ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดาชื่อถนนและสะพานของไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนั้น ชื่อ “พระราม” พบได้มากที่สุด เพราะนอกจาก “ถนนพระราม” ทั้ง 7 สายแล้ว ยังมี “สะพานพระราม” อีก 9 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
การตั้งหรือเปลี่ยนชื่อถนนกับสะพานโดยใช้ “พระราม” เป็นพระราชนิยมที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วยถือว่าพระรามหรือ Rama เป็นพระนามพระมหากษัตริย์
สำหรับสะพานแห่งแรกที่ใช้ “พระราม” คือ สะพานพระราม 6 เริ่มโครงการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระบรมนามาภิไธยเฉลิมนามสะพานไว้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างแล้วว่า “สะพานพระราม 6” แต่สร้างเสร็จสมัยรัชกาลที่ 7
เมื่อถึงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนและสะพานที่ขึ้นต้นด้วย “พระราม” หลายแห่งตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 6
สะพานพระรามทั้ง 9
สะพานพระรามทั้ง 9 อยู่ไหน เชื่อมระหว่างเขต-แขวง หรือพื้นที่ใดของ 2 ฝั่งน้ำบ้าง? สามารถเรียงตามลำดับเวลาที่เปิดใช้ ดังนี้
1) สะพานพระราม 6 เปิดใช้งาน พ.ศ. 2469 เชื่อมระหว่างเขตบางซื่อกับเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
2) สะพานพระราม 1 หรือสะพานกษัตริย์ศึก (สะพานยศเส) เปิดใช้งาน พ.ศ. 2472 เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ถนนบำรุงเมือง และข้ามทางรถไฟ ตรงถนนพระราม 1 บริเวณแยกกษัตริย์ศึก
3) สะพานพระราม 9 เปิดใช้งาน พ.ศ. 2530 เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ เชื่อมระหว่างเขตยานนาวากับเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร
4) สะพานพระราม 7 เปิดใช้งาน พ.ศ. 2535 เชื่อมระหว่างเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร กับอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
5) สะพานพระราม 2 หรือสะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่สมุทรสงคราม และเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
6) สะพานพระราม 3 เปิดใช้งาน พ.ศ. 2542 เชื่อมถนนรัชดาภิเษกฝั่งธนบุรีกับถนนพระรามที่ 3 ฝั่งพระนคร
7) สะพานพระราม 5 เปิดใช้งาน พ.ศ. 2545 ตั้งอยู่บริเวณวัดนครอินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ในถนนแนวตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมต่อกับถนนติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์
8) สะพานพระราม 8 เปิดใช้งาน พ.ศ. 2545 ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและทางด้านใต้ของสะพานกรุงธนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบรรจบถนนวิสุทธิกษัตริย์
9) สะพานพระราม 4 เปิดใช้งาน พ.ศ. 2549 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นอกจากนี้ยังมีเขื่อนพระราม 6 เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย กั้นแม่น้ำป่าสักที่คุ้งยางนม ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อ่านเพิ่มเติม :
- สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ของ “สะพานพระราม 8”
- ถนนแห่งพระรามาธิบดี ถนนพระรามทั้ง 7 สาย
- ไฉนแรงงานไพร่พลลิงของพระราม ต้อง “จองถนน” หนทางสู่กรุงลงกา ไม่ใช้วิธีอื่น?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ห้องสมุด มสธ. รำลึกวันวานของสะพานกษัตริย์ศึก. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2567. (ออนไลน์)
นฤมล บุญแต่ง, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ถนน สะพาน และเขื่อนที่มีคำ “พระราม”. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2567. (ออนไลน์)
วีณา โรจนราธา. ถนนและสะพานที่ชื่อ “พระราม” ต้องตามด้วยเลขที่หรือลำดับที่. นิตยสารศิลปากร ปีที่ 54 ฉบับที่ 2.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2567