สร้างอัตลักษณ์ชาติด้วย “มรดก” อารยธรรมโบราณ ผ่านการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรู

เมืองมาชูปิกชู อารยธรรมอินคาในประเทศเปรู (Photo by EITAN ABRAMOVICH / AFP)

การจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรู*

ผู้คนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่เคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของมหาอำนาจในอดีต หลังจากที่ได้รับเอกราชมักมีความรู้สึกหรือมีความต้องการแสดงถึงรากฐานที่มาหรือรากเหง้าของตัวเองในฐานะที่เป็นประเทศอิสระและมีเสรีภาพมายาวนาน ดังเช่น การแสดงถึงความเป็นเจ้าของ หรือการครอบครองมรดกวัฒนธรรม (เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ) ที่เป็นประจักษ์พยานถึงความมีอยู่จริงของชาติตัวเองมาตั้งแต่อดีต เปรูเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ผู้คนมีความรู้สึกหรือมีอารมณ์ดังกล่าว และปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเนื่องจากเปรูเคยอยู่ใต้อาณานิคมของสเปนมายาวนานหลายศตวรรษและในขณะเดียวกันก็มีทรัพยากรวัฒนธรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกวัฒนธรรมประเภทแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน โบราณวัตถุ และร่องรอยการอยู่อาศัยและกิจกรรมของมนุษย์โบราณมานับพันปี ตั้งแต่ยุคก่อนวัฒนธรรมอินคามาจนถึงอารยธรรมอินคา (Inca civilization) ก่อนที่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนจะเข้ามาครอบครองในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

บทความนี้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรูในฐานะที่เป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของชาวเปรูพื้นเมือง ประเด็นหลักของบทความคือการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมและการปกป้องมรดกวัฒนธรรมในแง่ที่เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของชาวเปรูและประเทศเปรู โดยเน้นประเด็นพลวัตและความตึงเครียด (รวมถึงความขัดแย้ง) ในการจัดการมรดกวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มรดกวัฒนธรรมในการสร้างอุดมคติแห่งชาติ การบัญญัติกฎหมาย และการท่องเที่ยว ในตอนท้ายบทความเป็นการสรุปและความเห็นถึงการใช้อดีตในสังคม (เปรู) ร่วมสมัย และคาดการณ์ถึงอนาคตในการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรู

วาทกรรมว่าด้วยมรดกของชาติ

คำว่ามรดกในสังคมปัจจุบันในความเห็นของนักวิชาการหลายท่าน เป็นเสมือนลัทธิหนึ่ง ที่มีคนนับถือ หลงใหล และใช้ประโยชน์  ในเปรูเองก็เช่นกัน มีการสร้างวาทกรรมหรือมายาคติว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมโดยฝ่ายรัฐบาล ผ่านกระบวนการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติและอุดมคติแห่งชาติ (national ideology) โดยมองว่าทรัพยากรวัฒนธรรมเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน (property of the nation) ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้เป็นมรดกสำหรับชาวเปรู และดังนั้นชาวเปรูทุกคนจึงมีหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องรักษาไม่ให้มรดกวัฒนธรรมสูญหายและถูกขโมย หรือถูกทำลาย ตัวอย่างการสร้างมายคติมรดกแห่งชาติก็คือการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (National Museum) ในตอนต้นศตวรรษที่ 19 และรัฐบาลเปรูในขณะนั้นขอร้องอย่างเปิดเผยให้ประชาชนบริจาคของเก่าเข้าพิพิธภัณฑ์ และรัฐบาลก็มีนโยบายเสาะแสวงหาโบราณวัตถุ ของมีค่า ของสวยงาม และของที่ดูสูงส่งเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติให้ชาวเปรูภาคภูมิใจในชาติของตัวเอง และยืนยันถึงความเก่าแก่ของชนชาติเปรู พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจึงมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์

