“Godzilla” ภาพสะท้อน “นิวเคลียร์” กับความขื่นขมของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

Godzilla ก็อดซิลลา สัตว์ประหลาด จาก ระเบิดนิวเคลียร์ สู่ ภาพยนตร์ ญี่ปุ่น และ ฮอลลีวูด ก็อดซิลลา จาก ตัวอย่าง ภาพยนตร์ Godzilla x Kong : The New Empire
ก็อดซิลลา จากตัวอย่าง ภาพยนตร์ Godzilla x Kong : The New Empire (ภาพจาก www.youtube.com/@WarnerBrosPictures)

“ก็อดซิลลา” หรือ “Godzilla” อสูรกายที่โด่งดังไปทั่วโลก ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ทั้งใน ญี่ปุ่น และฟากฮอลลีวูด ออกต่อสู้กับเหล่าสัตว์ประหลาดทั้งจากในโลกและนอกโลก ถูกสร้างให้เป็น “ฮีโร่ไอคอน” ที่ได้รับความนิยมสูงมาก แต่ Godzilla เวอร์ชันต้นฉบับตัวแรกสุดของโลก เชื่อกันว่ามี “ไอเดีย” ตรงกันข้ามกับ Godzilla อย่างทุกวันนี้

ก่อนจะมาเป็น ก็อดซิลลา

การทิ้ง ระเบิดนิวเคลียร์ ของสหรัฐอเมริกาที่ฮิโรชิมา (Hiroshima) และนางาซากิ (Nagasaki) ทำให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น ระเบิดสองลูกนั้นคือสัญลักษณ์แห่งความเลวร้ายของสงครามแต่กลับไม่ใช่แรงผลักดันที่สำคัญที่ก่อให้เกิด “Godzilla” เหตุการณ์นั้นคือกรณี “Lucky Dragon”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 1 มีนาคม ปี 1954 เรือจับปลาทูน่า Daigo Fukuryū Maru (แปลว่า Lucky Dragon) ล่าปลากลางมหาสมุทรแปรซิฟิก เป็นวันเดียวกับที่กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ทำการทดสอบ ระเบิดนิวเคลียร์ แต่เรืออยู่นอกเขตอันตรายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกประกาศไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การทดสอบนั้นมีพลังมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ผลของแรงระเบิดส่งมาถึงลูกเรือ Daigo Fukuryū Maru

เรือ Daigo Fukuryū Maru
เรือ Daigo Fukuryū Maru

ก่อนฟ้าสางลูกเรือ 23 คนเห็นแสงไฟที่แผดเผาอยู่บนท้องฟ้าและได้ยินเสียงดังเหมือนฟ้าผ่า อีกไม่นานเถ้าถ่านสีขาวก็เริ่มที่จะตกลงบนดาดฟ้าเรือ พวกเขาได้รับสารกัมตรังสีนานกว่า 3 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้รู้ตัวเลยแม้แต่น้อย เมื่อกลับเข้าชายฝั่ง พวกเขาบางคนเริ่มมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง และไม่นานก็เริ่มล้มป่วยอย่างหนัก และเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจ

จากเหตุการณ์นี้จึงทำให้เกิดแรงกระตุ้นของชาวญี่ปุ่นและคนทั่วโลกให้ตื่นกลัวต่อความรุนแรงและอันตรายของ ระเบิดนิวเคลียร์ และยังเป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Gojira ในปี 1954

การปรากฏตัวของ ก็อดซิลลา

ต้องยอมรับว่าภาพยนตร์ในจักรวาล Godzilla ต้นฉบับเวอร์ชันญี่ปุ่นนั้นก่อเกิดมาจากภาพสะท้อนปัญหาทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม มีที่มาจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อันมีจุดประสงค์ในการทำลายล้างมนุษยชาติ ในบริบทของ ญี่ปุ่น สัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ถูกเรียกกันว่า “ไคจู” (怪獣) หรือ หนึ่งในนั้นคือ Godzilla ที่มีรูปร่างสูงใหญ่หลายสิบหลายร้อยเมตร ยืนด้วยขาสองข้าง และมีขาหน้าหรือมือทั้งสองข้าง มีหางขนาดยาวและแข็งแรง ด้านหลังมีครีบคล้ายหนามแหลม ผิวหนังหนาคล้ายเกร็ดสัตว์เลื้อยคลาน และสามารถพ่นพลังงานออกมาจากปากได้อีกด้วย

