“โกเบคลี เทเป” วิหารแห่งแรกของโลก ก่อนมนุษย์รู้จักเพาะปลูก อายุกว่าหมื่นปี

โกเบคลี เทเป Gobekli Tepe วิหารแห่งแรกของโลก
Gobekli Tepe วิหาร/ศาสนสถานเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่มีการค้นพบมา (ภาพโดย Frank Samol จาก Unsplash)

โกเบคลี เทเป (Gobekli Tepe) แหล่งโบราณคดีในจังหวัดซานลิอูร์ฟา (Sanliurfa) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ ตุรกี ถูกค้นพบเมื่อกลางทศวรรษ 1990 แล้วสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในแวดวงโบราณคดีและมานุษยวิทยาทันที ทำให้แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่สุดในการศึกษาพัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ต่อมา โกเบคลี เทเปได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” โดยองค์การยูเนสโกในปี 2018 และเชื่อว่าเป็น “วิหารแห่งแรกของโลก”

การค้นพบ

ปี 1995 เคลาซ์ สมิธ (Klaus Schmidt) ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีชาวเยอรมันและทีมงานอีกจำนวนหนึ่งโดยความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์ซานลิอูร์ฟา ทำการสำรวจพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ห่างออกไปราว 6 ไมล์ จากเมืองอูร์ฟา (Urfa) เมืองหลักของจังหวัดซานลิอูร์ฟา พื้นที่แถบนี้ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเมโสโปเตเมียตอนบน หรืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส (Tigris–Euphrates) 1 ใน 4 อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสำคัญของโลกยุคโบราณ

การขุดค้นโดยทีมงานของศาสตราจารย์ เคลาซ์ สมิธ นำไปสู่การค้นพบโกเบคลี เทเป พวกเขาพบสิ่งปลูกสร้างโครงสร้างหินฝีมือมนุษย์ยุคโบราณ ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,000 ฟุต ก่อนเรียกโบราณสถานนี้ว่า “โกเบคลี เทเป” แปลว่า Potbelly Hill หรือ “เนินท้องโต” ในภาษาตุรกี ตามลักษณะที่ตั้งบนเนินเขานั่นเอง

โกเบคลี เทเป มีลักษณะเป็นหินสลักขนาดใหญ่และเสารูปตัวที (T) ตั้งเรียงรายเป็นวงกลม บางเสาสูงถึง 6 เมตร และมีน้ำหนักถึง 200 ตัน การขุดค้นครั้งแรกพบเสาหินจำนวน 43 ต้น สันนิษฐานว่าหินเหล่านี้ถูกขุด ตัด และขนย้ายมาจากเหมืองหินจากเนินเขาอีกแห่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของที่ตั้งของโบราณสถานนี้

เสาหินแต่ละต้นมีรูปสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีทั้ง สุนัขจิ้งจอก สิงโต วัว แมงป่อง งู หมูป่า แร้ง นกน้ำ แมลง รวมถึงมนุษย์ (ในลักษณะของหญิงเปลือย) บางเสาแกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม แต่บางเสาว่างเปล่า ไม่ถูกสลัก ทั้งนี้ ไม่มีสัญลักษณ์ที่สื่อว่าเป็นตัวอักษรหรือรูปแบบการเขียนบันทึก มีเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงเทพเจ้า

จากเสากลุ่มแรกที่ขุดค้นเจอ นักโบราณคดีเชื่อว่าเสาเหล่านี้สามารถรองรับหลังคาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 – 30 เมตร แต่ภายหลังการสำรวจทางธรณีวิทยาบนพื้นที่เนินเขานั้น มีการเปิดเผยว่าใต้พื้นดินรอบ ๆ บริเวณนั้นยังมีเสาหินอีกกว่า 250 ต้น โดยเป็นโครงสร้างแบบเดียวกันนี้จำนวนถึง 16 ส่วน/วงด้วยกัน จากลักษณะและโครงสร้างดังกล่าว นักโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าโกเบคลี เทเป เป็น “วิหาร” หรือ “ศาสนสถาน” สำหรับประกอบพิธีกรรมของชุมชนแถบนั้น (คลิกชมภาพ โกเบคลี เทเป)

วิหารแห่งแรกของโลก

เมื่อทีมนักโบราณคดีพิสูจน์อายุการก่อสร้าง ทำให้ทราบว่าโกเบคลี เทเป สร้างขึ้นในยุคหินใหม่ มีอายุราว 11,000-12,000 ปี หรือ 1 หมื่นปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ถูกค้นพบ วิหารแห่งนี้จึงเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หรือ “วิหารแห่งแรกของโลก” (The World’s First Temple) นั่นเอง

