เผยรายชื่อ 6 สุดยอดการค้นพบทาง ‘โบราณคดี’ แห่งปี 2021 ในจีน

หน้ากากสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งถูกขุดพบจากซากโบราณซานซิงตุยในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ภาพจาก แฟ้มภาพซินหัว เผยแพร่เมื่อ 1 ก.พ. 2022

สถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (CASS) ประกาศรายชื่อการค้นพบทาง โบราณคดี แห่งปี 2021 ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุดของประเทศ จำนวน 6 อันดับแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มี.ค. 2022 ตามเวลาท้องถิ่น

รายชื่อการค้นพบทั้ง 6 ประกอบด้วย 1. ซากโบราณยุคหินเก่าในซื่อชวน (เสฉวน) 2. ซากแหล่งผลิตหยกยุคหินใหม่ในเหอหนาน 3. ซากโบราณซานซิงตุยในซื่อชวน 4-5. หลุมศพโบราณสองแห่งจากยุคจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ของเชื้อพระวงศ์ในเจียงซีและของชนชั้นสูงในหูเป่ย 6. สุสานของราชวงศ์อาณาจักรถูอวี้หุนในกานซู่

จีนเผยโฉม ‘หน้ากากสัมฤทธิ์’ ใหญ่ยักษ์ สู่สายตาสาธารณชน ภาพจาก แฟ้มภาพซินหัว เผยแพร่เมื่อ 6 ก.พ. 2022

สถาบันฯ ระบุว่าแหล่งผลิตหยกที่ถูกขุดพบในเหอหนานได้เติมเต็มความรู้ด้านอุตสาหกรรมงานฝีมือหยกยุคหินใหม่ บริเวณที่ราบตอนกลางและแม่น้ำแยงซีตอนกลาง โดยการค้นพบดังกล่าวมอบเบาะแสสำคัญต่อการศึกษาความเชี่ยวชาญและการแบ่งชนชั้นทางสังคมของแรงงานภายในอุตสาหกรรมงานฝีมือในขณะนั้น

ขณะเดียวกัน โบราณวัตถุชุดใหม่ที่ถูกขุดพบ ณ ซากโบราณซานซิงตุย จะช่วยส่งเสริมการวิจัยอารยธรรมแคว้นสู่ ซึ่งมีความเก่าแก่ราว 3,000-4,500 ปี และมอบหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าอารยธรรมดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมจีน โดยโบราณวัตถุชุดใหม่ที่พบนั้นรวมถึงหน้ากากสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสัญลักษณ์ของซานซิงตุย

สถาบันฯ เสริมว่าการค้นพบหลุมศพของเชื้อพระวงศ์แห่งอาณาจักรถูอวี้หุน ซึ่งเป็นอาณาจักรข้างเคียงของจักรวรรดิถัง ได้เผยทิศทางใหม่ในการเพิ่มพูนและพัฒนาการวิจัยระบบวัฒนธรรมในเส้นทางสายไหมอีกด้วย


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความในบริการข่าวสารภาษาไทยสำนักข่าวซินหัว “จีนเผย 6 สุดยอดการค้นพบทาง ‘โบราณคดี’ แห่งปี 2021” เผยแพร่เมื่อ 19 มีนาคม 2565

เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2565