น่าสนใจด้วยว่ามรดกวัฒนธรรมที่รัฐบาลเปรูให้ความสนใจในระยะแรก ๆ มักเป็นร่องรอยและสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่มรดกตกทอดจากชาวสเปนในช่วงที่เปรูอยู่ภายใต้อาณานิคมของสเปนเช่นโบสถ์คริสต์และอาคารแบบตะวันตกทั้งนี้เนื่องจากชาวพื้นเมืองเปรูมีความโกรธเคืองชาวสเปนที่ไม่เคยใส่ใจให้ความเคารพวัฒนธรรมพื้นเมืองดูถูกวัฒนธรรมของชาวเปรูว่าล้าหลังและไม่ให้เกียรติชาวพื้นเมืองดังเช่นภาพที่ผู้นำชาวสเปนยืนอยู่เบื้องผู้นำชาวพื้นเมืองและใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบหรือวางบนหน้าผากของผู้นำพื้นเมือง  การกระทำหลายอย่างที่แสดงว่าชาวสเปนไม่เคารพสิทธิและวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองชาวเปรูยังนำไปสู่การก่อกบฎต่อต้านชาวสเปนและเรียกร้องเอกราชในเวลาต่อมา และในที่สุดก็ได้รับเอกราชในปี ค.. 1821

นับตั้งแต่ ค.. 1821 เป็นต้นมา รัฐบาลเปรูได้พยายามสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นมา โดยหันไปหามรดกวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เก่าแก่ย้อนกลับไปในยุคก่อนการเข้ามาของชาวสเปน (prehispanic cultures) เช่น อารยธรรมชาวีน (Chavin civilization) อารยธรรมนาซกา (Nazca civilization) เป็นต้น รวมไปถึงการฟื้นฟูหัตถกรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทอผ้าด้วยวิธีดั้งเดิมและตกแต่งด้วยลวดลายแบบพื้นเมือง) และภาษาพื้นเมือง เพื่อสนับสนุนความมีตัวตนของชาวเปรูและภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมของตัวเอง

โบราณวัตถุ ในอารยธรรมโบราณแถบอเมริกาใต้ ในสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติเปรูเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2008 (Peruvian National Institute of Culture) (Photo by HO / AFP)

มรดกวัฒนธรรมในกรอบกฎหมาย

ปัจจุบันการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรูมีหน่วยงานราชการหลักคือสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติ (National Institute of Culture หรือ INC) ทำหน้าที่บริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมภายใต้กรอบกฎหมายของประเทศ หน่วยงานนี้ก่อตั้งในปี 1970 (.. 2513) ปัจจุบันตั้งอยู่ในกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู มีการบริหารงานในลักษณะรวบอำนาจไว้ส่วนกลางและขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ และที่น่าสนใจประการหนึ่งคือหน่วยงานนี้เป็นผลผลิตหนึ่งของการรัฐประหารในปี 1968 ซึ่งนำโดยนายพลฮวน เวลาสโก อัลวาราโด (General Juan Velasco Alvarado) เปรูภายใต้การนำของนายพลอัลเวราโดให้ความสนใจอดีตหรือมรดกวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างพลังและปลูกฝังความเป็นชาติเปรูและอารยธรรมเปรูอันยิ่งใหญ่ในอดีต 

ภายใต้กฎหมายของเปรูมรดกวัฒนธรรมไม่ว่าอยู่ใต้หรืออยู่บนผืนแผ่นดินเปรูเป็นสมบัติของชาติและรัฐเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม (state ownership) เปรูมีกฎหมายเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรม 2 ฉบับที่ให้อำนาจข้าราชการประจำหน่วยงาน INC ในการอนุรักษ์ดูแลและศึกษาวิจัยมรดกวัฒนธรรมเช่นการวิจัยทางโบราณคดีการบูรณะการดูแลรักษาโบราณสถานรวมถึงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมโดยมีการแบ่งหน่วยงานออกเป็นระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับชาติระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นมีข้าราชการจากส่วนกลางเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ

