สุดยอดการค้นพบ 10 หลักฐาน “โบราณคดี” เปลี่ยนโลก

หลักฐาน โบราณคดี สุสาน จิ๋นซีฮ่องเต้ จีน
หลุมจัดแสดงหุ่นทหารดินเผาภายในสุสานจิ๋นซี

สุดยอดการค้นพบ 10 หลักฐาน “โบราณคดี” เปลี่ยนโลก

บนโลกใบนี้ มีการจัดอันดับการค้นพบ หลักฐาน ทาง “โบราณคดี” อยู่หลายครั้ง เช่น แอนติเพทรอส ไซดอนิออส (Antipatros Sidonios) นักปราชญ์และกวีชาวกรีก ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 2 ของคริสตกาล เป็นผู้ริเริ่มการจัดอันดับ 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคโบราณ ที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง มีอายุตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล-ศตวรรษที่ 2 โดยพิจารณาจากความสวยงามและความมหัศจรรย์ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม

Advertisement

จากยุคสมัยแรกเริ่มอารยธรรมโลกในแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ประเทศอียิปต์ ถึงยุคความรุ่งเรืองของอารยธรรมกรีกโบราณ และยุคสมัยอาณาจักรโรมันเรืองอำนาจ อาทิ พีระมิดแห่งเมืองกิเซห์ สวนลอยบาบิโลน เทวรูปซีอุส สุสานของกษัตริย์มอโซลุส โบสถ์แห่งอาร์เทมิส เทวรูปโคโลสซุส ประภาคารอเล็กซานเดรีย

หลังจากนั้นก็มีการจัดอันดับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในมิติต่างๆ ตามมา

ดร. แพทริก ฮันต์ (Ph.D. Patrick Hunt) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงลุกขึ้นมาจัดอันดับบ้าง ทว่าการจัดอันดับของฮันต์ไม่ได้เน้นที่ความใหญ่โต อลังการของสิ่งก่อสร้าง แต่เลือกที่จะจัดอันดับการค้นพบ “หลักฐาน” ทาง “โบราณคดี” ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาประวัติศาสตร์โลก และสร้างคุณูปการมากมายให้กับแวดวงวิชาการ

ฮันต์ได้คัดเลือกการค้นพบ 10 อย่าง และรวบรวมไว้ในหนังสือ Ten Discoveries that Rewrote History ซึ่งการค้นพบเหล่านี้ถือเป็นการไขปริศนาอันดำมืดของโลกโบราณให้ค่อยๆ กระจ่าง ทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิต ภาษา และวัฒนธรรมของคนในยุคนั้น ซึ่ง 10 สุดยอดการค้นพบ เหล่านี้ ได้แก่

1. แผ่นหินโรเซตตา (The Rosetta Stone): กุญแจไขประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ผ่านอักษรภาพฮีโรกลิฟฟิก

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1799 ซึ่งเป็นช่วงที่อียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ร้อยเอกปิแอร์ ฟรองซัวส์ บูชาร์ด (Captain Pierre-Francois Bouchard) วิศวกรประจำกองทัพบก ได้ค้นพบแผ่นหินบะซอลต์สีดำแผ่นหนึ่งโดยบังเอิญ (บ้างว่าเป็นหินแกรนิต) ขณะคุมงานก่อสร้างอยู่ที่เมืองโรเซตตา แผ่นหินนี้น้ำหนักราว 760 กิโลกรัม บนแผ่นหินแบ่งจารึกออกเป็น 3 ตอน และมีอักษรจารึกอยู่ทั้งหมด 3 ชนิด คือ กรีกโบราณ เดโมติก และฮีโรกลิฟฟิก จากนั้นไม่นานแผ่นหินดังกล่าวก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “แผ่นหินโรเซตตา” เมื่อตกไปอยู่ในมือของอังกฤษ และถูกนำไปไว้ที่บริติชมิวเซียม ใน ค.ศ. 1802

แผ่นหินโรเซตตา
แผ่นหินโรเซตตา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่บริติชมิวเซียม

การที่แผ่นหินโรเซตตามีอักษร 3 แบบจารึกไว้ในแผ่นเดียวกันทำให้ง่ายต่อการอ่านและตีความอักษรฮีโรกลิฟฟิก ซึ่งเป็นปริศนากว่าพันปี เนื่องจากตัวอักษรของชาวอียิปต์โบราณมีวิวัฒนาการแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ฮีโรกลิฟฟิก ฮีราติก เดโมติก และคอปติก ไล่เรียงจากอักษรภาพไปจนถึงอักษรที่มีความเป็นพยัญชนะมากขึ้นในยุคหลัง ดังนั้นนักวิชาการที่สามารถอ่านอักษรยุคหลัง ก็จะสามารถถอดความเทียบเคียงอักษรฮีโรกลิฟฟิกฟิกบนแผ่นจารึกนี้ได้

