กำเนิด “แป้งเย็นตรางู” จากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เก่าแก่สมัยร.5 ถึงผู้ปรับสูตรแป้งเย็น

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) และ แป้งเย็นตรางู
ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) และ แป้งเย็นที่คนไทยคุ้นเคย (ภาพจาก Facebook / Snake Brand Fan Page)

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยนายแพทย์โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays) และนายแพทย์ กาแวน (Dr. Peter Gowan) ชาวอังกฤษ

หมอเฮส์ ผู้ให้กําเนิดตรางู

หลังจากโรงพยาบาลศิริราชเริ่มเปิดดำเนินการ เมื่อ พ.ศ. 2431 ไปได้สักระยะหนึ่ง คณะกรรมการจัดการโรงพยาบาลจึงได้ดำริจัดตั้งโรงเรียนหัดวิชาแพทย์ขึ้น เพื่อเผยแพร่วิชาแพทย์แผนใหม่ให้แพร่หลายในเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ครั้งนั้นจึงได้มีการว่าจ้างนายแพทย์ โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า หมอเฮส์ แพทย์จากคณะมิชชันนารีคณะเพรสไบที่เรียน และผู้จัดการโรงยาของมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian Dispensary) มาดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาลศิริราชและอาจารย์สอนวิชาแพทย์แผนใหม่คนแรกของโรงเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์

นายแพทย์ โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า หมอเฮส์

หลังจากที่นายแพทย์เฮส์ ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชครบ 1 ปี จึงได้ลาออกมารับตำแหน่งใหม่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางรัก ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวต่างประเทศมักนิยมเข้ามาตรวจรักษา

จากการที่หมอเฮส์เคยจัดการโรงยาของคณะมิชชันนารีมาก่อน อีกทั้งอาชีพหมอที่ตนเองทำอยู่ก็ต้องพึ่งพายาในการรักษาผู้เจ็บป่วย ทำให้หมอเฮส์คำนึงถึงความสำคัญของการผลิตยา เมื่อ พ.ศ. 2435 จึงริเริ่มเปิดร้านขายยาของตนเองขึ้น โดยร่วมทุนกับนายแพทย์ ปีเตอร์ กาแวน ชาวอังกฤษ ใช้ชื่อว่า British Dispensary มีสัญลักษณ์เป็นรูปงูถูกศรปักที่หัว แต่เนื่องจากเป็นชื่อร้านภาษาอังกฤษ ทำให้คนไทยในครั้งนั้นไม่สามารถออกเสียงได้ถนัด จึงนิยมเรียกตามสัญลักษณ์ของห้างว่า “ห้างขายยาอังกฤษ ตรางู”

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) แห่งแรกตั้งอยู่ที่ปากตรอกโรงภาษีข้าม มุมถนนสุรวงศ์ ซึ่งเป็นละแวกที่ชาวต่างประเทศอาศัยอยู่หนาแน่น และใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ชั้นบนเปิดเป็นคลินิก ชั้นล่างเป็นที่ปรุงยาและขายยา ทั้งที่ทำเองและสั่งจากต่างประเทศ

ภายนอกห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)

พระยาอนุมานราชธน บรรยายเหตุการณ์ในขณะนั้นไว้ในหนังสือฟื้นความหลัง ว่า “เมื่อเกิดมีร้านขายยาฝรั่งขึ้นมากโดยลำดับ หมอเฮส์ดำริตั้งร้านขายยาฝรั่งขึ้นอีกร้านหนึ่ง แต่มีผู้ทักท้วงว่า ร้านขายยาฝรั่งตั้งกันอยู่แล้วมากร้าน ก็ดูเหมือนว่าขายกันไม่ได้ดี ด้วยราษฎรส่วนใหญ่ยังใช้ยาหม้อยาผงกันอยู่ ถ้าขืนตั้งเพิ่มขึ้นมาอีก จะไปขายให้ใคร หมอเฮส์หัวเราะตอบว่า ที่มีร้านขายยาฝรั่งเกิดขึ้นมากก็แสดงให้เห็นว่า มีคนรู้จักและนิยมใช้ยาฝรั่งมากขึ้นเป็นลำดับ ถ้าราษฎรไม่นิยม แม้มีร้านขายยาฝรั่งเพียงร้านหรือสองสามร้าน ก็ขายไม่ได้เท่าไร ในที่สุดก็ต้องเลิกไปเอง เมื่อมีตั้งกันมากร้าน ก็ต้องมีแข่งขันกันทางการค้า ใครทำได้ดี ก็มีความเจริญเป็นเงาตามตัว อาจขยายวงความเจริญด้านอื่นเป็นผลพลอยได้ไปด้วย…

