ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงอธิบายพระนาม “มงกุฎ” คือมกุฎราชกุมาร คือ “รัชทายาท”

ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือรัชกาลที่ 4 และ พระสงฆ์ ธุดงค์ ฉากหลัง เป็น เจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สุโขทัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้ง ผนวช เป็น พระวชิรญาณเถระ ได้ ก่อตั้ง ธรรมยุติกนิกาย
รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ภาพวาดโดย นายวุฒิชัย พรมมะลา

ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หรือ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงผนวชเป็น “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” อยู่ระยะหนึ่ง ระยะหนึ่งที่ว่านั่นคือ เวลา 27 ปี 

ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก่อนการเสด็จสวรรคต ก่อนที่ขุนนางตระกูลบุนนาคจะไปอัญเชิญภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎสด็จขึ้นครองราชย์ 1 วัน (24 มีนาคม (ยังนับเป็นปี 2393)) พระองค์ทรงแถลงข่าว เกี่ยวกับเวลา 27 ปี ที่วัดบวรนิเวศ โดยทรงให้ เรเวอเรนต์ ยอห์น เทเลอร์ โยนส์ ตัวแทนหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรส เข้าเฝ้า ทรงมีรับสั่งตอนหนึ่งความว่า

“นิ่งทรงยอมให้พระเชษฐาธิราชขึ้นเถลิงราชบัลลังก์” 

การให้ข่าวที่เกิดขึ้นก่อนการสวรรคต (2 เมษายน พ.ศ. 2395) ราว 1 สัปดาห์เศษ เพราะ (รัชกาลที่ 4) ทรงปรารถนาจะให้ชาวต่างชาติรับรู้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในสยาม ก่อนที่รัชกาลที่ 3 จะเสด็จสวรรคต และก่อนที่เจ้านายพระองค์ใดจะฉวยอำนาจเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อเสียเอง

เมื่อรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสก็ลงข่าวเรื่องนี้ได้พอดีกับเวลา

ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงเคยกล่าวถึงสิทธิ์ในราชบัลลังก์ของพระองค์ให้ชาวต่างชาติได้รับรู้มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงผนวช ปี 2391 ขณะรัชกาลที่ 3 ยังทรงพระชนมชีพอยู่

ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงมีพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษเป็นการส่วนพระองค์ถึง นาย G. W. Eddy-พระสหายชาวอเมริกัน โดยทรงยกความหมายแห่งพระนามของพระองค์ขึ้นมาอธิบายให้นาย Eddy ว่า

“…‘Mongkut’ means Crown. The name ‘Chau Fa Mongkut’ means ‘The High Prince of the Crown’ or ‘His Royal Highness the Crown Prince’”

ม.จ. พรพิมลพรรณ รัชนี ทรงแปลความออกเป็นภาษาไทยว่า, “มงกุฎ แปลว่า เคราน์ นามซึ่งเรียกว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ จึ่งแปลว่า ‘เจ้าชายทรงยศสูงแห่งมงกุฎ’ หรือ ‘เจ้าฟ้าผู้เป็นรัชทายาท.’”   

การที่ทรงอ้างว่าพระนามของพระองค์แปลความว่า “His Royal Highness the Crown Prince” หรือ “มกุฎราชกุมาร” หรือ “ผู้เป็นรัชทายาท” แสดงถึงพระราชประสงค์มากกว่าจะเป็นเพียงแค่ความหมายตามธรรมดา

ที่สำคัญคือ พระนาม “มงกุฎ” มิได้ให้หมายความว่าเป็นรัชทายาทผู้จะขึ้นครองราชย์สืบต่อ ดังในสมัยอยุธยา เจ้านายหญิงที่ใช้พระนามเช่นนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ทั้งสัญลักษณ์ที่อ้างอิงการผู้เป็นรัชทายาทของไทยก็คือ “ฉัตร” 

นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ราชสำนักไทยยังไม่มี และไม่รู้จักตำแหน่ง “เคราน์ปริ๊นซ์” หรือ “มกุฎราชกุมาร” ที่สถาปนาขึ้นในภายหลังต่อมาอีกนาน ตามแบบราชสำนักตะวันตก

ทั้งพระนาม “มงกุฎ” นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายไว้ในพระราชวิจารณ์ประกอบจดหมายความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า ที่รัชกาลที่ 2 ทรงขนานพระนามพระราชโอรสพระองค์นี้ว่า “มงกุฎ” นั้น มาจากเค้าที่ว่า ในเรื่องรามเกียรติ์ พระมงกุฎเป็นโอรสของพระราม ก็ในเมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงเทียบพระองค์เป็น “พระราม” พระราชโอรสก็พึงเป็น “พระมงกุฎ” เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวกันมาว่า ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงพระมหามงกุฎ นัยว่าจะเก็บไว้ให้เจ้าฟ้ามงกุฎ แต่ในโคลงลิขิต พรรณารายการพระราชพิธีบรมราชภิเษก สมัยรัชกาลที่ 2 (รัชกาลที่ 3 ทรงแต่งเมื่อครั้งเป็นกรม) ปรากฏว่า

เมื่อพระครูพราหมณ์ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และราชูปโภค พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงรับด้วยพระหัตถ์แต่พระมหามงกุฎ แล้วเอาวางไว้ข้างพระองค์ เพราะฉะนั้นที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงพระมหามงกุฎก็เป็นแต่ตามอย่างพระราชบิดา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุพจน์ แจ้งเร็ว. พระราชศรัทธาในรัชกาลที่ 3 กับพระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ 4, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2566