โทมัส ยัง (Thomas Young) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นคนแรกที่เริ่มถอดรหัสแผ่นหินโรเซตตา และสามารถถอดรหัสอักษรเดโมติกได้ใน ค.ศ. 1814 ทว่าก่อนจะถอดความอักษรฮีโรกลิฟฟิกสำเร็จ เขาก็เสียชีวิตเสียก่อน

ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลิยง (Jean-Francosis Champollion) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เป็นผู้สานต่องานที่ โทมัส ยัง ทำค้างไว้ กระทั่งสามารถถอดความอักษรฮีโรกลิฟฟิกได้สำเร็จ ซึ่งใจความอักษรที่สลักลงไปบนแผ่นหินนี้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อ 196 ปีก่อนคริสตกาล โดยนักบวชในเมืองเมมฟิสช่วยกันทำจารึกนี้ขึ้นมาเพื่อสรรเสริญฟาโรห์ปโตเลมีที่ 5 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่สามารถแผ่ขยายการปกครองไปถึง ซีเรีย ปาเลสไตน์ หรือแม้กระทั่งเอเชียไมเนอร์ (ตุรกี)

แผ่นหินโรเซตตาถือเป็นกุญแจไขปริศนาอักษรฮีโรกลิฟฟิกของชาวอียิปต์ และทำให้นักวิชาการสามารถตีความอักษรโบราณที่จารึกอยู่ตามพีระมิด หลุมฝังศพ และจารึกต่างๆ ในยุคอารยธรรมแรกเริ่มของชาวอียิปต์เมื่อหลายพันปีก่อนคริสตกาล

2. ทรอย (Troy): ไขปริศนาเรื่องเล่าของโฮเมอร์ และประวัติศาสตร์กรีก

เรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของสงครามกรุงทรอย ในมหากาพย์อิลเลียด (The Illiad) ที่ โฮเมอร์ (Homer) กวีชาวกรีกแต่งขึ้นเมื่อราว 850 ปีก่อนคริสตกาล นับว่าเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของโลกที่สอดแทรกทั้งความสนุกสนาน วัฒนธรรมและประเพณียุคโบราณ รวมถึงความกล้าหาญของบรรดานักรบทั้งหลาย หากนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงทรอยซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในดินแดนเอเชียไมเนอร์ (ตรงกับประเทศตุรกี ในปัจจุบัน) เป็นเพียงจินตนาการของโฮเมอร์เท่านั้น

แต่ใน ค.ศ. 1870 แวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็มีอันต้องตื่นตะลึง เมื่อเริ่มมีการขุดค้นและพบเมืองซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นกรุงทรอย ตามเรื่องราวในมหากาพย์ของโฮเมอร์ นักประวัติศาสตร์หลายคนค้นคว้าซากเมืองโบราณในแถบทะเลอีเจียนและประเทศตุรกีเป็นเวลาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะเนินดินสูงที่เรียกว่า “ฮิสซาร์ลิก (Hissarlik)” ซึ่งเชื่อกันว่าเนินดินนี้กลบฝังเมืองโบราณที่ถูกทำลายไปเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา

ภาพวาด ภูเขาไฟวิซุเวียส ระเบิด ทำลายเมือง ปอมเปอี
ภาพเขียนภูเขาไฟวิซุเวียส ระเบิด ทำลายเมืองปอมเปอี และเฮอร์คิวเลเนียม โดยจอห์น มาร์ติน ค.ศ. 1821 (ภาพจาก Tate Britain)

ทว่าก็ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันว่าที่แห่งนี้คือกรุงทรอย กระทั่งใน ค.ศ. 1870 ไฮน์ริช ชไลมานน์ (Heinrich Schliemann) มหาเศรษฐีเชื้อสายเยอรมัน ตัดสินใจทุ่มทุนเพื่อขุดค้นเนินฮิสซาร์ลิกอย่างละเอียด กระทั่งในที่สุดเขาก็ค้นพบเมืองในตำนาน ซึ่งเคยมีการสร้างซ้อนทับเมืองเดิมถึง 10 ชั้น โดยชั้นที่ 1 หรือ ทรอย 1 นั้นสร้างเมื่อเกือบ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือมีอายุราว 5,000 ปี ส่วนชั้น ทรอย 10 หรือชั้นบนสุดนั้น คาดว่าชาวโรมันสร้างเป็นที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อราว 1,000 ปีที่ผ่านมา

