ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
การค้นพบร่อยรอยของ ยุทธการที่ หุบเขาโทลเลนซ์ “สมรภูมิเก่าแก่ที่สุด” ในยุโรป เมื่อ 1,250 ปีก่อนคริสตกาล
เมื่อปี 1996 มีผู้พบชิ้นส่วนคล้ายกระดูกแขนมนุษย์อยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ หุบเขาโทลเลนซ์ (Tollense valley) รัฐเมคเลินบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น (Mecklenburg-Vorpommern) ประเทศเยอรมนี ชิ้นส่วนกระดูกนี้มีหัวลูกศรฝังอยู่ นักโบราณคดีจึงลงมือขุดค้นบริเวณนั้น เบื้องต้นพบกะโหลกศรีษะมนุษย์เพิ่มเติม กะโหลกนี้มีร่องรอยการถูกทุบด้วยกระบองไม้ขนาดใหญ่ เชื่อได้ว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากการต่อสู้ หลังพิสูจน์อายุด้วยการตรวจค่าคาร์บอนจึงพบว่า โครงกระดูก นี้มีอายุราว 1,250 ปีก่อนคริสตกาล
หลังจากทีมสำรวจขยายพื้นที่ขุดค้น ข้อมูลโดยนักวิจัยและนักโบราณคดีชี้ชัดว่าการค้นพบนี้เป็น “สมรภูมิเก่าแก่ที่สุด” ในทวีปยุโรป เนื่องจากแหล่งขุดค้นที่ราบหุบเขาโทลเลนซ์เต็มไปด้วยซากนักรบที่บาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อราว 3,200 ปีก่อน แม้จะยังขุดค้นไม่ครบ 100% แต่ก็คาดคะเนได้ว่าจะมีจำนวนกว่า 4,000 คน ทั้งพบร่องรอยของอาวุธเป็นกระบองไม้ หัวธนูทำจากหินฟลินต์ (Flint) และสำริด (Bronze) รวมถึงหอก มีดและดาบสำริดด้วย ซากจากอดีตในยุคสำริดอันน่าสยดสยองนี้ถูกกลับฝังกลบอยู่ใต้ชั้นดิน ทับถมด้วยซากพืชซากสัตว์ ช่วยให้นักวิจัยค้นพบข้อมูลชุดใหม่ว่าสงครามขนาดใหญ่ระหว่างเผ่าพันธุ์มนุษย์ในยุคสำริดนั้นมีมานานกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ (คลิกชมภาพ หลักฐานจากแหล่งขุดค้น หุบเขาโทลเลนซ์)
บทความเกี่ยวกับการวิจัยทางโบราณคดีที่หุบเขาโทลเลนซ์ใน “นิตยสาร Science” ระบุว่า การรบนี้อาจเป็นหลักฐานโดยตรงที่เก่าแก่ที่สุดของการต่อสู้ขนาดใหญ่ของโลกยุคโบราณ
จากหลักฐานที่มี ไม่มีใครรู้ว่าคนจำนวนมากที่เข่นฆ่ากันบริเวณแม่น้ำโทลเลนซ์เหล่่านี้เป็นใคร เพราะช่วงเวลานั้นยังไม่มีการจดบันทึกใด ๆ เราจึงไม่มีข้อมูลลายลักษณ์อักษรที่บอกได้ว่าคนกลุ่มนี้สู้กันด้วยเหตุผลใด แต่สัจธรรมแห่งโลกยุคโบราณของการรบราฆ่าฟันย่อมหนีไม่พ้นเหตุผลเรื่องพื้นที่หรืออาณาเขต การครอบครองฝูงปศุสัตว์ และผู้หญิง
นิตยสาร Science ให้ข้อมูลว่าการต่อสู้อันดุเดือดนี้อาจมีผู้เกี่ยวข้องหลายพันคนและเกิดขึ้นพร้อมจบลงภายในช่วงเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น เป็นไปได้ว่าพาหนะอย่าง “ม้า” มีส่วนเกี่ยวข้องกับในสมรภูมินี้ เพราะจากการสำรวจและขุดค้นเพียง 2-3% ของพื้นที่ พวกเขาพบซากม้า 5 ตัวแล้ว
ผู้ชนะหรือรอดชีวิตจากสงครามนี้คงถอดของมีค่าบางส่วนออกจากศพ แต่บางส่วนยังอยู่กับร่างไร้วิญญาณนั้นและและถูกทับถมจากดินและซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไปตามกาลเวลา
ระหว่างปี 2009-2015 นักวิจัยจากกรมอนุรักษ์ประวัติศาตร์ประจำเมคเลินบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์นแห่งมหาวิทยาลัย Greifswald ได้ค้นพบกระดูกม้าและผู้ชายเพิ่มเติม หลายคนมีร่องรอยการได้รับบาดเจ็บสาหัสก่อนเสียชีวิต รวมถึงอาวุธสงครามที่พวกเขาใช้ พวกเขาเชื่อว่ามี โครงกระดูก ที่ไม่ยังไม่ถูกขุดค้นซ่อนอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
จากการวิเคราะห์โครงกระดูกของชายหนุ่ม 130 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี พบว่าส่วนหนึ่งคือคนท้องถิ่นที่ต่อมากลายเป็นบรรพบุรุษของชนชาวเยอรมัน (Germanic peoples) แต่อีกจำนวนหนึ่งมาจากพื้นที่ต่างกันและอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรจากจุดที่เกิดการสู้รบ ปัจจุบันคือพื้นที่ของโปแลนด์ เนเธอแลนด์ สแกนดิเนเวียน และทางใต้ของทวีปยุโรป ที่มาของชายหนุ่มเหล่าจากทั่วทวีปยุโรปสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิจัยอย่างมาก
