พระนาม “จุฬาลงกรณ์” ที่ปรากฎเป็นชื่อสิ่งอันเกินคาด น้ำยาจุฬาลงกรณ์-เด็กชื่อจุฬาลงกรณ์

รัชกาลที่ 5 บ่อน้ำ จุฬาลงกรณ์
รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์”

บทความนี้เรียบเรียงโดยคัดย่อจาก “‘จุฬาลงกรณ์ในต่างแดน และน้ำยาจุฬาลงกรณ์’” ของ นนทพร อยู่มั่งมี พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.. 2552 มีเนื้อหากล่าวถึงการปรากฏพระนาม จุฬาลงกรณ์เป็นชื่อสิ่งของ บุคคล ฯลฯ ในสถานที่ต่างๆ ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติและเป็นเครื่องระลึกถึงเหตุการณ์อันสำคัญนั้นๆ ดังนี้


เด็กจุฬาลงกรณ์

รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระนามจุฬาลงกรณ์ให้เป็นชื่อของเด็กชายชาวอิตาเลียนผู้หนึ่งนามว่า จีโน นาร์ ซิโซ ฟอร์ตูนาโต้ มาร์เตลลิ ในคราวเสด็จประพาสเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.. 2440 ทรงพบเด็กชายผู้นี้ขณะยังเป็นทารกกำลังรับการประกอบพิธีศีลจุ่ม (Baptism)ที่โบสถ์ซาน จิโอวานนี ทรงทราบว่าพ่อแม่ของเด็กผู้นี้มีฐานะยาจนทำให้ต้องไปทำงานในเมืองไม่สามารถมาร่วมประกอบพิธีได้ จึงฝากให้หญิงเพื่อนบ้านพามาประกอบพิธีแทน พระองค์พระราชทานเงินพร้อมกับรับเป็นก๊อดฟาเธอร์หรือพ่อทูนหัวตามธรรมเนียมของอิตาลีเพื่อช่วยดูแลกรณีที่พ่อแท้ๆ เสียชีวิตลง และได้พระราชทานชื่อว่า จุฬาลงกรณ์

หลังจากนั้นอีก 10 ปี รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองฟลอเรนซ์อีกครั้งหนึ่ง ทรงพบเด็กคนนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังความในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านว่า

เมื่อวานนี้พูดถึงเรื่องเคยไปเที่ยวที่วัดเมื่อคราวก่อนพบเขากำลังพาเด็กมาคริสเตนิง พ่อแม่แลยขอให้ลูกชื่อจุฬาลงกรณ์บ้าง ให้พ่อเปนกอดฟาเดอ ก็ได้ตกลงยอมรับ ชายอุรุพงษ์บ่นว่าอยากจะเห็นเด็กจุฬาลงกรณ์ ครั้นวันนี้เมื่อกลับมาถึงโฮเต็ลมีเด็กคนหนึ่งวิ่งเอาช่อดอกไม้มาส่งให้ มีแม่ตามมาด้วย บอกตัวเองว่าชื่อ จุฬาลงกรณ์ ชายอุรุพงษ์ดีใจกระไร ทายไว้แล้วว่าคงจะโตกว่าอุรุพงษ์ อายุมัน 10 ขวบ โตกว่าจริงๆ หาเงินได้ปอนด์เดียวให้ไปแต่เท่านั้น มากอดรัดปลื้มดี

จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา

เป็นชื่อของสถานที่อันเกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกพระองค์เสด็จประพาสศรีลังกาซึ่งอยู่ในเส้นทางเสด็จฯทรงแวะวัดศรีปรมารันทมหาวิหารที่เมืองกอลพร้อมกับทรงนมัสการปูชนียสถานภายในวัด  และพระราชทานชื่อแก่ศาลาหลังใหญ่ที่วัดว่า จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา

ต่อมาได้เสด็จฯไปยังวัดคังคารามมหาวิหาร  พระอารามแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของสมณทูตไทยสมัยรัชกาลที่ 4 มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สี) เป็นหัวหน้า เมื่อเสด็จฯ ถึงพระสังหรัตนติสสะเถระทูลถวายรายงานและอ่าน จุฬาลงกรณ์คาถา เป็นคาถาบาลีสรรเสริญพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 5 และที่วัดคังคารามมหาวิหารได้สร้างหลักหินสูง 99 นิ้ว เรียกว่า เสาหินจุฬาลงกรณ์ มีคำจารึกพระนามและการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวัดของพระองค์ท่าน