ในปี 2003 (.. 2550) รัฐบาลเปรูได้ออกกฎหมายและพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับ ซึ่งเริ่มกระจายอำนาจให้หน่วยงานอื่น ๆ (ทั้งรัฐและเอกชน) และประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการมรดกวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น กระทรวงการค้าและการท่องเที่ยว (Ministry of Trade and Tourism) ทำหน้าที่ควบคุมดูแลแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

ความท้าทายในการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม

แม้ว่าเปรูให้ความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสำนึกอัตลักษณ์แห่งชาติแต่ปัจจุบันแนวคิดนี้เริ่มมีการท้าทายมากขึ้นจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจเช่นการท่องเที่ยวซึ่งผู้คนจากทั่วโลกสนใจเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งมรดกวัฒนธรรมสำคัญในเปรู เช่น มาชูปิกชู (Machu Picchu) ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกวัฒนธรรม เช่น การเสื่อมสภาพและความเสียหายจากนักท่องเที่ยว รัฐบาลเปรูผจญกับความท้าทายใหม่ในการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่จำนวนมาก (แหล่งมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีมากถึง 80,000 แหล่ง) กล่าวคือในขณะที่เปรูมีแหล่งมรดกวัฒนธรรมจำนวนมาก แต่งบประมาณในการดูแลและบริหารจัดการมีจำกัด ดังนั้นจึงเป็นการยากที่แหล่งมรดกวัฒนธรรมจะได้รับการสงวนรักษาอย่างเต็มที่และทั่วถึง นอกจากนี้เปรูยังประสบปัญหาเรื่องการขยายพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยว (เช่น การตัดถนนหนทาง ร้านค้า สนามบิน โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร รวมทั้งชุมชนเมืองสมัยใหม่) ซึ่งรุกคืบเข้าไปใกล้แหล่งมรดกวัฒนธรรมทำให้การจัดการมรดกวัฒนธรรมเป็นไปอย่างลำบาก

(ซ้าย) ไฮแรม บิงแฮม ผู้ค้นพบที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอินคา ในมาชูปิกชู ขณะตั้งแคมป์บนเทือกเขาแอนดีส, (ขวา) แผนที่แสดงเทือกเขาแอนดีสและที่ตั้งเมืองมาชูปิกชู (Machu Picchu)

อีกประการหนึ่งที่ถือเป็นความท้าทายในการจัดการมรดกวัฒนธรรมคือการท่องเที่ยวทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองกับชนบทหรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือพื้นที่เขตเมืองมักได้รับการพัฒนาและงบประมาณจำนวนมากในขณะที่พื้นที่ชนบทห่างไกลไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลขาดบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นเปรูยังประสบปัญหาแหล่งมรดกวัฒนธรรมถูกลักลอบขุดค้นและขโมยโบราณวัตถุเพื่อนำไปขายในตลาดการค้าโบราณวัตถุปัญหาดังกล่าวยังยากแก่การแก้ไขเนื่องจากชาวเปรูส่วนมากยังยากจนและการขายโบราณวัตถุก็ได้ราคาดีสามารถหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้มากกว่าการทำการเกษตรหลายเท่าตัว

นอกจากปัญหาการทำลายมรดกวัฒนธรรมโดยมนุษย์แล้วเปรูยังเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและทำให้แหล่งมรดกวัฒนธรรมเสื่อมสลายและสูญหายไปเช่นปัญหาน้ำท่วมจากปรากฏการณ์เอลนีโนพายุทะเลทรายและแผ่นดินไหว

