เรื่อง “เพศ” ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม “ด้านมืด” ของสังคมยิว

บัทเชบา อาบน้ำ
บัทเชบาอาบน้ำ, ผลงาน J.L.GEROME (ภาพจาก Sotheby's / Wikimedia Commons)

ประเด็นเรื่อง “เพศ” ในยุคโบราณ สามารถศึกษาได้จากตำนาน นิทานปรัมปรา จารึกโบราณ แต่ใครจะเชื่อว่า พระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม (Old Testament) จากตำราโบราณของ “ชาวฮีบรู” จะสะท้อน “ด้านมืด” ของสังคมยิวในยุคบรรพกาลได้อย่างโจ่งแจ้งและเด่นชัด

ดร. นาธาน อับรัมส์ (Nathan Abrams) ผู้เขียนหนังสือ “Jews and Sex” ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งเล่าถึงเรื่อง “เพศ” และวิถีชีวิตของชาวยิวจากพระคัมภีร์ พบว่าเรื่องดังกล่าวแทรกอยู่ในวัฒนธรรมฮีบรูอย่างแยกกันไม่ออก จนเต็มไปด้วยกรณีศึกษามากมาย โดยเฉพาะพฤติกรรมที่สังคมสมัยใหม่อาจมองว่าไร้ศีลธรรมอย่างสมบูรณ์ นั่นคือประเด็นการกดขี่และทารุณกรรมทางเพศ เต็มไปด้วยความใคร่ การร่วมประเวณีของคนในครอบครัว ตลอดจนการข่มขืน กระจายอยู่เต็มไปหมด

Advertisement

ดังเรื่องราวในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ที่วารยา นำมาเสนอในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2551 เรื่อง “ความหฤหรรษ์แห่งเพศรส ในพระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม : กรณีศึกษาเรื่องทัศนคติต่อเรื่องเพศในพระคัมภีร์ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรง” ต่อไปนี้

กษัตริย์โซโลมอนกับเหล่านางห้าม

กษัตริย์โซโลมอนคือผู้ปรีชาสามารถ ขณะเดียวกันพระองค์คือผู้มักมากในกามคุณระดับตัวพ่อ เพราะทรงมีคู่นอนเป็นสตรีต่างด้าวหลายคน ทั้งธิดาฟาโรห์ สตรีชาวโมอับ อัมโมน เอโดม ไซดอน ฮิตไทน์ ฯลฯ เล่ากันว่า “พระองค์มีพระมเหสีเจ็ดร้อยและนางห้ามสามร้อย และพระราชินีแห่งชีบา” อาจเพราะสาเหตุนี้ กษัตริย์โซโลมอนจึงหันไปสักการะพระเจ้าองค์อื่นร่วมด้วย พระเจ้าจึงส่งศัตรูมารุกรานอาณาจักรอิสราเอลเพื่อลงโทษพระองค์

ดาวิดกับนางบัทเชบา

ขณะที่นักรบของกษัตริย์ดาวิดทำศึกยืดเยื้อพวกอัมโมน พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเลมด้วยความรู้สึกเบื่อหน่าย แต่พระองค์ต้อง “ตาตื่น” เมื่อประทับอยู่บนดานฟ้าพระราชวังแล้วแลเห็นสตรีหน้าตาสะสวยทรวดทรงงดงามกำลังอาบน้ำ จึงบัญชาให้บริวารพาหญิงผู้นั้นมาหาที่ห้องบรรทม นางคือ “บัทเชบา” ภรรยาของชาวฮิตไทน์ชื่ออุรีอาห์ ทหารของพระองค์ที่กำลังรบอยู่แนวหน้า

หลังเสพสมกับบัทเชบาจนนางตั้งครรภ์ กษัตริย์ดาวิดพยายามปกปิดบาปของตนเองด้วยการเรียกตัวอุรีอาห์กลับจากสมรภูมิ หวังให้อุรีอาห์มาหลับนอนกับภรรยา แต่อุรีอาห์เป็นคนจิตใจสูงส่ง เขาไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาขณะที่มิตรสหายเสี่ยงชีวิตอยู่ในสนามรบ กษัตริย์ดาวิดจึงส่งอุรีอาห์กลับแนวหน้าพร้อมคำสั่งลับให้สังหารเขาในสนามรบ จากนั้นสมรสกับบัทเชบาสมใจพระองค์ แต่กษัตริย์ดาวิดต้องอยู่กับความรู้สึกหวาดกลัวและสำนึกต่อบาปดังกล่าวตลอดพระชนมชีพ

