ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
มาชูปิกชู (Machu Picchu) หรือ “ภูเขาโบราณ” ในภาษาของคนพื้นเมือง ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1911 โดย ไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยเยล มาชูปิกชูเป็นซากอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ของชาวอินคา ซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางภูมิประเทศตระการตาเท่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งเหนือยอดเขา กับความสูง 2,430 เมตรจากระดับน้ำทะเล รายล้อมด้วยหน้าผาสูงชันกว่า 600 เมตร มาชูปิกชูคือสิ่งแสดงถึงความรุ่มรวยทางสถาปัตยกรรมและภูมิปัญญาของชาวอินคา บรรพบุรุษของชาวเปรูอย่างแท้จริง
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้เป็นเทวสถานหรือพระราชวังของชนชั้นสูงมากกว่าชุมชนเมืองจริง ๆ เพราะเมื่อวิเคราะห์จากระยะห่างจากเมืองหลวงโบราณของชาวอินคาอย่างกรุงกุสโก (Cusco) ที่อยู่ห่างไกลออกไป มาชูปิกชูน่าจะเหมาะสำหรับเป็นที่พักตากอากาศสำหรับให้จักรพรรดิอินคามาประกอบพิธีกรรมและพักผ่อนหย่อนใจพร้อมเหล่าพระราชวงศ์และข้าราชบริพาร
ทีมนักวิชาการ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเยล ได้วิเคราะห์ดีเอ็นเอ และศึกษาจีโนมของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่มาชูปิกชู การวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพลเมืองของมาชูปิกชู หรืออาจเรียกว่าเป็นข้าราชบริพารของชนชั้นสูงชาวอินคา พวกเขามาอยู่อาศัย รับใช้ชนชั้นสูง ดูแลนครเหนือขุนเขา และเสียชีวิตอยู่ที่นี่
การค้นพบสำคัญคือ อดีตเทวสถานและที่พักตากอากาศของพระราชวงศ์อินคาที่มีอายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 นี้ เคยเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีพลเมืองจากดินแดนห่างไกลต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิอินคา
ข้อมูลทางพันธุศาสตร์อธิบายความหลากหลายทางพันธุกรรมของผู้คนที่ถูกฝังอยู่ในมาชูปิกชู รวมถึงอาณาบริเวณรอบ ๆ กรุงกุสโก เมืองหลวงเก่าของอินคา ประกอบงานศึกษาของมหาวิทยาลัยเยลตั้งแต่ปี 2021 ทำให้พบว่ามาชูปิกชูอาจเก่าแก่กว่าคริสต์ศตวรรษที่ 15 ด้วย
ริชาร์ด เบอร์เกอร์ (Richard Burger) นักโบราณคดีและหัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า “การวิเคราะห์ดีเอ็นเอไม่เพียงปะติดปะต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่ามีผู้สืบเชื้อสายจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากมายภายใต้การปกครองของพวกอินคาเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงถิ่นกำเนิดอันหลากหลายกว่าที่เราเคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับผู้คนเหล่านี้ ที่มาจากทั่วจักรวรรดิ (อินคา)”
“การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่า พลเมืองของมาชูปิกชูมีความแตกต่างกันอย่างมาก ประกอบด้วยคนที่มีบรรพบุรุษทางพันธุกรรมสืบย้อนไปยังกลุ่มต่าง ๆ จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิอินคา ตั้งแต่บริเวณชายฝั่ง ที่ราบสูง และในแอมะซอน”
นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังร่วมกันศึกษาประดิษฐกรรมและซากโครงกระดูกมนุษย์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดนิทรรศการ อนุรักษ์ และเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ชนชั้นสูงชาวอินคาผู้ครอบครองมาชูปิกชูนั้นสืบเชื้อสายจาก จักรพรรดิปาชาคูติ (Pachacuti) ผู้สถาปนาจักรวรรดิอินคา พระราชวงศ์จะมาเยือนมาชูปิกชูเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่ที่นี่มีข้าราชบริพารทั้งพลเมืองเดิมและผู้ติดตามที่ถูกปล่อยให้ประจำอยู่ที่นี่ตลอดทั้งปี เพื่อดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ผู้รับใช้เหล่านี้ ผู้ชายเรียกว่า “ยานาโคนา” (Yanacona) ส่วนผู้หญิงเรียกว่า “อักญา” (Aglla) พวกเขาถูกนำตัวมาจากดินแดนต่าง ๆ ทั่วละตินอเมริกาในเขตการปกครองของจักรวรรดิอินคา และเชื่อว่าได้รับสิทธิพิเศษเทียบเท่าประชาชนทั่วไปด้วย
