่มศาสนาอับราฮัม (Abrahamic religions) อันได้แก่ ยูดาห์ (ยิว) คริสต์ และอิสลาม ว่าด้วยบุคคลที่มาปลดปล่อยผู้คนจากความทุกข์ตามประสงค์ของพระเจ้า

ทั้งนี้ ความหมายกับรายละเอียดเรื่องตัวตนของพระเมสสิยาห์ ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละศาสนาข้างต้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย บริบททางประวัติศาสตร์ และหลักการอธิบายของศาสนานั้น ๆ

หากพิจารณาจากความเชื่อของกลุ่มศาสนาอับราฮัมทั้งสามศาสนา เราจะพบว่า พระเมสสิยาห์ ในฐานะ “พระผู้ช่วยให้รอด” ไม่ได้หมายถึงแค่พระเยซู และไม่ได้มีเพียงองค์เดียวเท่านั้น

คำว่า Messiah มีรากศัพท์มาจาก Mashiach (อ่านว่า มา-ชี-อาค์) ในภาษาฮีบรู เป็นคำเดียวกับ “คริสตอส” (Christos) หรือพระคริสต์ ในภาษากรีก ซึ่งแปลว่า “ผู้ได้รับการเจิม (ให้เป็นตัวแทนของพระเจ้า)”

ต้นกำเนิดของพระเมสสิยาห์อยู่ในศาสนายูดาห์ ศาสนาเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มศาสนาอับราฮัม เป็นศาสนาของชาวฮีบรู มีอับราฮัมเป็นทั้งศาสดา ประกาศก และผู้นำชนเผ่า อับราฮัมประกาศว่า เขาได้รับโองการจากพระเจ้าให้อพยพผู้คนชาวฮีบรูไปยังดินแดน “คานาอัน” (ประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน) และพระเจ้าสัญญาให้เผ่าพันธุ์ของเขาเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับชาวยิว จึงเรียกคัมภีร์ในศาสนายูดาห์ (รวมถึงศาสนาคริสต์ในภายหลัง) ว่า “พันธสัญญา” (Testament) นั่นเอง

ในคัมภีร์ดั้งเดิมของชาวฮีบรูหรือคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม กล่าวถึงพระเมสสิยาห์โดยหมายรวมทั้ง กษัตริย์ มหาปุโรหิต หรือผู้นำที่ได้รับการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ พระเมสสิยาห์บางคนไม่ใช่ชาวยิวด้วยซ้ำ เพราะ พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) แห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย ก็ถูกยกย่องให้เป็นพระเมสสิยาห์ จากคุณูปการที่พระองค์ปลดปล่อยชาวยิวในกรุงบาบิโลนให้เป็นอิสระจากการเป็นเชลย

หลังจากชาวยิวสามารถสถาปนาอาณาจักรคานาอัน มีอาณาจักรของตนเองอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ต่อมาพวกเขาต้องอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมหาอำนาจต่างชาติ ที่ผลัดกันเข้ามาครอบครองดินแดนอิสราเอล เมื่อชาวยิวไม่ได้ปกครองตนเอง ประกอบกับการกดขี่ในยุคจักรวรรดิโรมัน พวกเขาจึงพยายามลุกขึ้นต่อต้านพวกโรมันอยู่บ่อยครั้ง แต่ถูกปราบปรามอย่างราบคาบเสมอ ความปรารถนาที่จะเป็นไททำให้ชาวยิวเฝ้ารอ “พระผู้ช่วยให้รอด” อีกครั้ง และส่งผลต่อความหมายกับตัวตนของ พระเมสสิยาห์ ที่จะปรากฏตัวต่อจากนั้น

เรื่องราวเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ ถูกต่อยอดว่าเป็นผู้นำเชื้อสายกษัตริย์ดาวิด ราชาชาวฮีบรูยุคอาณาจักรคานาอัน รวมถึงมีคำทำนายว่า ในอนาคตพระเมสสิยาห์จะเป็นกษัตริย์ผู้ปลดปล่อยชาวยิวจากการเป็นทาส สร้างยุคทองของชนชาติอิสราเอล ตลอดจนปกครองชาวยิวและทุกชนชาติในยุคสุดท้ายของโลก

