“ทฤษฎี” ช่วงชีวิตที่หายไปของ “พระเยซู” เสด็จมาศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดีย?

พระเยซู ศาสนาคริสต์
“พระเยซูทรงรับบัพติศมา” ภาพโดย Gustave Doré ศิลปินชาวฝรั่งเศส คำบรรยายภาพอ้างพระวรสารของมัทธิว (3:16, 17) ว่า “พระจิตแห่งพระเจ้าได้เสด็จลงมาดุจนกพิราบ...พร้อมเสียงแห่งสวรรค์เปล่งดังว่า ‘นี่คือบุตรอันเป็นที่รักของเรา ผู้ที่เราพึงใจเป็นอันมาก’”

“ทฤษฎี” ช่วงชีวิตที่หายไปของ “พระเยซู” เสด็จมาศึกษาพระพุทธศาสนาใน “อินเดีย”?

เรื่องราวของ พระเยซู ผู้เป็นทั้งศาสดาของ “ชาวคริสต์” และศาสนทูตของอัลลอฮ์ (อีซา) ตามความเชื่อของอิสลาม ยังคงถูกศึกษาสืบค้น ถกเถียงอย่างไม่จบไม่สิ้นตลอด 2,000 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เรื่องพระองค์เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์หรือไม่ และเรื่องราวของพระองค์ตามพระคัมภีร์มีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด

Advertisement

และประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็นที่พูดถึงมานานนับร้อยปีแล้วก็คือ ข้ออ้างที่ว่ากันว่า ประวัติของพระเยซูแห่ง ศาสนาคริสต์ ในช่วงเวลาที่มิได้ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ เนื่องมาจากพระองค์ได้เดินทางมายังโลกตะวันออก เพื่อทำการศึกษาศาสตร์ในตะวันออกทั้งพุทธและพราหมณ์ ก่อนกลับไปเผยแผ่ศาสนาในดินแดนปาเลสไตน์

พระเยซู กับช่วงเวลาที่หายไปจากพระคัมภีร์

แน่นอนว่าข้ออ้างดังกล่าวฟังดูพิลึกกึกกือ และไม่ได้รับการยอมรับในโลกวิชาการ แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่องนี้เคยเป็นที่ถกเถียงใหญ่โตมาแล้ว ซึ่งถึงปัจจุบันในเมืองไทยก็ยังมีคนพูดถึงอยู่บ้างอย่างเลือนราง ไม่มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงอยากขอเล่าความเป็นมาของทฤษฎีที่ว่านี้

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงที่มาของ “ช่วงเวลาที่หายไป” ของ พระเยซู จากประวัติของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่ง พระวรสาร (Gospel) ของมัทธิว ได้บอกเล่าเหตุการณ์การประสูติของพระเยซูว่า อยู่ในรัชกาลของกษัตริย์เฮโรด [กษัตริย์แห่งแคว้นยูเดียซึ่งอยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิโรมัน] (มธ.2:1) ตามมาด้วยการลี้ภัยไปยังอียิปต์ (มธ.2:14) เพื่อเลี่ยงคำสั่งสังหารทารกของกษัตริย์เฮโรด การเดินทางกลับอิสราเอล (มธ.2:21) หลังกษัตริย์เฮโรดสวรรคต การรับบัพติศมา (Baptism) (มธ.3:13) และการประกาศศาสนาของพระองค์ตามลำดับ แต่ก็มิได้ระบุปีในเหตุการณ์ต่างๆ อย่างแน่ชัด

พระวรสารของลูกา เป็นพระวรสารที่มีการระบุลำดับเหตุการณ์ประกอบพระชนมายุของพระเยซูที่ชัดเจนขึ้นว่า พระองค์ประสูติในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) (ลก.2:1) จากนั้นจึงเล่าถึงเหตุการณ์ในพระวิหาร เมื่อ พระเยซู มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา (ลก.2:42) แล้วก็ข้ามไปยังการรับบัพติศมาซึ่งไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน (ลก.3:21) แต่น่าจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับการเริ่มประกาศศาสนา เมื่อพระองค์มีพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา (ลก.3:23) ทำให้ช่วงเวลาที่พระองค์ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตั้งแต่มีพระชนมายุได้ 13 พรรษา (ซึ่งตามจารีตของชาวยิวถือเป็นวัยที่เด็กผู้ชายก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ใหญ่แล้ว) จนถึงราว 30 พรรษา ที่ไม่มีบันทึกใดๆ กล่าวถึงชีวิตของพระองค์ในช่วงนี้เลย