แซมสันและนางเดลิลาห์

“แซมสัน” เป็นผู้ทรงพลัง เขาหลงรักสตรีนางหนึ่งนาม “เดลิลาห์” แต่ไม่ไว้ใจนางนัก เพราะเชื่อว่านางเป็นสายลับชาวฟิลิสเตีย เมื่อเดลิลาห์ถามรบเร้าถึงความลับของพลังอันยิ่งใหญ่ของเขา แซมสันโกหกนางไป 3 ครั้ง แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยอมบอกความลับว่าพละกำลังของเขาจะหายไปหากโกนผม และแล้วการเผยความลับนี้ก็นำหายนะมาสู่แซมสันจริง ๆ พระคัมภีร์ไม่ได้อธิบายเพิ่มว่าเกิดอะไรขึ้นกับเดลิลาห์ผู้ทรยศ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกรณีต้นแบบของการทรยศ “คู่นอน” หลังมีสัมพันธ์ทางเพศกัน

โสเภณีข้างถนน

“ยูดาห์” บุตรคนที่ 4 ของยาโคบ ทายาทที่ยาโคบและเลอาห์เลือก แต่เขาเลือกสมรสกับชาวคานาอัน บุตรของเขาจึงมิใช่ “ชาวฮีบรู” บริสุทธิ์ บุตรชายคนโตของยูดาห์เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย “ทามาร์” ภรรยาม่ายจึงได้สมรสกับโอนัน บุตรคนรองของยูดาห์ พอโอนันเสียชีวิต ตามธรรมเนียมทามาร์ต้องสมรสกับบุตรคนที่ 3 แต่ยูดาห์ต้องการให้สะใภ้ผู้นี้ออกไปจากครอบครัว

ทามาร์ไม่ยอมรับชะตากรรมดังกล่าว นางปลอมตัวเป็นโสเภณีและรุกเร้าเย้ายั่วยูดาห์ขณะที่เขากลับจากการตัดขนแกะ จน “เสร็จกิจ” ร่วมกัน 1 เดือนต่อมา ยูดาห์ทราบว่าลูกสะใภ้ที่เขาไม่ต้องการกำลังตั้งครรภ์ จึงเรียกนางไปกล่าวโทษ แต่ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่าเขาคือบิดาของเด็กในท้องและกำลังจะมีทายาทอีกคนในวัยชรา จึงพิพากษากรณีที่เกิดขึ้นว่า “หญิงคนนี้ชอบธรรมยิ่งกว่าเรา”

ยูดาห์ กับ โสเภณี ข้างถนน
ยูดาห์กับโสเภณีข้างถนน, ผลงาน Horace Vernet (ภาพจาก Wikimedia Commons)

โอนัน

อีกตำนานเกี่ยวกับยูดาห์และทามาร์ มีตัวละครเอกคือ “โอนัน” บุตรคนรองของยูดาห์ พี่ชายของโอนัน (บุตรชายคนโตของยูดาห์) ทำบาปมหันต์จนถูกพระเจ้าสังหาร ยูดาห์จึงบอกแก่โอนันว่า “เข้าไปหาภรรยาพี่ชายของเจ้าเถิด และทำหน้าที่ของน้องผัว เพื่อจะได้สืบพันธุ์พี่ชายไว้”

ในทางกฎหมาย ประเพณีนี้ทำให้บุตรชายของเขาที่เกิดกับทามาร์จะกลายเป็นบุตรของพี่ชายผู้ล่วงลับ และเขาไม่เห็นด้วย โอนันจึง “ทำสิ่งที่จะก่อเกิดพืชพันธุ์นั้นตกดินเสีย” พระเจ้าจึงประหารชีวิตเขาอีกคนด้วยเหตุว่า สิ่งที่เขาทำนั้นน่ารังเกียจ เรื่องนี้ถูกนำไปเล่าเป็นนิทานเกี่ยวกับความเลวร้ายของ “อัตกามกิริยา” (สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง) ให้เด็ก ๆ ฟัง แม้ใจความสำคัญเดิมคือความพยายามขัดขวางการผิดประเวณีในครอบครัวของโอนัน