ถนนจุฬาลงกรณ์

ในทวีปยุโรปมีถนนชื่อเดียวกันที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง จำนวน 2 สาย โดยสายแรกเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปยังประเทศสวีเดนในปี พ..2440 ในครั้งนั้นพระองค์เสด็จฯ ทางชลมารคในแม่น้ำอินดัล เขตเบอร์เก (Berge) ทางภาคเหนือของสวีเดน มีประชาชนจำนวนมากมาคอยเฝ้ารับเสด็จตลอดสองฝั่งแม่น้ำ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสด็จฯ ทางชลมารคคราวนี้ ชาวบ้านบิสโกเด้น (Bisgården) เรียกถนนที่ได้สร้างขึ้นและเป็นสายที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ก่อนที่จะประทับเรือพระที่นั่งลิเดน (Liden) กลับ เพื่อเสด็จไปยังเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่จอดคอยอยู่ว่า ถนนจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร

สายที่ 2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ ปีพ.. 2450 ที่เมืองบาดฮอมบวร์ก (Bad Homburg) ประเทศเยอรมนี เพื่อรับการถวายการรักษาแบบสปา  อันขึ้นชื่อของเมืองแห่งนี้ ภายหลังการเสด็จฯ แล้วขนานนามว่า ถนนจุฬาลงกรณ์ในคัวร์ป๊ากอันเป็นที่ตั้งของศาลาไทย

(สามารถค้นหาภาพถนนจุฬาลงกรณ์ ที่ประเทศสวีเดนได้จาก https://www.si9am.com/)

บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์

สถานที่แห่งนี้เป็นหลักฐานถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนีในคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี พ..2450 พระองค์ทรงรับการถวายการรักษาพระวรกายตามคำแนะนำของแพทย์ประจำพระองค์ที่เมืองบาดฮอมบวร์ก ที่มีชื่อเสียงในด้านการบำบัดด้วยน้ำแร่ ในครั้งนั้นไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 กษัตริย์แห่งเยอรมนีได้ถวายบ่อน้ำแร่แก่พระองค์ท่านคือ บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ หรือโกนิคจุฬาลงกรณ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดบ่อน้ำด้วยพระองค์เองในวันที่ 21 กันยายน พ.. 2450 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ปรากฏความในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านดังนี้

เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อ แต่งตัวฟรอกโก๊ต บ่อนี้อยู่ข้างหลังไกซาวิลเลียมบาด เปนทุ่งหญ้า ยังไม่ได้ทำสวนออกไปถึง เขาได้ลงมือเจาะแต่เดือนเมษายน ลักษณที่เจาะเหมือนกับเจาะบ่อน้ำธรรมดา  แต่ใช้ท่อทองแดงเจาะช่องตาม้างท่อให้น้ำซึมเข้ามา แล้วฝังถังเหล็กลงไปพันปากท่อ เพื่อจะไม่ให้น้ำจืดเข้าไประคนกับน้ำสปริงนั้น ปากท่อทำเปนรูปใบบัว น้ำเดือดพลั่งๆ แต่น้ำที่นี่เปนน้ำเย็นทั้งนั้น ทดลองได้ความว่าเปนน้ำอย่างแรง เขาตั้งกระโจมสามขาหุ้มผ้าสูงคร่อมอยู่ที่บ่อ แล้วปลูกพลับพลาจตุรมุขหลังหนึ่ง มีร้านสำหรับคนร้องเพลง มีคนไปประชุมเปนอันมาก ผู้มีบันดาลศักดิ์อยู่ รอบกระโจมนั้นมีราษฎรเต็มไปทั้งนั้น เวลาแรกไปถึงร้องเพลงจบหนึ่งก่อน แล้วแมร์ตำบลฮอมเบิคอ่านแอดเดรส ให้ชื่อบ่อน้ำพุโกนิคจุฬาลงกรณ์แล้วเชิญไปเยี่ยมดูที่บ่อน้ำนั้น ตักน้ำขึ้นมาให้ชิมด้วยถ้วยเงินใบใหญ่แล้วกลับมาที่พลับพลาแมร์เรียกให้เชียร์คือ ฮุเรแล้วร้องเพลงอิกบทหนึ่ง เปนการสิ้นการเปิดบ่อเท่านั้น

ห้าง เอส.เอ.บี ถนนเจริญกรุง (ภาพจาพหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

น้ำยาจุฬาลงกรณ์

น้ำยาจุฬาลงกรณ์เป็นสินค้าของห้างเอส.เอ.บี  (S.A.B – Socie’ te’ Annonyme Belge Pour le Commerce et l’ Industrie au Saim) ก่อตั้งโดย ดร.เอ.เดอ คีเซอร์ (Dr. A. de Keyser) ชาวเบลเยียม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.. 2450 จำหน่ายเครื่องเพชรพลอยและสินค้าทั่วไปจากต่างประเทศ