โทมัส เทอร์เบิร์ก (Thomas Terberger) นักโบราณคดีของสำนักงานบริการมรดกทางวัฒนธรรมแห่งฮันโนเวอร์, รัฐแซกโซนีใต้ (Lower Saxony) เป็นผู้อำนวยการร่วมการขุดค้น ให้สัมภาษณ์ว่า “หากสมมติฐานของเราถูกต้องว่าสิ่งที่ค้นพบทั้งหมดคือเหตุการณ์เดียวกัน เรากำลังค้นพบความขัดแย้งในระดับที่ไม่ทราบขอบเขตเลย ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์” ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า “ไม่มีอะไรใช้เทียบเคียงได้”
ช่วงแรกที่ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ นักวิจัยตั้งทฤษฎีว่าการต่อสู้เกิดจากการจู่โจมเพื่อขโมยอาหารและสังหารเจ้าของเดิม แต่หลักฐานการต่อสู้และฆ่าฟันกันนี้กลับทอดยาวไปตามแนวแม่น้ำกว่า 3 กิโลเมตร ทำให้นักวิจัยต้องทบทวนสมมติฐานเดิมอีกครั้ง แน่นอนว่าพวกเขาต่างประหลาดใจกับขอบเขตและพื้นที่ของแหล่งขุดค้นที่มีแนวโน้มจะขยายออกไปเรื่อย ๆ จึงวิเคราะห์และประเมินว่าอาจมีชายหนุ่มที่เป็นนักรบเข้าร่วมในการประหัตประหารครั้งนี้ถึง 4,000 คน
การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นการมีอยู่ของ “ชนชั้นนักรบ” และการมีส่วนร่วมในสงครามจากผู้คนทั่วยุโรปเมื่อ 3,200 ปีก่อน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ใหม่มากสำหรับช่วงเวลาดังกล่าว แม้จะมีบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมหากาพย์สงครามครั้งใหญ่ในยุคสำริดระหว่างชนชาวกรีกกับผู้คนในดินแดนตะวันออกใกล้ (สงครามกรุงทรอย) แต่นอกจากการจดบันทึกแล้ว การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นกลับมีเพียงเล็กน้อยที่เป็นหลักฐานว่ามีการต่อสู้ขนาดใหญ่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ณ ช่วงเวลาที่ (เชื่อว่า) เกิดสงครามกรุงทรอย พื้นที่ยุโรปเหนือยังไม่มีการเขียนบันทึกอย่างแน่นอน
แบร์รี่ มอลลอย (Barry Molloy) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยคอลเลจดับลิน (University College Dublin) บอกกับ Science ถึงความโดดเด่นของการค้นพบนี้ว่า “…แม้แต่ในอียิปต์ เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามมากมาย แต่ก็ไม่เคยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของผู้เข้าร่วมและเหยื่อสงครามเลย”
อาร์. ไบรอัน เฟอร์กูสัน (R. Brian Ferguson) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers University) บอกกับเว็บไซต์ Ancient Origins ในปี 2015 ว่างานวิจัยของเขาแสดงให้เห็นว่ายุโรปและตะวันออกใกล้ในยุคหินนั้นมีความสงบเป็นส่วนใหญ่ โดยสงครามเริ่มกวาดล้างชีวิตผู้คนในยุโรปและตะวันออกใกล้ช่วงปลายยุคหินใหม่ ถึงอย่างนั้น ยุคทองแดงและสำริด (ถัดจากยุคหินใหม่) ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 6,000-5,000 ปีก่อนคริสตกาล ก็ยังไม่พบเรื่องราวของสงครามที่ชัดเจนนัก
การจะเข้าใจสงครามยุคก่อนประวัติศาสตร์จึงต้องศึกษาจากงานศิลปะเกี่ยวกับการต่อสู้และรบราฆ่าฟัน หลักฐานหรือซากของป้อมปราการที่ฝังอยู่ใต้ชั้นดิน รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์และบาดแผลจากการต่อสู้และอาวุธดังที่พบได้ในแหล่งขุดค้นยุทธการหุบเขาโทลเลนซ์
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอยนักโบราณคดี ขุดสุสานฟาโรห์ “ทุทันคามุน” เผยวินาทีพบโลงพระศพ-สมบัติสุดอึ้ง!
- นักโบราณคดีพบ “ทหารดินเผา” ใกล้สุสานจิ๋นซี เพิ่มกว่า 220 ตัว
อ้างอิง :
ANDREW CURRY, Science (2016) : Slaughter at the bridge: Uncovering a colossal Bronze Age battle
Carlos Quiles, Indo-European.eu (2020) : “Local” Tollense Valley warriors linked to Germanic peoples
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2565