เมื่อพระเยซูเริ่มออกเผยแผ่คำสอน พระวจนะของพระเจ้า และประกาศตนว่าเป็นพระเมสสิยาห์ ชาวยิวที่เชื่อและรับโองการพระเจ้าจากพระเยซู จึงกลายเป็นคริสต์ศาสนิกชน นามดังกล่าวกลายเป็นสามัญนามของคู่พระนามของพระเยซู หรือ “เยซูคริสต์” (Jesus Christ) ที่เราคุ้นหูกัน ส่วนความหมายของ “พระผู้ช่วยให้รอด” กลายเป็นการช่วยให้รอดจากบาป หรือรับการไถ่โทษก่อนวันโลกาวินาศนั่นเอง

คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ จึงถือว่าพระเยซูทำให้พันธสัญญาเดิมสำเร็จ เพราะพระเมสสิยาห์มาจุติยังโลกมนุษย์แล้ว ประวัติของพระเยซูในพระวรสาส์นของนักบุญมาร์ก (มาระโก) ให้ข้อมูลพงศาวลีหรือการสืบสายเลือดของพระเยซูว่า เป็นเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิด เพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์มีคุณสมบัติของพระเมสสิยาห์ตามที่ระบุในคัมภีร์ฮีบรู

อย่างไรก็ตาม หลักศาสนาที่เน้นเรื่องความรัก จริยธรรม ศีลธรรม ของพระเยซูนั้นต่างจากหลักการเก่าแก่ในศาสนายูดาห์ ที่มักมีพิธีกรรม การเซ่นสรวงบูชาด้วยสิ่งต่าง ๆ เป็นเหตุให้การประกาศศาสนาของพระเยซูไปริดรอนผลประโยชน์ของเหล่าผู้นำศาสนายูดาห์

ณ ช่วงเวลาที่พระเยซูสอนศาสนานั้น ชาวยิวจึงแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ชาวคริสต์ กลุ่มที่เชื่อในสถานะ “พระบุตร” และพระเมสสิยาห์ของพระเยซู กับกลุ่มที่ปฏิเสธสถานะข้างต้น ทั้งเฝ้ารอพระเมสสิยาห์ต่อไป โดยเป็นกลุ่มหลังที่มีส่วนทำให้พระเยซูถูกตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์

หากพิจารณากว้าง ๆ แนวคิดเรื่อง “พระผู้ช่วยให้รอด” เป็นหลักการที่มักจะปรากฏอยู่ในลัทธิความเชื่อและศาสนาต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะศาสนาที่เชื่อในเรื่องการสิ้นโลกหรือวันโลกาวินาศ โดยพบบุคคลที่สามารถเทียบได้กับ พระเมสสิยาห์ ในศาสนาอื่น ๆ (เป็นเพียงการเปรียบเปรย)

เช่น ศาสนาอิสลาม แม้ตามตำราหะดีษ (Hadith) จะระบุว่า พระเยซู หรือ “อีซา” คือหนึ่งในนบี (ประกาศก) และมะซีฮ์ (เมสสิยาห์) ผู้ที่พระเจ้าส่งมาช่วยวงศ์วานอิสราเอลตามพันธสัญญา แต่ในฐานะที่พระมูฮัมหมัดเป็น “นบี” คนสุดท้าย  ท่านจึงมีความใกล้เคียงกับการเป็นพระผู้ช่วยให้รอดมากกว่าพระเยซู ในทัศนะของชาวมุสลิม

แม้แต่ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ยังมีเรื่องของ “พระศรีอริยเมตไตรย” ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ถัดจากพระโคตมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน) และศาสนาโซโรอัสเตอร์ของเปอร์เซียโบราณ ยังเล่าถึงบุตรแห่งโซโรอัสเตอร์ผู้ล่วงลับ ที่จะฟื้นคืนชีพและชำระล้างโลกในยุคสุดท้าย ต่างมีหลักการอธิบายถึง “พระผู้ช่วยให้รอด” ก่อนกาลอวสานของโลกแบบเดียวกับศาสนากลุ่มอับราฮัม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, มติชนออนไลน์ (27 พฤศจิกายน 2562) : ศาสนาคริสต์. (ออนไลน์)

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, www.churchofjesuschrist.org (สืบค้นวันที่ 26 ธันวาคม 2565) : พระเมสสิยาห์. (ออนไลน์)

Encyclopaedia Britannica (Retrieved Dec 26, 2022) : messiah, religion. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2565