นักเขียนญี่ปุ่น “พยายาม” ก่อรัฐประหาร คืนอำนาจพระจักรพรรดิ แต่กองทัพไม่เอาด้วย

ยูกิโอ มิชิมะ ปราศรัย 25 พฤศจิกายน ปี 1970 พยายาม รัฐประหาร จักรพรรดิ ฮิโรฮิโตะ
(ซ้าย) ยูกิโอ มิชิมะ ขณะกล่าวปราศรัยต่อนายทหารญี่ปุ่น, 25 พฤศจิกายน ปี 1970 (ภาพโดย Artanisen จาก the Dutch National Archives สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 3.0 NL), (ขวา) จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ

เมื่อปี 1970 ที่ประเทศญี่ปุ่น เคยมีความพยายามในการก่อ “รัฐประหาร” โดยกวีและนักเขียนชื่อดังท่านหนึ่งชื่อ ยูกิโอะ มิชิมะ (Yukio Mishima) เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นเรื่องราวสุดระทึกที่ชาวญี่ปุ่นติดตามและให้ความสนใจอย่างมาก เพราะมีการรายงานข่าวจากสื่อสำนักต่าง ๆ ภายในประเทศเป็นระยะตั้งแต่เขาเริ่มก่อการ ไปจนถึงตอนเจ้าหน้าที่เข้าคลี่คลายสถานการณ์ได้สำเร็จ ซึ่งมีฉากจบที่สร้างความตื่นตะลึงต่อทั้งชาวญี่ปุ่นและผู้คนทั่วโลกเลยทีเดียว

เส้นทางกวีและวิถีบูชิโด ของ ยูกิโอะ มิชิมะ

ก่อนเหตุการณ์ความพยายามก่อรัฐประหาร ยูกิโอะ มิชิมะ เป็นคนดังที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักและให้การยอมรับอย่างสูงในฐานะนักเขียนมากความสามารถและอนาคตไกล เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึง 3 ครั้ง และเข้าใกล้ความสำเร็จรายการนี้มาก ๆ ในปี 1968

อันที่จริง “ยูกิโอะ มิชิมะ” เป็นเพียงนามปากกาเท่านั้น แต่เป็นชื่อติดหูที่ผู้คนรู้จัก โดยชื่อจริงซึ่งเป็นชื่อแรกเกิดคือ “ฮิราโอกะ คิมิตาเกะ” เขาเกิดที่เขตชินจูกิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1925 ด้วยพื้นเพจากครอบครัวข้าราชการที่มีบรรพบุรุษเป็นซามูไร เขาจึงเป็นเด็กเรียนเก่งและสนใจงานวรรณกรรม โดยเฉพาะหนังสือวรรณกรรมตะวันตกและวรรณกรรมคลาสสิกของญี่ปุ่น

แววอัจฉริยะด้านวรรณกรรมของฮิราโอกะ คิมิตาเกะ ปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่องานเขียนของเขาได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่ยังเรียนมัธยมฯ และได้เป็นกองบรรณาธิการอายุน้อยที่สุดของชมรมวรรณกรรมของโรงเรียน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในทศวรรษ 1940 ฮิราโอกะ คิมิตาเกะ ไปคัดเลือกเป็นทหารตามหมายเรียกของทางการ แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่สามารถเข้าร่วมกองทัพได้ เพราะมีความเสี่ยงเรื่องวัณโรค เขาจึงกลับมาเรียนปริญญาตรีด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างนั้นก็เขียนหนังสือเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากถูกพ่อสั่งห้ามทำงานอดิเรกดังกล่าว เขาจึงใช้นามปากกา “ยูกิโอะ มิชิมะ” เรื่อยมาตั้งแต่นั้น เพื่อปิดการรับรู้จากผู้เป็นพ่อ

หลังเรียนจบ มิชิมะเริ่มชีวิตการทำงานในกระทรวงการคลัง ด้วยงานเขียนมากมายจากความสามารถด้านการประพันธ์อันฉกาจฉกรรจ์ตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนชื่อดัง ด้วยวัย 24 ปี มิชิมะ ตัดสินใจลาออกจากงานกระทรวงมาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ด้วยความโด่งดังและความตั้งใจอันแน่วแน่เป็นเหตุให้พ่อไม่สามารถขัดขวางเลูกชายกับอาชีพสายวรรณกรรมได้อีกต่อไป

ยูกิโอะ มิชิมะ ขณะอายุ 28 ปี, ถ่ายเมื่อ มกราคม ปี 1953 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

งานของมิชิมะมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ความตาย ความรุนแรงและการสูญเสีย ช่วงที่เขาประสบความสำเร็จสูงสุดคือทศวรรษ 1960 และชื่อ (นามปากกา) ของเขา แทบไม่ต่างจากซูเปอร์สตาร์คนหนึ่งของญี่ปุ่นเลย ทั้งยังมีประวัติชีวิตคู่ที่น่าสนใจด้วย แม้จะสมรสกับซูงิยามะ โยโกะ เมื่อปี 1958 และมีลูกด้วยกัน 2 คน แต่ก่อนหน้านั้นเขาเคยคบหากับโชดะ มิจิโกะ ก่อนจะเลิกรากันไป และต่อมาหญิงสาวผู้นี้มีคู่สมรสคือสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เธอคือ “สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ” นั่นเอง

เส้นทางชีวิตของมิชิมะแม้ดูผิวเผินไม่น่ากลายเป็นนักชาตินิยมสุดโต่งผู้นำการก่อรัฐประหารได้ แต่ค่านิยมและแนวคิดแบบอนุรักษนิยมของเขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว จากสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะครอบครัว เมื่อเป็นทายาทของตระกูลซามูไร มิชิมะ ก็ค่อย ๆ ซึมซับและสะสมความปรารถนาที่จะฟื้นฟู “วิถีบูชิโด” (Bushido) หรือจารีตของเหล่าซามูไร เห็นได้จากความคลั่งไคล้วรรณกรรมคลาสสิกญี่ปุ่นตั้งแต่วัยเยาว์

ในช่วงชีวิตที่ประสบความสำเร็จในฐานะกวีคนดัง มิชิมะมีงานอดิเรกคือเพาะกายและฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ โดยเฉพาะการฟันดาบตามวิถีบูชิโด ถึงแม้หลักจารีตดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับหลักวีรคติ (Romance) หรือวิถีอัศวินของยุโรปอย่างมาก แต่นักชาตินิยมอย่างมิชิมะหนักแน่นในการต่อต้านเรื่องความฝักใฝ่หรือการพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตกอย่างยิ่ง ถึงขนาดริเริ่มคิดถึงการฟื้นฟูระบอบจักรพรรดิ คืออัญเชิญองค์จักรพรรดิโชวะหรือจักรพรรดิฮิโรฮิโตะกลับมาครองอำนาจสูงสุดในญี่ปุ่นอย่างแท้จริงอีกครั้ง หลังถูกลดบทบาทเพื่อเปิดทางให้อิทธิพลตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกาเข้ามาควบคุมประเทศที่แพ้สงคราม

แนวคิดอนุรักษนิยมและความชาตินิยมขวาจัดของมิชิมะจึงชัดเจนและเปิดเผยขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขัดกับภาพที่ผู้ติดตามผลงานของเขาวาดไว้พอสมควรว่าเขาคือนักเขียนหัวก้าวหน้าคนหนึ่งที่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ

กระทั่ง ค.ศ. 1967 มิชิมะสมัครเป็นทหารใน กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (JSDF) เพื่อฝึกฝนตนเอง เขาใช้เวลาหนึ่งปีเรียนรู้ศาสตร์ของกองทัพก่อนออกมาตั้งกองกำลังเอกชนในชื่อ Tetenokai อุดมการณ์ของกองกำลังนี้คือการยึดหลักบูชิโด วิถีแห่งซามูไรญี่ปุ่น และเทิดทูนองค์พระจักรพรรดิ อาจดูเหมือนไม่มีพิษสงอะไร แต่ครั้งหนึ่งกองกำลังนี้มีคนหนุ่มเป็นสมาชิกอยู่เกือบ 100 ชีวิตเลยทีเดียว

กระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 มิชิมะพร้อมผู้ติดตามจำนวน 4 คน ได้แก่ มาซะคัตสึ โมริตะ, มาซาฮิโระ โอกาวะ, มาซะโยชิ โคงะ และฮิโรยะสึ โคงะ ได้บุกเข้าไปยึดศูนย์บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว พวกเขาจับผู้บัญชาการศูนย์ มาชิตะ คาเนโตชิ (Mashita Kanetoshi) เป็นตัวประกัน เหตุการณ์นั้นทำให้กองทัพหรือกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที มิชิมะ ออกมายืนกล่าวสุนทรพจน์กับทหารที่รวมตัวกันหลังสัญญาณฉุกเฉินถูกแจ้งออกไป เขาเริ่มปลุกระดมให้กองทัพก่อการรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยชุดปัจจุบัน เพื่อเชิญองค์พระจักรพรรดิขึ้นมาปกครองญี่ปุ่นอีกครั้ง

