อย่างไรถึงเรียกว่างาม? ย้อนดู beauty standard สาวยุค “อยุธยา” ต้องฟันดำถึงจะสวย?

สิว พรหมลิขิต สาวอยุธยา แม่ปราง แม่แก้ว ละคร พรหมลิขิต
ภาพจาก : Broadcast Thai Television

ส่องความงามฉบับ “สาวอยุธยา” แต่งหน้า ทาปาก ฟันดำ เป็นเรื่องปกติ?

ไม่ว่าจะยุคไหน “ความงาม” ก็เป็นสิ่งที่ผู้หญิงมักเติมแต่งให้ตนเองดูดีอยู่เสมอ เช่นในสังคมอยุธยา สตรีชั้นสูง ทั้งเจ้านายฝ่ายใน ภรรยา ลูกขุนนาง การแต่งหน้าทาแป้งให้ดูสวยงามถือเป็นเรื่องปกติ สาวชาววังมักผัดแป้งที่ใบหน้าจนนวล ทาปากให้แดงสวยด้วยชาด และเขียนคิ้ว และหากต้องถวายตัวต่อพระมหากษัตริย์ ก็ยิ่งต้องแต่งหน้าให้งดงามที่สุด เสมือนนางฟ้านางสวรรค์ เพื่อให้สมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ซึ่งเปรียบดังสมมติเทพ

สาวอยุธยา ยังให้ความสำคัญกับฟัน ตามที่ กำพล จำปาพันธ์ นักวิชาการ เจ้าของผลงาน มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX (สำนักพิมพ์มติชน) บอกในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ฟัน ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าตา ไม่ใช่แค่มีฟันเรียงเป็นระเบียบแค่นั้นพอ มนุษย์อยุธยายังต้องมี ฟันสีดำ ถึงจะจัดว่า “ฟันสวย” นอกจากนี้ สีของฟันยังบอกถึงวัยวุฒิอีกด้วย ฟันยิ่งดำ ก็ยิ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่ สำหรับมนุนย์อยุธยาถ้าใครฟันขาว เป็นไปได้ 2 อย่าง คือ หนึ่งเป็นเด็ก หรือเป็นผี

ผมก็เป็นเสมือนแฟชันอย่างหนึ่งในยุคนั้น ตามที่กำพลบอกว่า การติดต่อค้าขายกับจีน ทำให้ได้รับคติเรื่องความงามจากจีนมาด้วย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “การไว้ผมยาว” ทั้งในหญิงและชาย หากเป็นผู้ชายผมที่ยาวจะม้วนขึ้นมัดไว้บนศีรษะ แต่เมื่ออารยธรรมอิสลามและคริสต์เข้ามา ก็เริ่มมีความนิยมผมสั้นเกิดขึ้น การไว้ผมยาวกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและยุ่งยากในการดูแลรักษาสำหรับคนทั่วไป คงเหลือแต่ชนชั้นนำที่ยังคงนิยมไว้ผมยาว ต่อมาผมยาวก็กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกความแตกต่างระหว่างไพร่กับเจ้า

ความงาม ขึ้นอยู่กับบุคคลและยุคสมัย เมื่อเวลาผ่านไป ค่านิยมความงามก็เปลี่ยนตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2566