สตรีลึกลับกับเครื่องประดับนับแสนชิ้น! ใครคือ “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” ?

เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี ที่ โคกพนมดี
โครงกระดูกหมายเลข 15 หรือ “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” (ภาพจาก Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี : Prachinburi National Museum)

“เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” หรือ โครงกระดูกหมายเลข 15 หลักฐานการมีชีวิตอยู่ของหญิงลึกลับที่ร่างถูกฝังลึกลงไปใต้ดินกว่า 2.5 เมตร พร้อมกับทรัพย์สินอันมีค่า (ของยุคนั้น) จำนวนมากมาย เธอมีชีวิตอยู่เมื่อราว 3,600 ปีมาแล้ว โครงกระดูกของหญิงรายนี้ถูกพบที่แหล่งโบราณคดี โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งพบหลักฐานการตั้งชุมชนของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 4,000 ปี มาแล้ว

ชุมชนโบราณปากแม่น้ำบางปะกง

ระหว่าง พ.ศ. 2527-2528 กรมศิลปากร ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอทาโก (The University of Otago) ประเทศนิวซีแลนด์ ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โดยมี ศาสตราจารย์ชาร์ล ไฮแอม (Charles Higham) และ นางรัชนี ทศรัตน์ เป็นผู้อำนวยการขุดค้นร่วม

การขุดค้นครั้งนั้นได้พบหลุมฝังศพและโครงกระดูกจำนวนมากถึง 154 โครง ฝังซ้อนทับกันร่วม 7 ยุคสมัย โดยเป็นของผู้คนราว 17-20 ชั่วรุ่น โครงกระดูกหมายเลข 15 เป็นหนึ่งในโครงกระดูกที่มีการขุดพบครั้งนั้น

เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี โคกพนมดี
โครงกระดูกเต็มตัวของ “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” (ภาพจาก Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี : Prachinburi National Museum)

ชุมชนโคกพนมดี มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่กลางท้องนา จึงมีสภาพคล้ายเกาะกลางทะเล หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ค้นพบในชุนชนแห่งนี้มีทั้ง ขวานหินขัด หินลับ ภาชนะดินเผา เปลือกหอย-ปู และโครงกระดูกมนุษย์

โคกพนมดี เป็นชุมชนโบราณที่ผู้คนดำรงชีพด้วยแหล่งอาหารจากทะเลและเป็นสังคมหาของป่าล่าสัตว์ ก่อนชุมชนจะขยายตัวจนเริ่มทำการเกษตรหรือเพาะปลูก ที่ตั้งของโคกพนมดีในระยะแรกน่าจะอยู่ใกล้ปากแม่น้ำบางปะกงบริเวณอ่าวไทย ซึ่งเต็มไปด้วยป่าชายเลนและแหล่งอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์ ก่อนระดับน้ำจะลดต่ำลง ผู้ชายของชุมชนจึงหยุดพายเรือออกหาปลา เห็นได้จากกระดูกส่วนบนที่แสดงถึงความแข็งแรงในการพายเรือมีมวลลดลงอย่างเฉียบพลันในยุคหนึ่ง

นอกจากนี้ โคกพนมดียังมีการแบ่งงาน-อาชีพ การทำภาชนะดินเผา ช่างฝีมือ ธรรมเนียมหรือพิธีการฝังศพ มีชนชั้นทางสังคม สังเกตได้จากเครื่องใช้ที่ฝังเพื่ออุทิศให้แก่ศพ รวมถึงมีการติดต่อกับชุมชนอื่น เพราะพบสินค้าหายากจากแหล่งห่างไกล เช่น งาช้าง ที่ทำเป็นเครื่องประดับ ลูกปัด และกำไล

จากการวิเคราะห์ทางโบราณคดี ผู้คนในชุมชนโคกพนมดีมีอายุเฉลี่ย 28 ปี 2 เดือน เพศหญิงสูงเฉลี่ย 153.78 เซนติเมตร เพศชายสูงเฉลี่ย 164.30 เซนติเมตร ช่วงอายุมากที่สุดอยู่ระหว่าง 45-49 ปี การพิสูจน์ทางโบราณคดียังพบการเสียชีวิตต้วยโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ของผู้คนจำนวนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถติดต่อทางพันธุกรรมได้

โครงกระดูกหมายเลข 15

โครงกระดูหมายเลข 15 เป็นหลุมศพของหญิงอายุประมาณ 35 ปี ฝั่งร่วมกับหลุมอื่นในสมัยที่ 5 ซึ่งพบที่ระดับความลึก 2.50 เมตร เป็นสมัยที่มีอายุประมาณ 3,500 – 3,600 ปีมาแล้ว อยู่ในสภาพนอนหงายเหยียดเท้าและหันหัวไปด้านทิศตะวันออกเหมือนหลุมศพอื่น ๆ ในแหล่งขุดค้น หลุมศพนี้มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 0.95 เมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่และระดับความลึกมากกว่าหลุมอื่น ๆ ในโคกพนมดี