คำปราศรัยของเขายังรวมถึงการฉีกรัฐธรรมนูญของประเทศซึ่งถูกตราขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย อย่างไรก็ตาม การปลุกระดมดังกล่าวไม่เป็นผล ทหารที่ฟังเขาปราศรัยไม่เอาด้วยกับการก่อการดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น แม้เหล่าทหารจะนิ่งเงียบฟังถ้อยแถลงอันดุดันและร้อนแรงของมิชิมะ แต่สุดท้ายพวกเขาต่างโห่ร้องและหัวเราะเย้ยหยันสิ่งที่เขาพูด จนเขาไม่รู้จะไปต่ออย่างไรดี

สูญสิ้นและแตกสลาย

จะด้วยความอับอาย ผิดหวัง กลัวความผิด หรือความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์และวิถีแห่งบูชิโดก็ตาม มิชิมะ ตัดสินใจผละหนีจากลานปราศรัยเพื่อมากระทำ เซ็ปปุกุ (Seppuku) หรือ ฮาราคีริ (Hara-Kiri) ซึ่งเป็นการฆ่าตัวตายอย่างมีเกียรติตามวิถีซามูไร ด้วยการใช้มีดคว้านท้องตนเอง โดยพิธีนี้จะมีผู้ช่วยอีกคนทำหน้าที่บั่นศีรษะเพื่อไม่ให้ผู้กระทำเซ็ปปุกุเจ็บปวดทรมานเกินไป เรียกว่า ไคชาคุนิน (kaishakunin)

ปรากฏว่าหลังเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์และคลี่คลายจุดเกิดเหตุ พวกเขาพบว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน ได้แก่ ยูกิโอะ มิชิมะ ในวัย 45 ปี และมาซะคัตสึ โมริตะ เด็กหนุ่มผู้ติดตามในวัย 25 ปี ส่วนอีก 3 คนที่เหลือถูกจับกุมตัวไว้ เรื่องราวนี้ถูกสื่อมวลชนญี่ปุ่นเกาะติดรายงานอย่างใกล้ชิดและสร้างความตื่นตะลึงต่อผู้คนทั่วประเทศ

เล่ากันว่า หลังจากมิชิมะจัดการคว้านท้องตนเอง ซะคัตสึ โมริตะ ผู้ทำหน้าที่บั่นศีรษะของเขากลับล้มเหลวในการฟันให้จบในดาบเดียว แถมฟันซ้ำอีกถึง 2 ครั้ง แต่ศีรษะของเขาก็ยังไม่หลุดออกจากบ่า ฮิโรยะสึ โคงะ ผู้ติดตามอีกคนจึงรับหน้าที่ต่อ ศีรษะมิชิมะจึงลงไปอยู่กับพื้นด้วยดาบของฮิโรยะสึ โคงะ จากความละอายที่ทำภารกิจล้มเหลว มาซะคัตสึ โมริตะ ลงมือคว้านท้องตนเองต่อทันที ฮิโรยะสึ โคงะ จึงต้องบั่นคอเขาตามไปด้วย เหตุการณ์นี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่มีผู้เสียชีวิตด้วยการทำเซ็ปปุกุนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ยูกิโอะ มิชิมะ กลายเป็นความทรงจำสุดโลดโผดของชาวญี่ปุ่นทั้งในฐานะนักชาตินิยมสุดโต่งผู้พยายามก่อรัฐประหาร “ครั้งสุดท้าย” ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เป็นกวีและนักเขียนหัวก้าวหน้าสุดโด่งดังที่ฝากผลงานเป็นหนังสือนวนิยาย บทละคร และเรื่องสั้นอีกจำนวนมาก เขายังเคยแสดงภาพยนตร์และละครเวทีด้วย ถือว่ามีคุณูปการต่อวงการวรรณกรรมและการละครสูงมาก

แม้แต่เรื่องราว (ความพยายาม) ในการ รัฐประหาร ของเขายังกลายเป็นภาพยนตร์ในอีก 15 ปีต่อมาในชื่อ “Mishima: A Life in Four Chapters” ซึ่งค่อนข้างตลกร้ายทีเดียวที่หนังเรื่องนี้ถูกสร้างโดยค่าย Warner Bros. บริษัทภาพยนตร์จากฝั่งสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มิชิมะต่อต้านและปรารถนาจะปลดปล่อยแผ่นดินเกิดของตนจากอิทธิพลของพวกเขาจนตัวตาย…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Thomas Graham, (25th November 2020). BBC Culture : Yukio Mishima: The strange tale of Japan’s infamous novelist. (Online)

Encyclopaedia Britannica, (21th November 2022) : Mishima Yukio, Japanese author. (Online)

Kirsten Cather, (11th January 2021). The Conversation : Japan’s most famous writer committed suicide after a failed coup attempt – now, new photos add more layers to the haunting act. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2565