Godzilla ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Gojira ในปี 1954 กำกับโดย อิชิโร ฮอนดะ (Ishiro Honda) สร้างโดยสตูดิโอโตโฮ (Toho Studio) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดเรื่อง The Beast from 20,000 Fathoms ในปี 1953 หลัง Gojira (1954) ออกฉายไม่นาน  ก็ได้รับความนิยมสูงมาก จนกระทั่งฮอลลีวูดซื้อลิขสิทธิ์ไปดัดแปลงฉายในสหรัฐอเมริกา Godzilla King of the Monsters ปี 1956 และ Godzilla 1985 ปี 1985

ก็อดซิลลา Godzilla ต้นฉบับ ญี่ปุ่น ปี 1954
Godzilla ต้นฉบับญี่ปุ่น ปี 1954

คำว่า Gojira นั้นมาจากคำว่า Gorira (ลิงกอริลลา) กับ Kujira (ปลาวาฬแต่ก็ไม่ชัดเจนว่าทีมงานผลิตภาพยนตร์คนใดตัดสินใจใช้มันกับสัตว์ประหลาดขนาดมหึมาตัวนี้ มีเรื่องเล่าว่า Gojira เป็นชื่อเล่นของทีมงานด้านเทคนิคการผลิตภาพยนตร์ แต่สรุปแล้วก็ไม่มีใครอธิบายได้อย่างแน่ชัดว่าชื่อนี้มีที่มาจากไหน หรือจากใคร

Gojira (1954) สร้าง Godzilla ขึ้นมาด้วยพื้นฐานของความน่าสะพรึงกลัว ภาพยนตร์เล่าถึงสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ที่จมเรือประมงกลางมหาสมุทร ผู้รอดชีวิตนำเรื่องไปเล่าขานจนกลายเป็นข่าวลือที่สร้างความหวั่นวิตก เมื่อ Godzilla บุกหมู่บ้านชายฝั่งก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของมัน Godzilla ถูกระบุว่า เป็นสัตว์โลกยุคไดโนเสาร์ที่อาศัยจำศีลอยู่ในถ้ำใต้ทะเล แต่เมื่อมีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ทำให้ถ้ำถูกทำลาย ปลุกสัตว์ร้ายให้ตื่นขึ้น จึงเสมือนเป็นการบีบให้ Godzilla ออกมาสู่โลกภายนอก

กรุงโตเกียว ประเทศ ญี่ปุ่น หลัง โดน ปูพรม ถล่ม ด้วย ระเบิดเพลิง ในสงครามโลกครั้งที่ 2
สภาพกรุงโตเกียวหลังโดนปูพรมถล่มด้วยระเบิดเพลิง ในช่วงวันที่ 9-10 มีนาคม 1945 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพสะท้อนภัยสงครามและนิวเคลียร์

ความกลัวและความวิตกกังวลของระเบิดปรมาณูนั้นปรากฎในหลาย ๆ ฉากของภาพยนตร์ การเปิดเรื่องมาด้วยเหตุการณ์ “เรือประมง” ก็สะท้อนภาพเหตุการณ์ “Lucky Dragon” ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์มีปรากฏข้อความบนแผ่นโฆษณาที่ร้านขายอาหารทะเลว่า “We don’t sell atomic bombdamaged tuna” รวมถึงบทสนทนาในภาพยนตร์ ในตอนที่มีความกังวลว่า Godzilla จะบุกโตเกียวแล้วทุกอย่างจะพังพินาศ ความว่า “I don’t want to die now, I am one of the few survivors from the Nagasaki bombing” ซึ่งล้วนแต่สะท้อนความหวาดกลัวของชาวญี่ปุ่นต่อระเบิดนิวเคลียร์อย่างชัดเจน

หัวเห็ด ของ ก็อดซิลลา คล้าย ระเบิดนิวเคลียร์ ที่ ถล่ม ฮิโรชิมา นางาซากิ ประเทศ ญี่ปุ่น
ลักษณะ “หัวเห็ด” ของ Godzilla ที่คล้ายกับระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ (ภาพจากบทความ Godzilla and the Japanese after World War II: From a scapegoat of the Americans to a saviour of the Japanese)