ทั้งนี้ หลุมฝังศพในสมัยที่ 5 มีลักษณะการฝังศพที่แตกต่างไปจากสมัยอื่น ๆ เพราะไม่ได้ฝังเป็นกลุ่มติดกัน แต่ฝังในลักษณะหลุมเดี่ยวแบบเว้นระยะ โดยพบร่วมกับโครงกระดูกอีก 3 โครง เป็นโครงกระดูกผู้ชาย 1 โครง และโครงกระดูกทารกอีก 2 โครง เหนือโครงกระดูกหมายเลข 15 มีดินเทศ (ดินสีแดง ใช้โรยบนศพในพิธีฝังศพ) จำนวนหนี่งปกคลุมร่างกาย และมีแท่งดินเหนียวดิบจำนวนมากวางสุมบนลำตัวสูงถึงตำแหน่งที่เชื่อว่าเป็นปากหลุม ด้านล่างแท่งดินเหนียวและดินเทศนี้ เป็นโครงกระดูกของหญิงรายนี้และทรัพย์สินที่ถูกฝังพร้อมพิธีฝังศพของเธอ กลายเป็นหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ประกอบด้วย

หลุม ขุดค้น เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี
ตำแหน่งหลุมฝังศพทั้ง 3 หลุม ของสมัยที่ 5 (ภาพจาก Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี : Prachinburi National Museum)

– ฝาหอยพอก 1 ชิ้น

– หินดุ 1 ชิ้น เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการผลิตภาชนะดินเผา (รูปทรงคล้ายดอกเห็ด) พบบริเวณกระดูกหน้าแข้งข้างขวา

– เครื่องประดับศีรษะทำจากเปลือกหอย มีลักษณะเป็นแผ่นกลม เจาะรูทะลุตรงกลาง พบบริเวณหูข้างละ 1 อัน

– แผ่นวงกลมมีเดือยตรงกลาง ทำจากเปลือกหอยจำนวน 2 วง พบบริเวณไหล่ข้างละ 1 วง

– กำไลเปลือกหอย สวมที่ข้อมือซ้ายจำนวน 1 วง ถือเป็นกำไลวงแรกที่พบในโครงกระดูกจากการขุดค้นในประเทศไทย

– ภาชนะดินเผาถูกทุบให้แตกจำนวน 10 ใบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กระจายปกคลุมลำตัวตั้งแต่ต้นขาถึงปลายเท้า และ 2) อยู่บนกองแท่งดินเหนียวที่วางทับลำตัว บางใบมีรูปร่างต่างจากที่พบในหลุมศพอื่น

– ลูกปัดแบบตัวไอ ขนาดต่างกันไป จำนวน 950 เม็ด พบบริเวณหน้าอกและใต้แขน

– ลูกปัดเปลือกหอยแบบแว่นกลม จำนวนกว่า 120,000 เม็ด พบบริเวณส่วนหน้าอกและแผ่นหลัง สันนิษฐานว่าเป็นลูกปัดที่เย็บติดกับผ้าหรือเสื้ออย่างน้อย 2-3 ตัวที่คลุมร่างของเธออีกที

ลูกปัด เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี
ลูกปัดเปลือกหอยแบบแว่นกลม พบบริเวณส่วนหน้าอกและแผ่นหลังของ “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” (ภาพจาก Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี : Prachinburi National Museum)

ด้วยจำนวนเครื่องประดับและทรัพย์สมบัติจำนวนมากนี่เอง ทำให้โครงกระดูกหมายเลข 15 ถูกขนานนามว่า “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี”

การพบสิ่งของและเครื่องประดับมากมายขนาดนี้ ชี้ให้เห็นว่า เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี น่าจะเป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญชุมชนในสมัยนั้น บอกได้ถึงสถานะของผู้หญิงยุคนั้นว่าเป็นยุค “สตรีเป็นใหญ่” นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะกระดูกนิ้วมือที่ค่อนข้างแข็งแรงของเจ้าแม่แห่งโคกพนมดี นี่อาจเป็นผลจากการใช้มือนวดดินเพื่อปั้นหม้อ ประกอบกับการพบ “หินดุ” อุปกรณ์ทำภาชนะดินเผา จึงสันนิษฐานได้ว่า เธอน่าจะเป็นช่างปั้นหม้อ (ชั้นครู) ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการยืนยันการเปลี่ยนวิถีนักพายเรือมาเป็นนักเพาะปลูกของผู้ชายในชุมชนโบราณ และสถานะทางสังคมที่โดดเด่นของเจ้าแม่แห่งโคกพนมดี แต่นักโบราณคดียังไม่มีข้อสรุปว่า ผู้คนใน “โคกพนมดี” สืบเชื้อสายคนหาของป่าล่าสัตว์ตามแนวชายฝั่งมาแต่แรก หรือเป็นชาวนาที่อพยพจากแผ่นดินตอนในมาหากินกับท้องทะเลกันแน่

บทบาทหลักในชุมชน (นอกเหนือจากช่างปั้นหม้อ) ของ “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” จึงยังไม่มีข้อสรุปและยังเป็นปริศนาต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เพิ่มพันธ์ นนตะศรี, ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี: “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี”

วัชรี ชมภู, ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี: “โคกพนมดี แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งอ่าวไทย”

Thai PBS รากสุวรรณภูมิ “รากนี้มีเรื่องเล่า : เจ้าแม่โคกพนมดี สังคมผู้หญิงเป็นใหญ่”

แอนดูรว์ ลอว์เลอร์. (2564). 100 อัศจรรย์ทางโบราณคดี. National Geographic ฉบับภาษาไทย. ฉบับที่ 244 พฤศิจากายน: 54-55.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2565