เริ่มการบูรณะสุสาน (ที่เชื่อกันว่าเป็นของ) พระเยซูเป็นครั้งแรกในรอบสองร้อยปี

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2016 ขณะนักท่องเที่ยวต่อแถวเพื่อเข้าไปยังสุสานพระเยซูซึ่งมีโครงโลหะติดตั้งครอบบริเวณประตูทางเข้า ( AFP PHOTO / GALI TIBBON)
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2016 ขณะนักท่องเที่ยวต่อแถวเพื่อเข้าไปยังสุสานพระเยซูซึ่งมีโครงโลหะติดตั้งครอบบริเวณประตูทางเข้า ( AFP PHOTO / GALI TIBBON)

รายงานของ Times of Israel สื่อในประเทศอิสราเอล เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมากล่าวว่า ชาวคริสต์เตรียมเริ่มการบูรณะสุสานของพระเยซู ภายในโบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์ (Church of Holy Sepulchre) หลังไม่ได้รับการซ่อมแซมมานานนับร้อยปี

พื้นที่ตั้งของโบสถ์ดังกล่าวในเขตเมืองเก่าเยรูซาเล็ม เป็นสถานที่ที่ชาวคริสต์เชื่อกันว่า พระเยซูถูกตรึงกางเขนและฝังร่าง ก่อนฟื้นคืนชีพอีกครั้งที่นี่

การบูรณะครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ศาสนจักรประกอบด้วยกรีกออร์ธอดอกซ์ โรมันคาทอลิก และคริสตจักรอาร์มีเนีย คาดว่าจะใช้เวลาราวหนึ่งปี ซึ่งระหว่างนี้ผู้แสวงบุญยังคงสามารถเดินทางเข้าเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ได้

หลังการซ่อมแซมในปี 1810 จากเหตุไฟไหม้ สุสานแห่งนี้ก็ไม่ได้รับการบูรณะอีกเลยเป็นเวลากว่า 200 ปี ซึ่งบีบีซีกล่าวว่า การชิงดีชิงเด่นระหว่างศาสนจักรทั้งสามคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การบูรณะต้อง ล่าช้า ก่อนที่ทั้งสามฝ่ายจะยอมละวางจุดต่างและเห็นตรงกันว่าการซ่อมแซมจำเป็นต้องเริ่มได้แล้ว

อันโตเนีย โมโรปูลู (Antonia Moropoulou) ฝ่ายประสานงานด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการบูรณะครั้งนี้กล่าวว่า ตัวสุสานยังคงมีความมั่นคง แต่มีการผุกร่อนให้เห็นและจำเป็นต้องได้รับการดูแลหลังถูกปล่อยให้โดนน้ำโดน ความชื้น และควันเทียนมานาน และตัวโครงสร้างก็จำเป็นต้องได้รับการป้องกันความเสียหายจากการเกิดแผ่นดิน ไหวด้วย

ศาสนจักรทั้งสามจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นจำนวน 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 116 ล้านบาท) และกษัตริย์อับดุลลาห์แห่งจอร์แดนก็ทรงร่วมบริจาคเป็นการส่วนพระองค์ด้วย เช่นกัน

ทั้งนี้ เขตเมืองเก่าเยรูซาเล็ม เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจอร์แดนมาก่อน จนกระทั่งเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล (สงคราม 6 วัน) ในปี 1967 ทำให้จอร์แดนต้องเสียดินแดนส่วนนี้ให้กับอิสราเอล แต่จอร์แดนก็ยังคงแสดงบทบาทสำคัญในการปกป้องศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของทั้งชาว คริสต์และมุสลิมในพื้นที่นี้