สำหรับชั้นที่มีอายุใกล้เคียงกับกรุงทรอยในมหากาพย์อีเลียดคือชั้นที่ 7 ซึ่งมีอายุราว 3,000  ปี การค้นพบครั้งนี้ทำให้โลกได้รู้จักแหล่งอารยธรรมโบราณอันยิ่งใหญ่และขุมสมบัติล้ำค่า ซึ่งมีทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากเงินบริสุทธิ์และทองคำ รวมทั้งเครื่องประดับและอัญมณีต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งและเส้นทางการค้าที่เจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

3. ห้องสมุดอัสซีเรีย ในเมืองโบราณนิเนเวห์ (Nineveh’s Assyrian Library):เปิดประตูสู่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

เมืองนิเนเวห์ เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำไทกริส ปัจจุบันคือบริเวณที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองโมซูล ประเทศอิรัก ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอัสซีเรีย (Assyrian Empire) ซึ่งก่อตั้งขึ้นราว 900-700 ปีก่อนคริสตกาล และแพร่ขยายอาณาเขตครอบคลุมไปถึงแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาระเบียและอาร์เมเนีย

เมืองโบราณแห่งนี้ถูกอาณาจักรบาบิโลเนียและชนชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นศัตรูกับอัสซีเรียเข้ายึดครองและทำลายเมื่อ 612 ปีก่อนคริสตกาล ในปี ค.ศ. 1843 ปอล เอมีล โบตา (Paul Emile Botta) นักโบราณคดีและนักการทูตชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบเมืองนิเนเวห์

ทว่าคนที่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองทางด้านวรรณคดีของดินแดนแถบนี้ก็คือ ออสเตน เฮนรี่ ลายาร์ด (Austen Henry Layard) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ลายาร์ดพบห้องสมุดหลวงของกษัตริย์อาซูร์บานีปาล (The Royal Library of Ashurbanipal) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรอัสซีเรีย พระองค์เป็นทั้งนักรบ นักปกครอง นักวิชาการ และเป็นผู้อุปถัมภ์งานด้านศิลปะและการศึกษา ห้องสมุดแห่งนี้รวบรวมงานเขียนที่เป็นแผ่นจารึกต่างๆ ไว้กว่า 22,000 แผ่น ไม่เพียงเฉพาะแผ่นจารึกในภาษาอัสซีเรียเท่านั้น แต่ย้อนหลังไปถึงจารึกโบราณของอาณาจักรอัคคาเดียและสุเมเรียเลยทีเดียว

จารึก มหากาพย์ กิลกาเมช หลักฐาน ทาง โบราณคดี ที่กล่าวถึง ตำนาน น้ำท่วมโลก
จารึกมหากาพย์กิลกาเมช ตำนานน้ำท่วมโลกที่เก่าแก่ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย

หลักฐานทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งคือ มหากาพย์กิลกาเมช (Gilgamesh) จารึกแผ่นดินเหนียว 12 แผ่น ว่าด้วยตำนานน้ำท่วมโลกที่เก่าแก่ของเมโสโปเตเมีย เป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่ามหากาพย์เรื่องนี้มีกำเนิดมาจากตำนานกษัตริย์สุเมเรีย และบทกวีเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อว่า กิลกาเมช  ซึ่งเป็นต้นแบบของมหากาพย์หลายเรื่องในยุคหลัง รวมถึงมีอิทธิพลต่อมหากาพย์โอดิสซีย์ (Odyssey) ของโฮเมอร์ ส่วนตำนานที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกก็ยังคล้ายคลึงกับตำนานน้ำท่วมโลกของโนอาห์ ในพระคัมภีร์ไบเบิลด้วย

4. สุสานของยุวกษัตริย์ทุตอังคามุน (King Tut’s Tomb): กษัตริย์คือ “สมมติเทพ”

การค้นพบ หลักฐาน “โบราณคดี” ครั้งยิ่งใหญ่ยังมีอีก เช่น ใน ค.ศ. 1907 หลังจากทีมสำรวจของ ธีโอดอร์ เอ็ม. เดวิส (Theodore M. Davis) ทนายความและนักสำรวจชาวอเมริกัน ค้นพบสุสานของฟาโรห์โฮเร็มเฮบ (Horemheb) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 18 ในบริเวณ “หุบผากษัตริย์” (Valley of the Kings) พวกเขายังไม่ได้สำรวจทางเข้าสุสานขนาดเล็กที่สลักชื่อว่า ทุตอังคามุน (Tutankhamun)

