การสืบราชสันตติวงศ์ สมัยอยุธยา ในบันทึกชาวต่างชาติ

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ตั้งแต่การสมัย “กรุงศรีอยุธยา” ก็มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อการค้า, แผยแพร่ศาสนา, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ บางคนพำนักอยู่เพียงไม่กี่วัน บางคนอยู่กันเป็นปีๆ ชาวต่างชาติเหล่านี้บางคนยังได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของไทยที่ตนเองไปพบเห็น หรือจากการสอบถาม ซึ่งเรื่องหนึ่งที่มีการบันทึกถึงก็คือ “การสืบราชสันตติวงศ์” ในยุคนั้น

ซึ่งในบทความ “การสืบราชสันตติวงศ์ สมัยอยุธยา” (ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2530) พลโท ดำเนิร เลขะกุล ผู้เขียนได้รวบรวมบันทึกของชาวต่างชาติหลายคน เพื่อตอบคำถามในเรื่องดังกล่าว ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]


 

นายโยส เซาเย็น (Joost Schouten) ชาวฮอลันดา เป็นผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้ง ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รวมเป็นเวลา 8 ปี ได้เขียนจดหมายเหตุไว้เมื่อ พ.ศ. 2179 แต่ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2206 จึงเชื่อได้ว่า ข้อความที่เขาเขียนนั้นต้องสอบถามได้จากขุนนางผู้ใหญ่หลายคนส่วนหนึ่ง และจากผู้เห็นด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่ง ข้อเขียนของเขาน่าจะใกล้ชิดกับความจริงในสมัยนั้น เฉพาะที่เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เขาเขียนไว้ว่า

กฏหมายและธรรมเนียมของประเทศนี้ ได้กำหนดการสืบสันตติวงศ์ไว้อย่างแปลกประหลาด แต่ทว่าก็เป็นการกำหนดแน่นอนตายตัว คือ เมื่อพระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ลง พระอนุชารองลงมาของพระองค์จะได้สืบราชสมบัติ แต่ถ้าพระองค์ไม่มีอนุชา พระราชโอรสจึงได้ราชสมบัติ เมื่อราชสมบัติตกแก่ราชโอรสเช่นนี้ พระอนุชาองค์ถัดๆ ไปก็จะได้สืบสันตติวงศ์จนสิ้นจำนวนพระอนุชานั้น พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้ราชสมบัติโดยเด็ดขาด ด้วยการสืบสันตติวงศ์เช่นนี้ สายของกษัตริย์องค์ปฐมจะสุดสิ้นไปนั้นเป็นการยาก

แต่กฎการสืบสันตติวงศ์นี้มีการปฏิบัติให้เป็นอย่างเฉียบขาดไม่บ่อยครั้งนัก เจ้านายซึ่งได้ราชสมบัติมักจะเป็นเจ้านายที่มีอำนาจมากที่สุด หรือมิฉะนั้นก็เป็นเจ้านายที่กษัตริย์โปรดปราน ตัวอย่างจะเห็นได้จากพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน (สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) พระองค์ได้ทรงประหารรัชทายาทที่ชอบธรรม และเจ้านายอื่นๆ รวมทั้งข้าราชบริพารเป็นอันมาก ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้มีเจ้านายคนใดขัดขวางการขึ้นครองประเทศของพระองค์ และเพื่อพระองค์จะได้ทรงมอบราชบัลลังก์ให้แก่พระอนุชาหรือพระโอรสต่อไปโดยปราศจากการคัดค้าน [1]

นายเยเรเมียส ฟานฟลีต (Jeremias Van Vliet) คนไทยส่วนมากเรียก วันวลิต เป็นชาวฮอลันดาเข้ามาเป็นผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อจากนายโยส เซาเต็น ระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 นายเยเรเมียส ฟานฟลีต ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ 3 เล่ม เฉพาะเล่มที่ได้แปลและพิมพ์ในประเทศไทยแล้วมี 2 เล่ม ทั้งสองเล่มนี้ได้กล่าวถึงการสืบราชสมบัติไว้ ดังนี้

ก. ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เขียนเมื่อ พ.ศ. 2184 มีข้อความบ่งว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต จะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชาหลายแห่ง ดังนี้

