“มาชูปิกชู” ที่หายสาบสูญก่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮิต มันถูก “ไฮแรม บิงแฮม” ค้นพบได้อย่างไร

โบราณสถาน เมือง มาชูปิกชู อาณาจักรอินคา บน เทือกเขา
ซากโบราณสถานเมืองมาชูปิกชูในปัจจุบัน (ภาพถ่ายเมื่อ 27 สิงหาคม 2016, AFP PHOTO / GOH CHAI HIN)

นักสำรวจอย่าง ไฮแรม บิงแฮม ค้นพบ “มาชูปิกชู” เมืองโบราณแห่ง “อาณาจักรอินคา” ได้อย่างไร

ใครจะไปรู้ว่าบนเทือกเขาแอนดีส (Andes) ที่มียอดเขาสูงชันเสียดฟ้า ขรุขระ เข้าถึงยาก เต็มไปด้วยภยันตราย อากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี และมองเห็นเมฆหมอกลอยต่ำไล่เลี่ยศีรษะราวกับจะไขว่คว้าได้นั้น มีเมืองโบราณแห่ง “อาณาจักรอินคา” (ระหว่าง ค.ศ. 1200-1550) แห่งอเมริกาใต้ ที่หายสาบสูญไปนานนับศตวรรษ นักโบราณคดีเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า มาชูปิกชู (Machu Picchu) ตั้งอยู่ระหว่างยอดเขา 2 ลูกบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศเปรู

มาชูปิกชู เป็นแหล่งโบราณคดีชื่อดังแห่งหนึ่งของเปรู และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ผู้ทำให้มาชูปิกชูเป็นที่รู้จักขจรไกลไปทั่วโลกเป็นนักสำรวจ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักปีนเขาชาวอเมริกันนามว่า ไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) ผู้ซึ่งวงการโบราณคดีสากลยอมรับนับถือในความวิริยะอุตสาหะและความเป็นนักวิชาการ ในฐานะผู้บุกเบิกการศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งนี้ เรามารู้จักตัวตนและคุณูปการของเขากันเลย

Advertisement
ไฮแรม บิงแฮม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก

ไฮแรม บิงแฮม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1875 ที่โฮโนลูลู เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา บิดาของเขาเป็นนักเผยแผ่ศาสนาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งฮาวาย บิงแฮมได้รับการศึกษาอย่างดีจากสถาบันการศึกษาชื่อดังของอเมริกาและของโลก มีหน้าที่การงานสูงส่งและมีเกียรติตลอดชีวิตของเขา เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาเคมี มหาวิทยาลัยเยล (1894-1898) จบแล้วก็ทำงานระยะสั้นๆ จากนั้นกลับเข้าเรียนต่อสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ (1899-1900)

ต่อมาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (1900-1905) จนได้รับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังศึกษาหลักสูตรหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันอีกด้วย บิงแฮมผ่านอาชีพการงานหลายอย่าง นับตั้งแต่เป็นศาสตราจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ นักบิน รองประธานบริษัทค้าน้ำมัน ผู้ว่าการรัฐคอนเนตทิคัต วุฒิสมาชิก สมาชิกองค์กรเอกชนที่บำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น National Geographic Society, Royal Geographic Society, Sigma Psi Fraternity เป็นต้น

บิงแฮมแต่งงานกับอัลเฟรดา มิตเชลล์ (Alfreda Mitchell) ซึ่งเป็นทายาทหรือหลานสาวของผู้ก่อตั้งบริษัททิฟฟานี ที่ค้าขายเครื่องประดับและอัญมณีชื่อดังของอเมริกา มีลูกชาย 7 คน ไม่มีลูกสาว ต่อมาหย่าร้างกันไป บิงแฮมแต่งงานใหม่ตอนอายุ 62 กับซูแซนน์ ฮิลล์ (Suzanne Hill) และอยู่ด้วยกันจนกระทั่งบิงแฮมเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1956 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