ทว่าหลายปีต่อมา แวดวงไอยคุปต์วิทยาก็พบว่าสุสานยุวกษัตริย์ทุตอังคามุนที่เดวิสพบยังไม่ใช่สุสานที่แท้จริง

ต่อมาใน ค.ศ. 1922 โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก ลอร์ดคาร์นาวอน (Lord Carnavon) เศรษฐีชาวอังกฤษ ให้ร่วมขุดค้นสุสานในหุบผากษัตริย์ เป็นผู้ค้นพบสุสานที่แท้จริงของยุวกษัตริย์ทุตอังคามุน (KV62) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ใกล้กับทางเข้าสุสานของฟาโรห์รามเซสที่ 6 (Ramesses VI)

หลังจากเปิดประตูเข้าสู่สุสาน คาร์เตอร์ก็พบว่าสุสานยังสมบูรณ์ การค้นพบสุสานของยุวกษัตริย์ทุตอังคามุนนอกจากจะทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ รวมถึงปริศนาคำสาปต่างๆ แล้ว สุสานแห่งนี้ยังทำให้นักประวัติศาสตร์เห็นภาพอารยธรรมอียิปต์โบราณอย่างชัดเจนว่า ฟาโรห์ เปรียบเสมือนตัวแทนของเทพเจ้า (คำว่า ฟาโรห์ หมายถึง เทพเจ้าบนดิน)

แม้จะมีข้อสันนิษฐานว่าฟาโรห์ทุตอังคามุนสิ้นพระชนม์ในวัยเยาว์ ทำให้ไม่อาจสร้างสุสานได้ยิ่งใหญ่อลังการเช่นฟาโรห์องค์อื่น แต่การที่พระองค์ถูกฝังพร้อมสมบัติมากมาย ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางสู่โลกหลังความตายและฟื้นคืนพระชนมชีพในภายหลัง

5. มาชู ปิกชู (Machu Picchu): เผยความลับสถาปัตยกรรมของชาวอินคา

หลังจากจักรวรรดิอินคาล่มสลายลง เนื่องจากการเมืองภายในโรคระบาด และจากการยึดครองของสเปน ใน ค.ศ. 1532 ทำให้อารยธรรมโบราณที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 เหลือแค่เพียงตำนาน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1911 ฮิแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยเยลให้สำรวจประเทศเปรู เพื่อค้นหาเมืองวิลคา บัมบา ซึ่งชาวสเปนได้บันทึกว่า เป็นเมืองที่กษัตริย์แห่งอาณาจักรอินคาใช้เป็นที่หลบซ่อน เมื่อครั้งพ่ายแพ้แก่กองทัพสเปน

แล้วโลกก็ต้องบันทึกการค้นพบอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อบิงแฮมบังเอิญพบเมืองโบราณ มาชู ปิกชู (Machu Picchu) เมืองที่หายสาบสูญไปจากอารยธรรมอินคา

เมืองแห่งนี้ซุกซ่อนอยู่ในป่าดงดิบในเขตเทือกเขาแอนดีส ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 2,350 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหนือแม่น้ำอุรุบัมบา (Urubamba) รายล้อมด้วยหน้าผาสูงชันราว 600 เมตร ซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของชนเผ่าอินคาในอดีตเรียงรายเป็นระเบียบสวยงาม ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตารางกิโลเมตร สะกดให้ผู้พบเห็นจินตนาการถึงอารยธรรมที่เคยรุ่งโรจน์ของดินแดนแห่งนี้

ซาก โบราณสถาน เมือง มาชูปิกชู บนยอดเขา
ซากโบราณสถานเมืองมาชูปิกชูในปัจจุบัน (ภาพถ่ายเมื่อ 27 สิงหาคม 2016, AFP PHOTO / GOH CHAI HIN)

การตรวจสอบด้วยกัมมันตภาพรังสีในรูปแบบคาร์บอนในทศวรรษ 1980 พบว่า มีความเป็นไปได้ว่ามาชู ปิกชู อาจสร้างขึ้นก่อนหรือช่วงเริ่มต้นอารยธรรมอินคา คือราวศตวรรษที่ 7 หรือราว ค.ศ. 1200-1450 และสันนิษฐานว่าเมืองแห่งนี้อาจใช้เป็นเทวสถานหรือที่พักอาศัยของชนชั้นสูง เนื่องจากตัวเมืองอยู่ห่างจากคูสโก (Cusco) อดีตเมืองหลวงของอินคา ทำให้ไม่เหมาะแก่การคมนาคม หรือเป็นแหล่งชุมชนของชาวบ้านทั่วไป