โลทกับบุตรสาวทั้งสอง

ครอบครัวของ “โลท” อยู่ที่เมืองโซดอม นครแห่งบาปมหันต์ กระทั่งพระเจ้าทรงบันดาลให้กำมะถันและเพลิงผลาญเมือง แต่ครอบครัวของเขาเป็นคนดี จึงได้รับแจ้งล่วงหน้าเรื่องหายนะดังกล่าวจากเทวทูตที่พระเจ้าส่งมา ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าห้ามหันกลับไปมองเมืองที่ล่มสลาย

แต่ภรรยาของโลทไม่ทำตาม นางหันกลับไปมองกาลวินาศแห่งโซดอมแล้วกลายร่างเป็นเสาเกลือทันที ส่วนโลทกับบุตรสาวหนีรอดไปพักอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าบุตรสาวทั้งสองของโลทกังวลว่าตนจะไร้บุตรสืบทอดเผ่าพันธุ์ จึงวางแผนมอมเหล้าบิดาผู้เปี่ยมศีลธรรมแล้วสมสู่กัน ณ ถ้ำนั้น โลทจึงมีบุตรชายอันเกิดจากสองบุตรสาวของตนเอง คือ โมอับ กับเบน-อัมมี

การข่มขืนทามาร์

กษัตริย์ดาวิดเป็นยอดนักปกครอง แต่ล้มเหลวในเรื่องครอบครัว “อันโนน” โอรสของพระองค์ร่วมกับสหายนาม โยนาดับ ล่อลวง “ทามาร์” น้องสาวร่วมบิดาของตนมากระทำอนาจาร เมื่อนางไม่ยินยอมให้พี่ชายล่วงเกิน อันโนนจึงข่มขืนนางหลายครั้งจนเบื่อหน่าย เขาขับไล่นาง เป็นเหตุให้ทามาร์ได้รับความอับอายอย่างยิ่ง กระทั่ง 2 ปีต่อมา อับชาโลม พี่ชายของทามาร์เชิญอันโนนมางานเลี้ยง มอมเหล้า และสังหารเขา

การข่มขืนดีนาห์

ณ ช่วงเวลาที่ชาวยิวยังอยู่ที่คานาอัน “ดีนาห์” บุตรสาวของเลอาห์กับยาโคบเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนชาวฮีไวต์ดินแดนข้างเคียง แต่ระหว่างทางนางถูก “เชเคม” บุตรเจ้าเมืองลักพาตัวไปร่วมหลับนอน จนตัวเขาเกิดจิตปฏิพัทธ์อยากได้ดีนาห์เป็นภรรยาอย่างจริงจังและถูกต้อง เขากับฮาโมร์ผู้เป็นบิดาจึงเดินทางไปพบยาโคบเพื่อเจรจา แต่เหล่าบุตรชายของยาโคบยืนกรานว่าน้องสาวของตนต้องไม่สมรสกับชายเผ่าอื่นที่ไม่ผ่านการ “ขลิบ”

ปรากฏว่าเชเคมยอมรับกติกาดังกล่าว เขายังโน้มน้าวให้ชายในเผ่าของตนเข้ารับการสุหนัตด้วย แต่ไม่มีการสมรสเกิดขึ้น เพราะขณะที่เหล่าชาวฉกรรจ์ชาวฮีไวต์กำลังพักฟื้นอยู่นั้น สิเมโอนกับเลวีพี่ชายของดีนาห์บุกไปลอบสังหารชายในเมือง ปล้นเอาทรัพย์สมบัติ และนำภรรยาของผู้ตายมาเป็นเชลย โทษฐานที่คนในเมืองพรากความบริสุทธิ์น้องสาวของพวกเขา