Yoshiko Ikeda ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยริทสุเมอิกัน (Ritsumeikan University) อธิบายว่า เมื่อ Godzilla บุกกรุงโตเกียวและทำลายเมืองจนย่อยยับ ภาพในภาพยนตร์เน้นบริเวณส่วนหัวของ Godzilla ให้มีลักษณะคล้าย “ระเบิดดอกเห็ด” ซึ่งสะท้อนภาพระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ การทำลายกรุงโตเกียวจนพังราบ บ้านเมืองเต็มไปด้วยไฟลุกโชน และซากปรักหักพัง สะท้อนให้เห็นภาพของกรุงโตเกียวที่เคยถูกสหรัฐอเมริกาปูพรมทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายหลังถล่มกรุงโตเกียวเสร็จแล้ว ภาพในภาพยนตร์ฉายให้เห็นถึงผลของการกระทำของ Godzilla นอกเหนือจากบ้านเมืองจะพังพินาศแล้ว ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบก็บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และฉากที่แสดงเด็กที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในโรงพยาบาล สร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้ชมโศกเศร้าไปกับชาวญี่ปุ่นในภาพยนตร์ที่ต้องเผชิญความโหดร้ายของ Godzilla และจากคำสัมภาษณ์ของผู้กำกับได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าสัตว์ประหลาด Godzilla ถูกออกแบบมาเพื่อรวบรวมลักษณะของระเบิดปรมาณูแบบที่มีชีวิต

นอกจากนี้ Yoshiko Ikeda ยังอธิบายอีกว่า ในตอนที่ Godzilla ทำลายกรุงโตเกียวแต่ไม่ทำลายหอคอยกลาง (Central Tower) นั้นสามารถตีความได้ว่า หอคอยกลางคือสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นที่ถูกรักษาไว้ให้คงสถานะเดิมและเป็นเพียงแค่ “สัญลักษณ์” ขณะที่ตึกรอบข้างหอคอยกลางคือสัญลักษณ์ถึงกองทัพและรัฐบาลทหารนิยมของญี่ปุ่นที่ถูกสหรัฐอเมริกาทำลายย่อยยับเช่นตึกในภาพยนตร์

ดังนั้น ก็อดซิลลา จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย สงคราม และ ระเบิดนิวเคลียร์ นั่นเอง

โปสเตอร์ Godzilla ก็อดซิลลา
Godzilla ฉบับฮอลลีวูด ปี 2019

แม้ว่า Godzilla ในภาพยนตร์ Gojira (1954) จะเป็นสัญลักษณ์ถึง “ภยันตราย” ของมนุษยชาติในหลายแง่มุม แต่ Godzilla ยุคต่อ ๆ มาก็แทบไม่เหลือสัญลักษณ์แบบต้นฉบับเหลือเท่าใดแล้ว โดยได้มีการแบ่งภาพยนตร์ Godzilla ออกเป็น 4 ยุคคือ ยุคโชวะ 1954-1975, ยุคเฮเซ 1984-1998, ยุคมิลเลเนียม 1999-2004 และยุคหลังปี 2004 ถึงปัจจุบัน

ด้วยความนิยมที่โด่งดังไปทั่วโลก ประกอบกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ก็อดซิลลา จาก “ผู้ทำลาย” จึงแปรเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้ปกป้อง” และเป็น “ฮีโร่ไอคอน” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Brian Merchant. (2013). A Brief History of Godzilla, Our Walking Nuclear Nightmare. Access 29 May 2019, from https://www.vice.com/en_us/article/9aaxze/godzilla-is-our-never-ending-nuclear-nightmare

Tim Martin. (2018). Godzilla: the incendiary – and very serious – history of Japan’s original King of the Monsters. Access 29 May 2019, from https://www.telegraph.co.uk/films/0/godzilla-incendiary-serious-history-japans-original-king/

Yoshiko Ikeda. (2019). Godzilla and the Japanese after World War II: From a scapegoat of the Americans to a saviour of the Japanese. Access 29 May 2019, from http://www.zurnalai.vu.lt/acta-orientalia-vilnensia/article/download/1096/5133/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2562