มาชู ปิกชู ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความมหัศจรรย์ด้านสถาปัตยกรรมอีกด้วย โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ขนาดมหึมา น่าประหลาดใจว่าชนโบราณเหล่านี้เรียนรู้วิธีขนย้ายแท่งหินขนาดยักษ์และนำมาเรียงรายต่อกันสูงเป็นชั้นๆ ได้เรียบสนิท โดยไม่ใช้ล้อเลื่อนหรือลูกรอกได้อย่างไร นอกจากนี้ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร รูปแบบการทำเกษตร หรือการทำนาเกลือที่เก่าแก่แบบขั้นบันได หอคอยสำหรับการเฝ้ามองดูผู้รุกราน การสร้างถนน สิ่งก่อสร้างตามไหล่เขา ที่ไล่ระดับเป็นขั้นๆ ซากกำแพงหินแกรนิตสีขาว นับเป็นปริศนาที่ไม่มีใครทราบจนกระทั่งบัดนี้ว่า เพราะเหตุใดพวกเขาจึงสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้บนยอดเขาสูง

6. ปอมเปอี (Pompeii) : ย้อนอดีตดูวิถีชีวิตของชาวโรมัน

ปอมเปอี เป็นเมืองชายทะเล ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเนเปิลส์ทางตอนกลางของอิตาลี ชาวออสกันผู้สร้างเมืองนี้ขึ้นเมื่อราว 600 ปี ต่อมาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงโรมเมื่อ 80 ปี ก่อนคริสตกาล ทำให้ปอมเปอีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าอันมั่งคั่ง ชาวโรมันเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาปักหลักและทำมาค้าขายที่เมืองนี้ รวมทั้งก่อสร้างบ้านเรือนริมทะเลและบริเวณเชิงภูเขาไฟวิสุเวียส (Vesuvius)

แต่การระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียส เมื่อ ค.ศ. 79 ลาวาและเถ้าถ่านจากภูเขาไฟกลบฝังเมืองหนาราว 10 เมตร ชาวเมืองที่รอดชีวิตหลายคนพยายามกลับมาขุดค้นเพื่อหาของมีค่า ทว่าไม่สามารถไปจนถึงบ้านเรือนได้ ในที่สุดชาวเมืองก็ยอมแพ้และโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ขี้เถ้าภูเขาไฟกลายเป็นแร่ธาตุชั้นดี ทำให้คนรุ่นหลังเริ่มมาทำไร่องุ่นบริเวณนี้

กระทั่งใน ค.ศ. 1534 มีการค้นพบซากเมืองปอมเปอีเป็นครั้งแรก เมื่อคนงานขุดคลองส่งน้ำพบซากอาคารแบบโรมันและเหรียญเงินโบราณ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สนใจและขนย้ายสิ่งกีดขวางออกไป ใน ค.ศ. 1748 โรก โคอากวิน เด อัลกูบีแอร์ (Rocque Joaquin de Alcubierre) นายทหารยศร้อยเอกแห่งกองทัพสเปน ได้รับบัญชาจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสเปน (Charles III—King of Spain) ให้ขุดค้นเมืองปอมเปอี หลังจากคนงานที่กำลังสร้างวังฤดูร้อนให้กับพระองค์พบซากเมืองเฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) เมืองโบราณที่ประสบชะตากรรมเดียวกับปอมเปอีเมื่อ 10 ปีก่อน

ทว่าการขุดค้นในเชิงโบราณคดีอย่างจริงจังเริ่มขึ้นเมื่อ คาร์ล ยาคอบ เวเบอร์ (Karl Jakob Weber) สถาปนิกและวิศวรกรชาวเยอรมัน รับช่วงการขุดค้นต่อจากทีมงานชาวฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1764 และ จูเซปเป ฟิโอเรลลี (Giuseppe Fiorelli) นักโบราณคดีชาวอิตาลี ค้นพบวิธีเทปูนปลาสเตอร์ลงไปในโพรงดินที่คาดว่าเป็นร่างของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ใน ค.ศ. 1860  จนทั่วโลกได้เห็นรูปทรงและอิริยาบถในวาระสุดท้ายของชาวเมืองเหล่านี้