แนวทางที่สร้างสรรค์ในการพิทักษ์มรดกวัฒนธรรม

แม้ว่าเปรูยังเผชิญกับความท้าทายในการจัดการมรดกวัฒนธรรมดังที่กล่าวมาแต่ยังผู้คนก็พยายามแสวงหาแนวทางใหม่ที่สร้างสรรค์ในการปกป้องดูแลมรดกวัฒนธรรม เช่นการให้การศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือคู่มือแผ่นพับที่เข้าถึงสาธารณได้ง่ายรวมทั้งการจัดพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งและอุทยานประวัติศาสตร์โดยเปิดโอกาสการจ้างงานแก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้มีรายได้และเกิดความภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมของชาติรวมทั้งการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรม

มีตัวอย่างความพยายามนำแนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรู เช่น โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดี (site museum) และพิพิธภัณฑ์ทั่วไปโดยการสนับสนุนจากองค์กรเอกชน ดังเช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติซิคัน (The National Sican Museum) ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเอกชนชาวญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เน้นการนำเสนอโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ขุดพบในหลุมฝังศพ โดยเลือกใช้วิธีการนำเสนอที่ล้ำสมัย ชวนติดตาม เพื่อสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของสามัญชน สภาพแวดล้อม และการผลิตงานหัตถกรรม

อีกตัวอย่างของความพยามคิดกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ในการจัดการมรดกวัฒนธรรมคือนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งนำโดย Luis Jaime Castillo และ Ulla Holmquist ได้ร่วมกันออกแบบนิทรรศการเป็นชุด (modular museum exhibits) แล้วไปกระจายติดตั้งในชุมชนชนบทแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านยากจน แต่เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งโบราณคดีสำคัญ แล้วแนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินชมนิทรรศการในจุดต่าง ๆ  และระหว่างเส้นทางเดินชมนิทรรศการก็มีร้านค้าสิ่งของที่ระลึก ร้านอาหารเครื่องดื่ม และสินค้นพื้นเมืองจำพวกงานหัตถกรรมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ 

นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งอีกหลายแห่งที่เน้นการปลูกฝังให้ชาวบ้านรักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมตลอดจนเป็นการสร้างงานในชุมชนให้คนในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์และเป็นผู้ดูแลโบราณสถาน รวมทั้งการเรียกร้องโบราณวัตถุคืนจากประเทศที่เคยส่งนักวิชาการเข้ามาสำรวจ ขุดค้น และนำโบราณวัตถุออกนอกเปรู เช่น กรณีของไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาสำรวจและขุดค้นเมืองโบราณมาชูปิกชูในระหว่างปี ค.. 1911-1912 และได้นำโบราณวัตถุจำนวนมากกลับไปยังสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าเพื่อการศึกษา แต่เมื่อเวลาผ่านไปนับหลายทศวรรษก็ยังไม่ส่งคืน จนรัฐบาลเปรูได้รณรงค์เรียกร้องสมบัติของพวกเขาคืน และได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวเปรูอย่างกว้างขวาง ในที่สุดมหาวิทยาลัยเยลก็ยอมส่งคืนโบราณวัตถุบางส่วนให้เปรู 

อนาคตของอดีตในเปรู

รัฐบาลเปรูมองว่าความภูมิใจ (pride) เป็นจุดสำคัญของความสำพันธ์ระหว่างการปกป้องมรดกวัฒนธรรมกับชาตินิยม ดังนั้นจึงพบว่ามีความพยายามที่จะนำอดีตอันรุ่งเรืองของอารยธรรมโบราณต่าง ๆ ในเปรู โดยเฉพาะอารยธรรมโบราณยุคก่อนการเข้ามาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส มาปลูกฝังให้ประชาชนภาคภูมิใจและสร้างสำนึกร่วมกันว่ามรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นเป็นมรดกของบรรพบุรุษหรือมรดกแผ่นดินของชาวเปรูที่ประชาชนควรช่วยกันดูแลรักษา เช่น มีการจัดตั้งเวรยามป้องกันโบราณสถานแห่งหนึ่งไม่ให้ใครมาลักลอบขุดสมบัติเก่าแก่ การร่วมมือกันปกป้องโบราณสถานดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็น “การเคารพต่อบรรพบุรุษของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่รัฐกลับใช้แนวทางการจัดการที่สวนทางหรือขัดแย้งกับตัวอย่างที่กล่าวมา เช่น ในแถบชายฝั่งทางใต้ของเปรู ซึ่งพบร่องรอยภาพโบราณบนแผ่นดิน (geoglyphs) ในอารยธรรมนาซกา (Nazca) อยู่หลายภาพ รัฐบาลกลับพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติ ไม่เน้นการสร้างความภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมให้แก่ชาวพื้นเมือง