บุตรแห่งพระเจ้าหายไปไหนตั้งแต่วัยที่พระองค์ (ซึ่งตามจารีตถือว่า) เป็นผู้ใหญ่แล้ว? จึงเป็นคำถามที่ผู้สนใจไม่ว่าในทางศาสนาหรือประวัติศาสตร์พยายามหาคำตอบ

ปลายศตวรรษที่ 19 นิโคลัส โนโตวิตช์ (Nicolas Notovitch) นักสำรวจและนักเขียนชาวรัสเซีย จึงเสนอว่า พระเยซู ทรงเดินทางมายัง อินเดีย และ ทิเบต เพื่อศึกษาพระธรรมตามหลักศาสนาพราหมณ์และพุทธ ก่อนเดินทางกลับไปประกาศศาสนายังแผ่นดินปาเลสไตน์ในอีก 10 กว่าปีให้หลัง

พระเยซู ใน โบสถ์ยิว ท่ามกลาง สาวก ชาวบ้าน
“พระเยซูในโบสถ์ยิว” ภาพโดย Gustave Doré ศิลปินชาวฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์ที่พระเยซูถูกตั้งแง่สงสัยโดยชาวบ้านในนาซาเร็ธตามที่พระวรสารของมัทธิว (13:54, 55) ระบุว่า “เมื่อเสด็จมาถึงตำบลบ้านของพระองค์แล้วก็ทรงสั่งสอนในธรรมศาลานั้นจนผู้คนพากันประหลาดใจและกล่าวว่า…นี่ไม่ใช่ลูกของช่างไม้หรอกหรือ?…”

บันทึกของโนโตวิตช์เล่าว่า ระหว่างการเดินทางของเขา ลามะรูปหนึ่งได้เล่าถึงความเชื่อใน “พระเจ้าจริงแท้องค์เดียว” ของชาวพุทธ (ในที่นี้คือพระพุทธเจ้า) ซึ่ง ชาวคริสต์ รับเอาหลักการนี้ไปจากพระพุทธเจ้า แต่กลับละทิ้งพระองค์แล้วสร้าง “ทะไล ลามะ” ของตัวเองขึ้นใหม่ นั่นคือ “อีซา” (คำเรียกพระเยซูในภาษาอาหรับ)

แต่สำหรับชาวพุทธแล้ว อีซาคือหนึ่งในทะไล ลามะ ที่เหนือกว่าทะไล ลามะ รูปอื่นๆ เนื่องจากอีซาเป็นอวตารภาคหนึ่งของพุทธองค์โดยตรง [ชาวพุทธทิเบตทั่วไปเชื่อในเรื่องอวตารของพระโพธิสัตว์ลงมาเป็นทะไล ลามะ ที่มีสืบเนื่องมาไม่ขาดสาย] ได้ยินดังนี้ โนโตวิตช์จึงสนใจที่จะสืบค้นต้นตอของบันทึกเรื่องราวดังกล่าว

ลามะรูปนี้บอกว่า เอกสารที่บันทึกเรื่องราวของพระเยซูถูกเก็บรักษาไว้ที่กรุงลาซาของทิเบต รวมไปถึงอารามใหญ่ๆ ส่วนอารามเล็กๆ ของตนไม่มีแม้กระทั่งสำเนาเอกสารดังกล่าว เนื่องจากเอกสารชิ้นนี้เป็นเอกสารสำคัญซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ และมิได้ถูกนำออกมาเผยแพร่แก่สาธารณะ โนโตวิตช์จึงตั้งใจที่จะเดินทางไปทั่วทิเบตเพื่อรวบรวมข้อมูลของพระเยซู ตามคำกล่าวอ้างของลามะรูปนี้

พระเยซูศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดีย?

ด้วยความบังเอิญ เมื่อโนโตวิตช์เดินทางมายังวิหารแห่งฮีมิส (Himis) เมืองลาดักห์ (Ladakh) ที่ อินเดีย เขาอ้างว่าตนมีโอกาสได้เห็นพระสูตรดังกล่าวระหว่างการรักษาตัวในวิหารแห่งนี้หลังประสบอุบัติเหตุจากการเดินทาง ด้วยความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาส ซึ่งกล่าวกับเขาว่าตัวเอกสารชิ้นนี้ ดั้งเดิมถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาบาลีและถูกเก็บไว้ที่กรุงลาซา ส่วนฉบับที่เก็บไว้ที่วิหารแห่งฮีมิสเป็นฉบับแปลเป็นภาษาทิเบต ซึ่งโนโตวิตช์ต้องอาศัยล่ามส่วนตัวช่วยแปลเรื่องราวตามพระสูตรให้เขาเข้าใจ