เพื่อให้เห็นภาพความเก่าแก่ของโกเบคลี เทเป ชัดเจนขึ้น เราสามารถเทียบเคียงอายุของวิหารแห่งแรกของโลกกับอารยธรรมอื่น ๆ เช่น อารยธรรมอียิปต์โบราณ (Ancient Egyptian, 3,200 ปีก่อนคริสตกาล) ในทวีปแอฟริกา อารยธรรมสุเมเรียน (Sumerian, 3,500 ปีก่อนคริสกาล) ในภูมิภาคเมโสโปเตเมียตอนใต้ ซึ่งเป็นอารยธรรมแรกที่ใช้ตัวอักษร หรือเทียบกับสิ่งปลูกสร้างลักษณะใกล้เคียงกันอย่างสโตนเฮนจ์ (Stonehenge, 2,000-3,000 ปีก่อนคริสกาล) บนเกาะอังกฤษ จะเห็นว่าความเก่าแก่ของโกเบคลี เทเป ยังคงทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น

จากความเก่าแก่นี้ ทั้งงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ทุกสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นวิหารโกเบคลี เทเป ล้วนเกิดขึ้นก่อนมนุษย์รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา การถลุงโลหะ การประดิษฐ์ตัวอักษร การใช้ล้อ และอาจรวมถึงความรู้ในการทำเกษตรด้วย สิ่งนี้สร้างความประหลาดใจให้แก่นักโบราณคดี-นักวิชาการอย่างมาก เพราะถือเป็นการหักล้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างทางความเชื่อหรือศาสนสถานในอดีต ที่เดิมเชื่อว่าจะพบเฉพาะในชุมชนขนาดใหญ่ที่พัฒนาเป็นสังคมเกษตรกรรมแล้วเท่านั้น

ปัจจัยสนับสนุนทฤษฎีการเป็น “วิหารแห่งแรกของโลก” ที่เกิดก่อนมนุษย์รู้จักทำการเกษตรคือ นักสำรวจไม่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานหรือชุมชนโบราณบริเวณนั้นเลย ไม่มีร่องรอยสิ่งของเครื่องมือ-เครื่องใช้ หรือเตาสำหรับประกอบอาหาร พบเพียงชิ้นส่วนกระดูกสัตว์มากกว่าแสนชิ้น มีรอยตัดและกระแทกด้วยของมีคมที่บ่งชี้ว่าสัตว์เหล่านี้ถูกชำแหละหรือปรุงสุกก่อนบริโภค

ในบรรดากระดูกที่พบล้วนเป็นสัตว์ป่า เช่น ละมั่ง (เกิน 60% ) หมูป่า แกะ และกวางแดง รวมถึงนกสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น แร้ง กระเรียน เป็ด และห่าน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าชุมชนที่สร้างโกเบคลี เทเป เป็นกลุ่มนักล่าหรือกลุ่มพรานป่ามากกว่าที่จะเป็นเกษตรกรนักเพาะปลูกที่มีปศุสัตว์เป็นของตนเอง

กระนั้น นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์สามารถพัฒนาจากสังคมล่าสัตว์มาสู่สังคมเกษตรกรรมแล้วระหว่าง 10,000-12,000 ปีมาแล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่สร้างโกเบคลี เทเป อีกทั้งการไม่พบเครื่องมือเกษตรกรรมไม่ได้แปลว่ามันไม่เคยมีอยู่ ข้อพิสูจน์อันชัดเจนว่าชุมชนที่สร้างวิหารแห่งแรกของโลกเป็นชุมชนพรานป่าขนาดใหญ่ที่ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกหรือเป็นชุมชนเกษตรกรรมกลุ่มแรก ๆ จึงไม่สามารถฟันธงได้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าโกเบคลี เทเป ถูกสร้างเพื่อการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อหรือทางศาสนาของมนุษย์ยุคโบราณอย่างแน่นอน และมีวัตถุประสงค์เพื่อการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทวยเทพ หรือพระเจ้าของพวกเขา ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เป็นรากฐานสำคัญในแวดวงมานุษยวิทยาสำหรับการศึกษาพัฒนาการทางความเชื่อและการเกิดศาสนาในสังคมมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

เพราะสถานะ “วิหารแห่งแรกของโลก” ถึงกับทำให้นักวิชาการบางคนอ้างว่า โกเบคลี เทเป เป็นที่ตั้งของสวนเอเดน (Garden of Eden) ในพระคัมภีร์ไบเบิลเลยทีเดียว แต่ใครจะรู้ อาจมีสิ่งปลูกสร้างทางศาสนสถานที่เก่าแก่กว่าโกเบคลี เทเป ซ่อนอยู่ใต้ชั้นดินบางแห่งและรอการค้นพบอยู่อีก ก็เป็นได้…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

Andrew Curry, BBC TRAVEL (2021) : An immense mystery older than Stonehenge

Andrew Curry, National Geographic (2016) : World’s Oldest Temple to Be Restored

Brian Haughton, World History Encyclopedia (2011): Gobekli Tepe – the World’s First Temple?

Interesting Engineering (2017) : This Temple Still Astounds Archaeologists 12,000 Years Later


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2565