คนเลวีและภรรยาน้อย

ชาวเลวีผู้หนึ่งอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาเอฟราอิมและได้สตรีนางหนึ่งจากเบธเลเฮมมาเป็นภรรยาน้อย แต่นางเล่นชู้แล้วทิ้งเขากลับไปหาบิดา จะด้วยจิตเมตตาหรือเพราะเหตุใดไม่ทราบ เขามาตามนางกลับ โดยระหว่างกลับได้แวะพักแรมที่กิเบอาห์ และค้างคืนในกระท่อมของชายชราคนเบนยามิน แต่กลางดึกคืนนั้นมีอันธพาลมาชุมนุมกันรอบกระท่อม และร้องบอกชายชราให้ส่งคนเลวีออกมา “ส่งชายที่อยู่ในบ้านของแกมาให้เราสังวาส!” พวกนั้นยื่นคำขาด

คนในบ้านกลับเสนอว่าจะส่งตัวภรรยาน้อยของชายผู้นั้นไปแทน กลายเป็นว่าสตรีเคราะห์ร้ายชาวเบธเลเฮมถูกโยนออกไปหาฝูงชนผู้บ้าคลั่งเหล่านั้น รุ่งเช้า คนเลวีพบร่างภรรยาน้อยในสภาพเจียนตายนอนนิ่งอยู่ตรงธรณีประตู เขายกนางขึ้นหลังลากลับบ้าน แล้วตัดร่างนางออกเป็น 12 ชิ้น (ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องสิ่งที่ชายผู้นี้ทำ-ผู้เขียน)

คนเลวี แห่ง เอฟราอิม กับ ภรรยาน้อย ถูกแบก ขึ้น หลัง ลา
คนเลวีแห่งเอฟราอิมกับภรรยาน้อยของเขา, ผลงาน Alexandre-François Caminade (ภาพจาก Wikimedia Commons)

รูธกับโบอาส

สตรีม่ายนาม “รูธ” รักกับชายชื่อ “โบอาส” ญาติของสามีนาง แต่นางมีญาติฝั่งสามีผู้ล่วงลับที่ใกล้ชิดทางสายเลือดมากกว่าโบอาส แปลว่าชายผู้นั้นมีสิทธิ์ในตัวนางมากกว่าตามไปด้วย เคราะห์ดีที่ชายผู้นั้นไม่ต้องการความยุ่งยากและรับภาระดูแลสตรีม่าย รูธกับโบอาสจึงได้ร่วมหัวจมท้ายกัน นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องราวที่นำมาเสนอ และหญิงในเรื่องไม่ต้องเผชิญกับเรื่องร้าย ๆ หรือตอนจบแบบโศกนาฏกรรม…

อันที่จริง กล่าวได้ว่ามุมมองทางเพศในพระคัมภีร์มีความขัดแย้งกันเองไม่น้อย เพราะนอกจากกรณีข้างต้น ยังมีเรื่องราวความรักของคนเพศเดียวกันแทรกอยู่ในพระคัมภีร์ และพระเจ้าดูจะไม่ได้ใส่ใจต่อพฤติกรรมของพวกเขาสักเท่าใดนัก แต่กลับมีบทบัญญัติว่าการรักร่วมเพศเป็นบาปมหันต์ ชายที่สังวาสกับชายด้วยกันต้องโทษประหาร

นอกจากนี้ เรื่อง “เพศ” ของสตรีในแต่ละบทของ พระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม ก็มีความแตกต่างกัน (แบบสุดขั้ว) เช่นกรณีของโอนันกับคนเลวี โอนันปฏิเสธการสมสู่กับภรรยาของพี่ชายและถูกพระเจ้าลงทัณฑ์ เพราะการมีทายาทเพื่อสืบวงศ์ตระกูลของผู้ล่วงลับคือสิ่งสำคัญ และหญิงม่ายต้องมีผู้รับช่วงดูแลต่อ แต่คนเลวีผู้ส่งภรรยาน้อยของตนไปให้กลุ่มอันธพาลกระทำชำเราและสับนางออกเป็น 12 ชิ้น กลับไม่พบการถูกลงโทษใด ๆ จากพระเจ้าเลย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2566