พระสูตรที่โนโตวิตช์อ้างระบุว่า เมื่อ พระเยซู พระชนมายุได้ 13 พรรษา อันเป็นวัยที่จะต้องหาคู่สมรส พระองค์ทรงแอบหนีออกจากบ้านเดินทางไปยังลุ่มแม่น้ำสินธุ เพื่อศึกษาพระวจนะของพระเจ้าและกฎเกณฑ์แห่งพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงศึกษาภาษาสันสกฤตประกอบกับคัมภีร์พระเวท และใช้ชีวิตในเมืองพาราณสี รวมถึงเมืองศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เป็นเวลาราว 6 ปี พร้อมไปกับการสั่งสอนพระธรรมให้กับชาวบ้าน จนเป็นที่รักของคนในวรรณะแพศย์และศูทร

เนื้อหาท่อนหนึ่งในพระสูตรที่โนโตวิตช์อ้างถึง ได้บรรยายถึงความเชื่อที่สอดคล้องกันของพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาที่ไม่เชื่อในระบบวรรณะแบบพราหมณ์ว่า

“พระองค์ [พระเยซู] ทรงปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อความยโสของมนุษย์ที่ใช้อำนาจเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ [ระบบวรรณะ] และสิทธิทางศาสนาของผู้อื่น [จากพระสูตรเดียวกัน พราหมณ์และกษัตริย์กล่าวกับพระเยซูว่า ผู้ที่เกิดในวรรณะต่ำไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะอ่านคัมภีร์พระเวท]” แต่พระเยซูทรงแย้งว่า “ในความเป็นจริง…พระเจ้ามิได้ทรงเลือกปฏิบัติต่อบุตรของพระองค์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นที่รักของพระองค์ทั้งสิ้น”

พระสูตรของโนโตวิตช์อ้างว่า คำสอนของพระองค์ทำให้กลุ่มวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ไม่พอใจคิดร้ายต่อพระองค์ แต่ชาวบ้านในวรรณะต่ำได้มาเตือนพระองค์ก่อน พระองค์จึงเสด็จหนีไปยังดินแดนของชุมชนชาวพุทธในลุ่มน้ำคงคา อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า โดยพระเยซูทรงใช้เวลาอีก 6 ปี ในการศึกษาพระคัมภีร์บาลีในพุทธศาสนา ก่อนนำไปเผยแผ่ต่อในโลกตะวันตก

เรื่องเล่าของโนโตวิตช์ถือว่า ช่วยเติมเต็มช่องว่างของช่วงเวลาที่ไม่มีการบันทึกในพระวรสารทั้งสี่ของพันธสัญญาใหม่ได้เป็นอย่างดี และเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือเขาอ้างว่า หลังการเดินทางกลับจากโลกตะวันออกพร้อมความตั้งใจที่จะตีพิมพ์เรื่องราวที่ตนได้พบเจอ เขาเดินทางไปยังกรุงโรมนำบันทึกของเขาไปให้พระคาร์ดินัลรายหนึ่ง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระสันตะปาปาเป็นอย่างยิ่งเป็นผู้พิจารณา

แต่พระคาร์ดินัลคนดังกล่าวตอบโนโตวิตช์กลับมาว่า “มันจะมีอะไรดีหากตีพิมพ์มันออกมา? คงไม่มีใครยอมเชื่อและเห็นความสำคัญอะไรของมัน ลูกมีแต่จะสร้างศัตรูจำนวนมาก ลูกยังหนุ่มอยู่เลย หากปัญหาของลูกคือเรื่องเงิน พ่อสามารถหารางวัลมาแลกกับบันทึกของลูกเป็นจำนวนมากพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายและเวลาที่ลูกสูญเสียไปได้”

ข้ออ้างของโนโตวิตช์ช่วยกระตุ้นความสนใจว่า เหตุใดพระระดับสูงของคริสตจักรจึงพยายามปกปิดสิ่งที่เขาพบเจอ ซึ่งสุดท้ายบันทึกของโนโตวิตช์ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสเมื่อปี 1894 (พ.ศ. 2437) มีการจัดจำหน่ายและแปลเป็นภาษาต่างๆ อย่างแพร่หลาย ความนิยมในหนังสือของโนโตวิตช์ ทำให้มีการตีพิมพ์ฉบับภาษาฝรั่งเศสใหม่ถึง 8 ครั้งในรอบ 1 ปี