นายแพทย์ ปีเตอร์ กาแวน

ต่อมาหมอเฮส์ก็ตั้งร้านขายยาฝรั่งขึ้น ที่ถนนเจริญกรุงมุมถนนสุรวงศ์ ด้านใต้ ตัวอาคารเป็นตึกสองชั้นรูปสี่เหลี่ยม มีรั้วไม้เสาอิฐกั้นเป็นบริเวณ และตรงมุมเสาด้านปากถนนสุรวงศ์ มีรั้วไม้เสาอิฐกั้นเป็นบริเวณ และตรงมุมเสาด้านปากถนนสุรวงศ์ มีครกบดยาแบบฝรั่งขนาดยักษ์ พร้อมด้วยสากด้วย ตั้งอยู่บนหัวเสานั้น ใครผ่านไปมาอาจเห็นแต่ไกลว่าเป็นร้านขายยาฝรั่ง”

กิจการดําเนินมาได้ด้วยดี จนถึง พ.ศ. 2440 จึงได้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ที่สี่กั๊กพระยาศรี เพื่อรองรับลูกค้าที่เป็นเจ้านาย ข้าราชการ และประชาชนรอบ ๆ พระบรมมหาราชวัง หลังจากนั้นหมอกาแวน ผู้ร่วมหุ้นคนสำคัญมีความจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศอังกฤษ จึงได้ขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดให้แก่หมอเฮส์

กิจการรุ่งเรืองเรื่อยมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2449 หมอเฮส์จึงได้ขายกิจการทั้งหมดให้แก่คนปรุงยาในร้าน ชื่อ มร.แมคเบธ (Mr. Mcbeth) ซึ่งทำงานกับหมอเฮส์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 พร้อม ๆ กันนั้นก็ได้มีการเปิดสาขาขึ้นใหม่ที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนสี่พระยา โดยปิดกิจการที่ร้านปากตรอกโรงภาษีข้ามลง

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ในยุคนั้น นอกจากจะโด่งดังด้วยการผลิตยาเองแล้ว ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเซนลุกซ์ ของประเทศอังกฤษ เช่น สบู่เซนลุกซ์ น้ำมันเซนลุกซ์ รวมไปถึงน้ำมันตับปลา (Scott’s Emulsion) ยาแก้ปวดเพอร์รี่เดวิส (Perry Davis’s Painkiller)

มร.แมคเบธ

ขณะที่ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ดำเนินกิจการมาได้ถึงปีที่ 36 มร.แมคเบธ เจ้าของกิจการรุ่นที่ 2 ต้องการเดินทางกลับประเทศของตน จึงดำริที่จะขายกิจการทั้งหมด โดยทั้งมูลค่าของทรัพย์สิน ตลอดจนตำรับยาต่าง ๆ พร้อมลิขสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซนลุกซ์ เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท

ในครั้งนั้น นายล้วน ว่องวานิช เป็นผู้รับซื้อกิจการทั้งหมดจาก มร.แมคเบธ มาดำเนินการต่อ เมื่อ พ.ศ. 2471

หมอล้วนเจ้าของตรางู รุ่น 3 จากฝรั่งสู่คนไทย

ล้วน ว่องวานิช เกิดที่เกาะไหหลำ เมื่อ พ.ศ. 2434 เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่ออายุ 12 ปี โดยเริ่มเข้าทำงานอยู่ที่โรงงานน้ำอัดลมแห่งหนึ่ง ใกล้สะพานมอญ สี่กั๊กพระยาศรี หลังจากนั้นเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังจากนั้นเข้าทำงานที่ห้างขายยา ตราบัว มีหน้าที่ช่วยเหลือเภสัชกรในห้องผสมยา ต่อมาย้ายไปทำงานที่ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) และห้างขายยาบางกอกดิสเปนซารี (ตราช้าง)