นักโบราณคดีขุดพบลานเสวนา โบสถ์ โรงอาบน้ำ โรงละคร และบ้านเรือนกว่า 100 หลัง ที่ยังคงความสมบูรณ์แม้กาลเวลาจะผ่านมาเกือบ 2,000 ปี เนื่องจากขี้เถ้าจากภูเขาไฟได้รักษาสภาพของเมืองไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ทำให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ว่าชาวโรมันมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างหรูหราและมีความเจริญรุ่งเรืองเพียงใด จากหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

7. ลิขิตเดดซี (Dead Sea Scrolls) : จารึกโบราณเก่าแก่ที่สุดซึ่งเผยวิถีชีวิตของชาวยิว

หลักฐาน “โบราณคดี” อันยิ่งใหญ่ยังมีอีก โดยในฤดูหนาว ค.ศ. 1947 คนเลี้ยงแกะชาวเบดูอินในแถบหน้าผาทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบเดดซี ระหว่างเบธเลเฮมกับแม่น้ำจอร์แดน ในเขตปาเลสไตน์ ได้พบถ้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งโดยบังเอิญ มีสิ่งปรักหักพังมากมาย รวมถึงม้วนหนังสัตว์ 3 ม้วน ซึ่งม้วนขนาดใหญ่มีความยาวถึง 8 เมตร จึงนำไปขายให้พ่อค้าคนหนึ่ง ซึ่งเขาได้มอบต่อให้กับ แอธธานาเซียส ซามูเอล (Athanasius Samuel) อาร์คบิชอปในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพบว่าม้วนจารึกเหล่านี้เป็นจารึกโบราณภาษาฮิบรู นักโบราณคดีขนานนามม้วนจารึกเหล่านั้นว่า ลิขิตเดดซี (Dead Sea Scrolls)

ม้วนจารึกซาม หลักฐาน ทาง โบราณคดี ของ ลิขิตเดดซี
ม้วนจารึกซาม (Pslam Scrolls) ส่วนหนึ่งของ “ลิขิตเดดซี”

หลังจาก จอห์น เทรเวอร์ (John Trever) นักโบราณคดี ยืนยันว่าจารึกเหล่านี้มีอายุระหว่าง 300 ปี ก่อนคริสตกาล จนถึง ค.ศ. 200 นับว่าเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ต่อจากนั้นจึงมีการสำรวจขุดค้นในเชิงโบราณคดีอย่างจริงจังจนถึง ค.ศ. 1956 พบม้วนจารึกโบราณทั้งจากหนังสัตว์และกระดาษปาปิรัสหลายพันม้วน จารึกทั้งหมดราว 800-900 ฉบับ แยกเป็นแผ่นเล็กแผ่นน้อยกว่า 15,000 ชิ้น กระจัดกระจายอยู่ตามถ้ำ 11 แห่ง

นักวิชาการเชื่อว่าจารึกบางส่วนเป็นของชาวยิวที่เรียกตัวเองว่า เอสซีน (Essene) ซึ่งตั้งรกรากอยู่ในปาเลสไตน์ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล จนถึง ค.ศ. 200 และอาจเป็นเอกสารสำคัญในห้องสมุดแห่งเยรูซาเล็มที่ปัญญาชนนำไปซ่อนไว้ระหว่าง ค.ศ. 68 (ก่อนสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินกว่า 250 ปี) เนื่องจากกลัวว่าทหารโรมันที่กรีธาทัพเข้ามายึดครองดินแดนจะเผาทำลาย

การค้นพบครั้งนี้เปิดเผยให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวยิว ในยุคก่อนการประสูติของพระเยซู นอกจากนี้จารึกบางฉบับยังเป็นฉบับคัดลอกจากพระคัมภีร์ของศาสนายูดาย และเมื่อนักประวัติศาสตร์ถอดความออกมาก็พบว่าตรงกับพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงของศาสนาคริสต์ในยุคเริ่มแรกและศาสนายูดาย ว่าอันที่จริงแล้วความเชื่อของทั้ง 2 ศาสนามีพื้นฐานมาจากขนบและความเชื่อแบบเดียวกัน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับพันปี พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิมมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

8. สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี และรูปปั้นทหาร 10,000 ชิ้น: เปิดประตูสู่ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิจีน

จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ฉิน สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อชาวนาในหมู่บ้านซีหยาง เมืองหลินถง บริเวณเชิงเขาหลีซาน ห่างจากตัวเมืองซีอานไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 35 กิโลเมตร กำลังขุดดินเพื่อหาบ่อน้ำไว้ใช้สำหรับเพาะปลูกในฤดูหนาว เขาพบเหยือกดินเผา กองทหารดินเผา รวมถึงคันธนูและลูกธนูที่ทำจากทองเหลืองเมื่อขุดลึกลงไปราว 4 เมตร