ปีเดียวกันนั้นเอง แม็กซ์ มุลเลอร์ (Max Muller) ศาสตราจารย์ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้ออกมาตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของบันทึกของโนโตวิตช์ โดยยืนยันว่า ไม่เคยมีการพบบันทึกชีวิตของพระเยซูในงานประพันธ์ใดๆ ในคลังข้อมูลที่มีการรวบรวมเอกสารภาษาทิเบตอย่างกว้างขวางที่สุด ทั้งๆ ที่โนโตวิตช์อ้างว่า บันทึกดังกล่าวเป็นที่รู้จักดีในทิเบต แม้จะจำกัดการเข้าถึงจากบุคคลทั่วไป

ในงานเขียนชิ้นเดียวกัน มุลเลอร์ยังอ้างว่า ตนได้รับจดหมายจากสตรีชาวอังกฤษรายหนึ่งระบุว่า เธอได้เดินทางไปยังวิหารแห่งฮีมิส และพระทิเบตประจำวิหารแห่งฮีมิสต่างปฏิเสธว่าไม่เคยช่วยรักษาพยาบาลโนโตวิตช์ หรือชาวรัสเซียที่มีอาการขาหักมาก่อนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา

“ถ้าคิดซะว่า โนโตวิตช์ เป็นสุภาพบุรุษไม่ใช่คนโกหก เราก็อดคิดไม่ได้ว่า พระในลาดักห์และทิเบตคงเป็นพวกขี้เล่นที่ชอบแกล้งนักเดินทางผู้อยากรู้อยากเห็นให้งงงวยเล่น และโนโตวิตช์ก็ตกเป็นเหยื่อมุขของพระเหล่านี้อย่างง่ายดาย” มุลเลอร์กล่าว

“พระเยซูทรงรับบัพติศมา” ภาพโดย Gustave Doré ศิลปินชาวฝรั่งเศส คำบรรยายภาพอ้างพระวรสารของมัทธิว (3:16, 17) ว่า “พระจิตแห่งพระเจ้าได้เสด็จลงมาดุจนกพิราบ…พร้อมเสียงแห่งสวรรค์เปล่งดังว่า ‘นี่คือบุตรอันเป็นที่รักของเรา ผู้ที่เราพึงใจเป็นอันมาก’”

เจ. อาร์ชิบัลด์ ดักลาส (J. Archibald Douglas) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์อีกราย ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยการเดินทางไปยังวิหารแห่งฮีมิสด้วยตนเอง เพื่อสอบถามเรื่องราวจากเจ้าอาวาส ซึ่งโนโตวิตช์อ้างว่า เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือตนหลังประสบอุบัติเหตุ

เจ้าอาวาสรายนี้กล่าวกับดักลาสว่า ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เขาได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส [ครอบคลุมระยะเวลาที่โนโตวิตช์อ้างว่าได้เดินทางมายังอินเดียนับแต่ปี 1887] เขาไม่เคยเจอชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บมาขอพักรักษาตัวมาก่อน และตลอด 42 ปีที่เขาบวชมา เขาคุ้นเคยกับพระคัมภีร์และพระสูตรในศาสนาพุทธเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่เคยเห็นเอกสารพุทธชิ้นใดอ้างถึงพระเยซู หรืออีซา

เจ้าอาวาสรูปนี้กล่าวต่อไปว่า ตนไม่รู้จักคัมภีร์พุทธในภาษาบาลีเลย และเอกสารทั้งหมดในวิหารของตนก็ล้วนแปลมาจากภาษาสันสกฤต หรือภาษาฮินดีเป็นภาษาทิเบตเท่านั้น

ด้าน บาร์ต ดี. เออร์มัน (Bart D. Ehrman) ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลในยุคปัจจุบัน กล่าวถึงเรื่องราวของโนโตวิตช์ว่า “ถึงวันนี้ไม่มีนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับคนไหนบนโลกที่ยังข้องใจอีกว่า เรื่องราวทั้งหมดถูกแต่งขึ้นโดยโนโตวิตช์ และเขาก็ได้เงินไปหลายอัฐ แลกกับชื่อเสียงที่ฉาวโฉ่จากการสร้างเรื่องหลอกลวงขึ้นมา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Douglas J. Archibald. The Chief Lama of Himis on the Alleged ‘Unknow Life of Christ’ <http://www.tertullian.org/rpearse/scanned/notovitch.htm>

Ehrman, Bart D. Forged. (Harper Colins).

Müller, F. Max. The Alleged Sojourn of Christ in India. <http://www.tertullian.org/rpearse/scanned/notovitch.htm>

Notovitch, Nicolas. The Unknown Life of Jesus Christ. (Start Publishing LLC).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2561