ล้วน ว่องวานิช เริ่มสนใจการผสมยาอย่างจริงจัง จึงใฝ่หาความรู้ค้นคว้าหาตำรับตำรามาศึกษาด้วยตัวเอง รวมทั้งได้รับวิชาความรู้จากนายแพทย์ชไนเดอร์ ชาวเยอรมัน ซึ่งถ่ายทอดวิชาความรู้ทางการแพทย์ให้ จึงทำให้ ล้วน ว่องวานิช มีความสามารถพิเศษทางการแพทย์ขึ้น ทำให้คนทั่วไปมักนิยมเรียกกันว่า “หมอล้วน”

หมอล้วน ว่องวานิช (แถวหน้าที่ 4 จากซ้าย) กับพนักงานของห้าง เช่น นายป่วน เจริญพานิช เภสัชกร (แถวหน้าที่ 6 จากซ้าย) นายเช็คสเปียร์ ฮาร์ท ผู้จัดการห้าง (แถวหน้าที่ 5 จากซ้าย) ภาพถ่ายหน้าห้าง เมื่อครบรอบ 40 ปี ของห้าง

หลังจากนั้นได้เข้าไปทำงานที่ห้างขายยาเยาวราช ประมาณ 4 ปี จึงได้ออกมาตั้งห้างขายยาสมิทฟาร์มาซีขึ้น ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการ ดำเนินกิจการได้ 5 ปี จึงตัดสินใจซื้อกิจการห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)

เมื่อหมอล้วนเข้ามาดำเนินกิจการ ก็มิได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงกิจการแต่อย่างใด เพียงแต่ปรับสูตรแป้งน้ำที่ชื่อ “มะโนลา” เสียใหม่ ในราว พ.ศ. 2475 โดยเพิ่มสารที่ให้ความเย็นและความหอมเพิ่มขึ้น แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แป้งน้ำควินนา” โดยคําว่าควินนา มาจากคําว่า ควีน (Queen) ซึ่งหมายถึง หญิงที่เด่นที่สุด ซึ่งสูตรนี้ได้พัฒนามาเป็น แป้งฝุ่นเด็กเซนลุกซ์ และ แป้งเย็นปริกลี่ฮีทตรางู (Prickly Heat แปลว่า ผดผื่นคัน แป้งเย็นชนิดนี้ก็คือแป้งเย็นตรางูในปัจจุบัน – กองบก.ออนไลน์) ในเวลาต่อมา

ขวดบรรจุส่วนผสมของตัวยา

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หมอล้วนต้องประสบอุปสรรคอย่างหนึ่ง ถึงขนาดต้องเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ

ดร.บุญยง ว่องวานิช เล่าว่า ในช่วงดังกล่าวญี่ปุ่นได้ส่งกำลังบุกประเทศจีน ทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นทั่วประเทศจีน หมอล้วนจึงได้จัดส่งยาจากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ไปช่วยเหลือประชาชนชาวจีน ทำให้รัฐบาลขณะนั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นอยู่ฝ่ายเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้หมอล้วนถูกจับกุมตัวแล้วเนรเทศออกนอกประเทศ โดยครอบครัวทั้งหมดต้องเดินทางไปที่ฮ่องกง ซึ่งขณะนั้นดร.บุญยง กำลังศึกษาต่ออยู่ที่ฮ่องกงพอดี

ระหว่างนั้นหมอล้วนจึงส่ง ดร.บุญยง ว่องวานิช บุตรชาย เดินทางจากฮ่องกงเข้ามายังประเทศไทย เพื่อคอยดูแลกิจการแทน และเปลี่ยนชื่อห้างเป็น “ห้างขายยาตรางู” ตัดคําว่า “อังกฤษ” เป็นการชั่วคราว

หมอล้วนต้องอาศัยอยู่ที่เกาะฮ่องกงนานถึง 10 ปี จึงเดินทางกลับมายังประเทศไทย ดำเนินกิจการต่อไป โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น ยาหยอดตาสว่างเนตร ยาหยดทองใช้แก้อาการท้องเสีย ยาธาตุเซนลุกซ์ ยาบำรุงโคนาโตน ยาหม่อง น้ำมันใส่ผมเปโตร

หมอล้วนได้ดำเนินกิจการต่อมาจนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จึงสืบทอดมาถึงรุ่นลูกต่อไป

จากตึกเล็ก ๆ 2 ชั้น แถวสุรวงศ์ ปัจจุบันห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) มีสํานักงานสูงตระหง่านริมถนน พระรามที่ 9 จึงเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เจริญเติบโตไปมากน้อยเพียงใด


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2563