1. ขุนหลวงพะงั่วแย่งราชสมบัติจากสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. 1913 เป็นเหตุให้วันวลิตบันทึกไว้ว่า

ตั้งแต่นั้นมาก็เกิดกฎหมายแผ่นดินสยามว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ถ้าหากพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ลง พระอนุชา (ไม่ใช่พระราชโอรส) จะได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้บางครั้งก็เป็นไปในทางตรงกันข้าม แต่ก็เนื่องจากกฎหมายนี้ถูกละเมิด [2] และว่า พระทองจันราชโอรสของขุนหลวงพะงั่ว สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระอนุชา

2. การที่พระรัษฎาธิราช พระชนมายุ 5 พรรษา ได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2076 นั้น เพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พระราชบิดาไม่มีพระราชอนุชา หรือพระราชโอรสแก่กว่านั้น

3. เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงประชวร ในระหว่างนั้นพระองค์ก็ทรงปรึกษาขุนนางขอคำแนะนำว่า ใครสมควรจะได้ครองราชสมบัติสืบต่อเนื่องจากพระองค์ พระอนุชาหรือพระราชโอรสองค์ใหญ่ ขุนนางกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า ถ้าหากจะเป็นไปตามกฎมนเทียรบาลแล้ว พระอนุชาควรจะได้ขึ้นครองราชย์ ส่วนขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า พระราชโอรสสมควรจะขึ้นครองราชย์ ขุนนางกลุ่มที่สามเห็นว่า สมควรเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดิน และทูลว่า “เจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงมีความสามารถ และพวกเราจะเชื่อฟังและจะรับใช้เยี่ยงทาสต่อบุคคลใดก็ตามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระองค์” พระเจ้าแผ่นดินทรงแก้ปัญหาโดยทรงทำพินัยกรรมมอบให้พระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติ อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ไม่ได้ทรงประกาศการตัดสินพระทัยครั้งนี้ให้ทราบทั่วกัน [3]

เป็นอันว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้เสวยราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งวันวลิตกล่าวไว้ใน จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์) ซึ่งเขียนใน พ.ศ. 2190 ว่า การทำเช่นนั้นเป็นการขัดต่อกฎมนเทียรบาล เพราะกฎมนเทียรบาลกำหนดว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ราชสมบัติจะตกอยู่กับพระราชอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตต้องได้ครองราชบัลลังก์และให้ตัดสิทธิของพระโอรสออกไป การฝ่าฝืนกฎหมายนี้ได้เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ทรงธรรมเจ้าช้างเผือก พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรสยามได้ทรงแต่งตั้งราชโอรสของพระองค์ให้สืบสันตติวงศ์ครองอาณาจักรแทนพระอนุชา ซึ่งควรจะได้รับมงกุฎต่อไป การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปโดยความพอพระทัยเป็นส่วนพระองค์มากกว่าที่พระองค์ทรงเห็นแก่บ้านเมือง [4]

นายเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ชาวเยอรมัน ได้เป็นหมอประจำคณะทูตฮอลันดา ซึ่งเดินทางจากเมืองปัตตาเวียจะไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2233 (ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา) นั้น ได้แวะเข้ามาพักอยู่ในพระนครศรีอยุธยา 23 วัน ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ในหนังสือ ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ ตอนหนึ่งกล่าวถึงประเพณีการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาว่า

ตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยประเพณีการสืบสันตติวงศ์ของไทยนั้น พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นผู้ที่จะได้ครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป และถ้าพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินหาไม่ราชสมบัติก็ตกแก่ราชบุตรองค์ใหญ่ แต่กฎนี้หาได้กระทำกันอย่างเคร่งครัดไม่ จึงเป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งผู้มีอำนาจมากที่สุดในพระราชวงศ์เป็นผู้ที่ได้รับมอบราชสมบัติในเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคต เพราะฉะนั้นจึงมักจะไม่ปรากฏนักว่า รัชทายาทที่ถูกต้องตามลำดับในกฎมนเทียรบาลได้เสวยราชสมบัติ หรือสามารถที่จะรักษาราชสมบัติไว้ได้โดยสงบ [5]