ห้างเอส.เอ.บี ลงโฆษณาน้ำยาจุฬาลงกรณ์ในหนังสือพิมพ์ไทย วันอังคารที่ 27 ตุลาคม ร.. 127 ดังนี้

บริษัท เอช.เอ.บี แจ้งความมาให้ทราบ ด้วยห้างข้าพเจ้าเปนเอเยนต์จำหน่ายน้ำยาจุฬาลงกรณ์ของเมืองแฮมเบิก น้ำยาจุฬาลงกรณ์นี้ แก้โรคที่เกิดกินเพราะธาตุพิการ แก้ลมในลำไส้แก้แน่นแก้เฟ้อ แก้จุกเสียด แก้กระเพาะขี้พิการต่างๆ แก้โรคตับบวมม้ามบวมแก้ลมเข้าข้อ แก้ปวดกระดูก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนาม ให้เรียกว่า น้ำยาจุฬาลงกรณ์ เมื่อประพาศยุโรป ร,, 126

โฆษณา “น้ำยาจุฬาลงกรณ์” ในหนังสือพิมพ์ไทย วันอังคารที่ 27 ตุลาคม ร.ศ.127 (ภาพจาพหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

น้ำยาอิลิซาเบตต์ของประเทศฮัมเบิกนี้ โปรเฟศเซอร์ โมเซนกิอิลโบน ได้รับรองว่าเปนยาดี ใช้แก้โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกระเพาะอาหารฤาลำไส้พิการ มีอาการท้องผูก ท้องขึ้นแน่นอืด แก้พันระดึก โปร เฟศเซอ ซุลเลอเปอลิน ไดรับรองว่าน้ำยาอิลิซาเบตนี้เปนยาดี แก้โรคทุราวะสา แก้ไตพิการ แก้กระเพาะปัสสาวะเปนพิษ  โปรเซอร์ยอนดีกวนดอดแมกเก็บอิน ได้รับรองว่ายานี้ใช้แก้โรคตับบวมที่เกิดขึ้นจากตับพิการ แก้ปวดเมื่อยตามสันหลัง แก้คลื่นไส้ แก้ธาตุพิการ โปรเฟศเอวร์ ทาราไลติกศ์ แกลศโคยุนีเวอซิติ ได้รับรองว่ายานี้แก้โรคลม แลแก๊ศที่เกิดในท้องในลำไส้ แก้อุจจาระผูก แก้ปวดหัว แก้คนท้องใหญ่อ้วนฉุ แก้มดลูกพิการ แก้ท้องมารต่างๆ แก้โลหิตพิการ ยาน้ำอิลิซาเบตขนานนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสวยหายพระโรคทรงสบายเพราะยาน้ำชนิดนี้ เมื่อเสด็จประพาศยุโรป ร.. 126  มีขายที่ห้างยอร์ชอิศฟอกส์

……..

น้ำยาจุฬาลงกรณ์ตามที่โฆษณานั้น เกี่ยวพันกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ของรัชกาลที่ 5 หรือไม่ หากพิจารณารายละเอียดกล่าวถึงเมืองแฮมเบิก ที่ห้าง เอส.เอ.บี รับน้ำยาชนิดนี้มาจำหน่าย อาจตรงกับเมืองฮอมเบิคที่รัชกาลที่ 5 กล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ซึ่งเป็นเมืองเดียวกับชื่อเมืองบาดฮอมบวร์กที่พระองค์เสด็จฯ มารักษาพระวรกายด้วยน้ำแร่ และในขั้นตอนการรักษานั้นคณะแพทย์ถวายน้ำยาชนิดมีผลต่อหัวใจ ทำให้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยทรงบันทึกว่า

ข้อต้นยานี้ใช่วิไสยที่จะผสมทิ้งไว้หลายวัน ที่จะเอาเข้าไปใช้ในเมืองไทยไม่ได้กลายเสียแล้ว  แต่ที่ผสมมาให้ไว้ใช้ได้สองวัน พรุ่งนี้ต้องผสมใหม่ หมอซึ่งเปนแต่สถานประมาณไม่กล้าใช้ ต้องให้ท่านผู้รู้ หมอใหญ่เปนโปรเพสเซอเป็นผู้จัดการวางยาขนานนี้ การที่จะวางยานั้น ต้องตรวจหัวใจทุกครั้งควรวางจึงวาง ยานั้นอาจจะผ่อนอ่อนผ่อนแรงได้ ที่วางพ่อนี้เปนอย่างอ่อนแลยังกำหนดไม่ได้ว่าจะวางสักกี่ครั้งต้องรีดเลือดแลตรวจหัวใจดูทุกเวลาเช้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2561