บิงแฮมชอบการสำรวจผจญภัย ชอบปีนไต่เขา ทั้งยังมีพื้นฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ระดับดอกเตอร์ (เขาเคยสอนวิชาประวัติศาสตร์ละตินอเมริกาด้วย) เขาจึงเดินทางไปยังสถานที่ทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะการเดินทางไปอเมริกาใต้

ในเดือนพฤศจิกายน 1906 บิงแฮมแล่นเรือใบไปยังอเมริกาใต้ ตามเส้นทางของนักสำรวจคนหนึ่งที่เคยสำรวจไว้เมื่อ ค.ศ. 1819 เมื่อกลับจากการสำรวจเขาได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสารด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1908 บิงแฮมเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ ที่ซันติอาโก ประเทศชิลี

การประชุมครั้งนั้นจุดประกายที่แน่วแน่ให้แก่บิงแฮม เขาตัดสินใจสำรวจศึกษาเส้นทางการค้าของพวกสเปนในยุคล่าอาณานิคม บิงแฮมเริ่มเดินทางสำรวจจากบัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) ไปจนถึงลิมา (เปรู)

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1911 บิงแฮมย้อนกลับไปเยือนอเมริกาใต้อีกครั้งในนามผู้อำนวยการโครงการเดินทางสำรวจแห่งเปรู ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยเยลซึ่งมีฐานะดี บิงแฮมและทีมงานได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมของชาวอินคาหลายแห่งบนเทือกเขาแอนดีส การสำรวจดำเนินไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นพื้นที่สูงชัน มีหุบเหวน่ากลัว และยังมีสัตว์มีพิษจำนวนมาก โดยเฉพาะงูพิษ

การค้นพบแหล่งโบราณคดีในเปรู ทำให้บิงแฮมเป็นที่รู้จักในวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดี และกลายเป็นบุคคลสำคัญจนนำเขาไปสู่อาชีพทางการเมืองในภายหลัง

หนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่บิงแฮมค้นพบก็คือ มาชูปิกชู ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเปรู 

การค้นพบเมืองมาชูปิกชู แห่ง อาณาจักรอินคา อาจเป็นเรื่องความบังเอิญมากกว่าความตั้งใจ กล่าวคือ บิงแฮมพยายามค้นหาเมืองวิลกาบัมบา (Vilcabamba) ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นสุดท้ายของอาณาจักรอินคา หลังจากที่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนโจมตีเมืองคูซโก (Cuzco) ซึ่งเป็นเมืองหลวงใน ค.ศ. 1533 จักรพรรดิอินคาชื่อมันโก อินคา (Manco Inka) หลบหนีออกจากเมืองคูซโก เข้าป่าไปซ่อนตัวอยู่ที่เมืองวิลกาบัมบา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากคูซโกนัก (แต่ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าประมาณ 4-5 วัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่ารก หุบเขา และภูเขาสูงชัน)

มันโก อินคา ซ่องสุมไพร่พลกองทหารที่เมืองวิลกาบัมบาแห่งนี้ เพื่อต่อสู้กับทหารม้าของพวกสเปน ที่นำทัพโดยฟรันซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) บิงแฮมศึกษาเอกสารพบว่า เมืองวิลกาบัมบายังไม่มีใครค้นพบมาก่อน และเข้าใจว่าหายสาบสูญไป

ภาพถ่าย ไฮแรม บิงแฮม ตั้งแคมป์ บนเทือกเขา มาชูปิกชู
(ซ้าย) ไฮแรม บิงแฮม ขณะตั้งแคมป์บนเทือกเขาแอนดีส, (ขวา) แผนที่แสดงเทือกเขาแอนดีสและที่ตั้งเมืองมาชูปิกชู (Machu Picchu)

เขาแปลกใจมากว่าเมืองนี้รอดพ้นการโจมตีทำลายโดยพวกสเปนในสมัยนั้นได้อย่างไร ดังนั้นเขาจึงพยายามสืบเสาะให้ได้ว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน บิงแฮมสัมภาษณ์คนพื้นเมืองหลายคน และจ้างชาวไร่พื้นเมืองคนหนึ่งนำทางสำรวจยอดเขาตามฝั่งแม่น้ำวิลกาบัมบา

ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 1911 บิงแฮมก็ได้พบซากเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนสันที่เชื่อมยอดเขา 2 ยอด ที่คนพื้นเมืองเรียกว่า มาชูปิกชู (แปลว่า “ภูเขาโบราณ”)

บิงแฮมเชื่อว่าเมืองนี้คือเมืองวิลกาบัมบาที่สูญหายไป และทำให้บิงแฮมเข้าใจด้วยว่าในอดีตทหารสเปนไม่สามารถเข้าถึงเมืองนี้ และรอดพ้นการโจมตีของทหารสเปน เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ล้อมรอบด้วยโตรกธารและหน้าผาสูงชัน (สมควรแล้วที่ชาวอินคาถือว่าเป็นหุบเขาศักดิ์สิทธิ์)

หนังสือและวรรณกรรมทางโบราณคดีต่างๆ เชิดชูวีรกรรมของบิงแฮม โดยเฉพาะความอดทนบากบั่นในการเดินทางสำรวจเมืองโบราณบนเทือกเขาแอนดีส หนังสือบางเล่มกล่าวว่าบิงแฮมต้องเดินลุยป่าทึบเต็มไปด้วยสัตว์มีพิษหลายชนิด ลุยโคลนข้ามแม่น้ำ (เช่น แม่น้ำวิลกาบัมบาและแม่น้ำอุรุบัมบา) ปีนไต่เขาสูงชันที่แฉะและลื่น ในบางจุดเขาต้องหมอบคลานด้วยมือและเข่ากระดึบไปข้างหน้าทีละ 6 นิ้ว และต้องหยุดพักเป็นระยะ (รวมทั้งในการเดินทางสำรวจในวันที่อากาศหนาวเหน็บและฝนตกเปียกแฉะ บิงแฮมต้องจ่ายค่าจ้างผู้นำทาง 3 หรือ 4 เท่าด้วย)

จนในที่สุดเขาก็มาถึงสันเขาที่สูงประมาณ 300 เมตร และเขาได้พบสิ่งก่อสร้างปรักหักพังก่อด้วยหินสีขาวมีตะไคร่เขียวเกาะ บิงแฮมเดินวนสำรวจซากป้อม กำแพง บ้านเรือน และพระราชวังที่ก่อสร้างด้วยหินแกรนิตสีขาวอยู่นานนับชั่วโมง

บิงแฮมบรรยายความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสพื้นที่และบรรยากาศบนยอดเขามาชูปิกชู และพบเห็นซากเมืองโบราณว่า

“ในท่ามกลางเสน่ห์อันหลากหลายและอำนาจที่สะกดพวกเรา ข้าพเจ้ารู้เลยว่าไม่มีที่ใดในโลกเทียบเทียมกับสถานที่แห่งนี้ได้ ไม่เพียงแต่มียอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมเหนือเมฆหมอกในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 2 ไมล์ มีแนวหินแกรนิตหลากสีสูงชันนับพันฟุตจากเกาะแก่งเบื้องล่างที่มีน้ำไหลเสียงดังคำรามและส่งแสงประกายแวววาว แต่บนนี้ยังมีกล้วยไม้ เฟิร์น พืชพรรณ ซึ่งล้วนแต่สวยงามอย่างเพลิดเพลิน และยังมีป่าไม้ที่ดูราวกับมีคาถาอาคมลึกลับอีกด้วย”

อย่างไรก็ตามในครั้งนั้นบิงแฮมไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการบันทึกและวาดภาพสภาพซากสิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน และสภาพภูมิประเทศรอบๆ แต่ 2-3 สัปดาห์ต่อมา เขาได้จ้างทีมสำรวจขึ้นไปถากถางต้นไม้และหญ้าออกจากโบราณสถาน และให้ทำแผนที่เมืองนี้ไว้

ในปีถัดมา (1912) บิงแฮมกลับไปมาชูปิกชูอีกครั้ง คราวนี้เขาตั้งใจขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้อย่างเป็นระบบ แต่งานหนักก่อนการขุดค้นก็คือการอพยพชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามสิ่งก่อสร้างโบราณนั้นออกไปเสียก่อน

