ผู้เขียน | ปิยนันท์ จำปีพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็สวมรอยเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้นในฐานะทายาททางการเมือง จอมพลถนอมได้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองไม่ต่างจากจอมพลสฤษดิ์ โดยยังใช้ ม.17 ที่คงอาญาสิทธิ์ไว้ที่ตัวนายกรัฐมนตรี
ทว่าในเชิงบารมีหรืออุปนิสัยของจอมพลถนอมนั้นมีความต่างกับจอมพลสฤษดิ์มาก ทำให้ในเชิงอำนาจของจอมพลถนอมไม่แข็งแรงเท่าจอมพลสฤษดิ์ ประกอบกับการอยู่ในระบอบเผด็จการที่ยาวนานนับตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2501 และการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลานับ 10 ปี เป็นเวลาที่ยืดยาวมากที่จะทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาลจอมพลถนอม
ในที่สุดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 จอมพลถนอมก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้มีการเลือกตั้งตามรูปแบบประชาธิปไตย หลังจากอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้เอง สหรัฐอเมริกายังคงต้องการให้รัฐบาลชุดเก่าได้บริหารประเทศ เพื่อความง่ายดายในการครอบงำการเมืองไทยต่อไป และต้องการให้รัฐบาลชุดเดิมชนะเลือกตั้งใน พ.ศ. 2512 ทุกระดับ [1]
โดยสหรัฐฯ จะได้ผลประโยชน์ในการแทรกแซงการเมืองไทยเพื่อการปราบปรามอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝ่ายจอมพลถนอมก็จะได้การช่วยเหลือทางการเงินและอำนาจของตนเอง นับเป็นที่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์
การเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 บรรยากาศการเมืองมีความคึกคักมาก มีผู้สมัคร ส.ส. ถึง 1,522 คน ผลการเลือกตั้งก็เป็นไปตามที่วางแผนไว้ คือ พรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้าพรรคได้ ส.ส. 76 คน เป็นอันดับหนึ่ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ตามความต้องการของทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การตั้งรัฐบาลตามรูปแบบประชาธิปไตยของจอมพลถนอมไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก เกิดปัญหาภายในกับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพประชาธิปไตย แม้ว่าการเลือกตั้งนี้จะไม่เปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายบริหารมากนัก โดยที่ทหารยังคงบทบาทสำคัญในเชิงบริหารอยู่ แต่ในบริบทประชาธิปไตยการบริหารต้องถูกถ่วงดุลด้วยรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ส. ที่ทำงานถ่วงดุลอย่างขยันขันแข็ง จนรัฐบาลถนอมที่เคยชินกับโครงสร้างแบบเผด็จการยากที่จะปรับตัวได้
ด้วยบรรยากาศที่เสรีขึ้นหลังจากโดนเผด็จการทหารกดทับมานับ 10 ปี พรรคแนวสังคมนิยมก็ได้กลับมามีพื้นที่ทางการเมืองมาก รัฐสภาได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจอมพลถนอม และลามไปถึงอำนาจที่ล้นฟ้าของกองทัพก็โดนรัฐสภาท้าทายอำนาจ แม้แต่ตัวจอมพลถนอมเองก็ถูก ส.ส. โจมตีอย่างหนัก
ในด้านปัจจัยภายนอก พ.ศ. 2512/ค.ศ. 1969 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งได้รับตำแหน่งในต้นปีเดียวกัน เริ่มดำเนินนโยบาย Vietnamization หรือการปล่อยให้เวียดนามจัดการปัญหาภายในกันเอง โดยที่สหรัฐฯ จะดำเนินการถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม
แม้ว่านิกสันต้องการจะถอนกองทหารออกจากเวียดนามใต้ แต่นิกสันก็ไม่ต้องการที่จะให้เวียดนามใต้เป็นคอมมิวนิสต์ จึงได้มีการเจรจาสงบศึกกับเวียดนามเหนือ แต่การเจรจาก็ไม่เป็นผลสำเร็จ หากสหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกไปโดยที่เวียดนามใต้ไม่ยอมรับเงื่อนไข ก็เท่ากับว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ คือการยอมแพ้สงครามอย่างเต็มตัว นิกสันจึงจำเป็นจะต้องบีบให้เวียดนามเหนือยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐฯ โดยการทิ้งระเบิดในลาวและกัมพูชาอย่างหนัก [2]
ในช่วงนี้เองฐานทัพสหรัฐฯ ในไทยจึงถูกใช้งานอย่างหนักเช่นกัน แต่ว่าการดำเนินการนี้ของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ส่งผลให้เวียดนามเหนือยอมรับข้อเจรจา
เมื่อการทิ้งระเบิดอย่างหนักไม่เป็นผล สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องหาทางออกอื่น โดยสหรัฐฯ เลือกหันมาปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ว่าจะเป็นศัตรูเก่าของสหรัฐฯ แต่ในขณะนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกับสหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร”
การปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนของสหรัฐฯ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อกลุ่มประเทศใต้การครอบงำของสหรัฐฯ มาก เพราะเดิมทีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นศัตรูกับกลุ่มประเทศเหล่านี้มาตลอด รวมไปถึงไทยที่สร้างให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นศัตรูผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์มาตลอดตั้งแต่สมัยจอมพล ป. (ครั้งที่ 2) ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องเปลี่ยนท่าทีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนตามสหรัฐฯ ส.ส. ฝ่ายซ้ายก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองสาธารณรัฐประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีนในที่นั่งสหประชาชาติ และต้องการให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย
นอกจากนี้ ในบรรยากาศประชาธิปไตยได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา โดยได้ก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 ขบวนการนักศึกษามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก ทั้งในการวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นเผด็จการของรัฐบาลและกองทัพที่มีอำนาจล้นฟ้า
รัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยได้ ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร รัฐบาลทหารมีอำนาจเต็มโดยไม่มีผู้ใดท้าทายอำนาจ ไม่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุล การบริหารจึงมีความรวดเร็วมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระบบรัฐสภา จอมพลถนอมต้องประสบกับความล่าช้า เนื่องจาก ส.ส. รัฐบาลต้องการให้เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นปี พ.ศ. 2515 เป็น 2 เท่าจากเดิม
การพิจารณางบประมาณที่ยังไม่เสร็จอาจทำให้เกิดความล่าช้า ประกอบกับความวุ่นวายในรัฐสภา และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบรรยากาศประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่จอมพลถนอมควบคุมไม่ได้ ทำให้จอมพลถนอมตัดสินใจรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 และประกาศกฎอัยการศึก โดยมีข้ออ้างการทำรัฐประหารว่า
“ได้มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ยุยงบ่อนทำลาย ใช้อิทธิพล ทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ ก่อกวนการบริหารราชการของรัฐบาล ให้ดำเนินไปด้วยความยากลำบากและล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์…
แทนที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันสามัคคีกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อป้องกันภยันตราย แต่บุคคลบางกลุ่มบางคณะกลับฉวยโอกาสทำการก่อกวน ขัดขวาง ให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขโดยสะดวก เช่น ยุยงให้ประชาชนและสถาบันต่าง ๆ เป็นปฏิปักษ์และกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลให้นักศึกษาเดินขบวน ให้กรรมกรหยุดงาน…เป็นเหตุถ่วงการบริหารราชการ…
การแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการยึดอำนาจการปกครอง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน” [3]
ในข้ออ้างการรัฐประหารยังเชื่อมโยงกับสถานการณ์ภายนอก ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนของสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้ได้สร้างความระส่ำระส่ายให้กับรัฐบาลทหารไทย ซึ่ง ส.ส. ส่วนหนึ่งก็เร่งรัดให้รัฐบาลไทยรับรองให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีที่นั่งในสหประชาติ ทำให้รัฐบาลก็ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจใหม่ของโลกอย่างกะทันหัน
กล่าวได้ว่า รัฐบาลจอมพลถนอมที่มาจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 ล้มเหลวจากการปรับตัวเข้ากับทั้งสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก รัฐบาลจอมพลถนอมเดิมทีเป็นเผด็จการทหารมานานหลายปี เมื่อต้องเข้ามาทำงานแบบประชาธิปไตยที่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลด้วยสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง มีพรรคฝ่ายค้าน ทำให้จอมพลถนอมไม่คุ้นชินกับการบริหารแบบรัฐสภา และในสถานการณ์ภายนอกประเด็นสาธารณรัฐประชาชนจีน จอมพลถนอมก็ต้องเปลี่ยนจีนจากศัตรูอันดับต้นมาเป็นมิตร นับเป็นความผันผวนทั้งภายในและภายนอก
จอมพลถนอม กิตติขจร จึงตัดสินใจรัฐประหารตัวเอง และกลับมาปกครองแบบเผด็จการในที่สุด ซึ่งการรัฐประหารนี้ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ต่อจากนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- วีรกรรม “จอมพลถนอม” เมื่อครั้งลุยปราบ “กบฏวังหลวง”
- เกิดอะไรขึ้นเมื่อ “เบญจมินทร์” ร้องเพลงพร้อมชี้หน้าจอมพลสฤษดิ์ “ประภาส-ถนอม” อยู่ด้วย
- ข่าวลือ “รัฐประหาร” และการแบ่งขั้วอำนาจในกองทัพ สมัยรัฐบาล “จอมพลสฤษดิ์”
เชิงอรรถ :
[1] กุลดา เกษบุญชู มี้ด, “การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก,” (ม.ป.ท.: รายงานการวิจัย, 2550), น. 160.
[2] พวงทอง ภวัครพันธุ์, การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย, 2564), น. 135.
[3] ประกาศของคณะปฏิวัติ, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 88 ตอนที่ 124 (18 พฤศจิกายน 2514): น. 14.
อ้างอิง :
กุลดา เกษบุญชู มี้ด. “การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก.” ม.ป.ท.: รายงานการ วิจัย, 2550.
คริส เบเคอร์, และ ผาสุก พงษ์จิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.
ประกาศของคณะปฏิวัติ. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 88 ตอนที่ 124. 18 พฤศจิกายน 2514.
พวงทอง ภวัครพันธุ์. การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยลัย, 2564.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า: ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ. 2513-2519. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเน ชันส์ เอดิชันส์, 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2565