ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
23 ตุลาคม “วันปิยมหาราช” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในเวลาต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ตามลำดับ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2396 เสด็จสวรรคต 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2453

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน อาทิ ทรงยกเลิกระบบไพร่ ระบบทาส ทรงยกเลิกธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย ส่งเสริมการศึกษา โดยจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ให้ราษฎรได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน ทั้งทรงปฏิรูปการปกครองการบริหารแบบใหม่ แบ่งงานต่างๆ ออกเป็นกระทรวง จัดการปกครองหัวเมืองให้มีประสิทธิภาพ ทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเกษตร การอนามัย การสาธารณูปโภค มีการสร้างถนน ทางรถไฟ การใช้โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา
ตลอดรัชสมัยได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ประเทศและประชาชนชาวไทย ทำให้ทรงเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนยิ่ง
ในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 40 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2451 ประชาชนจึงร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และถวายพระราชสมัญญานามว่า
“พระปิยมหาราช” หรือ พระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของทวยราษฎร์
เมื่อเสด็จสวรรคตไปแล้ว ประชาชนยังคงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี รัฐบาลและประชาชนได้พร้อมใจกันให้เป็น “วันปิยมหาราช” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์

อ่านเพิ่มเติม :
- 20 กันยายน พ.ศ. 2396 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5
- ความทรงจำอันทรงพลังเกี่ยวกับ “การเลิกทาส” ของพระปิยมหาราช
- “สำนัก” แหล่งเรียนรู้วิถีกุลสตรีชาววังของ “ฝ่ายใน” สมัยรัชกาลที่ 5
อ้างอิง :
หนังสือ “พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”. โดย วุฒิชัย มูลศิลป์ และคณะ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ตุลาคม 2561