วีรกรรม “จอมพลถนอม” เมื่อครั้งลุยปราบ “กบฏวังหลวง”

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร
(ซ้าย) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา) จอมพล ถนอม กิตติขจร

ในเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ทหารผู้มีส่วนสำคัญในการปราบกบฏครั้งนั้นนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และโดยเฉพาะ จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำกำลังทหารบุกเข้ายึดพระบรมมหาราชวังคืนจากฝ่ายกบฏ เป็นวีรกรรมที่ถูกกล่าวถึงในวงการทหาร

ในหนังสือ “ชีวิตและผลงานจอมพลถนอม กิตติขจร” ของนายหนหวย (นามปากกา) (วัชรินทร์การพิมพ์, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) ได้เล่าเรื่องราววีรกรรมของ จอมพลถนอม กิตติขจร ไว้โดยละเอียด อธิบายว่า ขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ขณะที่จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 (ยศพันเอก) ในวันเกิดเหตุการณ์ จอมพลถนอมได้ฟังข่าวทางวิทยุ มีประกาศปลดนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในรัฐบาลหลายคน จึงรีบวิ่งไปที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ซึ่งอยู่ใกล้กัน และได้พูดกับจอมพลสฤษดิ์ว่า

Advertisement

“ได้ยินวิทยุประกาศหรือไม่ ท่านจะเอาอย่างไร ผมน่ะจะสู้อย่างเด็ดขาดล่ะ”

จอมพลสฤษดิ์ตอบตกลงจะต่อสู้กับฝ่ายกบฏ จึงสั่งให้จอมพลถนอมไปเตรียมกำลังทหารไปสำรวจสถานการณ์ กระทั่งเวลา 01.00 น. ได้ทราบว่าพระบรมมหาราชวังถูกยึดเป็นกองบัญชาการของฝ่ายกบฏ จอมพลสฤษดิ์จึงได้มีคำสั่งถึงจอมพลถนอมว่า

“เกิดจลาจลขึ้นแล้ว ขณะนี้พระบรมมหาราชวังถูกพวกก่อการจลาจลบังคับปลดอาวุธทหารกองรักษาการณ์ของ ร.พัน 1 ร.อ. แล้วยิงลูกระเบิดเข้ามาในที่ตั้ง ร.พัน 1 ร.อ.มีทหารบาดเจ็บหลายนาย ให้ส่งกำลัง ร.11 ไปล้อมพระบรมมหาราชวังด่วน รถถังจะรอร่วมปฏิบัติอยู่ที่สะพานผ่านพิภพ ข้าพเจ้าจะเปิดเจรจาด้วยสันติวิธีก่อน ถ้าไม่สำเร็จและจำเป็นจึงจะสั่งใช้กำลังเข้าโจมตีปราบปรามต่อไป”

กำลังทหารจากรมทหารราบที่ 11 รับผิดชอบปฏิบัติการปราบกบฏเป็นหลัก มีกองพันที่ 1 ควบคุมด้านประตูวิเศษไชยศรี และกองพันที่ 2 ควบคุมด้านวัดพระเชตุพนฯ และด้านกระทรวงกลาโหม ขณะที่ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารเรือของฝ่ายกบฏควบคุมอยู่ นอกจากนี้ยังมีกำลังทหารบางส่วนจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ กำลังรถ ป.ต.อ. 40 จากกองพล ป.ต.อ. และรถถังบางส่วนจากกองพลทหารม้าร่วมด้วย

พลตรีเทียบ กรมสุริยศักดิ์ นายทหารคนแรกที่ผ่านเข้าประตูวิเศษไชยศรีจนถูกประตูโดยแรงรถถังเบียดอัดได้รับบาดเจ็บสาหัส เล่าว่า