หมายเหตุ ข้อความนี้มีใจความคล้ายคลึงกับความเห็นของนายโยส เซาเต็น ที่กล่าวมาแล้ว เข้าใจว่าหมอแกมป์เฟอร์คงจะได้อ่านและใช้จดหมายเหตุของนายโยส เซาเต็น ในการเขียนความเห็นของเขา เพราะการแวะเข้ามาพักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเพียง 23 วัน เขาคงไม่มีโอกาสได้สอบถามเก็บรายละเอียดเกี่ยวแก่กรุงศรีอยุธยาด้วยตนเองได้มากนัก

นายลาลูแบร์ (De la Loubere) ทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ 27 กันยายน 2230 และพักอยู่จนถึง 3 มกราคม 2231 (เกือบร้อยวัน) ได้กลับไปเขียนหนังสือ Du Royaume de Siam ขึ้นใน พ.ศ. 2234 (เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วให้ชื่อว่า จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์) ได้กล่าวถึงการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยา ไว้ว่า

พระราชธิดาจะทรงเป็นมกุฎราชกุมารีสืบสันตติวงศ์ไม่ได้…ตามธรรมดานั้น สมเด็จพระโอรสาธิราชพระองค์ใหญ่ของพระอัครมเหสีมักเป็นผู้ทรงสืบราชสมบัติตามนิติประเพณี…ในระหว่างพระภาดาซึ่งมาตรว่า จะมิใช่พระโอรสของพระอัครมเหสีด้วยกันทั้งหมด และระหว่างพระปิตุลากับพระภาคินัย องค์ที่ทรงมีพระชนมายุมากกว่าเพื่อน มักเป็นที่นิยมชมชอบของพวกขุนนางและประชาชนพลเมือง หรือจะพูดให้ถูกต้องก็ต้องว่า การใช้กำลังนั้นแล้วมักเป็นเครื่องชี้ขาดอยู่เสมอ องค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เองก็พอพระทัยใช้พระราโชบายทรงทำให้การสืบราชสมบัติไม่แน่นอน ด้วยว่าแทนที่จะทรงเลือกพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระอัครมเหสีประดิษฐานไว้ในตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ก็มักจะมีบ่อยๆ ที่หันเหเคลิ้มคล้อยไปทางพระโอรสที่เป็นบุตรสนมลางนาง ซึ่งเป็นนางคนโปรดของพระองค์เสีย [6]

หมายเหตุ แม้ลาลูแบร์จะได้อ่านจดหมายเหตุของนายโยส เซาเต็น และของวันวลิต มาแล้ว แต่เขามิได้คล้อยตามในเรื่องการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยา เขากลับให้ความเห็นในเรื่องนี้ไปใกล้เคียงกับกฎมนเทียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตรา ไว้ใน พ.ศ. 2011 ว่า สมเด็จพระโอรสาธิราชพระองค์ใหญ่ของพระอัครมเหสี เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าได้สืบราชสมบัติตามนิติประเพณี แต่อาจจะมีปัญหาขัดแย้งในทางอาวุโส ความนิยมชมชอบ และอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ นอกจากนั้นยังต้องแล้วแต่ความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงเลือกตั้งผู้ใดก็ได้อีกด้วย

นายฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (Francois Henri Turpin) ไม่เคยเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ได้แต่รวบรวมเรื่องราวจากบันทึกต่างๆ ของบาทหลวง (ซึ่งเขียนขึ้นระหว่างที่เข้ามาสอนศาสนาในกรุงศรีอยุธยา) แล้วได้พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2314 เมื่อแปลแล้วให้ชื่อในภาษาไทยว่า ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง แม้มิได้กล่าวถึงการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาไว้ ตรงๆ แต่ก็พอเก็บความได้ว่า

พระศรีสุธรรมราชา พระปิตุลาของสมเด็จพระนารายณ์ทรงอ้างสิทธิการสืบราชสมบัติ ตามพระราชประเพณีดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาของพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ต้องทรงยินยอมให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ [7] นี้หมายความว่า ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น การสืบราชสมบัติยังถือว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ราชสมบัติจะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชาอย่างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความเห็น ในการสืบราชสมบัติสมัยอยุธยา ของชาวต่างประเทศ

