ความทรงจำอันทรงพลังเกี่ยวกับ “การเลิกทาส” ของพระปิยมหาราช

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเลิกทาส
“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงประกาศเลิกทาส” ภาพบนเพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งอนันตสมาคม

เมื่อกล่าวถึง การเลิกทาส” ในสังคมไทย ความรับรู้ต่อเรื่องนี้มักผูกติดไว้กับ “พระปิยมหาราช” หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นบริบทการรับรู้ที่สยามกำลังเดินทางสู่ความเจริญก้าวหน้า พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจปลดเปลื้องความทุกข์ยากของเหล่าทาสให้กลายเป็นไท แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และพระราชประสงค์ที่จะให้บ้านเมืองเกิดความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ

เรื่องพระราชกรณีกิจเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ถูกผลิตซ้ำมานานนับศตวรรษ ตั้งแต่การเลิกทาสใน พ.ศ. 2448 เป็นต้นมา กระทั่งตกผลึกเป็นภาพจำสถิตอยู่ในความรับรู้ทั่วไป และเป็น “วาทกรรมทาสไทยกระแสหลัก” ที่ทรงอำนาจจนมิอาจหักล้างได้ แม้บางช่วงเวลาจะมีผู้สร้างชุดคำอธิบายใหม่ ๆ ขึ้นมาท้าทายก็ตาม

Advertisement

หนังสือ “ทาสไท[ย] อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ” ผลงานของ ดร. ญาณินี ไพมยวัฒน์ คืองานศึกษาความเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องทาสในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่การออก “พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก 124” (พ.ศ. 2488) จนถึงปัจจุบัน เป็นแนวทางการศึกษาเรื่องการเลิกทาสที่ต่างไปจากที่ได้เคยกระทำกันมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ทาสในมิติทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

ดร. ญาณินี เน้นไปที่การสร้างความรับรู้เรื่องทาสในสังคมไทย ผ่านปฏิบัติการทางวาทกรรมอันวางอยู่บนคำพูดและข้อเขียนที่สร้างความหมายให้แก่สิ่งต่าง ๆ ในสังคม กระทั่งตกผลึกมาเป็นความจริงในความรับรู้ของคนทั่วไป เช่น การศึกษาการสร้างความหมายการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ในงานขบวนแห่วันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2451 รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ทรงเห็นว่าไม่มีพระราชกรณียกิจใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการเลิกทาส พระองค์จึงจัดแสดงในขบวนแห่พิเศษครั้งนั้น ความน่าสนใจคือ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกมุ่งแสดงถึงผลงานอันเป็นความสมัยใหม่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นมา และจัดแสดงในกระบวนแห่ โดยเรียงลำดับกันทั้งหมด 68 กระบวนจากกระทรวงต่าง ๆ

ประวัติศาสตร์ไทยมักเห็นแต่ด้านที่โดดเด่นของความรับรู้เรื่องทาสและอยู่ในวาทกรรมของชนชั้นปกครอง การเลิกทาสเป็นเครื่องหมายถึงความกรุณาหรือกระทั่งอัจฉริยภาพในการจัดการกับทาส หากมีปัญหาขึ้นมา แม้กระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เรื่องการเลิกทาสก็ยังถูกนำมาใช้โฆษณาถึงอุดมการณ์ชาตินิยมและความเป็นไทยได้ รวมถึงใช้ตอบโต้ลัทธิคอมมูนิสต์และความคิดฝ่ายซ้ายในสังคมไทย

แต่ความจริงเรื่อง การเลิกทาส นั้นมีหลากหลายมิติและปริมณฑลทางสังคม ทำให้การตีความและการอ่านมีความแตกต่างกันไปได้ โดยข้อมูลเหล่านี้ถูกรวมรวมไว้ใน “ทาสไท[ย] อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ” แล้ว

ดร. ญาณินี ยังร่วมบอกเล่าถึงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องทาสในสังคมไทยผ่านวาทกรรมและการสร้างความหมายรูปแบบต่าง ๆ และชี้ให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนออย่างไรบ้าง?

ติดตามได้ในวิดีโอนี้ :

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566