“คืนนั้นไม่ได้นอนทั้งคืน เข้าล้อมพระบรมมหาราชวังไว้ตั้งแต่ 02.00 น. ท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณ ท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่บัญชาการอยู่ที่หน้าศาลสถิตยุติธรรม พวกก่อการยิงต่อต้านจากเชิงเทินอย่างเข้มแข็ง เพราะมีใบเสมาเป็นที่กำบังอย่างดี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใบเสมาได้ใช้การนับแต่สร้างมา พบว่าการก่ออิฐถือปูนแข็งแรงมาก ทหารจะโจมตีด้วยอาวุธหนักก็ไม่สะดวกใจ เพราะอยู่ในความมืด ห่วงปราสาทราชมณเฑียรจะเป็นอันตรายโดยไม่จำเป็น

ท่านจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่กับกองพันที่ 1 หน้ากรมศิลปากร ได้ตัดสินใจจะเอารถถังชนประตูวิเศษไชยศรี แต่เมื่อส่งรถเข้าไปคันแรกก็ปรากฏไปตายขวางประตูอยู่ รถถังคันใหญ่อีกคันหนึ่งเครื่องยนต์ก็ขัดข้องอยู่ที่หน้ากรมศิลปากร ท่านจอมพลเฝ้าคอยการแก้รถคันใหญ่ไม่ไปไหน เพราะจะใช้แสงสว่างก็ไม่ได้ จะตกเป็นเป้า รอจนฟ้าสางจึงได้แก้สำเร็จทั้ง 2 คัน เมื่อแก้สำเร็จแล้วท่านจึงได้ตัดสินใจยิงประตูวิเศษไชยศรีและพังเข้าไปดังกล่าวแล้วแต่ต้น ท่านเองนั้นวิ่งเข้าไปพร้อมกับรถทางปีกขวา และยึดวังหลวงคืนได้ในที่สุด”

พลโทสมัย แววประเสริฐ เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“ภาพที่ปรากฏแก่สายตาที่ไม่มีวันจะลืมเลือนไปได้ชั่วชีวิตนั้น ก็คือการสั่งการอย่างเฉียบขาด และการนำอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของท่านผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11

ที่หมายเข้าตีประตูวิเศษไชยศรี ตามข้าพเจ้า’ 

แม้ว่าในขณะสั่งการ เสียงจากการยิงของปืนใหญ่ทหารราบ และเสียงเครื่องยนต์จากการเคลื่อนที่ของรถถังจะดังเพียงใดก็ตาม เสียงของความดัง และความเด็ดขาดจากการสั่งการเคลื่อนที่เข้าตีของท่านผู้บังคับการกรมฯ ทำให้ทหารทุกคนพร้อมที่จะเคลื่อนที่ หน้าตาของท่านผู้บังคับการกรมฯ ซึ่งเคยยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลานั้น บัดนี้ไม่มีเหลืออยู่เลย เต็มไปด้วยความเหี้ยมเกรียม เอาจริงเอาจัง

สิ้นเสียงคำสั่งการเข้าตี ท่านผู้บังคับการกรมฯ ก็ออกวิ่งนำตามรถถัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นฉากกำบัง ทหารทุกคนที่พร้อมจะเคลื่อนที่ เมื่อได้เห็นท่านผู้บังคับการกรมฯ ออกวิ่งนำเช่นนี้ ทุกคนก็ออกวิ่งตามทันที การยิงประกอบกับการเคลื่อนที่ตามแผนการที่กำหนดไว้ เพียงชั่วโมงเศษฝ่ายกบฏก็ล่าถอยไป”

ภาพถ่ายทางอากาศพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง สำนักราชเลขาธิการ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2513)

ขณะที่นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 1 บันทึกไว้ว่า บางคนในรุ่นได้มีโอกาศร่วมปฏิบัติการกับจอมพลถนอมในเหตุการณ์ครั้งนี้ และจำได้ชัดว่า จอมพลถนอมได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญในการเป็นผู้นำนำกำลังทหารเข้ายึดพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี นับแต่นั้นมา คำขวัญของจอมพลถนอมที่ว่า “วินัย ใจเย็น สู้ตาย” ก็กลายเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการทหาร

จอมพลสฤษดิ์ออกปากถึงวีรกรรมของจอมพลถนอมในเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” ครั้งนี้ว่า “หนอมนี่มันกล้าหาญเหลือเกิน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2563