หลังจากนั้นทางรัฐบาลจีนได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ แล้วเริ่มขุดค้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่ ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมในปี ค.ศ. 1979

นักโบราณคดีเชื่อว่าสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้สร้างขึ้นเมื่อ 220-210 ปีก่อนคริสตกาล มีโครงสร้างสลับซับซ้อน แบ่งออกเป็นพระราชฐานชั้นใน-นอก ภายในสุสานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีพื้นที่ราว 25,000 ตารางเมตร ใช้ระยะเวลาในการสร้างถึง 38 ปี นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกตื่นตะลึงคือกองทัพทหารดินเผากว่า 10,000 ตัว ซึ่งแต่ละตัวล้วนแต่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน รถม้าไม้มากกว่า 100 คัน สรรพาวุธที่ทำจากทองเหลืองและข้าวของเครื่องใช้โบราณอีกมากมาย

อย่างไรก็ดี นักโบราณคดีก็ยังไม่พบพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ แม้จะมีการสันนิษฐานว่าหลุมพระศพอยู่บนเนินดินห่างจากหลุมขุดค้นหุ่นทหารดินเผาออกไปราว 2 กิโลเมตร โดยประเด็นเกี่ยวกับที่ฝังพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป เพราะทางการจีนยังไม่อนุญาตให้มีการขุดค้น เพราะเกรงว่าจะทำให้โบราณวัตถุอื่นๆ ได้รับความเสียหายจากการเคลื่อนย้ายและจากสภาพอากาศ กระนั้นการค้นพบสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ก็เป็นการประกาศให้โลกได้รับรู้ว่าอารยธรรมของชาวจีนนั้นยิ่งใหญ่และน่ามหัศจรรย์เพียงใด

9. แหล่งโบราณคดีโอลดูไว ยอร์จ (Olduvai Gorge): กุญแจสู่วิวัฒนาการของมนุษย์

หลุยส์ และ แมรี่ ลีกกี้ (Louis Leakey, Mary Leakey) สองสามีภรรยานักบรรพชีวินและนักโบราณคดี กับการค้นพบที่ทำให้โลกตะลึง เนื่องจากพวกเขาค้นพบแหล่งกำเนิดของสายพันธ์มนุษย์ที่ดูท่าว่าจะมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก

หลุยส์และแมรี่ เริ่มต้นสำรวจแหล่งอารยธรรมของมนุษย์ยุคโบราณในพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า โอลดูไว ยอร์ช บริเวณหุบเขาและเงื้อมผาที่เป็นรอยแตกของเปลือกโลกทางแอฟริกาตะวันออก ในประเทศแทนซาเนีย ทั้งสองเริ่มสำรวจโอลดูไว ยอร์ช และบริเวณโดยรอบตั้งแต่ ค.ศ. 1931 จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1960

แล้วใน ค.ศ. 1959 ความพยายามกว่า 3 ทศวรรษของทั้งคู่ก็ประสบผล เมื่อขุดพบเครื่องมือยุคหิน ฟอสซิลซากสัตว์ รวมถึงฟอสซิลของสัตว์ประหลาดที่คล้ายกับสัตว์ในตระกูลลิงกว่า 20 ร่าง ภายหลังพวกเขาจึงพบว่า ฟอสซิลที่พบคือสายพันธ์มนุษย์ในยุคโบราณ (Hominid)

โอลดูไว ยอร์ช
บริเวณ โอลดูไว ยอร์ช ที่ขุดพบฟอสซิลของมนุษย์โบราณ (Hominid)

ฟอสซิลที่สองสามีภรรยาพบนั้น นับว่าเป็นหลักฐานชิ้นแรกๆ ที่บ่งบอกว่ามนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาและใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกามาหลายล้านปี รวมถึงเป็นเครื่องยืนยันว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาสู่มนุษย์ เป็นเรื่องถูกต้อง

การค้นพบฟอสซิลที่โอลดูไว ยอร์ช นับเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์ ซึ่งจากที่นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อว่ามนุษย์ยุคเริ่มแรกถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้เมื่อราว 1.9 ล้านปี ฟอสซิลของโฮมินิดสายพันธ์ุต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าจุดกำเนิดของมนุษย์สามารถนับย้อนหลังไปได้เกือบ 4 ล้านปี และถือกำเนิดในทวีปแอฟริกา จากนั้นจึงแพร่ขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก

10. เกาะภูเขาไฟเธรา (Thera) : ความเจริญรุ่งเรืองในยุคสำริด และเส้นทางการค้าแถบทะเลอีเจียน

เธรา (Thera หรือ Thira) เป็นเกาะภูเขาไฟในหมู่เกาะไซคลาดิส (Cyclades) เป็นที่รู้จักกันในนาม เกาะซานโตรินี (Santorini) ตั้งอยู่ในทะเลอีเจียน (เส้นทางผ่านที่กรีกยกทัพเรือข้ามไปตีกรุงทรอย) มีความกว้างประมาณ 16 กิโลเมตร และอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 567 เมตร นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่งดงามและผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แล้ว เกาะนี้ก็ยังมีภูเขาไฟที่สูงถึง 1,600 เมตร อยู่ตรงกลางใจของเกาะอีกด้วย

ชาวโฟนีเชียน (Phoenician) เริ่มอพยพเข้ามาลงหลักปักฐานที่เกาะแห่งนี้เมื่อราว 3,600 ปี ก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นชาวลาโคเนียน (Laconian) ก็เข้ามาปกครองเกาะนี้ กระทั่งถึง 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล (Bronze Age) กษัตริย์ไมนอส (Minos) ผู้ปกครองเกาะครีตก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลทางด้านศิลปะและวัฒธรรมจากอารยธรรมมิโนอัน (Minoan) มายังเธรา ทว่าอารยธรรมอันเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดก็ต้องพบกับหายนะ เมื่อภูเขาไฟในเกาะระเบิดขึ้นในฤดูร้อนช่วง 1,650 ปี ก่อนคริสตกาล (นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงเรื่องเวลาที่แน่นอนอยู่)

แรงระเบิดส่งผลให้เกาะธีราแตกออกเป็น 3 เกาะ ซึ่งมีหน้าผาสูงชันและปกคลุมไปด้วยขี้เถ้ากับหินภูเขาไฟทั่วทุกตารางนิ้ว และกระแสลมยังได้พัดพาเถ้าภูเขาไฟไปไกลถึง 70 กิโลเมตร แรงระเบิดจากภูเขาไฟยังทำให้เกิดสึนามิที่มีความสูง 100-150 เมตร ถาโถมเข้าถล่มชายฝั่งทางด้านเหนือของเกาะครีต ทำให้เกาะทั้งเกาะแทบจะจมหายไปในทะเล

ทว่าโชคดีที่เกาะเธราเองได้รับความเสียหายน้อยกว่าเกาะครีตหลายเท่า ทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นห้องสมุดอารยธรรมมิโนอันขนาดใหญ่สำหรับนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ ใน ค.ศ. 1860 มีการขุดค้นบริเวณที่ถูกเถ้าถ่านและลาวาทับถม กระทั่งพบอาคารบ้านเรือน วิหารเทพเจ้า หลุมฝังศพในหุบเขา โรงละคร และข้าวของเครื่องใช้จำนวนมาก แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในยุคสำริด (Bronze Age) ทำให้ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปทั้งด้านการเมืองและสังคม ชุมชนเกษตรกรรมขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนเมือง มีการแบ่งระดับชนชั้นตามความสามารถ มนุษย์จึงมีความมั่นคงปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้นนำไปสู่พัฒนาการทางสังคมสู่ความเป็นรัฐในเวลาต่อมา

การค้นพบ “หลักฐาน” ทาง “โบราณคดี” ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นตัวอย่างของความบังเอิญที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ เนื่องจากโครงการขุดค้นเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและมีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทว่ายังมีแหล่งโบราณคดีเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการเหลียวแล เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องไม่ใส่ใจ และกว่าจะเห็นคุณค่าก็ต่อเมื่อมรดกที่บรรพบุรุษสร้างมาถูกกาลเวลาและน้ำมือมนุษย์ทำลายไปแล้ว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลอ้างอิง :

ภาพประกอบไม่มีลิขสิทธิ์จาก Wikimedia Commons

Hunt, Patrick. Ten Discoveries that Rewrote History. Plum, 2007.

http://artsmen.net/index_artsmen.php

http://satid.igetweb.com/index.php?mo=14&newsid=85710

http://www.suffragio.it/bassorilievi/arteassiri.htm

www.answers.com

www.britishmuseum.org

www.wikipedia.com

ข้อมูลจาก

วารยา. สุดยอดการค้นพบ ทางโบราณคดี, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม, กันยายน 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2562