หนังสือบางเล่มกล่าวว่า นอกจากความยากลำบากในการอพยพผู้คนออกไปแล้ว บิงแฮมยังเผชิญกับงูพิษจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในที่สุดบิงแฮมก็ดำเนินการขุดค้นซากเมืองโบราณ จนกระทั่งเขาพบหลักฐานต่างๆ มากมาย เช่น งานสถาปัตยกรรมที่ประณีตสวยงาม สิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือวิหาร สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ที่อยู่อาศัยของกษัตริย์ ห้องอาบน้ำ ที่พำนักของขุนนางและข้าราชบริพาร ฯลฯ

บิงแฮมสรุปว่าเมืองนี้มีทุกอย่างเท่าที่กษัตริย์หรือจักรพรรดิต้องการ และเมืองนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของชาวอินคาตามตำนานพื้นบ้านของชาวอินคา

ผลงานการค้นพบและขุดค้นเมืองมาชูปิกชูของบิงแฮมได้รับการเผยแพร่ให้โด่งดังไปทั่วโลก เมื่อวารสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับ ค.ศ. 1913 ตีพิมพ์ภาพและรายงานการสำรวจ การขุดค้น และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งเล่ม ต่อมาเมืองโบราณมาชูปิกชูกลายเป็นสนามทำงานวิจัยของนักโบราณคดี ทั้งชาวต่างชาติและชาวเปรูมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากการวิจัยภายหลังบ่งชี้ว่ามาชูปิกชูเป็นคนละเมืองกับวิลกาบัมบา แหล่งที่ตั้งของเมืองวิลกาบัมบาคือตัมปูตอกโก (Tampu Tocco) ส่วนเมืองมาชูปิกชูอาจเป็นเพียงอสังหาริมทรัพย์ของจักรพรรดิอินคาองค์หนึ่ง

ในปัจจุบัน มาชูปิกชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันดับหนึ่งของเปรู แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมาชมจำนวนมาก ทั้งที่การเดินทางเข้าถึงเมืองโบราณแห่งนี้ค่อนข้างลำบาก ต้องปีนป่ายหน้าผา ไต่เขาสูงชัน ต่อมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (นับย้อนไปจากปีที่บทความเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2549-กองบรรณาธิการ) รัฐบาลเปรูมีโครงการสร้างรถรางนำนักท่องเที่ยวขึ้นมาชมเมืองและทัศนียภาพบนยอดเขา โดยที่บิงแฮมไม่มีโอกาสรับรู้ความเปลี่ยนแปลงนี้

ถ้าบิงแฮมรู้ว่ารัฐบาลเปรูจะสร้างรถรางขึ้นมาบนยอดเขานี้ เขาคงต่อต้านสุดกำลัง เหมือนที่จักรพรรดิอินคาเคยต่อสู้พวกสเปนอย่างอดทนกล้าหาญมาแล้วก็ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล. 2545. ละตินอเมริกา. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์มบุคส์.

Fagan, Brian. 2001. In the Beginning : An Introduction To Archaeology. Tenth edition. Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.

_____. 2004. Ancient Lives : An Introduction Archaeology and Prehistory. Second edition. Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.

Schreiber, Katharina. 1996. “Machu Picchu,” In The Story of Archaeology. edited by Paul G. Bahn, pp.238-9. London : Weidenfeld & Nicolson.

Stiebing, William H., Jr. 1994. Uncovering the Past : A History of Archaeology. New York : Oxford University Press.

Toner, Mike. 2002. The Past in Peril. Tallahassee, FL : Southeast Archaeological Center, National Park Service.

http://bioguide.congress.gov/scripts/biodisplay (accessed September 17, 2005)

http://www.labyrinthina.com/bingham.htm (accessed September 18, 2005)

http://www.ifip.com/Bingham.htm (accessed September 19, 2005)

http://www.mnsu.edu/emuem/information/biography/abcde/bingham_hiram.html (accessed September 19, 2005)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2562