สื่อฝรั่งเศสมึน! เอารูปกษัตริย์ลาวขึ้นข่าว “รัชกาลที่ 5 (แห่งสยาม) สวรรคต”

พระปิยมหาราช สวรรคต สื่อฝรั่งเศส กลับลงรูป พระเจ้าสักรินทราฤทธิ์ กษัตริย์ลาว

การสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้พสกนิกรของพระองค์ ที่ได้สูญเสีย “พระปิยมหาราช” อันเป็นที่รักของชาวสยามเป็นอย่างยิ่ง สื่อต่างประเทศต่างนำเสนอข่าวนี้ แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเมื่อสื่อฝรั่งเศสหลายฉบับกลับนำภาพ พระเจ้าสักรินทราฤทธิ์ มาลง แล้วใส่คำบรรยายใต้ภาพว่าเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไปได้!

จากข้อมูลของบทความ “วันสวรรคตรัชกาลที่ 5 ในภาพหลุดแห่งศตวรรษ” โดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม พ.ศ. 2559 กษัตริย์ลาว ที่ถูกสื่อฝรั่งเศสนำมาอ้างว่าเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามว่า พระเจ้าสักรินทราฤทธิ์ แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง ผู้ครองเมืองหลวงพระบาง ตรงกับสมัย รัชกาลที่ 5

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสประโคมข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ขึ้นหน้าหนึ่ง แต่พระรูปประกอบข่าวกลับเป็น พระเจ้าสักรินทราฤทธิ์ เจ้านครหลวงพระบาง (La Croix Illustrée, 30 Oct. 1910)
สื่อฝรั่งเศสลงรูปผิด ปล่อยไก่ตัวใหญ่!

ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อฝรั่งเศสก็น่าจะรู้จัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างดี ด้วยทั้งสองประเทศเคยต้องปะทะกันทางการเมืองกันมาแล้วหลายครั้งหลายครา?

ไกรฤกษ์ ได้อธิบายไว้ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ “ตั้งใจ” ของสื่อฝรั่งเศส แต่น่าจะเป็นเพราะการเลือกภาพของบุคคลที่หน้าตาคล้าย พระปิยมหาราช มาลงอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

โดยเฉพาะสื่อรายหนึ่งของฝรั่งเศสได้ปล่อยไก่ตัวใหญ่ โดยไปรายงานข่าวแสดงรูปพระเจ้าสักรินทราฤทธิ์ แล้วบอกว่าพระองค์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จสวรรคต ขณะเดียวกัน ก็แสดงพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 แล้วบอกว่า พระองค์คือกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสยาม!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “วันสวรรคตรัชกาลที่ 5 ในภาพหลุดแห่งศตวรรษ” เขียนโดยไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ตุลาคม 2559