ชาวต่างประเทศผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาเหล่านี้ล้วนเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาต่างวาระกันตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171) ลงมาทั้งสิ้น แต่ทำไมความเห็นเหล่านี้ส่วนมากผิดแผกไปจากกฎมนเทียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตราไว้ใน พ.ศ. 2011 มาก ว่าเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตลง ราชสมบัติจะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชาของพระมหากษัตริย์ที่ทรงสวรรคต ทั้งๆ ที่กฎมนเทียรบาลฉบับนั้นกำหนดไว้ว่า พระราชสมบัติจะต้องได้แก่พระโอรสพระองค์ใหญ่ซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสีและพระยศเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า

ความผิดพลาดครั้งนี้ น่าจะเนื่องมาจากชาวต่างประเทศเหล่านั้น ได้รับคำบอกเล่าจากบุคคลต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยาเช่นนั้นจริงๆ ทั้งนี้เพราะตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขุนนางและผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้เคยอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชต่อกับรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถมาแล้ว ยังคงเห็นเหตุการณ์ระหว่างนั้นมาด้วยตนเอง หรือถ้าเป็นขุนนางหนุ่มๆ ก็คงได้รับคำบอกเล่าเรื่องราวเก่าๆ เมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตแล้วมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้สมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชาธิราชเสวยราชสมบัติอย่างเอิกเกริกมโหฬารเป็นที่ฝังใจเรื่อยมา ก็เพราะประชาชนต่างเคารพ รักใคร่ และเทิดทูนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ในอดีต สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องราชูปโภคและพระราชกรณียกิจของพระองค์จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และยึดถือเป็นประเพณีไปทั้งสิ้น

การที่พระราชอนุชาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแทนเมื่อพระเชษฐาธิราชผู้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต จึงพลอยเป็นพระราชประเพณีซึ่งเป็นที่จดจำของคนทั่วไปด้วย เมื่อความเข้าใจของชาวกรุงศรีอยุธยาเช่นว่านี้ได้ถ่ายทอดมาถึงชาวต่างประเทศ เขาจึงเขียนไปตามที่เขาได้ฟังมาดังกล่าวแล้ว

เหตุการณ์ที่เป็นพยานให้เห็นว่า ในขณะนั้นบุคคลทั่วไปในกรุงศรีอยุธยาถือว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้รับราชสมบัติ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่ง คือ เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จเสวยราชย์ใหม่ๆ ใน พ.ศ. 2171 นั้น พระพันปีศรีศิลป์ผู้เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งสวรรคตไปแล้ว “ทรงพระโกรธว่า มุขมนตรีมิได้ยกราชสมบัติให้ ก็ทรงพาพรรคพวกของพระองค์หลบหนีไปเมืองเพชรบุรี ส้องสุมพวกพลจะยกเข้ามา” ตามนี้แสดงว่าบุคคลต่างๆ ในสมัยนั้นเข้าใจทั่วกันว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ราชบัลลังก็จะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชานั้นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะไม่ให้ชาวต่างประเทศซึ่งสอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยามีความเห็นผิดแผกไปจากกฎมนเทียรบาลดั้งเดิมได้อย่างไร?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ขจร สุขพานิช, (แปล) “จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น” ประชุมพงศาวดารภาคที่ 75, เล่มที่ 47 (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2513) : 130-131

[2] วนาศรี สามนเสน, (แปล,) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ.2182 (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร), 2523) : 33

[3] เพิ่งอ้าง, 120-121

[4] นันทา สุตกุล, (แปล), จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์), ประชุมพงศาวดารภาคที่ 79, เล่มที่ 49, (กรุงเทพฯ : คุรุ สภา, 2513) : 108-109

[5] เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์, ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ (นายอัมพร สายสุวรรณ ผู้แปล), (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2487) : 36-37

[6] สันต์ ท. โกมลบุตร, (แปล), จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ, สํานักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510,) : 452

[7] สมศรี เอี่ยมธรรม, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522) : 33


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2565