นักวิจัยศึกษาข้อมูลจากดีเอ็นเอของโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ถูกฝังไว้ที่มาชูปิกชู โดยเชื่อว่าพวกเขาคือยานาโคนาและอักญา ผู้ได้รับมอบหมายให้รับใช้ราชวงศ์อินคา จำนวน 34 ร่าง รวมถึงโครงกระดูกจากเมืองคุสโกอีก 34 ร่าง เพื่อเปรียบเทียบกัน
ลูซี่ ซาลาซาร์ (Lucy Salazar) หัวหน้าทีมวิจัย จากภาควิชามานุษยวิทยาแห่งมหาวิทลาลัยเยล กล่าวว่า “ผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายคือเราพบว่าผู้ดูแล (มาชูปิกชู) หลายคนมีเชื้อสายของชาวแอมะซอน และประมาณหนึ่งในสาม มีดีเอ็นเอสืบไปถึงบรรพบุรุษชาวแอมะซอนของพวกเขา”
นักวิจัยกล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดอีกประการหนึ่งคือ หลายคนมีบรรพบุรุษร่วมกันที่มาจากภูมิภาคอันห่างไกลในละตินอเมริกา ตั้งแต่ลุ่มน้ำแอมะซอน ที่ลุ่มในเอกวาดอร์ และโคลัมเบีย พวกเขาสมรสข้ามเผ่า แต่งงานข้ามวัฒนธรรม และมีลูกหลานด้วยกัน ณ สถานที่อันตระการตาแห่งนี้ สิ่งนี้บ่งชี้ว่าพลเมืองของมาชูปิกชูคือกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่พบได้ในชุมชนเกษตรกรรมแบบทั่ว ๆ ไป ที่มักอยู่เป็นหลักแหล่งและไม่ค่อยมีการผสมปนเปทางพันธุกรรมแบบนี้
ลาร์ส เฟห์เรน-ชมิทซ์ (Lars Fehren-Schmitz) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ให้ข้อมูลว่า “การศึกษานี้ไม่ได้มุ่งสำรวจชีวิตของเหล่า ‘เชื้อพระวงศ์’ หรือชนชั้นสูงทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกพามายังมาชูปิกชูเพื่อเป็นข้าราชบริพาร หรืออยู่อาศัยที่นั่น และดำรงชีวิตอยู่ในสถานที่ดังกล่าวจริง ๆ ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับชีวิตของพลเมืองที่มีความหลากหลายสูง ทั้งตัวบุคคลและครอบครัวของพวกเขา ภายใต้นโยบาย (บังคับ) ย้ายถิ่นฐาน และการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวอินคา”
ผู้วิจัยยังพบข้อเท็จจริงที่ว่า ในบรรดาโครงกระดูกมนุษย์ที่มาชูปิกชูนั้น มีไม่กี่คนที่มีถิ่นฐานจากศูนย์กลางจักรวรรดิอินคา หุบเขาบริเวณกรุงกุสโก และภูมิภาคแถบทะเลสาบติติกากาที่อยู่ไม่ไกลกัน สุสานทั้ง 4 แห่งที่มาชูปิกชูยังไม่ได้ถูกจัดระเบียบตามพื้นเพของคนเหล่านี้ด้วยซ้ำ แม้จะฝังอยู่ในถ้ำฝังศพแห่งเดียว โครงกระดูกมนุษย์โบราณเหล่านี้ยังแสดงออกถึงภูมิหลังทางพันธุกรรมที่หลากหลายมาก ๆ อยู่ดี
ริชาร์ด เบอร์เกอร์ กล่าวส่งท้ายว่า “ผลการศึกษาเหล่านี้บ่งชี้ว่า มาชูปิกชู เป็นชุมชนหลากชาติพันธุ์ของผู้คนต่างถิ่นอาศัย มาผสมปนเปกัน และถูกฝังไว้ด้วยกันที่นี่”
อ่านเพิ่มเติม :
- สุดยอดการค้นพบ 10 หลักฐาน “โบราณคดี” เปลี่ยนโลก
- “มาชูปิกชู” ที่หายสาบสูญก่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮิต มันถูก “ไฮแรม บิงแฮม” ค้นพบได้อย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
BBC NEWS ไทย. มาชูปิกชูเคยเป็นที่ตั้ง “ชุมชนอินเตอร์” มีคนต่างชาติพันธุ์อยู่หนาแน่น. 1 สิงหาคม 2566. จาก https://www.bbc.com/thai/articles/czkpg7d2y13o
Evrim Yazgin, Cosmos Magazine. DNA reveals diverse community in Lost City of the Incas. July 27, 2023. From https://cosmosmagazine.com/history/archaeology/machu-picchu-dna-inca/
Jim Shelton, YaleNews. DNA analysis offers new insights into diverse community at Machu Picchu. july 26, 2023. From https://news.yale.edu/2023/07/26/dna-analysis-offers-new-insights-diverse-community-machu-picchu
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2566