พบโครงกระดูกโบราณอายุสามหมื่นปี ที่อินโดนีเซีย หลักฐาน “การผ่าตัดขา” ที่เก่าแก่ที่สุด

โครงกระดูก มนุษย์ โบราณ หลักฐาน การผ่าตัดขา โครงกระดูกโบราณ
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2020 เผยแพร่โดย Griffith University แสดงให้เห็นโครงกระดูกโบราณที่มีอายุเมื่อ 31,000 ปีก่อน กฝังอยู่ในหลุมศพในถ้ำเหลียง เตโบ (Liang Tebo) ในกาลิมันตันตะวันออก ​(East Kalimantan) บนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย (Photo by Tim MALONEY / GRIFFITH UNIVERSITY / AFP)

นักวิจัยพบ โครงกระดูกโบราณ อายุราว 31,000 ปี เป็นโครงกระดูกเพศชายถูกฝังในหลุมศพ เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึง การผ่าตัดขา ที่เก่าแก่ที่สุด หักล้างหลักฐานเดิมที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้

โครงกระดูกโบราณนี้ ถูกฝังอยู่ในหลุมศพในถ้ำเหลียง เตโบ (Liang Tebo) ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ​(East Kalimantan) บนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

ในช่วงแรกที่มีการขุดค้นพบ นักโบราณคดีและนักวิจัยพบว่า ส่วนของเท้าซ้ายนั้นหายไป และเศษกระดูกที่เหลือก็พบความผิดปกติด้วย จึงนำไปสู่ข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับชายผู้นี้ ?

โครงกระดูกโบราณ
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2020 เผยแพร่โดย Griffith University แสดงให้เห็น โครงกระดูกโบราณ ที่มีอายุเมื่อ 31,000 ปีก่อน กฝังอยู่ในหลุมศพในถ้ำเหลียง เตโบ (Liang Tebo) ในกาลิมันตันตะวันออก ​(East Kalimantan) บนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย (Photo by Tim MALONEY / GRIFFITH UNIVERSITY / AFP)

จากการตรวจสอบของ ดร. Melandri Vlok ได้ยืนยันว่า โครงกระดูกนี้มีลักษณะของการผ่าตัดที่ชัดเจน !

การตรวจสอบรายละเอียดของโครงกระดูกโบราณ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เปิดเผยว่า การผ่าตัดเกิดขึ้นเมื่อชายคนนี้ยังเป็นเด็ก มีร่องรอยของการรักษา และการเติบโตของกระดูกขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กชายมีการฟื้นตัว และมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกราว 6-9 ปี ครอบครัวหรือชุมชนในสมัยโบราณดูแลชายคนนี้มานานหลายปีจนกระทั่งเขาเสียชีวิต โดยอาจเสียชีวิตในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือวัย 20 ต้นๆ

ดร. Tim Maloney อีกหนึ่งในนักวิจัยอธิบายว่า เนื่องจากโครงกระดูกนี้แสดงสัญญาณว่า มนุษย์อายุสามหมื่นปีผู้นี้ได้รับการดูแลตลอดช่วงพักฟื้น และตลอดชีวิตที่เหลือหลังจากการผ่าตัด ดังนั้น นักโบราณคดีจึงมั่นใจว่า ร่องรอยของกระดูกที่หายไปเป็นผลมาจากการผ่าตัด มากกว่าการลงโทษหรือพิธีกรรมใด ๆ

ซึ่งเป็นการหักล้างการค้นพบก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การผ่าตัดแขนขาที่เก่าแก่ที่สุด คือ โครงกระดูกอายุ 7,000 ปี ที่ขุดค้นพบในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การผ่าตัดเกิดขึ้นได้เฉพาะในสังคมเกษตรกรรมที่มีการตั้งรกรากแล้วเท่านั้น

แต่การค้นพบใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า ในสังคมยุคหินที่มนุษย์ยังดำรงชีวิตแบบพเนจร เป็นสังคมของนักล่า กลับมีทักษะ การผ่าตัดขา และความรู้ทางการแพทย์ที่ซับซ้อนเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ สุขอนามัยในการผ่าตัด และการรักษาบาดแผล

นักวิจัยและโบราณคดียังคงจะต้องไขคำตอบต่อไปว่า มนุษย์โบราณเมื่อกว่า 31,000 ปีที่แล้ว ใช้กรรมวิธีอะไรในการผ่าตัด เครื่องมือผ่าตัดด้วยหินชนิดใดที่สามารถนำมาใช้ได้ในช่วงเวลาขณะนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Victoria Gill. (2022). Earliest evidence of amputation found in Indonesia cave. Access 12 September 2022, from https://www.bbc.com/news/science-environment-62823559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2565