ตัวเต็งในการสืบราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ 3 การผลัดแผ่นดินในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของสยาม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดร.มัลคอล์ม สมิธ แพทย์ชาวอังกฤษผู้ถวายการดูแลรักษาพระพลานามัยของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนักสยามตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ รัชกาลที่ 3 ไว้ว่า

ในราวปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอาการประชวร จนมีทีท่าว่าจะเสด็จสวรรคต จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระองค์ขึ้นครองราชย์ แต่ติดขัดด้วยกลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจในราชสำนักปรารถนาที่จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ และประชาชนก็เห็นพ้องต้องกันว่า รัชทายาทต้องมาจากการเลือกสรร ด้วยเหตุนี้เจ้าฟ้ามงกุฎจึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 3 [1]

บันทึกของหมอสมิธทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการผลัดแผ่นดินในช่วงปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ขึ้นครองราชย์

ดังที่หมอสมิธกล่าวไว้ หรือทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎผู้เป็นพระอนุชาขึ้นครองราชย์ ซึ่งการผลัดแผ่นดินครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์สยามสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต้องทรงเป็นผู้นำพาสยามเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในอุษาคเนย์ของจักรวรรดินิยมตะวันตก

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงที่รัชกาลที่ 3 ใกล้จะสวรรคตว่า พระองค์ได้ตรัสมอบอำนาจในการเลือกกษัตริย์ให้แก่คณะเสนาบดี พร้อมกับทรงมีพระราชวิจารณ์คุณสมบัติของเจ้านายหลายพระองค์ที่เป็นตัวเต็งในการสืบราชสมบัติ

“…การแผ่นดินต่อไปข้างหน้า ไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่าท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่เป็นโตไปไม่ได้ กรมพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) ฟ้าน้อย (เจ้าฟ้าจุฑามณี) 2 พระองค์ ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่า ท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง ท่านฟ้าน้อยเล่า ก็มีสติปัญญา วิชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึ่งมิทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ จึงโปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวง สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพรียงกัน” [2]

พระราชวิจารณ์นี้แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่3 มิได้ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เป็นผู้สืบทอดราชสมบัติเป็นการเฉพาะ หากแต่ให้เจ้านาย ขุนนาง เป็นผู้เลือกสรรผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ (ซึ่งพระราชวิจารณ์นี้ย่อมหักล้างความในบันทึกของหมอสมิธได้เป็นอย่างดี)

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานมหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง

อย่างไรก็ตาม (เดี๋ยวก่อนครับ! เดี๋ยวก่อน!) การที่พระองค์ ไม่ทรงแต่งตั้งเลือกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นผู้สืบราชสมบัติ (ความเกี่ยวกับพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ 3 ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ก็เป็นที่น่ากังขา เพราะเป็นหลักฐานที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ใช่ทำในสมัยรัชกาลที่ 3) ไม่ใช่ว่าพระองค์มิได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้พระราชโอรสของพระองค์เป็นผู้สืบราชสมบัติ หากแต่พบว่า พระราชโอรสที่โปรด 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ได้สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2378 และกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2382 [3]

นอกจากนั้นแล้วยังพบอีกว่า กรมหลวงรักษรณเรศ เจ้านายที่มีความสำคัญรองจากรัชกาลที่ 3 ได้ถูกสําเร็จโทษเมื่อ พ.ศ. 2391 ด้วยความผิดร้ายแรงหลายประการ ได้แก่ ทุจริตรับสินบน ตัดสินความไม่เป็นธรรม และซ่องสุมผู้คนเพื่อเตรียมตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินหลังสิ้นรัชกาล [4]

การสิ้นพระชนม์ของเจ้านายทั้งสามพระองค์ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎ (ซึ่งขณะนั้นทรงอยู่ในสมณเพศ) ในฐานะผู้สืบราชสมบัติ เนื่องจากทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตที่ประสูติจากพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 ทั้งยังทรงพร้อมด้วยบารมีที่ได้จากการสะสมบุญบารมีในฐานะผู้นำสงฆ์ (ฝ่ายธรรมยุต) และได้รับการสนับสนุนผลักดันจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และกลุ่มเสนาบดีตระกูลบุนนาค [5]

เหตุปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ส่งให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ ทั้งที่พระองค์มิได้ทรงมั่นพระทัยนักว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ อันเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัสเมื่อทรงราชสมบัติที่ว่า

“ไม่มีใครได้คิดจะให้เปนโตเปนใหญ่เลย ก็เจ้านายผู้หญิงที่ไหนแหลม ๆ อยู่มีทรัพย์สมบัติบ่าวไพร่มาก ท่านทั้งหลายทั้งปวงนึกหมายว่าจะให้ได้แก่ท่านผู้อื่น” [6]

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] “เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ รัชกาลที่3 สวรรคต “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ครองราชย์”. ศิลปวัฒนธรรม 21 : 8 (มิ.ย. 2543), น.64-65.

[2] ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรธนากร, 2481), น.369-370.

[3] เรื่องเดียวกัน, น.166 และ 198.

[4] เรื่องเดียวกัน, น.317-318.

[5] นฤมล ธีรวัฒน์. “พระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2525, น.45-131.

[6] ห้องเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 จ.ศ. 1213 เลขที่ 66 เรื่องพระราชโองการเรื่องพระองค์ทรงราชสมบัติ.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ผลัดแผ่นดินในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของสยาม” เขียนโดย โดม ไกรปกรณ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2563