ฤๅจะอวสาน “มาชูปิกชู”? สนามบินใหม่จ่อผุดใกล้สิ่งมหัศจรรย์ของโลกใช้ดูดนักท่องเที่ยว

ซากโบราณสถานเมืองมาชูปิกชูในปัจจุบัน (ภาพถ่ายเมื่อ 27 สิงหาคม 2016, AFP PHOTO / GOH CHAI HIN)

เหล่านักอนุรักษ์ นักโบราณคดี และกลุ่มชนท้องถิ่น เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างสนามบินใกล้กับเมืองโบราณ “มาชูปิกชู” ที่จะช่วยเพิ่มทางเลือกการเดินทางของนักท่องเที่ยวมาสู่แหล่งเมืองโบราณที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากก่อสร้างใกล้เมืองโบราณ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาทีเท่านั้น แต่กลุ่มนักโบราณคดีมองว่า สนามบินที่อยู่ใกล้ขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบทำให้เมืองโบราณเสียหายได้

มาชูปิกชูไม่เพียงเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของโลก บรรดาสิ่งปลูกสร้างยังเป็นแหล่งโบราณคดีกลุ่มอารยธรรมอินคาในเปรูที่สำคัญที่สุดอีกแห่ง ด้วยความสำคัญและความน่าสนใจนี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมกลุ่มสิ่งก่อสร้างบนภูเขาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านรายต่อปี รายงานข่าวจาก Chicago Tribune เผยว่า มาชูปิกชู รองรับกลุ่มคนเกือบ 6,000 รายต่อวัน มากกว่าอัตราที่ยูเนสโกแนะนำไม่ต่ำกว่า 2 เท่า (ยูเนสโกแนะนำอัตรารองรับที่ 2,500 คนต่อวัน)

การเดินทางเข้าถึงมีหลากหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นปีนเขาหรือนั่งรถไฟ กระทั่งไม่นานมานี้ มีโครงการก่อสร้างสนามบินที่ Chinchero เมืองอินคาที่มองเห็นทิวทัศน์งดงาม อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,800 เมตร และถือเป็นพื้นที่หน้าด่านก่อนเข้าไปถึงหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเผยว่า จากจุดนี้ไปจะใช้เวลาเดินทางไปที่หุบเขาศักดิ์สิทธิ์เพียง 20 นาที

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเดินทางไปที่หุบเขาผ่านสนามบิน Cusco ซึ่งมีรันเวย์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ล่าสุด รายงานข่าวเผยว่า แผนการสร้างสนามบินที่ Chinchero กำลังมีบริษัทก่อสร้างจากแคนาดา และเกาหลีใต้ประมูลงานกันอยู่ ขณะที่ภาพถ่ายซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ The Guardian แสดงให้เห็นว่า มีการปรับผิวดินเพื่อสร้างสนามบินแล้ว และเชื่อว่าโครงการก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2023 ซึ่งทำให้นักโบราณคดี คนท้องถิ่น กังวลว่า หากสนามบินแห่งนี้เปิดใช้งานจริงจะกระทบต่อเมืองโบราณอย่างมาก

กลุ่มที่คัดค้านโครงการชี้ว่า เครื่องบินที่จะลงจอดต้องบินระดับต่ำเหนือ Ollantaytambo และพื้นที่ทางโบราณคดี หากเป็นเช่นนี้ความเสียหายต่อซากอารยธรรมอินคาอาจเกิดขึ้นได้ แต่เสียหายระดับใดนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่กังวลว่าการก่อสร้างอาจทำลายแหล่งต้นน้ำของทะเลสาบ Piuray อันเป็นแหล่งน้ำที่เมือง Cusco ใช้พึ่งพาเกือบครึ่งหนึ่ง

Natalia Majluf นักประวัติศาสตร์ชาวเปรู จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อีกหนึ่งผู้นำในการเคลื่อนไหวคัดค้าน แสดงความคิดเห็นว่า โดยรวมแล้ว สนามบินที่สร้างใกล้กับเมืองโบราณเสี่ยงกระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภูมิประเทศที่ประกอบขึ้นจากความหลากหลายซับซ้อนของชาวอินคา และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมลภาวะด้านเสียง, การจราจร และการพัฒนาเมืองที่ไม่สามารถควบคุมได้ ล้วนเป็นความเสียหายซึ่งไม่อาจแก้ไขได้

ที่สำคัญคือ การก่อสร้างสนามบินที่ Chinchenro จะยิ่งทับถมบรรยากาศที่วุ่นวายในพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากจำนวนการเข้าเยี่ยมชมที่มากเกินมาก่อนแล้ว เมื่อพิจารณาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจากการบอกเล่าของไกด์ในมาชูปิกชูที่พบว่า ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวก็ยิ่งน่าเป็นห่วง มีรายงานเรื่องนักท่องเที่ยวปีนสิ่งก่อสร้าง เก็บหินไปเป็นของที่ระลึก และยังวาดเครื่องหมายบนหินโบราณอีก แม้แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว (กลุ่มที่น่าจะได้ผลประโยชน์จากสนามบินมากที่สุด) ก็ยังไม่เห็นด้วยกับโครงการไปเสียทุกประการ เรื่องการจราจรในการเดินทาง หรือเรื่องเสียงที่คิดว่าจะทำลายบรรยากาศในเยี่ยมชมหุบเขาศักดิ์สิทธิ์อย่างสิ้นเชิง

ผู้ที่เป็นห่วงตั้งแคมเปญเรียกร้องให้ผู้นำการเมืองของเปรู พิจารณาโครงการหรือเปลี่ยนจุดตั้งสนามบิน

มาชูปิกชูเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ ค.ศ. 1983 และยิ่งเมื่อได้รับโหวตในโลกออนไลน์เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอีกเมื่อปี 2007 ก็ยิ่งต้องรับมือกับนักเดินทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ผ่านมา รัฐบาลเปรูพยายามร่วมมือกับยูเนสโก เพื่อบรรเทาผลกระทบ

เมื่อปี 2017 รัฐบาลเปรูยังพยายามควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยการตั้งระเบียบกำหนดเวลาเยี่ยมชมที่ชัดเจน และจะอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมเมื่อมีไกด์จากทางการควบคุมเข้าไปด้วยเท่านั้น หลังยูเนสโกขู่ขึ้นบัญชีมาชูปิกชูเป็นแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย


อ้างอิง

Collyns, Dan. “‘It would destroy it’: new international airport for Machu Picchu sparks outrage”. The Guardian. Online. Published 15 MAY 2019. Access 22 MAY 2019. <https://www.theguardian.com/cities/2019/may/15/archaeologists-outraged-over-plans-for-machu-picchu-airport-chinchero>

Coldwell, Will. “Machu Picchu to trial timed entry tickets in bid to control tourist numbers”. The Guardian. Online. Published 20 JUN 2017. Access 23 MAY 2019. <https://www.theguardian.com/travel/2017/jun/20/machu-picchu-tickets-peru-timed-entry-control-flow-of-tourists>

Daley Jason. “Archaeologists, Tour Operators, Locals Raise Alarm Over International Airport at Machu Picchu”. Smithsonian. Online. Published 21 MAY 2019. Access 22 May 2019. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/international-airport-machu-picchu-raises-concerns-180972245/>