อนาคตของอดีตในเปรูยังเป็นสิ่งท้าทายที่ผ่านมาองค์กรของรัฐได้ใช้มรดกวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งโบราณคดีและแหล่งอารยธรรมโบราณต่าง ๆ เป็นจุดขายมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งจำนวนมาก และดูเหมือนว่ารัฐบาลเปรูให้ความสนใจในการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมอย่างมาก แต่กระนั้นก็ยังไม่มีการเปิดสอนวิชาด้านการจัดการมรดกวัฒนธรรมในสถาบันการศึกษาแห่งใดเลย

ประชาชนและชุมชนเรียนรู้เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมของตัวเองจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น หนังสือวารสารซึ่งจัดพิมพ์โดยหน่วยงานราชการและนักวิชาการในมหาวิทยาลัย อนาคตของอดีตของชาวเปรูยังขึ้นอยู่กับเงินทุนที่ใช้การบริหารจัดการดูแลแหล่งมรดกวัฒนธรรมด้วยหากรัฐบาลไม่สามารถหาแหล่งทุนมาใช้ในการจัดการมรดกวัฒนธรรมก็น่าเป็นห่วงว่าแหล่งมรดกวัฒนธรรมหลายอาจเสื่อมสภาพถูกทำลายและสูญหายไปในที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ห่างไกลหรือในชนบทที่ชาวบ้านยังยากจนซึ่งทำให้การสร้างสำนึกหวงแหนและภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมในหมู่ชาวบ้านเป็นไปได้ยากในขณะที่ชาวบ้านยังยากจนและต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องจนนำไปสู่การลักลอบขุดหาสมบัติบรรพบุรุษไปขายในตลาดมืด

เมืองโบราณ “มาชูปิกชู” ในประเทศเปรู (Allard Schmidt, via Wikimedia Commons)

สรุป

การจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรูยังคงต้องดำเนินต่อไปเพราะเปรูมีทรัพยากรวัฒนธรรมจำนวนมากและหลากหลายกระจายอยู่ทุกสภาพภูมิประเทศ การร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานราชการ นักวิชาการองค์กรเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ความเท่าเทียมในการบริการจัดการและการใช้ประโยชน์จากมรดกวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระดับต่าง ๆ อาจเป็นทางเลือกสำคัญในการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรู ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ช่องทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ กระจายรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น ผ่านการจ้างงานและการส่งเสริมหัถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเปรู

การจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรูเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเนื่องจากเปรูเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรัฐบาลก็ต้องการสร้างชาติ/รัฐชาติใหม่ภายหลังได้รับเอกราชจากสเปน และต้องการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ ถ้าการจัดการมรดกวัฒนธรรมในเปรูประสบความสำเร็จ ชาวเปรูก็จะมีความภาคภูมิใจ ยืนหยัดอย่างมั่นคง และมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกด้วย

 


*สรุปและเก็บความจากการบรรยายของศาสตราจารย์ ดร.เฮเลน ซิลเวอร์แมน (Professor Dr. Helaine Silverman) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ และบทความของ Helaine Silverman เรื่อง Cultural Resource Management and Heritage Stewardship in PeruŽ ในวารสาร CRM: The Journal of Heritage Stewardship, Volume 3, Number 2, 2006.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่ิอ 21 สิงหาคม 2562